สวนครัวบนดาดฟ้า อาคารพาณิชย์เก่าที่มีพืชผักกว่า 100 ชนิด

Little Girl Garden สวนครัวบนดาดฟ้า อาคารพาณิชย์เก่า 4 ชั้นครึ่ง ขนาด 4 x 7 เมตร กับนานาผักสวนครัวที่มาจากการทดลองปลูกผักออร์แกนิกไว้กินเองของ คุณจูน – อุรัชยา คล้ายหนองลี ซึ่งเธอเริ่มต้นจากคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการปลูกผัก

สวนครัวบนดาดฟ้า เริ่มจากหาข้อมูล เรียนรู้ ลองผิดลองถูกตลอดระยะเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา ออกแบบและลงมือทำทุกอย่าง ตั้งแต่ชั้นวางต้นไม้ โรงเรือน โต๊ะปลูก ดินปลูก ทำน้ำหมัก ไปจนถึงทำมูลไส้เดือนไว้ใช้เอง และเกือบทั้งหมดมาจากการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งสิ้น

ความสมบูรณ์ของสวนครัวแห่งนี้เกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นฝีมือของน้องใหม่หัดปลูกที่ใช้เวลาเรียนรู้และลงมือทำเพียงแค่ครึ่งปี แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า จะมือเย็นหรือมือร้อนก็ไม่เกี่ยว แต่สำคัญที่ความใส่ใจที่ต้องหาความรู้แล้วลงมือทำ เจอปัญหาก็หาทางแก้ไข แม้จะมีข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับมือใหม่ปลูกผักที่มีใจรักอยากจะทำ

สวนครัวบนดาดฟ้า

แพรี่พายผู้จุดประกายให้ทำ สวนครัวบนดาดฟ้า

“เริ่มต้นมาตั้งแต่ที่หนูติดตามคุณแพรี่พายตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ เห็นคุณแพรี่พายปลูกผักบนดาดฟ้า บ้านจูนเองก็มีดาดฟ้าเลยอยากทำบ้างค่ะ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดจะปลูกผักมาก่อนเลย จะพูดว่าเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ได้นะคะเมื่อก่อนบนดาดฟ้าพี่ชายปลูกเมลอนและแตงกวาญี่ปุ่นค่ะ แล้วเลิกไป จูนเลยเคลียร์พื้นที่ รื้อโครงไม้ยูคาออก เปลี่ยนเป็นใช้เหล็กแป๊บ ขึงมุ้งกางซาแลนกันแมลงกันแดดทางด้านบน ตอนนั้นก็ปลูกผักที่ใช้กินเป็นประจำทั่วๆ ไป กวางตุ้ง คะน้า ปลูกในกระถางตั้งบนพื้นค่ะ ปลูกไปก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ศึกษาหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตดูยูทูป ดูตามเพจต่างๆ คนอื่นเค้าปลูกอะไรก็ลองปลูกดูบ้าง ปลูกเคล ปลูกผักสลัด ยิ่งปลูกยิ่งรู้สึกสนุกค่ะ เพราะมันได้ผลดี หนูก็เริ่มท้าทายตัวเองด้วยการหาผักแปลกๆ มาลองปลูกเริ่มปลูกมากขึ้นเรื่อยๆขยับขยายจนเต็มดาดฟ้าค่ะ”

ย้อนอ่านความเป็นมาของสวนแพรี่พาย

เมื่อย้อนกลับไปดูสวนต้นแบบของแพรี่พาย จะเห็นว่าข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะสวนทั้งสองแห่งต่างหาวิธีปรับเปลี่ยนดาดฟ้าให้พื้นที่สามารถปลูกพืชผักได้ โดยคุณจูนเลือกปลูกในภาชนะที่เคลื่อนย้ายสะดวก มีหนักเบา อย่างโต๊ะปลูก และกระถางพลาสติก ในขณะที่สวนของคุณแพรเลือกทำแปลงปูนติดตายที่สร้างตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบอาคาร  

