นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul เสียงจากที่ไกล เสียงจากหัวใจที่ต้องการเพียง “สื่อสารกัน” ณ BACC

ฉับพลันที่เดินเข้ามาในห้องจัดแสดงของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร(BACC) ความวุ่นวายของแยกปทุมวันก็มลายหายไปทันใดที่ปิดประตู คงเหลือแต่สรรพเสียงที่เราไม่คุ้นชิน เสียงของธรรมชาติที่คล้ายแว่วมาจากที่ไกล เสียงของ “ชีวิต” ที่กำลังถูกใช้ในบริบทที่ไม่ใช่เมือง อาจจะเป็นป่าในภูเขาสักที่ เสียงที่กำลัง “พูด” ด้วยภาษาที่เราไม่คุ้นเคย “เสียง” ที่รับรู้ได้ แม้ไม่เข้าใจความหมาย แต่กลับสื่อสารกันเข้าใจ

นี่คือ นิทรรศการที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในชื่อว่า “นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul” โดยความร่วมมือระหว่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกลุ่มศิลปิน Hear&Found, ศุภชัย เกศการุณกุล และ DuckUnit ซึ่งในวันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ ฟ้า กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม และ ภัณฑารักษ์ (Curator) ของนิทรรศการในครั้งนี้ รวมทั้งศิลปินที่มาร่วมจัดแสดงทั้งสามกลุ่ม ถึงแนวคิดเบื้องหลัง และสิ่งที่แฝงอยู่ใน “เสียง” ที่พวกเขาเลือกนำมาจัดแสดง

นำเสนอประเด็นปัญหาผ่านภาษาศิลปะ

“ประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ เป็นความสนใจของตัวฟ้าเองอยู่แล้ว นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ตั้งใจสร้างให้เกิดเป็นนิทรรศการนี้ขึ้น แต่ในนิทรรศการนี้จะเลือกใช้ “เสียง” เป็นสิ่งแทนของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มันเป็นสิ่งที่เรานึกถึงเมื่อต้องนำมาผูกโยงกับคำว่า ศิลปะ หรือความเป็น BACC เสียงที่ว่าคือ เสียงพูด เสียงเล่า เสียงของความรู้สึกที่เค้าอยากจะบอกกับเรา รวมทั้งเสียงดนตรีที่แต่ละกลุ่ม แต่ละชาติพันธ์ุต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างกันไป ทั้งในเชิงพิธีกรรม และในเชิงของการเลียนเสียงธรรมชาติที่แวดล้อมพวกเขา ซึ่งในนิทรรศการนี้เรายังนำเสนอเสียงจากบริบทธรรมชาติที่มาจากพื้นที่นั้นๆโดยตรงอีกด้วย ซึ่งในครั้งนี้เราได้ไปลงพื้นที่ยังบ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวปกาเกอะญอ”

การออกแบบนิทรรศการนี้จึงแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆคือ ปอกเปลือก คลี่คลาย และขมวดปม เริ่มจาก

ปอกเปลือก เมื่อเข้าสู่นิทรรศการแล้ว ทุกคนจะได้เห็นปัญหา และผลกระทบ รวมทั้งความเชื่อมโยงของกลุ่มชาติพันธ์ุที่หลากหลาย รวมทั้งการสูญหายทางวัฒนธรรม

คลี่คลาย ทุกคนจะได้ยินได้ฟังในภาษาที่ไม่คุ้นเคย บรรยากาศบริบทที่แตกต่างไปจากในชีวิตประจำวัน เสียงเหล่านั้นคือเสียงจริงของพื้นที่ที่เรานำกลับมาให้ทุกคนได้ฟัง ในภาษาที่แตกต่างไป แต่ทุกคนจะรู้สึกได้ว่าคนอีกฝั่งหนึ่งกำลังสื่อสารกับเราอยู่ รวมทั้งยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมดนตรีในพื้นที่ต่างๆให้ได้รับชมอีกด้วย

ขมวดปม เป็นส่วนสุดท้ายที่ตั้งใจนำเสนอโอกาสและความเป็นไปได้ภายในแนวคิดว่า “เมื่อเกิดความเข้าใจ กำแพงที่เรามีต่อกันอาจเป็นเพียงเรื่องสมมติ และการโอบรับความแตกต่างนั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด” ซึ่งก็เป็นเรื่องของ “ความหลากหลาย” ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

