ไผ่ซางหม่น

ไผ่ซางหม่น พืชสารพัดประโยชน์

ไผ่ซางหม่น
ไผ่ซางหม่น

ไผ่ที่มีการปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และเป็นพืชทางเลือกที่เป็นที่นิยมในตอนนี้ก็คือ ไผ่ซางหม่น แต่เมื่อพูดถึงไผ่ หลายคนรู้จักกันดีว่าไผ่นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัด

ไผ่ซางหม่น หรือไผ่นวลราชินี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrocalamus sericeus Munro เป็นพืชที่อยู่วงศ์เดียวกับหญ้า (Graminceae) แต่แยกวงศ์ย่อยลงมาอีกเป็น Bambusoideae

ไผ่ซางหม่นเป็นไผ่สายพันธุ์พื้นเมืองที่พบมากในพื้นที่ภาคเหนือ  ด้วยลักษณะพิเศษที่เจริญเติบโตได้เร็ว ลำต้นมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอตรงตามธรรมชาติ แข็งแรง เนื้อไม้หนา กิ่งแขนงน้อย สูงประมาณ 25-30 เมตร สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งลำในการแปรรูป จึงทำให้เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูป

ไผ่ ใช้ประโยชน์ในงานโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน นำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องจักสานต่างๆ อาทิ ตะกร้า เข่ง ภาชนะใส่ของ หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ ไม้เสียบอาหาร นอกจากนี้หน่ออ่อนของไผ่ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย ไผ่ในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายชนิดแต่ละชนิดก็นำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันตามลักษณะของการใช้งาน

ไผ่ซางหม่น

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่นที่นิยมใช้ คือการตอนกิ่งแขนง ธรรมชาติของไผ่ซางหม่นจะมีกิ่งแขนงน้อย ซึ่งกิ่งแขนงส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณปลายยอด การตอนกิ่งจึงทำได้ยาก เกษตรกรจึงใช้วิธีการตัดยอด จากนั้นกิ่งไผ่จะแตกแขนงบริเวณตาข้าง เกษตรกรก็สามารถตอนกิ่งได้ง่ายขึ้น

เมื่อตอนกิ่งได้ 2 เดือน รากเจริญเติบโตเต็มตุ้มตอนก็สามารถตัดแล้วนำมาปลูกลงถุงเพาะชำ รอจนรากโตทะลุถุงก็นำไปปลูกลงแปลงหรือจำหน่ายได้ ราคาต้นพันธุ์จะอยู่ที่ 35 บาทต่อต้น ส่วนต้นตอที่ทำการตอนกิ่ง หลังจากตัดกิ่งที่ตอนออกแล้วก็สามารถขุดเหง้าแยกมาปลูกได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่นด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะทำให้ได้จำนวนต้นไผ่ที่มากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่การอนุบาลต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็ใช้เวลาในการเจริญเติบโตพอสมควร

วิธีการปลูก

ไผ่ซางหม่นนิยมปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ ครอบคลุมทั้งหมด 16 จังหวัด ซึ่งแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ปัจจุบันมีการปลูกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ไผ่ซางหม่นสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นดิน จะโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำมาก ปริมาณน้ำมีผลต่อระยะปลูก ซึ่งปกติเกษตรกรจะปลูกในระยะ 4 x 4 เมตร หากพื้นที่ปลูกนั้นมีปริมาณน้ำฝนหรือมีการให้น้ำมาก ระยะปลูกจะต้องห่างออกไป 6 x 6 เมตร เนื่องจากไผ่จะโตเร็ว หลังจากปลูกไผ่ 2 เดือนแรกจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งมีการเจริญเติบโตของต้นใหม่ ในธรรมชาติตั้งแต่ปลูกจนถึงตัดลำไผ่ได้จะใช้เวลา 4-5 ปี แต่ถ้าหากต้นไผ่ได้รับน้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอใช้เวลา 3 ปีก็จะเริ่มตัดลำไผ่ได้

ไผ่ซางหม่น

การเก็บเกี่ยวและการจำหน่าย

อายุ 1-2 ปีแรกหลังจากปลูก ไผ่จะมีหน่อขนาดปานกลางยังตัดจำหน่ายไม่ได้ แต่สามารถตอนกิ่งแขนงจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ได้ หลังจากที่ปลูกไผ่แล้วตั้งแต่ออกหน่อจนโตเป็นลำต้นที่สามารถตัดจำหน่ายได้ จะใช้เวลา 4 ปี ลำไผ่จะมีความสมบูรณ์มากเมื่อมีอายุตั้งแต่ 6-10 ปี และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 20-30 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการบำรุงดูแล เทคนิคในการเลือกต้นที่พร้อมจำหน่ายจะสังเกตจากสีของลำต้น ลำที่มีสีเขียวนวลคือลำที่พึ่งโตจากหน่อได้ปีเดียว ต้นที่สามารถตัดได้คือต้นที่มีสีเขียวเข้ม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้วขึ้นไป ราคาจะอยู่ที่ 30-60 บาทต่อลำขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น

ไผ่ซางหม่น

การแปรรูปและการใช้ประโยชน์

นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาในตอนต้น ที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เศษไผ่ที่ได้เหลือจากการแปรรูปแล้ว ยังนำไปเผาถ่านทำเป็นชีวมวลให้โรงงานไฟฟ้าได้อีกด้วย และปัจจุบันการนำไผ่มาใช้ในงานโครงสร้างเป็นที่นิยมมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟหรือแม้กระทั่งบ้านที่อยู่อาศัยก็มีการนำไม้ไผ่มาใช้ตกแต่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง เนื่องจากมีการยืดอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตของไผ่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

ต้นผ่ แต่งสวน ดูแลอย่างไรให้สวยและไม่รก
ต้นไผ่ ที่นิยมปลูกและแต่งสวนในเมืองไทย

อัปเดตข่าวสารการทำฟาร์มใหม่ๆ