สวนครัวบนดาดฟ้า

เมล็ดพันธุ์ออนไลน์ ไม่ตรงปกบ้างก็เป็นเรื่องสนุก

“ผักส่วนใหญ่ใช้วิธีเพาะเมล็ดค่ะ สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์จากลาซาด้า และตามเพจต่างๆ มีทั้งเมล็ดของบ้านเราและเมล็ดจากจีน เมล็ดพันธุ์บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหานะคะ แต่เมล็ดจากจีนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตรงปก เลี้ยงจนต้นโตแล้วถึงจะรู้ว่าเป็นคนละชนิดกับรูปตอนสั่งซื้อ ส่วนมากราคาหลักสิบค่ะ จูนซื้อครั้งละหลายๆ ชนิด ชนิดละไม่มาก เสียค่าส่งแล้วก็ต้องเอาให้คุ้มค่ะ ได้มาแล้วก็เอามาใส่กล่องไม่ให้โดนอากาศแช่เก็บไว้ในตู้เย็น โดยเฉลี่ยจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 2 ปีค่ะ การสั่งเมล็ดจูนยึดความชอบของตัวเองเป็นหลักและดูจากฤดูกาลค่ะ หาข้อมูลว่าผักชนิดไหนควรปลูกฤดูไหน พอผักรุ่นก่อนใกล้จะเก็บเกี่ยว ก็สั่งเมล็ดเตรียมไว้ล่วงหน้าสักเดือนนึงค่ะ”

การเพาะเมล็ดคุณจูนจะเพาะในถาดหลุมโดยใช้พีทมอสออร์แกนิก หยอดหลุมละ 2 เมล็ดเผื่อไว้ จากประสบการณ์ที่เคยสั่งซื้อมาใช้หลายยี่ห้อจากหลายที่เธอแนะนำว่า พีทมอสนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์คุณภาพจะดีมากแต่ของบ้านเราก็ไม่ใช่ไม่ดีหากแต่ของนำเข้าต้นอ่อนจะงอกได้ดีกว่า ทั้งนี้เธอยังเคยลองใช้ดินถุงผสมกับมูลวัวนมและขุยมะพร้าวในอัตราส่วนเท่าๆ กันเป็นวัสดุเพาะเมล็ดก็งอกได้ดีเช่นกัน

ขั้นตอนการเพาะกล้า ถาดเพาะควรวางไว้ในที่ร่มรำไร อย่าให้โดนแดดจัด ต้นจะเหลือง โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 วันเมล็ดก็งอกแล้วค่ะ สังเกตถ้ามีใบจริงสัก 2 ใบ ต้นดูแข็งแรงก็พร้อมย้ายปลูกลงดินในกระถางใหม่ได้ อายุเฉลี่ยของผักจะประมาณ 45-60 วันค่ะ สัก 1-2 อาทิตย์ก่อนที่จะโล๊ะกระถางปลูกใหม่ ระหว่างนี้ก็จะเพาะเมล็ด ตากดินเตรียมรอไว้ปลูกรุ่นต่อไป

กะหล่ำปม สวนครัวบนดาดฟ้า

โคห์ลราบีหรือกะหล่ำปมที่รู้จักจากเพจคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ เขาปลูกผักทำสวนและนำมาใช้ตำส้มตำแทนมะละกอเพราะหาได้ยาก ทำให้คุณจูนอยากลองปลูก ซึ่งก็ได้ผลดี นอกจากนี้ผักแปลกๆอีกหลายอย่างที่ลองปลูกก็เจอระหว่างค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ผักหลายอย่างที่นิยมปลูกที่เมืองนอกเธอก็อยากลองว่าปลูกในบ้านเราได้ไหม ซึ่งส่วนใหญ่อัตราการงอกสูง เธอย้ำว่าส่วนใหญ่จะหาซื้อได้ในแอปพลิชั่นช็อปปิ้งมีเมล็ดพันธุ์ผักแปลกๆ ให้เลือกมากมาย

ตะกร้าหวาย ลังโฟมก็ใช้ปลูกผักได้              

เพราะความเป็นมือใหม่ ในตอนแรกที่คุณจูนเริ่มปลูกในกระถางตั้งบนพื้นมีปัญหาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเศษดินไปอุดตันท่อระบายน้ำทำให้น้ำขังพื้นไม่สะอาด มีปัญหาโรคแมลงตามมา หนูกางมุ้งแยกให้แต่ละกระถาง เวลาจะรดน้ำให้ปุ๋ย ต้องปิดๆ เปิดๆ ทั้งยังต้องก้มๆ เงยๆ ทำงานยากไม่สะดวกเธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบภาชนะปลูก รื้อซาแลนออกแก้ปัญหาในช่วงหน้าฝนผักได้แสงไม่พอต้นยืด

