เรื่องเล่าจาก สวนผักบนดาดฟ้า ห้องทดลองปลูกของ “แพรี่พาย”

“มันเกิดจากจิตวิญญาณที่เปลี่ยนไป” ประโยคสั้นๆ ที่ คุณอมตา จิตตะเสนีย์ หรือที่ทุกคนรู้จักเธอในชื่อ “แพรี่พาย” บอกถึงเหตุผลของการทำ สวนผักบนดาดฟ้า ทำเราตกตะลึงไปชั่วขณะในสิ่งที่เธอบอกเล่า

แม้ภาพจำผ่านสื่อต่างๆ จะเปลี่ยนเธอในมุมมองของคนนอกที่ไม่รู้จักคุ้นเคยให้พอรับรู้ได้บ้างในสิ่งที่เธอสนใจ นั่นคือเรื่องของ “ผ้าไทย” ที่ผ่านการลงแรงเรียนรู้หลายปีสู่มิติของงานแฟชั่นดีไซน์ที่เธอถนัดไม่ต่างจากการแต่งหน้า แต่ความหมายของคำว่าจิตวิญญาณที่เปลี่ยนไป มันยิ่งใหญ่เกินภาพของ สวนผักบนดาดฟ้า ที่เราเห็นผ่านตายิ่งนัก

สวนดาดฟ้า แพรี่พาย

แต่คุณแพรี่พายก็ขยายความหมายที่ซ่อนอยู่ในสวนผักบนดาดฟ้าให้เราฟัง “แพรทำงานในสายแฟชั่น สายบิวตี้กว่าสิบปี เอาจริง ๆ แฟชั่นมันก็สนุกนะ มันมีความครีเอทีฟ เราได้พาตัวเองไปในหลายมิติ แต่แพรไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าแล้วอย่างไรต่อ มันจะต้องทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือจริงๆ แล้วกระบวนการและความหมายของชีวิตมันก็ต้องเติบโตและพัฒนาไปด้วยไหม”

จากนั้นคุณแพรี่พายที่สาวๆ ยกเธอให้เป็นไอดอลเรื่องแต่งหน้าก็ได้ทำความรู้จักกับผ้าไทย ซึ่งเธอบอกว่า ผ้าไทยได้บอกให้เข้าใจถึงรากเหง้าของความเป็นคนไทยในหลายๆ มิติ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ในเรื่องของการกินอาหารตามฤดูกาล เรื่องกินอาหารเป็นยา พืชท้องถิ่น มันเปลี่ยนตัวเธอทีละนิดจากการเข้าไปศึกษา ใช้ชีวิตกับชุมชน รู้ลึกถึงรากเหง้า ซึบซับเข้าสู่กระบวนคิด แล้วหยั่งลึกลงไปสู่ธรรมชาติที่เป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง

สวนผักบนดาดฟ้า

“เมื่อเราได้มีโอกาสเข้ามาในสายของธรรมชาติบำบัด รู้สึกเหมือนได้ผลักความมืดที่เข้ามาครอบงำออกจากตัวเองค่ะ มันทำให้แพรรู้สึกว่าได้รีเฟรช แทบจะเรียกได้ว่าธรรมชาติดึงให้เรากลับมาเป็น ‘คน’ อีกครั้งหนึ่ง เหมือนเราได้มีโอกาสเปิดสัมผัสทั้ง 5 ในเรื่องของกลิ่น รสชาติ การมอง การฟัง การสัมผัส พาสู่ความสงบ และเกิดคำถามว่าสายงานที่เราทำอาจถึงจุดที่พอแล้ว และถึงเวลาที่จะเริ่มต้นกับอะไรที่มีคุณค่าต่อตัวเองและมีคุณค่าต่อผู้อื่นไปด้วย”

จากใบหน้าที่แต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางคอลเล็กชั่นใหม่ในแบบที่ผู้หญิงใฝ่ฝัน สู่หญิงสาวธรรมดาที่สวมผ้าไทยเดินสำรวจป่า และวันนี้เราได้เห็นเธอจับเสียม ขุดดิน ถอนหญ้า เก็บผัก และใช้ดอกไม้ในสวนที่ปลูกเองแต่งแต้มเป็นกลิตเตอร์บนใบหน้าแทนเครื่องสำอางที่คุ้นชิน

