รวม 10 วิธี ปลูกผักฤดูฝน ให้รอดในช่วงที่อากาศแปรปรวน

ปลูกผักฤดูฝน ช่วงเวลาที่ทั้งมือใหม่ และ มือเก๋าต้องกุมขมับกับสภาพอากาศที่แปรปรวนปลูกพืชผักยาก เนื่องจาก มีความชื้นในบรรยากาศที่สูง เหมาะสมสำหรับการเกิดโรคพืช ไม่พอเชื้อโรคที่เกิดก็สามารถแพร่กระจายได้ไกลจากกระแสลมที่แรง ปริมาณแสงแดดที่น้อย ทำให้ พืชอ่อนแอจน เชื้อสามารถเข้าทำลายได้ง่าย อีกทั้งยังมีวัชพืชที่โตไวจนตัดไม่ไหว

จากปัญหาดังกล่าว ถ้าไม่ได้รับการแนะนำวิธีการปลูกอย่างเหมาะสม ก็อาจทำให้ ปลูกผักฤดูฝน สำเร็จได้ยาก ส่งผลให้แรงที่ลงไปรวมถึงต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ วัสดุปลูกต่างๆ ไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาตามที่คิดไว้ ถ้าไม่อยากขาดทุนมาเรียนรู้กันดีกว่าจะป้องกันกำจัดเชื้อรา ศัตรูพืชต่างๆ ได้อย่างไร การรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป รวมถึงการกำจัดวัชพืช เพื่อ สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทัน

ปลูกผักฤดูฝน

1 I ป้องกันกำจัดเชื้อราด้วยไตรโคเดอร์มา

ไตรโคเดอร์มา แอสเพอร์เรียลลัม (Trichoderma asperellum) เป็นเชื้อราที่ป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืช มีความสามารถในการขยายตัวที่รวดเร็ว และ หากสัมผัสกับเส้นใยของเชื้อราโรคพืช จะแทงรากเข้าไปปล่อยเอนไซม์เพื่อทำลาย รวมถึงดูดกินแล้ว นำสารอาหารที่ได้นั้นมาสร้างเป็นสปอร์ เพื่อขยายตัวต่อไป วิธีการใช้ นำเชื้อสดไตรโคเดอร์มา 2 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับ น้ำ 5 ลิตร แล้วกรอกเอากากออก จากนั้น ให้ฉีดพ่นเป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วงฤดูฝน

ปลูกผักฤดูฝน
ภาพ : กรมวิชาการเกษตร

2 I ป้องกันกำจัดหนอนด้วยเชื้อบีที

เชื้อบีที หรือ บาซิลัส ทูริงเยนซิส (Bacillus thuringiensis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ในการทำลายหนอนในกลุ่มของหนอนผีเสื้อ รวมถึงหนอนกระทู้ผัก ที่มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเมื่อหนอนที่กินใบพืช ที่มีเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้ระบบย่อยอาหารของหนอนล้มเหลว เคลื่อนไหวช้า และ ตายภายในระยะเวลา 2-3 วัน

ปลูกผักฤดูฝน

3 I ทำกับดักหอยทากด้วยเบียร์

หอยทาก ศัตรูพืชที่มักจะกัดกินพืชผักเป็นอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่ ปลูกผักฤดูฝน ที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง ซึ่งกับดักสามารถทำได้ โดยใช้เบียร์เทใส่แก้ววางไว้ใกล้กับแปลงผัก ซึ่งหอยทากจะค่อยๆ คลานตามกลิ่นของเบียร์มา จนสุดท้ายก็จะตกลงไปในกับดักที่ทำไว้ พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ค่อยเก็บหอยทากที่ตกลงไปเพื่อนำไปทิ้ง

ปลูกผักฤดูฝน

4 I ปลูกผักฤดูฝน ต้องกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้แย่งสารอาหาร

ในช่วงฤดูฝน ที่วัชพืชเจริญเติบโตไว ทำให้แย่งธาตุอาหาร ไม่พอยังเป็นแหล่งสะสมของแมลงศัตรูพืชต่างๆ มากมาย ซึ่งวิธีการกำจัดวัชพืช สามารถกำจัดได้โดยใช้ส่วนผสมตามนี้ น้ำส้มสายชู 2 ลิตร น้ำยาล้างจาน 200 มิลลิลิตร และ เกลือ 400 กรัม ผสมให้เข้ากัน นำไปฉีดพ่นบริเวณรอบแปลงที่มีวัชพืชอยู่ แต่ระวังไม่ให้โดนพืชผักที่ปลูก และ ฉีดพ่นช่วงที่ฝนไม่ตก หลังจากฉีดพ่นไป 1 วัน วัชพืชจะเหี่ยวแห้ง และ ตายในที่สุด