“แต่สุดท้ายแล้ว นิทรรศการในครั้งนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างที่บอกว่าเราทำได้เพียงนำเสนอ โอกาสและความเป็นไปได้ เป็นแนวทางในการสร้าง บทสนทนาใหม่ ขึ้น ให้เริ่มสงสัย ใคร่รู้ และสนใจไปถึงพื้นที่เหล่านั้นบ้าง อยากให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้ยินจากสื่อต่างๆ และมาฟัง เสียงจริงๆ ที่เรานำมาถ่ายทอดให้กับทุกคน ได้เห็น ตัวตน ของกันและกันมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจจากบรรทัดฐานที่ เท่าเทียม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความหลากหลาย เป็นความร่ำรวยเชิงวัฒนธรรมที่เราอาจจะเคยมองข้ามไป มูลค่าเหล่านี้ ไม่ใช่แค่กับเขา แต่กับวัฒนธรรมโดยภาพรวม หรือแม้แต่สินค้าที่เราอาจไม่เคยนึกถึง เช่นกาแฟ หรือผ้าพื้นถิ่น หรือแม้แต่งานศิลปะก็ตาม”

ภาพ: BACC
ภาพ: BACC

Hear&Found (The Sound Designer)

ก่อตั้งโดย คุณเม ศิรษา บุญมา และ คุณรักษ์ ปานสิตา ศศิรวุฒิ ด้วยความมุ่งหวังที่จะลดการแบ่งแยก การมองเป็นอื่นของกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทย ผ่านการส่งเสียงของความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย “เสียง ดนตรี และการสื่อสาร” ให้เกิดเป็นความเข้าใจในสังคมที่มากขึ้น และส่งเสริมรายได้จากทักษะความสามารถของคนในชุมชน

สำหรับเมมันไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ไปยังพื้นที่เหล่านี้ ที่หนองเต่านี้ก็ได้ไปมาหลายครั้งแล้ว แต่ในการลงพื้นที่เพื่อนำกลับมาทำนิทรรศการครั้งนี้ สิ่งที่พิเศษคงเป็นการได้ไปยัง พื้นที่ต้นน้ำ ของที่นี่จริงๆ พอไปที่ต้นน้ำจริงๆก็รู้สึกได้เลยว่าน้ำที่นั่นมันมีความใส มันบริสุทธิ์มาก ตอนที่ไปก็เพื่อไปเก็บเสียงจากพื้นที่ตรงนั้นกลับมา แต่ภาพที่ได้ไปเห็นก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงคำว่า “ทรัพยากร” ที่มีค่าจริงๆ และที่แห่งนี้จะไม่ใช้พื้นที่ที่อนุญาตให้คนนอกเข้าไปได้เลย เพราะมันเป็นความรับผิดชอบที่พวกเขาต้องดูแลพื้นที่ตรงนี้ และดูแลให้น้ำสามารถจ่ายลงไปยังหมู่บ้านได้อย่างทั่วถึง

การได้ไปเห็นสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพความสัมพันธ์ของชุมชนกับธรรมชาติ และการดูแลซึ่งกันและกันได้ชัดมาก กลไกของความเป็นชุมชนมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ทุกคนทำงานของตัวเอง แต่หน้าที่ของพวกเขาต่างสัมพันธ์และเกื้อกูลกันทั้งหมด ยิ่งถ้าเราได้รู้จัก และได้เห็นความหวงแหนต่อพื้นที่ของพวกเขา เราจะรู้สึกถึงความผูกพันธ์กับพื้นที่ของพวกเขาได้จริงๆ

ภาพ: BACC

ศุภชัย เกศการุณกุล (Visual Performance Artist)

ศิลปินผู้ทำงานผ่าน ภาพนิ่ง ความเรียง และภาพเคลื่อนไหว ที่สนใจความเป็นมนุษย์ และเรื่องราวของผู้คนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน

“การไปครั้งนี้ เหมือนไปรับรู้เสียมากกว่า ผมพยายามไม่ตั้งโจทย์ใดๆก่อนไป แต่ตั้งใจจะไปเพื่อรับรู้ รับฟัง นั่งคุย และสนทนากับคนที่นั่น ถ้าเค้าอยากเล่าอะไรให้เราฟัง อยากพาเราไปพบเห็นสิ่งใด เราก็รอให้เค้านำพาไป และถ้าสิ่งใหนที่เราเริ่ม รู้สึก ผมก็จะเก็บกลับมาเล่าต่อในงานนี้”

“มันเหมือนเป็นการพูดคุย ระหว่างคนกับคน เค้าเห็นตัวเรา เค้าเห็นความอยากรู้อยากเห็นความกระตือรือร้นของเรา มันเหมือนเป็นการสะสม “บทสนทนา” เหล่านี้มาประกอบกัน ซึ่งก็ทำให้ผมต้องใช้เวลามากกว่าท่านอื่น เข้าไปก่อน และกลับทีหลังท่านอื่นๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะบทสนทนาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะคั้นออกมาในเวลาอันสั้นได้ แต่ต้องอาศัยความคุ้นเคย หรือความสบายใจต่อกัน ซึ่งต้องอาศัยเวลา”