“สวนบนดาดฟ้าก็มาจากธรรมชาติที่เปลี่ยนเรา การเดินป่า การอยู่กับชุมชน เรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาต่างๆ พาให้แพรสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างแหล่งอาหารได้เอง โดยเฉพาะคนเมืองที่ต้องพึ่งพาคนอื่นสร้างแหล่งอาหารให้ แต่บางครั้งกลับตั้งคำถามถึงที่มาของ PM 2.5 ที่มาของไฟป่า คำถามถึงการทำเกษตร ทำไมต้องเผาข้าวโพด สงสัยทำไมรัฐบาลไม่จัดการล่ะ กลายเป็นเราปัดความรับผิดชอบนี้ไปให้คนอื่นโดยที่เราไม่ได้มีแอ๊กชันด้วยซ้ำ แต่พอได้มีโอกาสลงไปในพื้นที่จริงหลายที่ ถึงเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจริงๆ แล้วพวกเราทุกคนนั่นแหละเป็นที่มาของปัญหาหลายๆ อย่าง พวกเราล้วนแต่สะดวกสบายเกินไป หิวก็เดินเข้าซูเปอร์เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ อุ่นอาหารฉีกซอง กินเสร็จแล้วทิ้งขยะ เราไม่ได้รู้ที่มาของอาหารที่เรากินว่าต้นน้ำปลายน้ำ กลางน้ำ เราไม่ได้รู้ว่าแต่ละอย่างที่กว่าจะได้มามันยากแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมการจัดการมันถึงไม่ครบวงจร

สวนผักบนดาดฟ้า
สวนแพรี่พาย

“เราสามารถเป็นแหล่งอาหารของคนในครอบครัวเราได้ไหม”  นี่คือโจทย์แรกของการเดินสู่อาณาจักรของการทำฟาร์ม สู่สวนผักลอยฟ้าบนตึกคอนโดมิเนียมที่มีสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่ รวมทั้งผู้เช่าคนอื่นๆ ด้วย

“มันคงเจ๋งมากเลยนะ อย่างน้อยสุดแพรได้ Go Green ได้ลดทั้ง Eco Footprint และ Carbon Footprint ในระดับหนึ่ง โดยที่สามารถผลิตอาหารให้ผู้เช่าและคนในครอบครัวได้ เราวางแผนไว้แล้วว่าชั้นดาดฟ้าจะเป็นสวน เพราะตอนแรกแพรโหวตที่จะไม่เข้ามาอยู่ในตึกที่ไม่มีดินสัมผัส ไม่มีสนามหญ้า ไม่มีชีวิต ทั้งที่ได้ไปทุ่มเทใจกายให้ธรรมชาติบำบัดมาแล้ว จึงตกลงกับครอบครัวว่าบนดาดฟ้าต้องมีสวนนะ ปลูกเป็นไม้ประดับหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ช่วงล็อกดาวน์ 10 เดือนที่ผ่านมา แพรเปลี่ยนดาดฟ้าเป็นห้องทดลอง อยากรู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่าเราจะสร้างแหล่งอาหารเองได้จริงไหม”

สวนผักบนดาดฟ้า
สวนผักบนดาดฟ้า

การหยั่งลึกในสิ่งที่ทำ พาตัวตนในอีกมุมหนึ่งที่ไม่มีใครได้รู้ซึ้งมากกว่าตัวเธอเองออกมาสู่โลกของการทำเกษตร ซึ่งเธอเรียกตัวเองว่า A little farmer in the big city

“มันเป็นการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่หนึ่งบทเรียนของแพรเลยค่ะ ความจริงการปลูกผักในเมืองไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่ต้องลงมือทำ แพรอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมาตลอด 4 ปี ทดลองสร้างระบบนิเวศจำลอง แต่เราต้องขยัน ต้องอดทน ลองผิดลองถูก ต้องแก้ไขสถานการณ์อย่างเข้าใจลึกซึ้ง จะปลูกอะไรก็ต้องไปศึกษาว่าเป็นพืชชนิดไหน เมล็ดหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ระยะการปลูกกี่วัน และเหมาะสมกับการปลูกช่วงฤดูไหน”

ความหลากหลายของพืชพรรณบนสวนดาฟ้าถูกแต่งแต้มสร้างสรรค์ไม่ต่างจากการแต่งหน้า ศิลปะที่เธอชื่นชอบยังคงถูกใช้ในพื้นที่สวน

“การวาดแปลนวางเลย์เอ๊าต์ในสวนก็คล้ายๆ การแต่งหน้าค่ะ เราดีไซน์ว่าตรงนี้เป็นส่วนของไม้เลื้อยนะ จะปลูกฟักทอง แตงกวา แตงโม ผักปลัง น้ำเต้า อะไรก็แล้วแต่ที่มันเลื้อยๆ บวกกับเราชอบศิลปะ ชอบอะไรที่เป็นสีๆ มีปลูกพืชให้สีสำหรับสกัดสีน้ำวาดรูป ย้อมผ้า เช่น คราม ดอกดาวเรือง ดอกดาวกระจาย แพรชอบดอกไม้ด้วย มีดอกไม้กินได้ ดอกไม้โบราณ มาทำน้ำอบน้ำปรุง เป็นโซนสำหรับจินตนาการ ส่วนอื่นๆ ก็จะเป็นผักสวนครัว หรือพืชที่ปลูกระยะสั้นอย่างผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ระยะยาวหน่อยก็จะมีต้นแค มะละกอ มะนาว ไชยาค่ะ”

