บ้านชั้นเดียว

MITR’S FRIENDS HOUSESCAPES บ้านที่ออกแบบให้ “มิตร” มีความเป็น “มิตร” กับธรรมชาติ โดย “มิตร อาคิเต็กส์”

บ้านชั้นเดียว
บ้านชั้นเดียว

แบบบ้านไทยโมเดิร์น หลังนี้คือบ้านที่ออกแบบมาเพื่อ “มิตรสหาย” ซึ่งเกิดจากความต้องการให้บ้านมีความเป็น “มิตร” กับธรรมชาติ ได้รับการออกแบบโดยสตูดิโอออกแบบนามว่า Mitr Architects

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: MITR ARCHITECTS

“บ้านมิตรสหายท่านหนึ่ง” คือชื่อที่พวกเขาใช้เรียกผลงาน แบบบ้านไทยโมเดิร์น หลังนี้ ฟังดูคล้ายประโยคบอกเล่าของบ้านเพื่อน ที่ไม่อยากเอ่ยนามมากนัก แต่ในทางกลับกันพวกเขากำลังต้องการพูดถึงบ้านที่ต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของคุณวรรัตน์ รัตนตรัย, คุณพีระพงษ์ พรมชาติ และคุณเกรียงไกร กันนิกา กลุ่มนักออกแบบไฟแรงชาวเชียงใหม่ที่ได้มีโอกาสออกแบบบ้านให้เพื่อนสมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาด้วยกัน อย่าง คุณเม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน ซึ่งปัจจุบันผันตัวไปเป็นคุณครูสอนเปียโน และช่างภาพ

แบบบ้านไทยโมเดิร์น แบบบ้านไทยโมเดิร์น

“ผมอยากได้บ้านพร้อมสตูดิโอที่สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุม ไม่ใช่แค่ในสตูดิโอ แต่สามารถถ่ายได้ทั้งหลัง และต้องการบ้านที่มีสเปซโล่ง ๆ สำหรับคน 3 คน คือผม คุณแม่ และคุณน้า”

จากโจทย์ความต้องการนี้ ทีมออกแบบทั้งสามได้เริ่มจากการวางฟังก์ชัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือพื้นที่ของสตูดิโอขนาด 6X10 เมตรที่ถูกดันไปไว้ด้านหลังเนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด ส่วนพื้นที่สำหรับพักอาศัยได้ออกแบบให้อยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยที่ฟังก์ชันทั้งสองต่างใช้โครงสร้างและผนังร่วมกัน

ในส่วนของที่พักอาศัย ซึ่งประกอบด้วยห้องนอนของคุณเม่น คุณแม่ และคุณน้าได้ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด แล้วหันไปเน้นให้พื้นที่ส่วนกลางอย่าง พื้นที่นั่งเล่น  และพื้นที่รับประทานอาหารมีขนาดกว้างขวางโปร่งโล่งแบบโอเพ่นแปลน สามารถเชื่อมต่อมุมมองถึงกันได้ทุกส่วน กลายเป็นพื้นที่หลักให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน

“เราพยายามให้บ้านอยู่ติดกับสวนมากที่สุด ด้วยการดึงสวนเข้ามาอยู่ในบ้านเกิดเป็นคอร์ตกลาง แล้วทำการยกพื้นบริเวณชานบ้านให้สูง 0.40-0.50 เมตร ในลักษณะที่ยื่นออกมา เพราะอยากให้ตัวบ้านกับสวนเหลื่อมกัน”

แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ บ้านโปร่ง แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่

บนที่ดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 2 งานกับพื้นที่ใช้สอยเพียง 200 ตารางเมตร แต่สถาปนิกเลือกที่จะวางตัวอาคารให้ชิดกับกำแพงฝั่งหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหลือพื้นที่สวนไว้สำหรับนั่งเล่นมองวิวได้อย่างเต็มที่ผ่านผนังกรุกระจกใสตลอดแนวแบบไม่ต้องกลัวร้อน เพราะออกแบบให้มีช่องเปิดช่วยระบายอากาศ และเปิดรับแสงธรรมชาติได้ตลอดทั้งวัน