“ชั้นไม้ขั้นบันไดสั่งซื้อมาในราคาหลักร้อยค่ะ แต่วางกระถางได้น้อยค่ะ เลยตัดสินใจทำเป็นโต๊ะปลูกต้นไม้แทน โดยดูแบบจากโรงเรือนที่เขาทำกัน ดัดแปลงย่อส่วนให้เหมาะกับขนาดพื้นที่ของเรา ซื้อเศษไม้แถวบ้าน พื้นโต๊ะใช้ตะแกรงพลาสติกสำเร็จรูปที่สั่งซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต ขึ้นโครงด้วยท่อพีวีซีและรองด้วยมุ้งตาข่ายที่รื้อจากโรงเรือนเก่า ให้คุณพ่อช่วยทำให้เมื่อกลางปีที่แล้วค่ะ เมื่อก่อนวางกระถางเล็กๆ ตอนนี้วางตะกร้าเคลซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เริ่มมีปัญหา ต้องเสริมไม้เพิ่มความแข็งแรงค่ะ”

สวนครัวบนดาดฟ้า

“ส่วนพวกชั้นวางต้นไม้เล็กๆ เตี้ยๆ หรืออย่างกระบะวางกระถาง ชั้นแขวนกระถางที่เห็น จูนทำเองทั้งหมดค่ะ ชอบทำงานD.I.Y อยู่แล้วด้วยค่ะ เพราะพื้นที่ของเรามีน้อย คิดว่าอยากจะใช้พื้นที่ให้คุ้มที่สุดด้วยการทำเป็นสวนในแนวตั้งเอากระถางขึ้นไปแขวน พวกไม้ต่างๆ หนูทาสีย้อมไม้สองรอบเพื่อป้องกันความชื้น กันเชื้อรา กันปลวกเจาะ”

คุณจูนแชร์วิธีเลือกภาชนะให้เหมาะกับผักแต่ละชนิดไว้ว่า อย่างแรกต้องรู้ก่อนค่ะว่าผักแต่ละชนิดเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณไหน เพื่อจะเลือกภาชนะปลูกให้เหมาะสม เช่น ผักกาดขาวจะปลูกในถุงแสนดีขนาด 8×15 นิ้ว ถุงแสนดีราคาจะถูกกว่ากระถาง มีหลายขนาดให้เลือกใช้ และใช้ได้นานถึง 5 ปี ก่อนจะเอามาใช้ซ้ำใหม่ก็เอาไปล้าง ตากแดดก่อน เผื่อมีโรคมีไข่แมลงติดมาจากการปลูกครั้งก่อน

สวนครัวบนดาดฟ้า

เคลที่เป็นผักอายุยืนจะเลือกปลูกในตะกร้าพลาสติกขนาด 10 นิ้ว เพราะเขาจะต้องอยู่แบบนั้นไปอีกเป็นปี หรืออย่างกล่องโฟมที่เจาะรูขนาดประมาณเหรียญสิบ แล้วใช้มุ้งตาข่ายรองที่ก้นกันดินไหล สามารถนำมาปลูกผักได้ดีเพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้ดินในกล่องเย็น รากเดินดี ผักโตมีขนาดใหญ่ แต่ก็ต้องเลือกชนิดผักที่จะปลูกให้เหมาะสมด้วยอย่างที่เธอเคยปลูกมัสตาร์ด ปลูกสวิสชาร์ด ต้นจะมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ดูแลยากไปด้วย แต่ถ้าปลูกพวกผักต้นเล็กๆ ประเภทที่เติบโตแตกกอออกด้านข้าง เช่น สะระแหน่ จิงจูฉ่ายจะเหมาะมากกว่าและเช่นเดิมภาชนะปลูกเหล่านี้คุณจูนสั่งซื้อทางออนไลน์ ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาเดินทางออกไปติดอยู่บนถนน

“จูนว่าการปลูกผักในกระถาง ขนย้าย เคลื่อนย้ายง่าย ดูแลง่าย ควบคุมโรคและแมลงก็ง่ายค่ะ”

พื้นฐานสำคัญคือดินปลูก

“คุณแม่ทำสวนผลไม้อยู่ที่บางเลนค่ะ ปลูกมะขามเทศ ทองหลางก้ามปูไว้อยู่แล้ว ก็ไปเก็บใบที่ร่วงใต้ต้นมาไว้ใช้ เมื่อก่อนก็เอาดินที่สวนแม่มาใช้ปลูกผักค่ะ แค่เอามาผสมกับขี้วัวแค่นั้น แต่คิดว่าดินมันแน่นไปใช้ปลูกผักแล้วผักไม่โตใบมันเหลือง หาข้อมูลแล้วคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากธาตุอาหารมีน้อย จูนเลยลองหมักปรุงดินใหม่ ศึกษาหาความรู้ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งเลยค่ะกว่าจะได้สูตรดินผสมที่ลงตัว”