ปลูกผักฤดูฝน

5 I ปลูกผักฤดูฝน ให้เลือกชนิดที่เหมาะสม

เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีความชื้นสูง ลมแรง แสงแดดน้อย การเลือกชนิดผักที่เหมาะสมจะช่วยให้ดูแลง่ายขึ้น โดยชนิดผักที่เหมาะสมในช่วงฤดูฝน ได้แก่ กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน คะน้า ถั่วฟักยาว มะระ ชะอม มะเขือ บวบ แตงกวา ชะอม ตำลึง หน่อไม้ เป็นต้น ส่วนพืชที่ปลูกยากในช่วงฤดูฝน มักจะเป็นพืชที่มีกินหัว เนื่องจาก มีโอกาสที่หัวจะเน่าได้ง่าย ได้แก่ แครอท หัวไชเท้า

6 I เพิ่มความโปร่งของวัสดุปลูกด้วยแกลบหมัก

พอเข้าฤดูฝนก็ให้เตรียมวัสดุปลูกใหม่ โดยเพิ่มแกลบหมักผสมเข้าไปในวัสดุปลูกด้วย ในอัตราส่วน แกลบหมัก 1 ส่วน ต่อ ดินเดิม 2 ส่วน ซึ่งจะช่วยให้ดินมีความโปร่งมากขึ้น อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้นน ช่วยให้รากพืชไม่เน่า ข้อควรระวังก่อนใช้ ไม่ควรใช้แกลบที่ยังไม่ผ่านการหมัก เพราะ เมื่อใช้ไปสักพักแกลบจะเริ่มสลายตัวจนเกิดความร้อนส่งผลให้รากพืชเสียหาย และ พืชไม่เจริญเติบโต

7 I สร้างโค้งคลุมแปลงผัก

เพื่อป้องกันปริมาณน้ำส่วนเกิน แรงกระแทกจากน้ำฝน และ แรงลมที่อาจพัดต้นให้ล้มได้ โดยโครงหลังคาทำมาจาก ท่อ PVC ขนาด ½ นิ้ว คลุมด้วยพลาสติกโรงเรือน พร้อมทั้งล็อกพลาสติกเข้ากับท่อ PVC ด้วยคลิปหนีบ พอหมดช่วงฤดูฝน ก็สามารถถอดเก็บออกได้ง่าย และ ใช้เงินลงทุนน้อย เหมาะสำหรับคลุมแปลงผักเล็กๆ ภายในบ้าน

8 I ต้องยกแปลงปลูกผักให้สูง 30-40 ซม.

สำหรับพืชผักที่ปลูกกลางแจ้งลงบนดิน ให้ยกแปลงผักสูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 30-40 ซม. จะช่วยให้รากพืชไม่แช่อยู่ในน้ำ จากระดับน้ำใต้ดินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงสามารถลดปัญหาการเกิดรากเน่าโคนน้ำได้ดี ส่วนตรงขอบแปลง ให้ทำเป็นโค้งลงเพื่อให้น้ำสามารถระบายออกได้เร็ว

9 I ปลูกผักฤดูฝน ต้องคลุมแปลงผักด้วยฟางข้าว

ในขณะที่ฝนตกลงมานั้น นอกจากปริมาณน้ำแล้วก็มีแรงกระแทกของน้ำฝนด้วย โดยน้ำฝนจะ ทำให้ อินทรีย์วัตถุต่างๆ รวมถึงปุ๋ยที่ใส่ถูกชะล้างออกไป และ ถ้าโดนเข้ามากๆ ก็จะทำให้รากลอยส่งผลให้ต้นเจริญเติบโตช้า แต่ปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ไขได้ โดยการคลุมแปลงผักด้วยฟางข้าว เพื่อ ป้องกันการกระแทกของน้ำฝน นอกจากนี้ ก็ช่วยควบคุมวัชพืชได้อีกด้วย

10 I หากฝนทิ้งช่วงให้รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่ฝนทิ้งช่วงให้รดน้ำตามปกติ เพราะถ้าไม่รดน้ำ แล้วปล่อยไว้พอฝนกลับมาตกเป็นปกติ จะทำให้พืชได้รับน้ำมากเกินไปอย่างกระทันหัน ส่งผลให้ เนื้อเยื้อด้านในพืชเกิดการขยายเร็วกว่าผิวด้านนอก มีโอกาสทำให้ ผลแตกเสียหายได้ แล้วเชื้อราเข้าทำลายจากแผลที่เกิดขึ้นได้ง่าย

ขยายพันธุ์ มวนพิฆาต แมลงตัวห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนแปลงผักในช่วงฤดูฝน

สวนครัวบนดาดฟ้า อาคารพาณิชย์เก่าที่มีพืชผักกว่า 100 ชนิด

อ้างอิง :

วารสารส่งเสริมการเกษตร ปีที่ 55 ฉบับที่ 304 (พฤษภาคม – มิถุนายน 2565)

เว็บไซต์สวนผักคนเมือง

สำนักงานเกษตร และ สหกรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี

สถาบันวิจัย และ พัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)