ผึ้ง

รวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ผึ้ง นักผสมเกสรตัวจิ๋ว

ผึ้ง
ผึ้ง

ผึ้ง เป็นแมลงที่มีความสำคัญในการช่วยผสมเกสรให้กับพืชแล้ว ยังเป็นแมลงที่ชี้วัดความอุดมสมบูณณ์ของระบบนิเวศอีกด้วย เนื่องจากผึ้งต้องการความหลากหลายของพืชพรรณเพื่อให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ตลอดทั้งปี

แต่ปัจจุบันผึ้งกลับมีจำนวนน้อยลงจากพื้นที่ป่าเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การใช้สารเคมีในแปลงเกษตร รวมถึงภาวะโลกร้อนทำให้หลายพื้นที่แห้งแล้งและไม่มีต้นไม้ให้ผึ้งได้ผสมเกสร

ดังนั้น สำหรับใครที่อยาก เลี้ยงผึ้ง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผึ้งกันก่อนดีกว่า ว่าผึ้งแต่ละตัวมีหน้าที่อะไร ผึ้งสื่อสารกันอย่างไรให้รู้ว่ามีแหล่งดอกไม้อยู่ตรงไหน ช่วงที่ไม่มีดอกไม้จะให้อาหารผึ้งอย่างไร ทำไมรสชาติของน้ำผึ้งแต่ละที่ถึงไม่เหมือนกัน รวมถึงมารู้จักกับผึ้งที่ไม่สามารถต่อยเราได้ จะมีอะไรกันบ้างนั้นมาชมกันเลย

เลี้ยงผึ้ง

ผึ้งสื่อสารผ่านการเต้น

ผึ้งใช้การเต้น เป็นการบอกระยะทางและทิศทางของแหล่งอาหารที่สำรวจพบ ถ้าแหล่งอาหารอยู่ใกล้ผึ้งจะเต้นเร็ว แต่ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกลผึ้งจะเต้นช้าลง โดยผึ้งรุ่นน้องจะได้เรียนรู้การเต้นนี้จากผึ้งรุ่นพี่ ในขณะที่ผึ้งรุ่นพี่กำลังเต้นอยู่ ผึ้งรุ่นน้องจะใช้หนวดไปแตะเพื่อเรียนรู้ว่าการเต้นรำนั้นหมายความว่าอย่างไร

ผึ้ง

กลิ่นและรสชาติของน้ำผึ้งขึ้นอยู่กับชนิดของดอกไม้

อย่างน้ำผึ้งที่เก็บมาจากไร่แมคคาเดเมียกลิ่นที่ได้จะมีกลิ่นถั่วจางๆ หรือน้ำผึ้งจากดอกกาแฟจะมีกลิ่นหอมและรสขมของกาแฟ ส่วนน้ำผึ้งที่มาจากดอกไม้ป่าจะมีรสชาติที่แตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วไป เพราะในป่ามีดอกไม้หลายชนิดทำให้น้ำผึ้งที่ได้มีรสเปรี้ยว หวาน และกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป

ผึ้ง

ชันโรง ผึ้งจิ๋วที่ไม่มีเหล็กใน

นอกจากผึ้งแล้วก็มี ชันโรง ซึ่งเป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กใน มีขนาดเล็กกว่าผึ้งอย่างมาก สามารถผสมเกสร เก็บน้ำหวานได้เหมือนผึ้งเลย แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ น้ำผึ้งของชันโรงมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าน้ำผึ้งทั่วไป โดยที่ชันโรงจะเก็บสัดส่วนระหว่างน้ำหวานต่อเกสรดอกไม้ในอัตราส่วน 20:80 ซึ่งต่างจากผึ้งที่เก็บในอัตราส่วน 50:50 จึงทำให้น้ำผึ้งของชันโรงมีเกสรอยู่มาก มีสารอาหารที่เยอะกว่านั่นเอง

ผึ้ง

ผึ้งงานเปลี่ยนหน้าที่ตามต่อมบนร่างกาย

ผึ้งงาน (The Worker)เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดในรัง มีหน้าที่หลากหลายขึ้นอยู่กับอายุของผึ้ง เช่น ผึ้งงานอายุ 1-3 วัน ยังไม่มีต่อมต่างๆ จึงมีหน้าที่ทำความสะอาดรัง ผึ้งงานอายุ 4-11 วัน ร่างกายมีต่อมพี่เลี้ยงแล้ว ก็จะทำหน้าที่ให้อาหารตัวอ่อน ผึ้งงานอายุ 12-17 วัน ร่างกายมีต่อมผลิตไขผึ้ง ก็จะมีหน้าที่สร้างและซ่อมแซมรัง ผึ้งงานอายุ 18-21 วัน ร่างกายจะมีต่อมพิษ ทำหน้าที่ป้องกันรัง และผึ้งงานอายุ 22 วันขึ้นไป ร่างกายมีต่อมน้ำลายและต่อมกลิ่น ทำหน้าที่หาอาหาร