ดินปลูกผักจากสวน Little Girl Gardenมีทั้งหมด 3 สูตรด้วยกันคือ

สูตรสำหรับผักกินใบ หรือผักต้นใหญ่ๆ เช่น เคล คะน้า กะหล่ำ หนูจะใช้เศษใบไม้ที่เก็บจากสวนของแม่ ผสมกับดินถุงหรือดินเก่าที่ใช้แล้วผสมกับขี้วัวนมที่แห้งแล้ว วัวนมจะกินแต่หญ้า ซึ่งจะไม่ปนเปื้อนโซดาไฟที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เป็นอันตรายต่อรากพืช และทำให้เกิดเชื้อราได้ ใช้อย่างละเท่าๆ กัน

สูตรสำหรับผักกินหัวกินผล ใช้วัสดุเดียวกับผักกินใบ แต่เปลี่ยนจากขี้วัวเป็นขี้ไก่ซึ่งมีจะสารอาหารมากกว่า ใช้อย่างละส่วนเท่าๆ กันค่ะ

สูตรสำหรับผักสลัดชอบดินปลูกที่ร่วนๆ ฟูๆ นุ่มๆ หนูก็จะเพิ่มขุยมะพร้าวและแกลบดิบลงไป ในอัตราส่วนเท่าๆ กันเหมือนเดิม สูตรดินนี้สามารถปลูกผักได้ทุกชนิดค่ะ

ส่วนผสมแต่ละสูตรจะผสมทุกอย่างคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่ในกระสอบ รดด้วย EM ที่ผสมน้ำอย่างละ 2 ลิตร เพื่อช่วยให้จุลินทรีย์ในดินย่อยสลายได้ดีขึ้นโดยจะใส่จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงและน้ำส้มควันไม้เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคเชื้อราในดินลงไปด้วย ให้มีความชื้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ลองขยำกำดินให้มีลักษณะเป็นก้อนไม่แฉะเกินไป และไม่แห้งจนแตกออกจากกันก็ถือว่าใช้ได้ การวางกระสอบดินในแนวนอนไม่จำเป็นต้องตากแดดเพื่อให้เกิดการย่อยสม่ำเสมอกัน ประมาณ 1-2 อาทิตย์ก็พลิกกระสอบกลับด้านใหม่ อาจจะลองเปิดดูว่าดินในกระสอบแห้งรึเปล่า ถ้าดินแห้งก็รดด้วยน้ำผสม EM เหมือนเดิมให้พอชื้น หากดินแห้ง EM จะไม่ทำงานและจุลินทรีย์ในดินอาจจะแห้งตายได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ถ้าจับแล้วดินไม่ร้อน ก็นำมาใช้ได้แล้ว

“ด้วยความที่พื้นที่เรามีจำกัด จูนจะเตรียมดินครั้งละแค่4-5 กระสอบปีนึงทำประมาณ 3-4 ครั้งที่สำคัญคือดินเก่าที่ใช้แล้วก่อนจะนำมาใช้ซ้ำต้องนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าโรคฆ่าแมลงก่อน จะแยกดินไว้เป็น 3 กองตามประเภทของดินที่ใช้ค่ะ หลังตากแห้งดีแล้วค่อยมาดูเนื้อดินอีกทีว่าควรจะใส่อะไรเพิ่มบ้าง ถ้าจับดูแล้วรู้สึกว่าดินแน่นแสดงว่าพวกอินทรีย์วัตถุย่อยสลายไปเยอะแล้ว จูนก็จะใส่พวกเศษใบไม้และขี้วัวเพิ่ม ทุกอย่างอาศัยประสบการณ์ล้วนๆ เลยค่ะ”

“ส่วนขี้วัวจะซื้อแบบตากแห้งมาแล้ว แต่ไม่ใช่ขี้วัวที่หมักพร้อมใช้นะคะ แบบนั้นจะมีราคาแพง ของทั้งหมดนี้ก็สั่งซื้อทางออนไลน์ค่ะยกเว้นดินถุงที่ต้องไปดูเองเพื่อจะไปสัมผัสดูว่าดินใช้ได้ไหม โดยส่วนตัวคิดว่าดินถุงในบ้านเราผสมอะไรลงไปหลายอย่าง เช่น แกลบดำ จูนจะเลือกดินถุงที่มีเนื้อดินมากหน่อยค่ะ”

