THE RUBBERER ถอดรายละเอียดโรงงานยางพารา สู่คาเฟ่ตกแต่งสไตล์มินิมัลกลิ่นอายญี่ปุ่น

The Rubberer คาเฟ่ดีไซน์เรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยการนำเสนอเรื่องราวของยางพารา อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ผ่านการออกแบบคาเฟ่ที่มีแรงบันดาลใจจากอาคารโรงงานยางพารา

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ:  SA-ARD architecture & construction

ที่นี่มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจของครอบครัวเจ้าของคาเฟ่ ซึ่งอยู่ในระบบอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจร ทั้งการทำสวนยางพารา และโรงงานรีดแผ่นยางฯ ของตนเอง สำหรับ The Rubberer จึงเสมือนเป็นการต่อยอดธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ในฐานะของร้านกาแฟ แต่ยังเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวและความทรงจำ สะท้อนถึงบริบทที่ตั้ง และความเป็นมาของธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีประวัติมาอย่างยาวนาน

โรงงานแปรรูปและตากยางพาราหลังดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับคาเฟ่

ริมถนนหมายเลข 4040 ภายในพื้นที่กว้างขวางของโรงงานแปรรูปและตากยางพารา ส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรให้เป็นที่ตั้งของคาเฟ่ ซึ่งมีรูปทรงเป็นอาคารชั้นเดียวยาว 20 เมตร ได้ไอเดียมาจากโรงงานยางพาราหลังเดิมที่ตั้งอยู่ไม่ไกล ทั้งยังเลือกใช้แมททีเรียลในการก่อสร้างที่คล้ายกันเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถูกนำมาจัดเรียงเป็นองค์ประกอบใหม่ ภาษาใหม่ ดัดแปลงเข้ากับการตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น ตามความชื่นชอบของเจ้าของ เพื่อให้มีรายละเอียดน่าสนใจและอบอุ่นมากขึ้น

“สถาปัตยกรรมในยุคเดียวกับการ์ตูนเรื่องอิคคิวซังถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เกิดจากการสังเกตความชอบของเจ้าของคาเฟ่ว่า เขาเป็นคนชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นยุค 80’s ผมเลยนำสิ่งนั้นมาตีความ และใส่รายละเอียดให้อาคารมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น เช่น การออกแบบหลังคาให้มีความลาดต่ำลง ดึงเชิงชายข้างอาคารให้กว้างขึ้น แล้วเลือกใช้กระเบื้องแบบลอนคู่มามุงหลังคา ลักษณะคล้ายวัด หรือบ้านในญี่ปุ่น” คุณศิธานนท์ ชะเอม สถาปนิกผู้ออกแบบจาก SA-ARD architecture & construction เล่า

นอกจากรูปทรงอาคารที่ถอดแบบมาจากโรงงานยางฯ แล้ว วัสดุที่เลือกใช้ก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การเลือกก่อผนังขึ้นจากอิฐอีโคบล็อก ซึ่งเป็นอิฐบล็อกที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล มีน้ำหนักเบา เด่นด้วยสีสันและลวดลายที่ต่างจากอิฐบล็อกทั่วไป โดยมีลวดลายในตัวเป็นเส้นตรงสี่ส่วน สถาปนิกจึงนำลายที่ว่านี้มาต่อกัน จนกลายเป็นลูกเล่นสร้างแพตเทิร์นให้แก่ตัวอาคารทั้งด้านในและด้านนอก ทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน ช่วยประหยัดพลังงาน และลดขั้นตอนการก่อสร้างได้อย่างดี

บรรยากาศภายในคาเฟ่ โชว์ความเป็นสัจวัสดุไร้การปรุงแต่ง เคาน์เตอร์ทำจากคอนกรีตหล่อ ผสมผสานกับงานไม้ ทั้งในส่วนของเฟรมหน้าต่าง ประตู และเฟอร์นิเจอร์ ช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายปนอบอุ่น มีเทคนิคงานก่อสร้างที่น่าสนใจ แตกต่างไปจากอาคารทั่วไป นั่นคือการออกแบบเฟรมหน้าต่างแบบไม่ต้องมีเสาเอ็นคอนกรีต แต่ใช้การประกอบอิฐเข้ากับเหล็กฉากด้วยเทคนิคพิเศษ เพื่อทำหน้าที่แทนโครงสร้างเสาเอ็น ซึ่งมีข้อดีคือทั้งสองวัสดุสามารถเชื่อมต่อกันอย่างกลมกลืนโดยไม่ต้องมีคอนกรีตมากั้น

มีไฮไลต์สำคัญที่อดกล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือโซนเซมิเอ๊าต์ดอร์ที่จัดแสดงแท่นรีดยางเก่าจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องจักรแบบแมนนวลเก่าแก่ของโรงงาน แม้จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่แล้ว แต่ก็ยังได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี ก่อนนำมาจัดวางเป็นส่วนหนึ่งของคาเฟ่ ไม่ต่างจากมุมพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ด้านบนตกแต่งด้วยแผ่นยางดิบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและกรรมวิธีการผลิตแผ่นยางพาราที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ให้สามารถสัมผัสของจริงได้แบบใกล้ชิด กลายเป็นเสน่ห์ให้แก่ The Rubber[er] คาเฟ่เล็ก ๆ ที่นำเสนอว่า ระยอง ยังมี “ยางพารา” ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ไม่แพ้ผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดในช่วงฤดูร้อนแบบนี้

ที่ตั้ง
ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง
เปิด 7.00 -15.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 8.30 -16.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
โทร. 09-4964-8008

ออกแบบ-ก่อสร้าง : ศิธานนท์ ชะเอม จาก Sa-Ard architecture & construction Co.,Ltd.
เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : USSSAJAEREE STUDIO