รู้ก่อนทำเล้าไก่ ออกแบบอย่างไรให้ไก่ชอบ

ชวนมารู้จักวิธีการ ออกแบบเล้าไก่ ทำเล้าไก่ เล็กๆ ในบ้าน แม้พื้นที่จะเล็กแต่มากด้วยรายละเอียด

เพราะไก่ไข่เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเซนซิทีฟต่อทุกๆ อย่าง ทั้ง ความร้อน ความชื้น อากาศ  สิ่งแวดล้อมในเล้า ล้วนมีผลต่อการไข่ เพื่อให้ไก่ได้อยู่สบาย และออกไข่ที่มีคุณภาพให้เราทาน Soontaree’s life &farm ฟาร์มเล็กๆ ในบ้าน ที่เลี้ยงไก่ไม่เกิน 50 ตัว จะมาบอกเล่าประสบการณ์ และหลักการออกแบบและ ทำเล้าไก่ ที่ฟาร์มได้เคยทดลองทำเอง ซึ่งการออกแบบอย่างเหมาะสม จะทำให้ไก่อยู่ได้สบาย เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

ก่อนที่แม่ไก่จะวิ่งเล่นอย่างมีความสุข และสุขภาพดี มือใหม่หัดเลี้ยงไก่ต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาที่ใช้การออกแบบช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เรื่องที่ต้องนึกถึง และควรระวัง  ถ้าเรารู้ก่อน จะวางแผนได้รอบคอบ ลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี

ทำเล้าไก่

รู้จักสายพันธุ์ และกำหนดจำนวนตัวผู้ ตัวเมีย

เมื่อรู้ว่าจะเลี้ยงไก่ ต้องถามตัวเองว่าชอบสายพันธุ์ไหน จะเลี้ยงเป็นสัตวเลี้ยงหรือว่าเลี้ยงปศุสัตว์ เพราะจุดประสงค์มีผลต่อการออกแบบมาก ทางฟาร์มของเราเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงและรับประทานไข่ในครัวเรือน เลยเลือกเลี้ยงไก่ไข่สายพันธุ์แท้ มีทั้งความสวยงาม สามารถบริโภคไข่และขยายพันธุ์ได้ สายพันธุ์ของไก่ จำนวนตัวผู้ ตัวเมีย  มีผลต่อการออกแบบเล้า เมื่อทราบจำนวนก็เริ่มทำการออกแบบได้เลย

ทำเล้าไก่ ต้องวิเคราะห์พื้นที่ หาความเป็นไปได้ก่อนเริ่มลงมือออกแบบอาคาร

1.เลือกทำเลในการสร้างอาคาร

– ควรเป็นพื้นที่ควรระบายน้ำได้ดี เล้าไก่นั้นควรอยู่ในที่สูงเพื่อช่วยในการระบายน้ำ ตลอดจนป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อให้พื้นคอกและบริเวณโรงเรือนแห้งและสะอาดอยู่เสมอ โรคระบาดจะไม่มารบกวน

– ควรอยู่ห่างจากบ้านพักอาศัยพอสมควร แต่ก็ไม่ไกลเกินไปจนไม่ได้ยินเสียง หากมีอะไรผิดปกติในเล้าไก่จะส่งเสียงร้อง จะได้เข้าไปตรวจสอบได้ทันถ่วงที

* ข้อควรระวัง ไก่ตัวเมียแม้ไม่ขัน แต่เมื่อเวลาเธอปวดท้องไข่ เธอก็ร้องดังพอสมควร

ลักษณะโครงสร้างของการ ทำเล้าไก่

เล้าไก่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ควรมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

1. ความกว้าง ความกว้างอยู่ที่ว่าเราจะเลี้ยงไก่จำนวนกี่ตัว โดยปกติแล้วอัตราส่วนพื้นที่ 1 ตารางเมตรต่อไก่จำนวน 4 ตัว เป็นขนาดที่เหมาะสม ไก่จะอยู่สบาย

2. ความยาว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนของไก่ที่เลี้ยง

3. ความสูง ถ้าเลี้ยงแบบจำกัดบริเวณ ไม่ได้ปล่อยเดินระหว่างวัน (กลางวัน) ควรมีหลังคาที่สูง พื้นที่ใต้หลังคาที่สูงโปร่งจะช่วยระบายอากาศได้ดี ลดปัญหาความร้อนได้