ผึ้งนางพญา (The Queen) ไม่ได้ผสมพันธุ์ในรัง

เมื่อผึ้งนางพญาสาวมีอายุได้ 3-5 วัน จะเริ่มบินออกจากรังไปผสมพันธุ์ในช่วงที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส และเมื่อผึ้งตัวผู้พอได้กลิ่นของนางพญาสาวก็จะบินตามไปเป็นกลุ่ม โดยผึ้งนางพญาสาว 1 ตัว สามารถผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ได้มากถึง 20 ตัว โดยการผสมพันธุ์ของผึ้งจะเกิดขึ้นเฉพาะกลางอากาศเท่านั้น และนางพญาสาวจะมีถุงสำหรับเก็บน้ำเชื้อไว้ ทำให้ไม่ต้องการผสมพันธุ์อีกเลยจนกว่าจะตาย

ผึ้งตัวผู้ (The Drone) มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว

พอผึ้งตัวผู้ที่ได้กลิ่นของนางพญาสาวจะบินตามไปเพื่อผสมพันธุ์ โดยผึ้งตัวผู้จะใช้ขาเกาะกับนางพญาเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งแต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 3-5 วินาที หลังจากผสมพันธุ์เสร็จผึ้งตัวผู้ก็จะตกลงมาตาย และถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์แล้วผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือไม่ ผึ้งงานก็จะหยุดให้อาหารและตายในที่สุด

ผึ้งปรับอุณหภูมิภายในรังด้วยการกระพือปีก

การที่ผึ้งกระพือปีกอยู่ที่ทางเข้าของรังผึ้ง จะทำให้อากาศภายในรังหมุนเวียนตลอดเวลา นอกจากนี้ยังทำให้น้ำหวานที่เก็บสะสมอยู่กลายเป็นน้ำผึ้ง เนื่องจากความชื้นที่ปนอยู่ในน้ำหวานจะระเหยออกมาจนทำให้น้ำผึ้งมีความชื้นน้อยที่สุด

ผึ้งไม่ได้เก็บแค่น้ำหวาน

รู้กันดีว่าน้ำหวานเป็นอาหารสำคัญของผึ้ง แต่ผึ้งเองยังเก็บเกสร เพื่อใช้ในเป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งอีกด้วย โดยที่ผึ้งจะเอาตัวลงไปคลุกเคล้ากับเกสร และใช้หวีที่อยู่ที่ขาคราดไปตามตัวเพื่อมัดรวมเกสรไปไว้ที่ตะกร้าเก็บเกสร และผึ้งยังเก็บน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งให้เจือจางเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนอีกด้วย นอกจากนี้ผึ้งก็ยังเก็บยางไม้ เพื่อนำมาใช้เคลือบผนังรังให้แน่น ใช้อุดรูต่างๆ ใช้ปิดปากทางเข้ารังให้เล็กลง

ประโยชน์ของผึ้งในการเกษตร

ผึ้งช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ เพราะผึ้งเป็นแมลงที่สำคัญที่ช่วยผสมเกสรให้พืชหลายชนิด ทั้ง ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะม่วง สตรอว์เบอร์รี พืชตระกูลแตง ข้าวโพด เป็นต้น และเกษตรกรบางรายก็มีการเลี้ยงผึ้งไว้ในสวนเพื่อช่วยในการผสมเกสร และสามารถเก็บน้ำผึ้งไว้สำหรับจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

เลี้ยงผึ้ง
เหล่าผึ้งที่กำลังเก็บเกสรเทียม

น้ำตาลและเกสรเทียมอาหารสำรองสำหรับผึ้ง

ช่วงที่ไม่มีดอกไม้ เกษตรกรเลี้ยงผึ้งต้องหาน้ำตาลและเกสรเทียมให้เป็นอาหารกับผึ้ง โดยน้ำตาลให้เป็นน้ำเชื่อม โดยผสมน้ำตาลทราย 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน วางไว้ใกล้กับรังผึ้ง ส่วนเกสรเทียม ใช้แป้งถั่วเหลืองป่นละเอียด นมผงไร้ไขมัน บริวเวอร์ยีสต์ วิตามินอี และวิตามินบี ผสมให้เข้ากันและวางไว้ในที่ร่มและปล่อยให้ผึ้งมาเก็บเข้ารังไป

นอกจาก 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผึ้งแล้ว สำหรับผู้ที่ส่งใจเลี้ยงผึ้งสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หนังสือบ้านและสวน Garden&Farm Vol.6 มาเลี้ยงผึ้งและชันโรงกัน เพื่อทำความรู้จักผึ้งมากขึ้น การลงมือการเลี้ยงผึ้ง การทำเมนูต่างๆ จากน้ำผึ้ง ไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลี้ยงผึ้งได้

เลี้ยงชันโรง (ผึ้งจิ๋ว)ในสวน ช่วยผสมเกสรแถมได้น้ำผึ้ง

อยากให้รู้ก่อนจะกิน กับ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ดอกไม้กินได้”