สารพัดเรื่องถังเก็บน้ำในบ้าน

เรื่องเล็กๆ แต่ยังเป็นปัญหาและเกิดคำถามอยู่เสมอก็เห็นจะเป็นเรื่องของ ถังเก็บน้ำ ยิ่งบ้านสร้างใหม่ที่เจ้าของบ้านกำลังเลือกซื้อ ถังเก็บน้ำในบ้าน ด้วยแล้ว อาจจะยังสงสัยถึงวิธีการเลือก วัสดุ รูปแบบ  ประโยชน์ของถังเก็บน้ำ รวมถึงวิธีการดูแลหลังจากติดตั้ง ซึ่งมีผลต่อสุขอนามัยของคนในบ้านโดยตรง ว่าแล้วก็มาดูกันเลยว่าสารพัดเรื่อง ถังเก็บน้ำ หรือ แทงก์น้ำ มีอะไรที่เจ้าของบ้านมือใหม่ต้องรู้บ้าง

ประเภทของวัสดุ ถังเก็บน้ำในบ้าน

ถังเก็บน้ำในบ้าน

•ไปรู้จักประเภทของถังเก็บน้ำแบบต่างๆ 

ทำไมต้องมี ถังเก็บน้ำ ติดตั้งปั๊มน้ำต่อจากท่อประปาสาธารณะเลยได้ไหม

ประเด็นแรกคือถังเก็บน้ำช่วยสำรองน้ำในยามที่น้ำประปาไม่ไหล อีกประเด็นหนึ่งคือการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่สูบโดยตรงจากเส้นท่อประปา อาจดูดสิ่งสกปรกจากบริเวณใกล้เคียง เช่น น้ำขุ่นจากท่อแตกรั่ว หรือน้ำแดงจากท่อสนิม เข้ามาในระบบท่อประปาในอาคารได้ ดังนั้นควรติดตั้งถังเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ก่อน แล้วจึงสูบจากถังเก็บน้ำนั้นจ่ายไปยังท่อประปาภายในอาคาร จะได้น้ำที่สะอาดปลอดภัย

ถังเก็บน้ำบนดิน สะดวก ปัญหาน้อยกว่าใต้ดิน

ถังเก็บน้ำในบ้าน

การใช้ถังน้ำสำรอง ถ้าไม่มีความจำเป็นใดๆ ไม่ควรฝังใต้ดิน เพราะถังน้ำใต้ดินดูแลรักษายาก ทั้งเรื่องท่อและเรื่องถังที่มีโอกาสรั่วได้มากกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องฝังดิน ก็ควรใช้ถังชนิดสำหรับฝังดินโดยเฉพาะ ทำด้วยไฟเบอร์กลาส และการฝังถังลงใต้ดินต้องระมัดระวังเรื่องน้ำภายนอกที่อาจไหลเข้าไปในถัง เช่น น้ำผิวดิน น้ำฝน หากทำฝาถังไม่ดีพอ

คำนวณขนาดถังเก็บน้ำอย่างไร

ถังเก็บน้ำ

ถังน้ำที่นิยมใช้ปัจจุบันมีทั้งถังสเตนเลส ไฟเบอร์กลาส และหลากหลายรูปทรง มีขนาดความจุตั้งแต่ 200 ลิตร จนถึง 5,000 ลิตร บางยี่ห้อมีถังขนาดถึง 8,000 ลิตร การใช้ถังสำรองน้ำในบ้าน ควรคำนวณดูว่าจะใช้ถังน้ำขนาดเท่าใดจึงเหมาะกับการใช้งานและจำนวนคน สามารถคำนวณได้ง่ายๆ ดังนี้

จำนวนคนในบ้าน x 200 x 3 = ขนาดของถังที่เหมาะกับการใช้งานในบ้าน

200 คือ ตัวเลขมาตรฐานที่กำหนดว่า คนหนึ่งจะใช้น้ำวันละประมาณ 200 ลิตร

3 คือ วันที่ใช้สำรองน้ำ 3 วัน หากน้ำประปาเกิดหยุดไหล

การใช้ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ใบเดียวหรือขนาดเล็กหลายใบดีกว่า