สวนผักบนดาดฟ้า

นอกจากพืชผักที่มีให้เห็นกันทั่วในท้องตลาด เธอยังใช้พื้นที่บนดาดฟ้าแห่งนี้เป็นห้องทดลองในการปลูกพรรณไม้แปลกๆ ผักพื้นบ้านที่ได้จากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพกา (ลิ้นฟ้า) ใบงาเกาหลี พริกปีศาจ พริก Carolina Reaper มันขี้หนู ฮ่องเต้ม่วง กวางตุ้งดอกไม้ไฟ มะเขือเทศทรงฟักทอง เลมอน ซึ่งนับแทบไม่หวาดไม่ไหวกันเลยทีเดียว

“การปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ทำให้เราได้เติบโตไปพร้อมกับเขา จากเมล็ดเล็กๆ รากเริ่มออก ได้ใบเลี้ยง เริ่มมีดอก ออกผล เราได้เห็นวงจรชีวิตและการพัฒนาของพืชในระยะต่างๆ เหมือนเรามีลูกเป็นร้อยคน เพราะแพรปลูกเป็นร้อยๆ ชนิด”  

สวนผักบนดาดฟ้า แพรี่พาย

ปัญหาเรื่องความร้อนจากข้อจำกัดของพื้นที่บนดาดฟ้าที่ต้องรับแดดทั้งวัน รวมทั้งรูปแบบกระบะที่เป็นปูนก่อซึ่งทำง่ายสำหรับคนเมือง แต่ก็มีข้อเสียคือแดดร้อนมากๆ จะดูดน้ำทำให้ต้องรดน้ำพืชผักมากขึ้น เลือกทาสีสะท้อนความร้อนที่พื้นช่วยลดการสะสมความร้อนอีกทาง ส่วนปัญหาเรื่องแมลงรบกวนอย่างนกหรือศัตรูพืช เธอใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการสร้างระบบนิเวศให้พืชผักสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง เลือกปลูกผักให้เหมาะกับทิศแสง อย่างทิศตะวันตกที่มีแสงแรงจะปลูกผักกินผลเป็นหลัก เมื่อผักแข็งแรงก็จะทนกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจได้ดีขึ้นและสู้กับเหล่าแมลงรบกวนได้ ส่วนการวางระบบระบายน้ำวางแผนไว้ตั้งแต่ก่อสร้างตึก ทั้งการทาวัสดุกันซึมและการเซาะร่องน้ำรอบแปลงปลูก

“จริงๆ นอกจากครอบครัวได้กินอิ่มจนไม่อยากกินผักที่แพรปลูกแล้ว ก็ยังได้มีโอกาสส่งให้ครูสอนโยคะ ให้เพื่อน คุณย่าคุณยาย คนใกล้ตัวเราได้รู้แหล่งอาหารของเรา พอยิ่งมาอินตรงนี้ ก็รู้สึกว่าคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ หรือ ‘Bio Diversity’ มันดีมากๆ ทำให้เราได้รู้จักพืชหลายชนิด ได้เจอพืชผักตามฤดูกาลหน้าตาแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นและรู้จักมาก่อน ได้ลิ้มลองกินอาหารมากขึ้น กินอาหารเดิมซ้ำๆ น้อยลง ได้เปิดประสบการณ์รสชาติใหม่ๆ ถ้าเรายิ่งรู้แหล่งที่มาของอาหารที่เรากิน มันเป็นเหมือนยารักษาโรคที่ดีที่สุด

สวนผักบนดาดฟ้า

“มีประโยคหนึ่งที่แพรชอบมาก เจอที่งาน Bangkok Design Week 2022 คือ เรากินอาหารจากผู้ผลิตที่ไม่สนใจเรื่องสุขภาพ และเราก็ไปรักษาตัวกับคนที่ไม่รู้เรื่องอาหาร (เวลเดล แบร์รี) ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ” คุณแพรี่พายกล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

“ปูเป้ทำเอง” สวนครัวหน้าบ้านของคนที่ทำทุกอย่างใช้เอง

สวนผักออร์แกนิก ที่ให้ทั้งสุข สวย และดีต่อใจ ในมุมเล็กๆ ข้างบ้าน