TOUCH STUDIO รีโนเวททาวน์โฮม เป็นสำนักงานสถาปนิก TOUCH ARCHITECT

TOUCH Architect เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ.2014 บริษัทรับออกแบบสถาปัตยกรรมเล็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นจากสองผู้ก่อตั้งคุณเอฟ – เศรษฐการ ยางเดิม และ คุณจือ – คุณภาพิศ ลีลานิรมล วันนี้นอกจากทั้งสองจะได้ขยับขยายสำนักงานของตัวเองออกมายังโฮมออฟฟิศโมเดิร์นหลังใหม่ ยังเป็นโอกาสเดียวกันกับการได้ขยับขยายพื้นที่ของครอบครัวที่ทั้งคู่เพิ่งเริ่มก่อร่างมารวมไว้ในสถานที่เดียวกัน ให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศที่ตอบโจทย์ทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Touch Architect

โดยการออกแบบโฮมออฟฟิศของ TOUCH Architect ในครั้งนี้ได้เน้นให้เกิดบรรยากาศที่ต่อเนื่องกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นส่วนตัวสูง ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตประจำวันระหว่างความเป็นบ้านและสำนักงานได้อย่างลงตัว

โฮมออฟฟิศบ้าน 3 ชั้นหลังหนึ่งในหมู่บ้านเปี่ยมสุข ปิ่นเกล้า – กาญจนาภิเษก คือโฮมออฟฟิศที่ถูกเลือกให้เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานในที่เดียวกันของพวกเขา
“จริง ๆ เรามีพฤติกรรมการทำงานกับชีวิตส่วนตัวปนกันอยู่แล้ว” คุณภาพิศสถาปนิกและเจ้าของบ้านกล่าว“พอย้ายมานี่เราก็รู้สึกว่าชีวิตลงตัวขึ้น”
การใช้บ้านกับที่ทำงานเป็นที่เดียวกันแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ หากกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ของแต่ละบ้านที่คงไม่ต่างกันนัก
“เราอยากลดเวลาระหว่างทางกลับบ้านให้น้อยที่สุด” คุณเศรษฐการ สถาปนิกและเจ้าของบ้านอีกท่านกล่าวสมทบ
“ถ้าเป็นไปได้คือรวบมันไว้ด้วยกันเลย เพราะเรามองว่าอนาคตสำนักงานสถาปนิกมันจะเล็กลงเรื่อย ๆ เราเชื่อว่า มันไม่ต้องใช้คนเยอะ สำหรับเรา งประมาณนี้แหละบุคลากรไม่เกิน10 คน ควบคุมทุกอย่างได้หมด เราคิดว่าต่อให้บริษัทนี้จะโตไปถึงที่สุดมันก็จะอยู่ที่ขนาดประมาณนี้

โฮมออฟฟิศ โฮมออฟฟิศ

ภายใต้พื้นที่ใช้สอย 165 ตารางเมตร TOUCH Architect ได้ออกแบบและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยด้วยตัวเอง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนหลักๆ ได้แก่ชั้น 1 กำหนดให้เป็นส่วนสำนักงานพร้อมปรับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของลานจอดรถด้านหน้าให้กลายเป็นห้องวัสดุ โดยมีเคาน์เตอร์ยาวสำหรับให้ทีมงานมาเลือกวัสดุไปใช้ในการออกแบบ

เน้นการใช้กระจกติดผนังเพื่อลดความอึดอัด พร้อมเปิดรับแสงธรรมชาติเพื่อให้มองเห็นสีสันวัสดุที่แท้จริง ส่วนภายในสำนักงานมีการรื้อฝ้าเดิมออกเพื่อเพิ่มความโปร่งโล่ง เปิดเปลือยงานระบบให้เห็นท่อสายไฟที่เรียงรายต่อกันจนเป็นระนาบ สำหรับใช้เป็นส่วนตกแต่งและเป็นชั้นวางของไปในตัว

ขณะที่ชั้น 2 ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางทั้งสำหรับพนักงานและเจ้าของบ้าน พื้นและเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นและผ่อนคลาย มุมแพนทรี่ด้านในสุดเชื่อมต่อกับพื้นที่รับประทานอาหาร มีโต๊ะตัวยาวที่ใช้เป็นทั้งที่ประชุมและสังสรรค์ ดังเช่นที่คุณคุณเศรษฐการอธิบายว่า

โฮมออฟฟิศ

“ชั้น 2 คือชั้นที่ข้างบนลงมาใช้ร่วมกับข้างล่าง ส่วนคนที่อยู่ข้างล่างก็จะขึ้นมาใช้ร่วมกันมันเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเอาครัวขึ้นมา เราต้องการให้ตรงนี้ใช้รวมกันเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการประชุมรับประทานอาหาร คุยงาน หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ

สถาปนิกยังกล่าวว่าแต่เดิมชั้น 2 เป็นส่วนที่ถูกกั้นเป็นห้องนอน 2 ห้อง พร้อมพื้นที่โล่ง ๆ กลางบ้านซึ่งมีสกายไลท์ส่องลงมาถึง พวกเขาเลือกยกเลิกผนังกั้นห้องทั้งหมด เปิดพื้นที่ให้เชื่อมต่อกัน จากนั้นเติมมุมครัวในมุมด้านในสุดกับกั้นกระจกเป็นห้องทำงานส่วนตัวในบริเวณด้านหน้าซึ่งติดกับกระจกบานใหญ่ทั้งหมดนี้สถาปนิกกล่าวว่ายึดไอเดียเรื่องแสงสว่างเป็นหัวใจสำคัญ

โฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศ

“ด้านหน้าเรากั้นเป็นห้องกระจกไม่ให้อึดอัด รวมถึงให้มีแสงธรรมชาติเข้ามาเพื่อส่องถึงทุกที่ในห้อง” คุณภาพิศกล่าว ด้านในมีครัว ไล่มาเป็นห้องประชุมกับห้องกินข้าวตรงกลาง ที่มีสกายไลท์ส่องลงมาด้วยซึ่งตอนกลางวันเราแทบไม่ต้องเปิดไฟเลย

ไอเดียการลดบางอย่างและทดแทนด้วยบางอย่างเช่นนี้ ยังพบได้ในอีกหลายส่วนในบ้าน เช่น บันไดสถาปนิกเลือกยกเลิกราวกันตกบริเวณบันไดออกไปเพราะต้องการความโปร่งโล่งเมื่อพื้นที่โล่งขึ้น จึงออกแบบหิ้งพระเติมเข้าไปในส่วนบันได บนชั้น 3 รวมถึงยังบอกว่า การทำเช่นนี้ยังช่วยให้ขนของชิ้นใหญ่ๆ ง่ายขึ้น หากก็แลกมาด้วยประเด็นเรื่องความปลอดภัยบ้าง แต่พวกเขาก็แก้ปัญหาด้วยการเติมชานไม้เล็ก ๆ เข้าไปในส่วนทางเดินชั้น 3 ซึ่งภายหลังก็เป็นที่นั่งเล่นเล็ก ๆ ได้ด้วย

หรือบนชั้น 1 สถาปนิกเลือกยกเลิกฝ้าเดิมออก ระยะจากพื้นถึงฝ้าซึ่งสูงถึง 2.7 เมตร แต่เดิม ก็ยิ่งโปร่งโล่งขึ้นอีก สถาปนิกใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหลือบนฝ้านั้นออกแบบชั้นวางโมเดลและแบบที่ไม่ได้ใช้งานแล้วด้วยท่อโลหะเดินสายไฟ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ต่อเนื่องจากความจำเป็นที่ต้องเดินสายไฟใหม่ทั้งหมดสำหรับพื้นที่ที่จะเป็นสำนักงานอยู่แล้วนั่นเอง

โฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศ

โฮมออฟฟิศ โฮมออฟฟิศ

นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าบ้านระยะหน้ากว้าง 5.7 เมตร ซึ่งแต่เดิมจะใช้จอดรถได้ 2 คัน สถาปนิกยกเลิกที่จอดรถคันหนึ่งออก แล้วเติมส่วนใช้งานใหม่ ซึ่งเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่งกับวิชาชีพของเขา

“เป็นปัญหาจากออฟฟิศเก่าด้วย” คุณภาพิศกล่าว

“เพราะว่าออฟฟิศเก่ามืดมาก เวลาเราเลือกวัสดุ หรือสีในการทำงานออกแบบมันเกิดการสีเพี้ยนบ้างหรืออะไรบ้าง สุดท้ายเราต้องเปิดประตูออกไปดูข้างนอกเพื่อใช้แสงธรรมชาติ เราก็เลยทำพื้นที่อันนี้ขึ้นมาเป็นพื้นที่ที่ไว้เอาวัสดุต่าง ๆ มาเทียบมานั่งดู

“เราทำเป็นเคาเตอร์ยาวเพื่อให้สามารถวางวัสดุต่าง ๆ เทียบได้สะดวกหรือบางครั้ง เวลามีเจ้าของสินค้าขนวัสดุมาให้ดู แต่ก่อนบางทีเขาต้องเอามันไปปูเรียงบนถนน เราก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะ ทำเป็นห้องนี้ขึ้นมา แล้วเขาก็ไม่ต้องขนเข้าไปในบ้านด้วยคือวางตรงนี้ใช้งานได้เลย”

โฮมออฟฟิศ

สถาปนิกยังกล่าวว่า ฟังก์ชันนี้อาจดูแปลกหน้าสำหรับบ้านทั่วๆ ไป แต่สำหรับวิชาชีพอย่างพวกเขาแล้ว เป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันที่จะขาดไปเลยมิได้

อาจเช่นเดียวกับวิถีชีวิตโดยรวมซึ่งแตกต่าง การได้ทำงานที่บ้าน อยู่ใน โฮมออฟฟิศ ก็ดูจะเป็นจุดลงตัวที่สุดแล้วสำหรับคนทั้งคู่

ดังที่คุณเศรษฐการปิดท้ายว่า

“เราที่เป็นสามีภรรยากันแล้วเป็นสถาปนิกทั้งคู่ ถ้าวันหนึ่งต้องมีลูก เรารู้เลยว่าเราต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย เราเลยเลือกทำโฮมออฟฟิศดีกว่าเราสามารถเลี้ยงลูกไปด้วยได้แล้วทำงานไปด้วยได้ ซึ่งคิดว่าเหมาะสมแล้ว”

ข้อมูล
เจ้าของ คุณเศรษฐการ ยางเดิม และคุณภาพิศ ลีลานิรมล
ออกแบบ TOUCH Architect Co.,Ltd.
พื้นที่ใช้สอย: 165 ตารางเมตร
ที่อยู่ 1104, Noble Cube 248 ซอย 4 แขวง สวนหลวง แขวงสวนหลวง กรุงเทพฯ
โทร.0-2883-2282


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


อ่านต่อ

MITR’S FRIENDS HOUSESCAPES บ้านที่ออกแบบให้ “มิตร” มีความเป็น “มิตร” กับธรรมชาติ โดย “มิตร อาคิเต็กส์”

BAAN CHONG ประกอบบล็อกคอนกรีตให้อยู่ในรูปของบ้านโมเดิร์น