4. หลังคา ควรมีระยะยื่นที่กันแดดกันฝนในทิศที่ฝนและแดดสาด

5. พื้นคอก ควรยกสูงจากระดับพื้นดิน ด้วยการเทพื้นคอนกรีต หรือสร้างเล้าขนาดเล็กแบบยกสูง (30 เซนติเมตร ขึ้นไป) เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดพื้นใต้เล้า และปูด้วยวัสดุรองพื้นให้นุ่มเท้า เช่น แกลบดิบหรือทราย ที่ฟาร์มของเราจะใช้สลับระหว่างทรายและแกลบ หลังจากใช้งาน 3 เดือน จะนำขี้แกลบไก่ไปหมักปุ๋ย แต่แกลบมีข้อเสียคือฝุ่นเยอะ อาจจะให้ไก่เป็นโรคทางเดินหายใจได้ ส่วนทราย ทำให้เก็บแยกขี้ไก่ง่าย ไม่มีฝุ่น แต่มีข้อเสีย คือมีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดความลำบากในการขนส่งและราคาสูงกว่าแกลบ

6. ผนัง ใช้ลวดตาข่ายกั้นด้านข้างเพื่อให้มีการระบายอากาศดีและป้องกันนกต่าง ๆ เข้ามาแพร่เชื้อในโรงเรือน แนะนำให้ใช้ลวดตาข่ายที่ผ่านการหุ้มด้วยพลาสติก เพราะในขี้ไก่มีกรดที่ทำให้เหล็กผุและเปื่อยได้ง่าย ภายในโรงเรือนอาจใช้ลวดตาข่าย กั้นแบ่งเป็นห้องตามการใช้ประโยชน์ ด้านข้างโรงเรือนอาจใช้ผ้าม่านปิดกั้น ป้องกันฝนสาดหรือลมโกรกในระยะไก่เล็ก

ทำเล้าไก่

ทิศทางการวางอาคาร

ทิศทางของเล้าไก่ควรสร้างให้ยาวอยู่ในแนว ทิศตะวันออก – ตะวันตก  ช่วยลดความร้อนจากแสงแดดที่จะไม่กระทบกับอาคารโดยตรง ทิศทางของลม แดด ฝน มีผลต่อการออกแบบพื้นมี่ใช้สอยในอาคาร ในแต่ละฤดูทิศทางลมจะไม่เหมือนกัน

ฟังก์ชันสำคัญสำหรับออกแบบเล้าไก่

พื้นที่กินอาหาร ควรให้คนเลี้ยงเข้าถึงง่าย มีอากาศถ่ายเท ลมโกรก เข้าไปทำความสะอาดได้ง่าย

-พื้นที่สำหรับนอน ควรมีคอนให้เกาะอย่างมั่นคง พื้นที่นอนควรทำให้ไก่รู้สึกปลอดภัย ในขณะที่นอน ไม่มีลมพัดโกรกเพราะอาจทำให้ไก่ไม่สบายได้

พื้นที่สำหรับไข่ ควรมีรังให้ไข่อย่างเพียงพอ มีลมเย็นๆพัดผ่าน เนื่องจากไก่ต้องใช้พลังในการเบ่งไข่ (ที่บ้านใช้วิธีเปิดพัดลมในบริเวณที่ไก่ไข่ )เพื่อให้ไก่ได้รู้สึกผ่อนคลายเวลาไข่ การเก็บไข่ ควรมีช่องเก็บไข่โดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้รบกวนขณะที่แม่ไก่กำลังไข่อยู่

ไก่ได้เดินเล่นในสนามหน้า

-พื้นที่สำหรับเดินเล่น ควรมีพื้นที่ให้เดินเล่น คุ้ยเขี่ยดิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของไก่ มีถังสำหรับอาบดิน ขจัดไรฝุ่นให้แม่ไก่ได้ผ่อนคลาย

-พื้นที่เก็บยารักษาโรค

ใกล้ๆ คอกควรมีพื้นที่สำหรับเก็บยารักษาโรค พื้นที่ที่แสงแดดไม่ส่องถึง หยิบยาใช้ได้ง่าย สิ่งที่ควรทำทุกวันก่อนให้อาหาร คือเดินเช็คสุขภาพของไก่ แม่ไก่ที่ฟาร์มเราให้นอนในเล้าในเวลากลางคืน และวิ่งเล่นบริเวณเล้าในเวลากลางวัน ตอนเช้าเมื่อเปิดเล้า ไก่จะวิ่งกรูกันออกมากินข้าวเช้า ถ้ามีตัวไหนป่วย จะซึมและไม่ออกมากินอาหาร เราจะรีบอุ้มไปแยก และรักษาอย่างเร่งด่วน ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่ทนต่อโรค ถ้ารักษาช้า มีโอกาสเสียชีวิตสูง ฉะนั้นการเตรียมยารักษาให้พร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ยาที่ความมีติดบ้าน ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการท้องเสีย ขี้เขียว ขี้ขาว ยารักษาโรคกลุ่มทางเดินหายใจ ยาถ่ายพยาธิ ยาหยอดตา ยาม่วงแบบสเปรย์ ยาทาเกลื้อน