สวนครัวบนดาดฟ้า

ให้ปุ๋ยให้น้ำ ดูแลให้งามและถ่ายรูปอวดได้

ที่นี่ใช้น้ำประปาที่พักทิ้งไว้ในถังหนึ่งคืน ใช้ฝักบัวรดน้ำทั้งหมดค่ะ ปกติจะรดน้ำวันละสองครั้ง ตอนเช้าก่อนแปดโมงเช้า ตอนเย็นช่วงสี่ถึงห้าโมงเย็น ก่อนพระอาทิตย์ตกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเชื้อรา แต่ถ้าเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน จะต้องลดเพิ่มรอบสิบเอ็ดโมงถึงเที่ยงด้วยค่ะ”

เทคนิคการรดน้ำที่คุณจูนใช้คือรดน้ำเหนือพุ่มต้น ให้น้ำโดนอากาศจะได้เกิดโอโซน และจะทำให้เกิดไนโตรเจนที่เป็นประโยขน์กับพืชมากขึ้นด้วยแต่เธอบอกว่าเมื่อยมากกกกกก เพราะต้องยกบัวรดน้ำสูงๆ รดน้ำครั้งหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง

“เคยลองสั่งซื้อหัวน้ำหยดมาต่อกับขวดน้ำปักในกระถางก็ใช้ได้ดีนะคะ ตอนนี้ซื้อชุดสปริงเกอร์ที่สามารถประกอบได้ด้วยตัวเอง เหลือปั๊มน้ำที่ต้องซื้อใหม่ เตรียมระบบเผื่อไว้ตอนที่ไม่อยู่บ้านด้วยค่ะ”

ส่วนการใช้ปุ๋ยมีผลพลอยได้จากที่คุณแม่ของเธอทำน้ำหมักไว้ใช้เองที่สวนทั้งน้ำหมักปลา ฮอร์โมนไข่ เธอจึงแบ่งจากตรงนั้นมาใช้ ตอนนี้เธอกำลังลองทำน้ำหมักผลไม้ น้ำหมักมูลวัว น้ำหมักใบยาสูบ ซึ่งน้ำหมักก็เหมือนเป็นอาหารเสริมให้ต้นไม้ ช่วยให้ผักเติบโตแข็งแรง ใบกรอบรสชาติดี

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยเร่งราก ช่วยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในดิน

น้ำหมักปลา ช่วยบำรุงต้น ใบ ผลให้มีขนาดใหญ่

ฮอร์โมนไข่ ใช้สำหรับไม้ผล ช่วยเร่งตาดอก

น้ำหมักมูลวัว ใช้สำหรับผักกินใบ ทำให้ใบเขียว ต้นอวบใหญ่

การใช้น้ำหมักต่างๆ คุณจูนจะใช้หลังจากย้ายต้นกล้าผักลงปลูกในกระถางประมาณ 20 วัน โดยใช้น้ำหมักสลับกัน ผสมในอัตราส่วนน้ำหมัก 1 ซีซีต่อน้ำ1 ลิตร จะใช้น้ำหมักหลายอย่างผสมกันก็ได้ แต่ต้องผสมให้เจือจางลง ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ช่วงปากใบเปิดไม่เกินเจ็ดโมงเช้า จะสเปรย์น้ำหมักหลังจากรดน้ำแล้ว หรือผสมน้ำหมักจางๆ ในน้ำที่ใช้รด

น้ำหมักผลไม้สุกจะช่วยเรื่องรสชาติของผัก เลือกใช้ผลไม้ที่มีไนโตรเจนสูง เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก มะม่วงสุก 3 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และนมสดรสจืด 10 ลิตร ผสมทุกอย่างให้เข้ากันในถัง ปิดฝาทิ้งไว้จนขึ้นฝ้าขาวที่ผิวคือใช้ได้วิธีนำไปใช้คือกรองเอาแต่น้ำ10 ซีซี ผสมกับน้ำ 1 ลิตรพวกกากผลไม้ก็เอามาใช้เป็นปุ๋ยได้นะคะ เอามาบี้ๆ แล้วโรยรอบต้นได้เลย

