จากความหลงใหลนาฬิกา แสดงผ่านเส้นสายของเวลา และงานสถาปัตยกรรมแบบส่วนตัว

หากให้จำกัดความถึงงานสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้คงเป็นเรื่องของความยิ่งใหญ่ไม่ใช่เพียงเรื่องของขนาดพื้นที่ใช้สอย 2,700 ตารางเมตร เท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องของความไว้ใจจากเจ้าของบ้านที่ให้สถาปนิกได้ออกแบบได้อย่างเต็มที่ด้วย

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Jarken

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้พบเจองานออกแบบ บ้านโมเดิร์น ที่มีเส้นสายที่แสดงถึงแนวความคิดในการออกแบบได้อย่างชัดเจน และแสดงตัวตนของเจ้าของบ้านเป็นรูปธรรมผ่านงานสถาปัตยกรรมได้อย่างครบถ้วนเท่าบ้านหลังนี้ หากย้อนเวลาไปเกือบสิบปีที่ผ่านมา ที่ดินขนาด 2 ไร่บนทำเลที่แพงที่สุดในประเทศแห่งนี้เป็นที่ตั้งของบ้านขนาด 2 ชั้นที่เรียบง่ายหลังหนึ่ง แต่ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่พิจารณาแล้วว่าถึงเวลา ที่ต้องขยับขยายพื้นที่ใช้สอย เพื่อรองรับครอบครัวในอนาคตของลูกชายทั้งสองคน จึงไว้วางใจให้ทาง บริษัท จาร์เค็น จำกัด ( JARKEN ) มารับหน้าที่ออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน โดยมีเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ และ ’มุมมองสู่พื้นที่สีเขียว’ เป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบ

ในขั้นตอนของการออกแบบ ทางสถาปนิกได้คำนึงถึงเรื่องต่างๆ ไปพร้อมกัน ทั้งรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ถอดเส้นสายของหน้าปัดนาฬิกา ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบมาเป็นขอบเขตของบ้านใน Master Plan หากมองเป็นโซนนิ่งจะเหมือนมีบ้านสามหลังประกอบเข้าด้วยกัน ตัวบ้านถูกออกแบบให้เป็นบ้าน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 2,700 ตร.ม. ตรงกลางของบ้านเป็นพื้นที่ของเจ้าของบ้านซึ่งก็คือคุณพ่อคุณแม่ ส่วนปีกซ้ายเป็นพื้นที่ของลูกชายคนโต ส่วนปีกขวาจะเป็นพื้นที่ของลูกชายคนเล็ก ซึ่งแต่ละพื้นที่จะตกแต่งภายในแตกต่างกันตามความชอบ โดยจะมีพื้นที่ใช้สอยแยกเป็นเฉพาะในแต่ละพื้นที่อย่างครบครัน แต่ก็ยังสามารถมาใช้ฟังก์ชันอื่นในพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่ได้ อาทิ ห้องออกกำลังกายและสระว่ายน้ำ ซึ่งเสมือนเป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว

สถาปนิกยังคำนึงถึงเรื่องความส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน ด้วยการยกระดับพื้นชั้น 1 ขึ้นมาเพื่อแก้ข้อจำกัดด้านความเป็นส่วนตัวและมุมมองจากภายในบ้าน เนื่องจากบริบทโดยรอบค่อนข้างพลุกพล่าน เมื่อยกระดับพื้นขึ้น วิวที่เห็นเมื่อมองจากภายในบ้านจะเป็นเนินหญ้าสีเขียวสบายสายตา ซึ่งมีฉากหลังทิวยอดไม้ที่ปลูกเอาไว้ตามตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้ภายในบ้านมีความเป็นส่วนตัวสูง มองจากภายในมองไม่เห็นเพื่อนบ้านโดยรอบ ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถมองเข้ามาเห็นภายในบ้านได้เช่นกัน

ปูพื้นด้วย cobblestone บริเวณชุดโซฟาแทนการปูพรม เพื่อสร้างความรู้สึกว่าพื้นที่ชั้นนี้เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียวภายนอกบ้าน

นอกจากนั้นการยกระดับพื้นขึ้นยังช่วยในเรื่องของการจัดวางพื้นที่ใช้สอยไปในตัว โดยทางสถาปนิกได้กำหนดตำแหน่งให้ชั้นใต้ดิน ซึ่งก็คือตำแหน่งใต้เนินหญ้าเป็นที่จอดรถ พื้นที่งานระบบและห้องเก็บของ ทำให้พื้นที่ใช้สอยบริเวณชั้น 1-3 ของบ้านนั้นมีแต่พื้นที่สำคัญของเจ้าของบ้าน รวมถึงหากอยู่ในบ้านและมองออกมาจะไม่ถูกหลังคาที่จอดรถบดบังวิว ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านได้ครบถ้วน

มุมมองจากจากุชชี่เข้าไปยังตัวบ้าน สถาปนิกเลือกที่จะสร้างพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันอย่างสระว่ายน้ำและคอร์ตก่อนเข้าบ้าน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเดินเข้าไปยังตัวบ้านให้กับเจ้าของบ้าน

แม้ทางสถาปนิกจะดึงเส้นสายของหน้าปัดนาฬิกามาเป็นแปลนบ้าน แต่ก็ไม่ได้ใส่เพียงใจแต่เส้นโค้งเพื่อแสดงถึงแนวความคิดเท่านั้น ยังมีการออกแบบเส้นเฉียงและเส้นตรงมาเพื่อสร้างแกนและมุมมองในการรับรู้เมื่อเข้าสู่ตัวบ้านด้วย ซึ่งหากมองจากแปลนจะเห็นเส้นเฉียงและเส้นตรงเป็นแกนภายในผนังโค้ง ซึ่งสถาปนิกให้เส้นเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของเข็มสั้นและยาวบนหน้าปัดนาฬิกา โดยเส้นสายดังกล่าวจะส่งมาจากภายในบ้านจนถึงเส้นของกำแพงกันดินบริเวณที่จอดรถเลยทีเดียว แต่เพิ่มความพิเศษด้วยการบิดเส้นเพื่อเบี่ยงมุมมองการรับรู้ก่อนถึงบริเวณจอดรถเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เวลาเปิดประตูใหญ่หน้าบ้านแล้วคนภายนอกจะมองเข้ามาแล้วเห็นโถงทางเข้าบ้าน ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นอีกหนึ่งการสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงตัวบ้านให้กับเจ้าของบ้าน การบิดแกนเพื่อเปลี่ยนมุมจะทำให้เจ้าของบ้านค่อยๆ รับรู้ถึงความงามในแต่ละพื้นที่ที่ถูกเตรียมเอาไว้

มุมพักผ่อนของเจ้าของบ้าน สร้างความน่าใจด้วยสวนไผ่ที่เจาะช่องให้แสงแดดและฝนตกลงมาได้จริง และยังมีชั้นวางของที่สร้างเพื่อปิดเสาและโชว์ของสะสมของเจ้าของบ้าน

ด้านการออกแบบและจัดวางตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอย สถาปนิกให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การเข้าถึงควบคู่กับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น จากทางเข้าหลักของบ้านก่อนจะเข้าถึงพื้นที่นั่งเล่นจะต้องเดินผ่านสนามหญ้า ผ่านมายังสระว่ายน้ำและคอร์ต ก่อนจะถูกกำแพงทางเข้าบ้านจำกัดมุมมองและถึงจะเผยให้เห็นพื้นที่เปิดโล่งซึ่งเป็นที่นั่งเล่น โดยมีบันไดหลักสีดำขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางบ้าน ซึ่งเป็นทั้งบันได ประติมากรรม และจุดนำสายตาที่สำคัญ

พื้นที่ใช้สอยชั้น 1 ของเจ้าของบ้านตกแต่งในสไตล์อิตาเลียนโมเดิร์น เน้นสีดำและเทาเป็นหลัก โดยเลือกใช้ไม้ในบางส่วนมาเพื่อเบรคความแข็ง และสร้างความอบอุ่นผ่อนคลาย พื้นที่นี้จัดวางในลักษณะเปิดโล่ง (open plan) วางฟังก์ชันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน แบ่งพื้นที่ด้วยประเภทของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและไลท์ติ้ง พื้นกรุด้วยกระเบื้องนำเข้าจากอิตาลีที่มีผิวสัมผัสเล็กน้อยเพื่อสร้างความรู้สึกว่าชั้น 1 นั้นเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก (semi outdoor) ที่ยังสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียวภายนอกบ้านได้ ประกอบกับทางเจ้าของบ้านนั้นชื่นชอบการเปิดรับลมธรรมชาติ โดยจะเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นบางเวลาเท่านั้น สถาปนิกจึงพิจารณาเรื่องของการพัดผ่านของลม (cross ventilation) และช่องเปิดเข้ามาช่วยให้ภายในบ้านโปร่งโล่งด้วยการติดตั้งประตูบานเลื่อนทั้งสองฝั่งของพื้นที่ชั้น 1 ที่สามารถเลื่อนเปิดซ้อนกันได้ทั้ง 4 บาน ทำให้สามารถรับลมธรรมชาติได้ตลอดทั้งวัน 

ชั้น 2 และ 3 เป็นส่วนของห้องนอน ห้องทำงานและห้องพักผ่อนส่วนตัว เปลี่ยนวัสดุพื้นจากกระเบื้องที่มีผิวสัมผัสบริเวณชั้น 1 มาเป็นพื้นไม้คอมพาวด์เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสร้างการรับรู้ว่าได้เปลี่ยนเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวสำหรับการพักผ่อนแล้ว การตกแต่งภายในห้องนอนเน้นความงามตามคุณสมบัติและคุณภาพของวัสดุมาสร้างความหรูหราโดยไม่ตกแต่งเพิ่มเติมให้ไม่สบายสายตา และให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อเก็บงานระบบไฟฟ้าและสายไฟ รวมถึงออกแบบชั้นวางของที่ซ่อนหายไปบนผนังเพื่อให้ห้องออกมาเรียบและเนี้ยบที่สุด

ห้องนั่งเล่นของห้องนอนเลือกใช้โซฟาทรงโค้งเพื่อมุมมองในการมองเห็นทีวี และออกแบบให้ระเบียงมีขนาดใหญ่เพื่อสามารถออกไปชมสวนได้เต็มสายตา และยังช่วยเรื่องของการเป็นเฉดกันแดดทางด้านทิศตะวันตก ที่เข้ามาในบ้านด้วย

—-
ออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน: บริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN) 
เว็บไซต์: www.jarken.net  
Facebook: JARKEN
อีเมล: [email protected] 
โทร: 083-738-2444 / 095-548-4888 / 085-777-8811 / 02-314-4632