“หลายสิ่งที่เขาเล่า ถ้าเป็นในมุมของความเหลื่อมล้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เป็นปัญหาที่ผมได้ยินได้ฟังมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผม รู้สึก กลับเป็นความรู้ที่เขามี เรื่องธรรมชาติ เรื่องต้นไม้ เรื่องการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจมากกว่า แม้แต่การเลือกใบไม้มาห่ออาหาร หรือพิธีกรรมหลายๆอย่างที่สร้างขึ้นเพื่อผูกสัมพันธ์กับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นทำให้รู้สึกได้ถึงความเป็นวัฒนธรรมของเขาที่เราสนใจ และอยากนำมาเล่าต่อในนิทรรศการ”

DuckUnit (The Experience Designer)

ศิลปินที่มีผลงานการออกแบบเวทีคอนเสิร์ต และงานศิลปะที่โดดเด่น และมีความสนใจที่หลากหลาย จึงไม่ได้ปิดกั้นตัวเองอยู่ในกรอบที่คุ้นชิน การลงพื้นที่บ้านหนองเต่าในครั้งนี้ จึงเป็นอีกการทดลองใหม่ที่น่าสนใจของเขาเช่นกัน

“เราเหมือนเป็นคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ได้เข้าไปเปิดโลกกับพวกเขา สิ่งที่เราตั้งใจเข้าไปก็คือไปอยู่กับพวกเขา ไปสัมผัสพื้นที่ตรงนั้น และก็รู้สึกทึ่งว่า คนเราอยู่กับธรรมชาติได้ขนาดนี้เลยหรือ? มันเหมือนเป็นคำถาม แต่มันคือความประทับใจที่เราอาจไม่เข้าใจถ้าไม่ได้ไปเห็นด้วยตา สิ่งที่ธรรมชาติสามารถเติมเต็มชีวิตให้กับคนกลุ่มหนึ่งได้จนเรารู้สึกอิจฉา มันมีความรู้สึกอบอุ่นที่ได้สัมผัสการที่ธรรมชาติได้โอบกอดเราและคนกลุ่มนี้เอาไว้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่อยากนำมาเล่าต่อในงานครั้งนี้”

“จะบอกว่านิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจสร้างความแตกต่าง ความไม่คุ้นเคยใดๆ มันคือนิทรรศการที่เข้ามาเดิน ฟังเสียง ดูภาพ และก็จบ ออกมาเป็นหอศิลป์ BACC ตรงแยกปทุมวันเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างไปคือความคิดระหว่าง คนกับคน ระหว่างเรากับความเป็นชาติพันธุ์ จะเปลี่ยนไป ไม่มากก็น้อย เราตั้งใจไม่หวือหวา ไม่ปรุงแต่ง เพราะเราอยากให้มองเห็นสิ่งที่เหมือนกัน และเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าจะมองเขาเป็นอื่นไป ให้สิ่งที่เรานำกลับมาและโดดเด่นที่สุดคือ เนื้อความ คือ เสียง ที่เราไปรับมาจากพื้นที่นั้นโดยตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ภาพ: BACC
ภาพ: BACC
ภาพ: BACC

เมื่อได้ฟัง ภัณฑารักษ์ และศิลปินของนิทรรศการในครั้งนี้จนมาถึงจุดนี้ นั่นทำให้ room เริ่มมองเห็นประเด็นสำคัญคือ ความเคารพ การรับฟัง เรียนรู้ เพื่อที่จะเข้าใจกันและกัน คุณฟ้าบอกกับเราก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า “เราไปเพื่อรู้จักในความเป็นเขา เมื่อเราได้รู้จักกัน ในความแตกต่างหลากหลายที่มากมายบนโลกใบนี้ การตัดสินอาจไม่ใช่วิธีการที่ดี แต่การเรียนรู้ และเคารพซึ่งกันและกันอาจเป็นทางออกที่น่าสนใจทั้งต่อตัวเรา และต่อสังคมที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย เราเชื่อว่าถ้อยคำจากผู้คนต้นทางในนิทรรศการนี้ ซึ่งเป็นเสียงจากผู้คนในพื้นที่ และสถานที่จริง จะทลายเส้นบางๆของคำว่า เรา และ เขา ให้หายไปได้ในที่สุด”

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.bacc.or.th
นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul
วันที่ : 19 – 31 กรกฎาคม 2565
สถานที่: สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ออกแบบนิทรรศการโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกลุ่มศิลปิน Hear&Found, ศุภชัย เกศการุณกุล และ DuckUnit
.
กิจกรรมภายใต้ นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ Sound of the Soul
วันที่ : 23 กรกฎาคม 2565
สถานที่: สตูดิโอ ชั้น 4
โดย ฝ่ายกิจกรรมศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 


.
ภาพ: Soopakorn Srisakul, เครดิตเพิ่มเติมแนบท้ายภาพ
เรื่อง: Wuthikorn Sut