สวนครัวบนดาดฟ้า

อยู่สูงถึงบนดาดฟ้าใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องแมลง

“ทั้งเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ไรแดง หนอนใยผัก หนอนกินใบที่นี่มีครบเลยค่ะ อาจจะเป็นเพราะแถวนี้ไม่มีสวนผักสวนผลไม้ สวนผักของหนูก็เลยเปรียบเหมือนแหล่งอาหารของเหล่าแมลง หนูใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำหมักใบยาสูบช่วยป้องกันและกำจัดค่ะ ถ้าโดนรุมหนักมากๆ ก็ต้องใช้สารชีวภัณฑ์ช่วยค่ะ ตอนนี้เตรียมจะขึงมุ้งคลุมทั้งหมดเพื่อป้องกันแมลงค่ะและจะขึงซาแรนช่วยพรางแสงด้วยจะใช้ซาแรนสีขาว ค้นข้อมูลมาว่าเหมาะสำหรับผักที่ต้องการแสงมาก ช่วยเรื่องความเย็น และยังช่วยกันลมกันฝนได้ดี บนดาดฟ้าช่วงหน้าฝนลมพายุแรงมากค่ะ”

สวนครัวบนดาดฟ้า

บางมุมในสวนปลูกไม้ดอกเช่นดาวเรืองช่วยไล่แมลง ส่วนพีทูเนียหรือไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม ใช้ล่อผึ้ง ล่อแมลงให้มาช่วยผสมเกสร เช่น แตงกวา มะระ บวบ มะเขือเทศ บางครั้งคุณจูนก็ช่วยเคาะดอกเขย่าต้น หรือใช้ฟ๊อกกี้ฉีดน้ำที่ดอกให้เกสรร่วงลงไปกับน้ำเพื่อผสมกัน โดยต้องเอามือบังไว้หลังดอกด้วย ป้องกันไม่ให้เกสรปลิวไปที่อื่น

มูลไส้เดือน ทำเองก็ได้ง่ายจัง       

มูลไส้เดือนมีไนโตรเจนสูง เป็นประโยชน์กับผัก แต่ก็มีราคาแพง การผลิตมูลไส้เดือนของเธอจึงใช้ดินที่มาจากสวนของคุณแม่ซึ่งมีไส้เดือนติดมาด้วย เก็บรวบรวมไว้แล้วเลี้ยงเอง

“อาหารไส้เดือนจะใช้ขี้วัวนมใส่ในกระสอบแช่ในถังน้ำที่ผสม EM และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทิ้งไว้ 3 วัน หลังจากนั้นบีบมูลวัวให้สะเด็ดน้ำพอชื้นแล้วแยกใส่กะละมัง ปิดฝาและหมักทิ้งไว้อีก 14 วัน ค่อยปล่อยไส้เดือนลงไป ประมาณ 1 อาทิตย์ก็นำมูลไส้เดือนมาใช้ได้แล้วค่ะ ระหว่างเลี้ยงก็ให้เศษผัก เศษผลไม้ ข้าวสุกเป็นอาหารด้วย เพื่อให้เกิดธาตุอาหารมากขึ้น ถ้าเราเห็นว่ามีแต่มูลไส้เดือนเป็นเม็ดๆ ไม่มีเศษขี้วัวแล้วก็ต้องทำใหม่ โดยเฉลี่ยจะใช้งานได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ขึ้นกับขนาดของกะละมังที่ใช้เลี้ยงค่ะ”

วิธีนำมูลไส้เดือนไปใช้ คือโรยบางๆ ในกระถางปลูกผัก หรือใช้รองด้านล่างของต้นกล้าผักตอนย้ายปลูกลงกระถางค่ะ ส่วนน้ำในถังก็ใช้เป็นน้ำหมักมูลวัวได้

สวนครัวบนดาดฟ้า พื้นที่เพียง 28 ตารางเมตร แต่สามารถผลิตผักได้เพียงพอกับสมาชิกทั้ง 5 คน ทั้งยังมีเหลือมากพอที่จะแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ให้คนรู้จัก บางครั้งคุณจูนก็แบ่งต้นผักให้ไปปลูกเลยก็มีและตอนนี้เธอเริ่มมีผลผลิตแบ่งขายเป็นรายได้อีกทาง โดยเฉพาะเคล รวมไปถึงพวกน้ำหมักต่างๆ และดินปลูกที่เธอผสมเองด้วย

แต่เชื่อไหม แค่เข้าไปสำรวจในโซเชียลมีเดียของเธอ ทั้ง Instagram ในชื่อ littlegirl_garden หรือจะเป็น Facebook  “Little Girl Garden” ก็จะได้แรงบันดาลใจกลับมาเต็มกระเป๋า และใจฟู จนปลุกวิญญาณนักปลูกให้ตื่นขึ้นอย่างแน่นอน

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข