ASTON GILBERT คาเฟ่นครศรีฯ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติกลางสวนป่ายางพารา

Aston Gilbert คาเฟ่นครศรีฯ กลางสวนยางพารา ในอำเภอพรหมคีรี เกิดขึ้นจากความตั้งใจของคุณแชมป์-ภวัต สุวรรณมาศ เจ้าของร้านที่อยากดึงเอกลักษณ์สภาพแวดล้อมที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในสวนยางพารากว่า 30 ไร่ ของครอบครัว ให้มาเป็นส่วนหนึ่งกับอาคารเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การดื่มกาแฟที่แปลกใหม่ พร้อม ๆ กับการได้เฝ้ามองสีสันของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: VARC HD+ID

สถาปนิกผู้ออกแบบ Aston Gilbert จาก VARC HD+ID เล่าว่า เนื่องจากบริบทรอบ ๆ ของที่ตั้งอยู่กลางสวนยางพารา รอบ ๆ เป็นสวนผลไม้ และชุมชนเล็ก ๆ มีถนนลัดเลาะไปตามภูเขา จึงออกแบบอาคารของคาเฟ่ให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่ดูแปลกแยกจากบริบทจนเกินไป นำมาสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์นแบบถ่อมตน โชว์สัจวัสดุและความงามของธรรมชาติรอบ ๆ ที่ตั้ง ซึ่งไม่ซ้ำกันสักวันอย่างในฤดูฝนสวนยางจะเขียวชอุ่มสดชื่น ต่างจากฤดูร้อนที่จะมองเห็นต้นยางทิ้งใบสีน้ำตาล ลำต้นโอนเอนไปตามแรงลม และแสงแดดที่ลอดผ่านกิ่งก้านลงมายังพื้นดินเบื้องล่าง


ภาพเหล่านี้ถูกสะท้อนไปที่ฟาซาดกระจกเงานับ 90,000 ชิ้น ซึ่งช่วยเปลี่ยนมู้ดของอาคารไปตามแต่ละช่วงเวลา และกระจกเงาที่ใช้กรุฟาซาดนี้ ยังนับเป็นงานสุดท้าทายของสถาปนิก เสมือนการทดลองเรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งเจ้าของร้าน ผู้ออกแบบ และช่างประจำท้องถิ่น โดยแผ่นกระจกที่ใช้กรุนั้น เป็นกระจกที่นิยมติดประดับตามวัด นำมาต่อกันแบบ 1 ต่อ 1 ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นแพตเทิร์นที่เรียบง่าย ลดการเสียเศษวัสดุให้น้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อมองเข้ามาจะเหมือนคาเฟ่นี้ ล่องหนกลืนหายไปกับวิวของสวนยางพารา เห็นแต่แมสอาคารส่วนบนที่ลอยอยู่

“แม้จะเป็นกระจกที่ใช้งานภายนอก แต่พอมาเป็นแผ่นที่ใหญ่ขึ้น อาจมีปัญหาอากาศเข้าไปแทรกตัวอยู่ในชั้นกาว ทำให้มีเรื่องของจุดด่างดำบ้าง ก็ต้องคอยทำความสะอาด จุดบนสุดของผนังผมมีแฟลชชิ่ง (Flashing) ทำจากสเตนเลสครอบอีกที ช่วยได้ในกรณีที่ฝนตกลงมา น้ำฝนจะไม่ชะเข้าผนังกระจกตรง ๆ ส่วนเรื่องของผนังสีขาว ผมคิดว่าคงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อาคารก็มีอายุของเขาไปเรื่อย ๆ พยายามจะปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด” สถาปนิกผู้ออกแบบเล่า

ส่วนการจัดการพื้นที่ที่ต้องตั้งอยู่ในสวนขนาดใหญ่ สถาปนิกแก้ปัญหาเรื่องขอบเขตด้วยการสร้างผนังบล็อกช่องลมคอนกรีตเปลือยผิว เป็นตัวนำสายตาและเป็นทางเดินเข้าสู่ตัวอาคาร ก่อนแจกจ่ายไปยังฟังก์ชันต่าง ๆ โดยมีคอร์ตยาร์ดช่วยระบายอากาศและลดความอับชื้น อาคารหลักแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้น 1 เป็นโซนคาเฟ่ ส่วนชั้น 2 เป็นโอเพ่นสเปซสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เปิดวิวผ่านฟาซาดที่เป็นบานกระจกปรับองศาได้จำนวน 52 แผ่น มีม่านโรลเลอร์บลายช่วยบังแสงเวลาแดดจัด ที่ชั้น 2 นี้ จะมองเห็นวิวระดับกลางของต้นยางไปจนถึงปลายยอด จึงให้อีกอารมณ์หนึ่งต่างไปจากด้านล่าง โดยเฉพาะช่วงที่ใบยางพาราร่วงหล่นจนหมด ลูกค้าจะสามารถมองเห็นวิวภูเขาได้ชัดเจน นอกจากมีอาคารคาเฟ่หลักแล้ว ยังออกแบบโซนเบเกอรี่เป็นห้องที่ทำเพิ่มขึ้นมาในลักษณะแบบโอเพ่นคิตเช่น โชว์ให้เห็นมูฟเม้นต์ต่าง ๆ ของเชฟทำเบเกอรี่

สำหรับเมนูเด่นของ Aston Gilbert เป็นการมาเจอกันระหว่างความเป็น Local กับ Modern ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมดมาทำเป็นขนมสไตล์ฝรั่งเศส ส่วนกาแฟเมนูซิกเนเจอร์ได้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน เช่น น้ำมังคุดคัดคีรีวง และช็อกโกแลตที่มาจากเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในท้องถิ่น ที่นี่จึงนับเป็นหมุดหมายใหม่ที่อยากชักชวนให้ทุกคนได้มาพักผ่อนท่องเที่ยวแบบนอกเมืองนครฯ ดูบ้าง แล้วจะได้ซึมซับไปกับความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ แถมยังจะได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นที่เป็นมิตรและเป็นกันเองด้วย

“เราอยากให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่มาถึงนครฯ คอนเซ็ปต์จึงเป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ทุกอย่างไม่ซับซ้อน เป็นธรรมชาติมาก ไม่ได้ปรุงแต่ง หรือปรับแต่งอะไรเยอะ ใช้วัสดุให้น้อยที่สุด รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด วัสดุส่วนใหญ่เป็นการเปลือยผิว ไม่ต้องทาสี หรือฉาบแต่งผิวอะไรมาก อย่างเสาก็เปลือยผิว ท้องเพดานก็เปลือย เพราะเราอยากเผยให้เห็นความเป็นธรรมชาติของวัสดุที่นำมาใช้แท้ ๆ” สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าวเสริมทิ้งท้าย

ที่ตั้ง
13 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
พิกัด https://maps.app.goo.gl/2XP7am1gGSXB4cL66?g_st=ic
เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น.
โทร. 09-4586-9519
https://www.facebook.com/AstonGilbertt

เจ้าของ : คุณภวัต สุวรรณมาศ
ออกแบบ : VARC HD+ID
ภาพ : Thanawat Cherdsattayanukool
เรื่อง : Phattaraphon