หนึ่งในสารชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการกำจัดเชื้อราโรคพืชได้เป็นอย่างดี มีความปลอดภัยสูง และใช้ระยะเวลาในทดลองและวิจัยมามากกว่า 30 ปี จะเป็นอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่ ไตรโคเดอร์มา เชื้อราที่เป็นปฏิปักษ์กับเชื้อราโรคพืช

ไตรโคเดอร์มา คือ อะไร?
ไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่ใช้สำหรับควบคุมโรคพืชต่างๆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoderma asperellum โดยไตรโคเดอร์มานั้นสามารถทำลายโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราได้ อย่างเช่น โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) โรคราแป้ง (Powdery Mildew) โรครากเน่า (Root rot) โรคราสนิม (Rust) เป็นต้น

ไตรโคเดอร์มาสามารถกำจัดโรคพืชได้อย่างไร?
ไตรโคเดอร์มาเป็นปรสิตที่คอยเบียดเบียนโรคพืช โดยมีความสามารถในการขยายตัวที่รวดเร็ว และเมื่อไตรโคเดอร์มาสัมผัสกับเส้นใยของโรคพืชจะเริ่มจากทำการแทงรากเข้าไปในเส้นใยของโรคพืช และปล่อยเอนไซม์เพื่อเข้าทำลาย รวมถึงดูดกินสารอาหารภายในตัวของโรคพืชจนหมด แล้วนำสารอาหารที่ได้นั้นมาสร้างเป็นสปอร์เพื่อขยายตัวต่อไป

ไตรโคเดอร์มาชักนำให้พืชต้านทานโรคได้
นอกจากควบคุมโรคพืชแล้ว ผลการทดลองพบว่าไตรโคเดอร์มาสามารถชักนำให้พืชต้านทานโรคได้ โดยการทดลองนั้นได้แบ่งรากของพืชออกเป็น 2 ส่วน โดยให้ฝั่งหนึ่งใส่โรคพืช และอีกฝั่งหนึ่งมีสปอร์หรือสารกรองของไตรโคเดอร์มา พบว่าฝั่งที่ใส่โรคพืชรากนั้นไม่เกิดความเสียหาย เมื่อเทียบกับอีกต้นหนึ่งที่ฝั่งหนึ่งใส่โรคพืช และอีกฝั่งหนึ่งที่ใส่เพียงน้ำธรรมดา ปรากฏว่ารากของฝั่งที่ใส่โรคพืช รากนั้นเกิดความเสียหายอย่างมาก

ไตรโคเดอร์มาไม่ชอบแสงแดดและความร้อน
เพราะแสงแดดและความร้อนจะทำให้ให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงจากการที่เชื้อไตรโคเดอร์มาตายและลดจำนวนลงนั่นเอง ดังนั้นวิธีการใช้ไตรโคเดอร์มาที่ดีที่สุด ต้องฉีดพ่นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อไตรโคเดอร์มามากที่สุด

เห็ดไม่ชอบไตรโคเดอร์มา
เนื่องจากเห็ดเป็นเชื้อราชั้นสูง ซึ่งหมายความว่า เห็ดก็คือเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็ดได้สัมผัสกับเชื้อไตรโคเดอร์มาก็จะทำให้เห็ดตายได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าไตรโคเดอร์มามีความสามารถในการเข้าทำลายเชื้อราโรคพืช ซึ่งรวมถึงเชื้อราชนิดดีด้วยเช่นกัน

ไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อแมลง มนุษย์ และสัตว์เลี้ยง
พฤติกรรมการดำรงชีวิตของไตรโคเดอร์มาจะอาศัยอยู่ในดิน คอยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและเชื้อราอื่นๆ เพื่อใช้เป็นอาหารในการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อแมลง มนุษย์ และสัตว์เลี้ยง แต่อย่างไรก็ตามในการใช้งานนั้นแนะนำว่าก็ยังคงต้องใส่ถุงมือ แว่นตา และหน้ากาก เพื่อป้องกันสปอร์ของไตรโคเดอร์มาอยู่ดี

มีเพียงข้าวสารและหัวเชื้อ ก็สามารถทำเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้แล้ว
ในการขยายเชื้อสดไตรโคเดอร์มา จะใช้หัวเชื้อที่ใช้สำหรับขยายเชื้อสดโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากหุงข้าวอัตราส่วน ข้าว 3 ส่วน ต่อ น้ำ 2 ส่วน หุงจนข้าวสุก จากนั้นตักข้าว 250 กรัม ใส่ในถุงร้อน พักไว้จนเกือบเย็น เหยาะหัวเชื้อลงไปประมาณ 1 กรัม เขย่าให้เข้ากัน มัดถุงด้วยหนังยาง เจาะรูด้วยเข็ม และตั้งทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เท่านี้ก็สามารถใช้งานเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้แล้ว
วิดีโอขยายเชื้อสดไตรโคเดอร์มา

ขยายเชื้อสดไตรโคเดอร์มาด้วยตัวเองอย่างไม่จำกัด
จากวิธีการใช้หัวเชื้อมาขยายจะทำให้เราได้เชื้อสดไตรโคเดอร์มาใช้งาน แต่อย่าเผลอใช้จนหมดเพราะเชื้อสดไตรโคเดอร์มาสามารถนำมาใช้แทนหัวเชื้อที่ซื้อมาได้ โดยวิธีการทำจะเหมือนกับการขยายเชื้อสดตามปกติเลย แต่เพียงเปลี่ยนจากหัวเชื้อเป็นเชื้อสด โดยใช้เชื้อสดปริมาณ 20 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะแทน เท่านี้เราก็จะมีเชื้อสดไตรโคเดอร์มาได้อย่างไม่จำกัด

วิธีใช้เชื้อสดไตรโคเดอร์มา
สามารถใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่ นำเชื้อสดมากรองให้เหลือแต่น้ำสปอร์เพื่อนำไปฉีดพ่น โดยใช้อัตราส่วนเชื้อสด 250 กรัม ต่อน้ำสะอาด 50 ลิตร ฉีดพ่นช่วงเช้าและช่วงเย็น นำเมล็ดพืชมาคลุกเคล้าเข้ากับเชื้อสดไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะช่วยให้พืชที่งอกสามารถต้านทานโรคเน่าคอดินได้ ซึ่งเป็นโรคพืชที่เกิดขึ้นกับต้นกล้าบ่อยครั้ง โดยวิธีการใช้ให้นำเมล็ดพืช 1 กิโลกรัม มาคลุกเคล้ากับเชื้อสดไตรโคเดอร์มา 10 กรัม หรือ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจึงค่อยนำไปเพาะเมล็ดได้
วิดีโอวิธีการนำเชื้อสดไตรโคเดอร์มาไปใช้งาน

ไม่ควรใช้เชื้อไตรโคเดอร์มากับสารกำจัดเชื้อราโรคพืช
หากนำมาใช้ด้วยกันเพื่อคาดหวังว่าจะได้ผลที่ดีขึ้น ผลที่ได้อาจไม่เป็นอย่างที่หวัง เพราะอย่าลืมนะว่าไตรโคเดอร์มานั้นก็เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งสารกำจัดเชื้อราโรคพืชนั้นไม่สามารถเลือกได้ว่าให้ทำลายเฉพาะเชื้อราโรคพืชเท่านั้น ทำให้เวลาใช้สารกำจัดโรคพืชจะทำลายทั้งเชื้อราที่ดีและไม่ดี ซึ่งรวมถึงเชื้อไตรโคเดอร์มาด้วยเช่นกัน