อาคารชีวานามัย ออกแบบอาคารจัดการขยะอย่างไร? ให้เป็นมิตรต่อบริบทเมือง

อาคารจัดการขยะ? เป็นมิตรต่อพื้นที่โดยรอบได้จริงหรือ? นี่คือตัวอย่างการออกแบบอาคารจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อหน่วยงานโดยรอบ ทั้งยังมีความโดดเด่นในแง่ของรูปลักษณ์ที่สดใส และมีต้นไม้ช่วยปรับทัศนียภาพ

รวมทั้ง การออกแบบให้จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดกลิ่นรบกวนออกไป และทำให้ขยะแห้งไวขึ้น ซึ่งหมายถึงการจัดการขยะที่ง่ายขึ้น กับ “อาคารชีวานามัย” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย Waste Management Building, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Bangkok โดย ARCHITECTS 49 LIMITED

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีขยะที่เกิดขึ้นและต้องจัดการในปริมาณที่มากถึง 16 ตันต่อวัน และมีปริมาณถังขยะหมุนเวียนมาทำความสะอาด ตากถังขยะ และส่งออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโรงพยาบาลมากถึง 600 ถังต่อวัน รวมทั้งมีการปฏิบัติงานภายในอาคารตลอด 24 ชั่วโมง และเนื่องจากพื้นที่อาคารจัดการขยะเดิม มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการ จึงมีความต้องการจัดสรรพื้นที่ และอาคารหลังใหม่ที่มีการออกแบบให้จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดการขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะพิษ ขยะรีไซเคิล มีพื้นที่สำนักงาน พื้นที่พักผ่อน สำหรับเจ้าหน้าที่ พื้นที่เก็บพัสดุของหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงพยาบาล และยังคาดหวังให้สามารถเป็นอาคารต้นแบบ ด้านการจัดการขยะ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน

การออกแบบ “อาคารชีวานามัย” จึงเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่จัดการขยะที่ ช่วยจัดระเบียบและคัดแยกพื้นที่ใช้งานอย่างตรงไปตรงมา โดยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงพื้นที่จัดการขยะได้ง่ายและสะดวก ความกว้างและความสูงของพื้นที่ จัดการขยะแต่ละส่วนเป็นไปตามขนาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ขนาดต่าง ๆ ที่ใช้จัดการขยะแต่ละประเภท รวมถึงการเลือกใช้โทนสีของอาคารเทียบเคียงกับสีของถังขยะ แดง เหลือง น้ำเงิน ที่เป็นสีของการแยกประเภทขยะอย่างสากลที่เข้าใจได้ง่าย สะท้อนให้เห็นในตัวสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน ลดความรู้สึกของอาคารโรงกำจัดขยะแบบเดิม

ทั้งยังมีการออกแบบระบบระบายอากาศและจัดการกลิ่นของขยะให้ไม่กระทบกับพื้นที่โดยรอบ ให้อาคารกำจัดขยะมีความเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านและผู้สัญจรผ่านไปมา มีการออกแบบพื้นที่ของอาคารชีวานามัยที่สามารถจัดแสดง ต้นแบบการจัดการขยะ ซึ่งสามารถสังเกตการณ์และจัดกิจกรรมการเรียนรู้พื้นที่จัดการขยะได้ครอบคลุมทุกประเภทเพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มองเห็นและเข้าใจในกระบวนการ เปิดเผยให้เห็นต้นแบบการจัดการขยะที่ดีของโครงการ

นอกจากนี้ ยังได้นำพลังงานเหลือใช้ในโครงการในส่วนของลมร้อนจาก Condensing Unit จากระบบปรับอากาศของส่วนสำนักงานในอาคารมาใช้ ทำให้ถังขยะปริมาณมากที่ตากอยู่ภายในอาคารแห้งได้รวดเร็ว และส่งออกไปยังอาคาร ต่าง ๆ ของโรงพยาบาลได้ตามช่วงเวลา ซึ่งช่วยรักษาอายุการใช้งานของถังขยะพลาสติกได้ดีกว่าการตากถังขยะด้วยแสง UV โดยตรง มีการจัดระบบสิ่งแวดล้อมของอาคาร สร้างพื้นที่สีเขียว และมุมมองที่ดีให้กับอาคารและผู้อยู่อาศัยโดยรอบ ด้วยการออกแบบแผงบังแดดของอาคารเป็นผนังไม้เลื้อย ระเบียง และหลังคาของอาคารเป็นพื้นที่ Edible Rooftop Garden เลือกใช้พืชพรรณสวนครัวดูแลรักษาง่าย และมีพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อยู่ในพื้นที่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร และเลือกใช้วัสดุให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำไปยื่นเสนอขอการรับรองทางด้านอาคารเขียว มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ การระบายอากาศได้อีกด้วย

ออกแบบ: ARCHITECTS 49 LIMITED



ภาพ: ARCHITECTS 49 LIMITED
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut
#Betterism : Good Design for the Better World