ถังเก็บน้ำ

การเลือกใช้ถังน้ำใบเดียวใหญ่ๆ เช่น ถังขนาด 6,000 ลิตร หรือถังขนาด 2,000 ลิตร 3 ใบ ให้ดูที่การรับน้ำหนักของพื้นที่ที่ติดตั้ง ถ้ามีที่ตั้งพอที่จะรับน้ำหนักได้ ควรติดตั้งถัง 6,000 ลิตรใบเดียว เพื่อลดจำนวนข้อต่อของท่อลง แต่ถ้าบริเวณดังกล่าวมีข้อจำกัดของกระจายน้ำหนักไปตามจุดที่พอจะรับน้ำหนักได้ ก็ควรใช้ 3 ใบดีกว่า แล้วต่อท่อเข้าหากันซึ่งจะยุ่งยากและเสี่ยงต่อการชำรุดมากกว่า

พื้นวางถังเก็บน้ำต้องมีเสาเข็มไหม

ถังเก็บน้ำในบ้าน

การเทพื้นทำฐานวางถังเก็บน้ำประปาควรทำฐานต่างหากแยกออกมาจากตัวบ้าน โดยการเทคอนกรีตบนพื้นดิน กรณีนี้ยกตัวอย่างการวางถังเก็บน้ำขนาด 1,600 ลิตร ทำพื้นคอนกรีตขนาด 1.20 x 1.20 เมตร ความหนาของพื้นประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร เหล็กเสริมใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ผูกระยะ 20 x 20 เซนติเมตร (หรือจะใช้ตะแกรง Wire Mesh ก็ได้) ทั้งหมดทำบนเสาเข็มหกเหลี่ยม ความยาว 3 เมตร จำนวน 4 ต้น สิ่งสำคัญคือควรมีเข็มสั้นและแยกจากตัวบ้าน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งติดกับบ้านจะดีที่สุด

ถังเก็บน้ำก็ต้องทำความสะอาดนะ

ควรล้างทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 6 เดือน หากไม่มีการล้างถังเก็บน้ำเลย สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆที่เล็ดลอดเข้าไปจะเจริญเติบโตเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้น้ำประปาปนเปื้อนสิ่งสกปรกโดยไม่รู้ตัว ถังพักน้ำมักเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำประปาไม่ได้มาตรฐานและไม่เหมาะสมต่อการบริโภค

วิธีทำความสะอาดถังเก็บน้ำ คือการถ่ายน้ำออกให้หมด มีทางออกของน้ำด้านล่างที่สามารถเปิดออกได้ แล้วใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดัดสูงฉีดทำความสะอาดภายในให้สะอาด ปล่อยให้แห้งแล้วใส่น้ำได้ตามปกติ หรืออีกวิธีหนึ่งให้ใส่น้ำให้เต็มถังพักน้ำ แล้วจึงใส่คลอรีนน้ำหรือคลอรีนผงตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างซอง หลังจากนั้นกวนน้ำและคลอรีนให้เข้ากันเพื่อให้คลอรีนทำปฏิกิริยากับน้ำอย่างทั่วถึง แช่ไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วจึงปล่อยน้ำคลอรีนออกจากถังพักน้ำให้หมด คลอรีนจะฆ่าเชื้อโรคภายในถัง จากนั้นจึงปั๊มน้ำประปาลงไป วิธีนี้ค่อนข้างเปลืองน้ำ แต่ถ้านำน้ำจาการล้างมาใช้รดต้นไม้หรือล้างรถก็จะยิ่งดี หรือจะติดต่อการประปานครหลวงมาจัดการล้างให้ก็ย่อมได้ โทรศัพท์ 0-2298 – 6742

ข้อมูล : คุณอนุนาท กำแพงเสรี

เรื่อง : “เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์”, “ศุภชาติ บุญแต่ง”

ภาพประกอบ : สุเทพ บุญน้อม

กราฟิก : ศิริภัสสร


วิธีเปลี่ยนลูกลอยถังเก็บน้ำ ทำได้เองแบบง่ายๆ

สร้างบ้านใหม่จะตั้ง ถังเก็บน้ำ ตรงไหนดี

บ้านชั้นเดียวติดเครื่องปั๊มน้ำและใช้ถังเก็บน้ำขนาดเท่าไหร่

เลือกถังน้ำสเตนเลสอย่างไรไม่ให้สนิมขึ้น

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่