NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนา พาให้เห็นวิถีชุมชนชนบท

นาย่า คาเฟ่ – NAYA Cafe Ayutthaya คาเฟ่อิฐที่อยากชวนคุณมาชื่นชมฤดูกาลผ่านผืนนา บอกเล่าความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของอาคารกึ่งสาธารณะกลางชุมชนชนบท

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: BodinChapa Architects

นาย่า คาเฟ่ – NAYA Cafe Ayutthaya ตั้งอยู่ในตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดดเด่นด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแปลกตาก่อสร้างจากอิฐสีส้มรับกับวิวทุ่งนาสีเขียว ซึ่งตอนนี้ต้นข้าวกำลังแตกกอหลังจากผ่านช่วงเวลาปักดำมาไม่นาน โดยเป็นผืนนามรดกของครอบครัวเจ้าของโครงการที่ยังคงหมุนเวียนทำนาปลูกข้าวกันทุกปี หลังจากคุณดรีม-พัชชาดา พึ่งกุศล เจ้าของ เปิดร้านเบเกอรี่ออนไลน์ของตนเองมาสักพักก็ถึงคราวต้องขยับขยายธุรกิจด้วยการมองหาทำเลเพื่อเปิดร้านแบบจริงจัง ก่อนมาลงตัวกับทำเลที่มีศักยภาพตอบโจทย์ทั้งธุรกิจ และสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ชุมชนแห่งนี้

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

การออกแบบคาเฟ่ได้รับการถ่ายทอดโดยทีมออกแบบจาก BodinChapa Architects ผ่านสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกตากลางผืนนา ใช้อิฐแดงมาเป็นพระเอกเพื่อบอกเล่าความเป็นอยุธยา ภายใต้รูปทรงอาคารวงรีที่ตีความมาจากรูปทรงของเมล็ดข้าว อันสื่อความหมายถึงผลผลิตจากท้องนา และเป็นตัวแทนเพื่อให้เข้ากับชื่อ ตำบลข้าวเม่า ตามพิกัดที่ตั้งของคาเฟ่

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

จากถนนหลักด้านหน้าเข้าสู่ตัวคาเฟ่ ได้ออกแบบทางเดินไม้กั้นขอบทางเดินด้วยอิฐ เพื่อใช้เป็นเส้นทางที่ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านอารมณ์เข้าสู่คาเฟ่ โดยระหว่างทางจะได้มองเห็นวิวและต้นไม้ซึ่งมีทั้งที่ปลูกและขึ้นเองตามธรรมชาติ ก่อนจะพบกับพื้นคอนกรีตรูปวงรี เสิร์ฟให้เห็นบริบทต่าง ๆ ด้วยทางเดินที่เชื่อมถึงกันได้รอบอาคาร การสร้างรูปทรงอาคารให้เข้ากับร้านกาแฟกลางนาข้าว ส่วนหนึ่งมาจากที่ตั้งซึ่งอยู่ในตำบลข้าวเม่า สถาปนิกจึงมองว่าน่าจะใช้รูปทรงของเมล็ดข้าว หรือข้าวเม่ามาขยายต่อจนกลายเป็นรูปทรงอาคาร

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

ช่วยให้การจัดวางฟังก์ชัน และ Circulation มีความน่าสนใจสอดคล้องกับการใช้งาน โดยทางเดินคอนกรีตนี้จะทำหน้าที่โอบล้อมแลนด์สเคป ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต้องการส่งต่อมุมมองไปยังผืนนาข้างนอก และเป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถดูแลได้ นอกเหนือไปจากธรรมชาติทางกายภาพรอบ ๆ อย่าง ต้นข้าว ต้นกก และไม้น้ำชนิดต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนสภาพและความงดงามไปตามฤดูกาล

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

ภายใต้เส้นสายโค้งเว้าของกำแพงอิฐชั้นนอกที่โอบล้อมอาคารคาเฟ่เอาไว้ ตัวอาคารคาเฟ่หลักได้รับการออกแบบให้เป็นหลังคาทรงจั่วดูเรียบง่าย เพื่อเปิดสเปซต้อนรับทัศนียภาพ ลม และอากาศที่หมุนเวียนถ่ายเทอย่างปลอดโปร่งทั้งจากด้านหน้าและด้านหลัง แบ่งโซนที่นั่งให้มีทั้งเอ๊าต์ดอร์และอินดอร์ฝั่งละเท่า ๆ กัน แต่ชายคาของสองฝั่งไม่เหมือนกัน ฝั่งขวามีฟังก์ชันหลักอย่าง เคาน์เตอร์บาร์ และส่วนเซอร์วิส เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องเก็บของ ซึ่งเป็นโซนที่มีคนเดินผ่านไป-มาบ่อย จึงต้องดีไซน์ให้หลังคาชนกับผนังอิฐเพื่อกันฝน

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

ส่วนชายคาทางฝั่งซ้ายมือ หรือฝั่งทิศตะวันตกนั้น ได้เปิดช่องด้านบนให้มองเห็นท้องฟ้า ไม่มีหลังคาปิดทึบ เพราะต้องการให้ลูกค้ามองเห็นท้องฟ้าได้จากช่องว่างนี้ รวมถึงปรากฏการณ์แสงเงาของจั่วหลังคาที่จะตกกระทบลงบนกำแพงอิฐในช่วงเช้า เป็นเส้นโค้งบรรจบกันคล้ายจั่วบ้านเรือนไทย เป็นอีกไฮไลต์ของคาเฟ่