ภายใต้ความเรียบง่ายของการวางผัง รูปทรง และฟังก์ชันต่าง ๆ ของตัวสถาปัตยกรรม ล้วนได้รับการสอดแทรกด้วยแนวคิด และกลิ่นอายเล็ก ๆ ของ “ความเป็นเชียงใหม่” ที่กลุ่มผู้ออกแบบพยายามใส่ลงไปในองค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้านอย่างแยบยล จนทำให้บ้านหลังนี้อยู่สบาย นำพาสมาชิกทุกคนให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว

แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ ดึงแสงธรรมชาติเข้าบ้าน แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ ชานบ้าน แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ แบบห้องน้ำ แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่

“แนวคิดของออฟฟิศเราเน้นพูดถึงเรื่องเชียงใหม่ บ้านเชียงใหม่ที่เราพบเจอในช่วงที่เราโตมามักพูดถึงเรื่องสัดส่วนเล็ก ๆ หรือว่าความเป็นมาของเชียงใหม่ เราจึงอยากนำความเล็ก ๆ นี้เข้าไปอยู่ในบ้านที่มีขนาดไม่กว้างมากให้มีบรรยากาศแบบเชียงใหม่ เน้นสัดส่วนที่พอดี เช่น ความสูงของที่นั่งบริเวณชานบ้านที่สามารถนั่งห้อยเท้าลงมาสัมผัสกับพื้นหญ้าได้ หรือการเลือกใช้ไม้ที่หาง่ายในท้องถิ่นมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ รวมไปถึงการมีทรานซิชั่นสเปซหน้าบ้านช่วยสกรีนก่อนเข้าบ้าน”

เมื่อความเป็นไทยหรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่คุ้นชินหรือที่เคยเป็นมาอีกต่อไป หากแต่การหยิบยกองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่าใหม่ในภาษาที่ดูทันสมัยขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งความเหมาะสมต่อรูปแบบของพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของผู้คน  นี่อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยังคงอยู่ และได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป เช่นเดียวกับ “บ้านมิตรสหายท่านหนึ่ง” หลังนี้

แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ poccupine studio แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่ poccupine studio

DESIGNER’S TALK

-หาคำตอบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในภาษาของ Mitr Architects-

“พวกเราเริ่มตั้งคำถามกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมา 3-4 ปี พยายามที่จะหาภาษาใหม่ ๆ ให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เราไม่ได้ไปเจาะจงที่เรือนพื้นถิ่นอย่างเดียว แต่เราอยากให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นขยับไปถึงจุดที่ร่วมสมัยได้ อย่างการเลือกใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น หรือวัสดุที่มีความแปลกใหม่ มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จนกว่าจะพบผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

“เรามองถึงช่วงเวลาในขณะทำงาน รู้สึกว่าบางส่วนที่เราอยากคงไว้ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นที่หน้างาน หน้างานมีผลอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดรูปแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในแบบของเรา มันจะเกิดกับเหตุการณ์หนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่ง ที่เราเห็นว่ามันสวยแล้ว นี่คือเสน่ห์ที่พวกเราพยายามจะทำสิ่งที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ในอีกภาษาหนึ่ง”

-สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น + เชียงใหม่ = Mitr Architects-

“จริง ๆ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในภาษาที่เราเสพกันมานั้น ไม่ได้แปลว่าความเป็นไทยอย่างเดียว ในที่นี้มันคือไทยที่มีชีวิต ไทยที่มีความร่วมสมัย เป็นไทยในรูปแบบที่คุณสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น แม่ค้าบนรถพุ่มพวง (รถขายกับข้าว) อย่างที่เราบอกว่าช่วงเวลา 30 ปีเราเสพแบบนั้นมา ความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือมีความเป็นเชียงใหม่เข้ามาผสม มันได้กลายเป็นตัวตนของเรา ในฐานะที่เราทำงานและเกิดในเชียงใหม่

“สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในรูปแบบที่เรารับรู้ไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบตายตัวหรือหยุดอยู่แค่นั้น แต่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีชีวิต สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อย ๆ โดยขึ้นอยู่กับเวลา”

แบบบ้านไทย บ้านเชียงใหม่

เจ้าของ : คุณเม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน
ออกแบบ :  Mitr Architects


เรื่อง : foryeah!
ภาพ : ศุภกร
สไตล์ : ศรีวิไล อินสวน

อ่านต่อบทความแนะนำ


95 AMP HOUSE บ้านชั้นเดียวที่ดูเรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุสุดเนี้ยบ