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

อีกสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือการออกแบบคาเฟ่อย่างไรให้อยู่ร่วมกับช่วงหน้าน้ำได้ ในกรณีต้องเจอกับน้ำท่วม และสภาพแวดล้อมที่หลากหลายในพื้นที่ ด้วยการถมดินให้สูงจากทุ่งนาเดิม 0.50 เมตร เพื่อเอื้อประโยชน์ในระหว่างการก่อสร้าง แแล้วยกโครงสร้างอาคารให้ลอยสูงจากพื้นดินขึ้นมาอีก 1 เมตร เมื่อมองจากคาเฟ่จะเห็นว่ามีระนาบเท่ากับถนนพอดี เรียกว่าแม้น้ำจะหลากจนท่วมนาข้าว แต่ก็ยังคงเดินทางมายังคาเฟ่ได้ และรอบนอกยังทำคันดินเสริมเพื่อกันน้ำท่วมอีกชั้น ส่วนงานระบบทุกอย่างได้ถูกยกขึ้นไม่ให้อยู่กับดินอย่างการย้าย CDU ขึ้นมาไว้ที่ห้องเก็บของด้านหลัง เตรียมพร้อมสำหรับหน้าน้ำที่ต้องเจอทุกปี โดยให้คาเฟ่ยังคงสามารถเปิดทำการได้ตามปกติ

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

เช่นเดียวกับวัสดุที่ต้องแข็งแรงและทนต่อน้ำท่วม ทั้งยังต้องเข้ากับบริบท และช่างท้องถิ่นทำงานได้ไม่ยาก ก่อนมาลงตัวกับอิฐ เลือกใช้อิฐไซซ์ที่เหมาะกับวงอาคาร หรือมีขนาดเดียวกันกับอิฐที่ใช้ในงานก่อทั่วไป สามารถนำมาก่อเรียงเป็นแนวโค้งได้ไม่ยาก ด้วยเทคนิคซ่อนโครงสร้างคานเอ็นไว้ด้านใน แล้วจึงนำอิฐมาเรียงต่อกันขึ้นไปใช้นวดกุ้งค่อย ๆ เชื่อมแนวอิฐเป็นช่วง ๆ ก่อแบบ 2 ชั้น เพื่อให้มีที่ช่องว่างตรงกลางเป็นฉนวนกันความร้อนในตัว แม้จะเป็นกำแพงอิฐสองฝั่งซ้ายขวาสูงตระหง่านแต่กลับไม่ร้อน ทั้งยังทำหน้าที่บังสายตาและสร้างความเป็นส่วนตัวให้คาเฟ่

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

การออกแบบอาคารนี้ แม้สถาปนิกจะออกแบบให้สอดคล้องกับบริบท แต่ก็ไม่ได้อยากให้อาคารกับบริบทนั้นเข้ากันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ “เราอยากให้ที่นี่ช่วยสร้างอะไรใหม่ ๆ ให้กับพื้นที่ ดึงดูดผู้คนให้เขามีความสนใจต่อตัวอาคาร แล้วอยากเข้ามาเยี่ยมชม สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับคนในพื้นที่ได้เข้าถึงงานดีไซน์ สร้างความแปลกใหม่ให้กับท้องถิ่น”

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

“บางคนอาจจะตั้งคำถาม หรืออะไรก็ได้เกี่ยวกับสถานที่นี้ว่า ที่นี่คืออะไร ซึ่งเรายินดีให้ชาวบ้านเขาตั้งคำถามได้เลย เรามองว่าร้านกาแฟสมัยนี้เป็นมากกว่าร้านกาแฟ แต่เป็นพื้นที่กึ่งอาคารสาธารณะ ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น หากสามารถดึงคนให้เข้ามาใช้งานก็จะเป็นตัวแทนของการบอกเล่าอาคารสาธารณะในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่คาเฟ่ แต่เป็นอีกพาวิเลียนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปทรงแบบเดิม ๆ แต่สามารถใส่งานดีไซน์เข้าไปได้ เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกว่าอาคารสาธารณะไม่ต้องเป็นอะไรที่เหมือนเดิม” ตัวแทนทีมออกแบบกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง

NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา
NAYA CAFE AYUTTHAYA คาเฟ่อิฐรับวิวทุ่งนาอยุธยา

สถาปัตยกรรมบนผืนนาแห่งนี้ จึงไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจ ด้วยรูปทรงของอาคารที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวให้ตั้งใจแวะมาเยี่ยมเยือนเมื่อมาเที่ยวอยุธยา แต่ยังเป็นอาคารตัวอย่างในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ทั้งยังนำพาผู้ใช้งานให้ได้ใกล้ชิดกับวิถีกสิกรรมและชุมชนชนบทมากขึ้น รวมถึงสถาปัตยกรรมเองก็ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงกับชุมชนให้ชาวบ้านได้มีโอกาสสัมผัสกับงานดีไซน์ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งต่อแนวคิดดี ๆ กลับไปยังชุมชนของพวกเขาแน่นอน

ที่ตั้ง
นาย่า คาเฟ่ – NAYA Cafe Ayutthaya
8/2 หมู่ 5 ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พิกัด https://goo.gl/maps/oHc4edAW8fgFe1Es8
เปิดทุกวัน 9.30-18.00 น.
โทร.09-4252-6462

เจ้าของ : คุณพัชชาดา พึ่งกุศล
ออกแบบ : BodinChapa Architects (www.bodinchapa.com)
เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : อนุพงษ์