-พื้นที่สำหรับเก็บอาหาร

ควรมีพื้นที่เก็บและปรุงอาหาร อยู่ใกล้กับเล้าไก่ อาหารไก่ สามารถเทจากกระสอบและเก็บไว้ในถังพลาสติก เพื่อกันความชื้น ที่อาจทำให้เกิดเชื้อรา และป้องกันสัตว์อย่างเช่นหนูมากัด กินอาหาร

อาหารของไก่ในฟาร์ม ควรเป็นอาหารไก่ไข่โดยเฉพาะ หรือถ้าจะผสมเองควรเป็นไปตามสัดส่วนของสารอาหารที่ไก่ต้องใช้ ใน 1 สัปดาห์ จะมีสองมื้อที่เป็นมื้อพิเศษของไก่ เราจะเสริม ผัก และผลไม้ในสวนเพิ่มเข้าไปในมื้ออาหาร เช่น หญ้าหวานอิสราเอล หญ้าที่มีโปรตีนสูงถึง 20% สับละเอียด มะละกอสุกพร้อมเมล็ด ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบตำลึง

ทำเล้าไก่

ไก่ในแต่ละฤดูและข้อควรระวัง

1.ฤดูร้อน (ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ลมจะพัดมาทางทิศใต้ ถือว่าเป็นลมที่ดีช่วยลดความร้อนของอากาศลงได้

ข้อควรระวังในฤดูร้อน

ฤดูร้อนเป็นฤดูที่ต้องเฝ้าระวังสูง เมื่ออุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส ไก่จะร้อน หอบ และอาจจะเกิดอาการเป็นลมแดด (ฮีทสโตก) ถ้ารักษาไม่ทันอาจก่อให้เกิดความศูนย์เสียได้ ควรติดพัดลมไว้ในเล้าไก่ เพื่อให้อากาศถ่ายเท ติดสปริงเกอร์บนหลังคา รดน้ำที่พื้นรอบบริเวณคอกให้เปียกชุ่ม (ก่อนรดน้ำพื้น ควรทำความสะอาดก่อน) และปล่อยไก่เดินคลายเครียด

2. ฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน) ลมจะพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้เรียกว่า “ลมมรสุม”

ข้อควรระวังในฤดูฝน

– ควรมีหลังคากันฝนที่ยื่นมาช่วยกันฝนในทิศตะวันตกและทิศใต้ เพื่อให้ฝนไม่สาดเข้ามาในคอก ในฤดูฝนสิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษคือเรื่องความสะอาดของพื้นคอก ขี้ไก่ที่กวาดออกมาจากคอกต้องนำมาจัดการไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจจะตามมาด้วยแมลงวันและโรคระบาด

– ควรตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าอยู่เสมอ เมื่อทราบว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ควรเสริมวิตามินในน้ำ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ไก่ ล่วงหน้าอย่างน้อย สามวัน

– ฤดูฝนยุงชุม ยุงเป็นพาหะนำโรคฝีดาษไก่  วิธีป้องกัน คือฉีดวัคซีนโรคฝีดาษไก่  ในฟาร์มของเราติดมุ้งกันยุงเพิ่มเผื่อกันแมลงอื่นๆ รวมทั้งยุงด้วย

3. ฤดูหนาว (ช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์) ทิศทางลมจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่า “ลมหนาว”

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงจะอยู่ระหว่าง 18-24 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าในช่วงดังกล่าวไก่จะกินน้ำมากขึ้นประสิทธิภาพการกินอาหารลดลง

ข้อควรระวังในฤดูหนาว

-ฤดูหนาว อากาศเย็นเป็นฤดูที่เลี้ยงไก่ง่าย ไก่ป่วยน้อย แต่ก็ต้องระวังในบางวันที่อากาศหนาวจนเกินไป  ควรกกไฟเพิ่ม

-ถ้าต้องการเพาะพันธุ์ไก่เพิ่ม แนะนำให้เพาะในฤดูนี้ เพราะลูกไก่จะเลี้ยงง่าย เสี่ยงน้อยต่อการติดโรค

ทำเล้าไก่
ทำเล้าไก่

การเลี้ยงไก่ ไม่ยาก แต่มีรายละเอียด เพียงแค่อาศัยความรัก ความใส่ใจ และช่างสังเกต เมื่อไก่มีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยรีบแยกออกจากฝูง จะได้รักษาให้ทันถ่วงที การมีเล้าไก่ที่จะทำให้ไก่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีต้องมีอากาศถ่ายเทที่ดี ไม่ทำให้ไก่รู้สึกอึดอัด มีพื้นที่ปล่อยวิ่งเล่นอย่างปลอดภัย คลุกดินและตากแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าบ้าง เท่านี้ไก่ก็เป็นไก่อารมรมดี และออกไข่คุณภาพดีให้เราได้บริโภคแล้ว

GURU รับเชิญ : คุณวาว วาสิฎฐี ลาธุลี

จบการศึกษาปริญญาตรี
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปัจจุบันอาชีพ สถาปนิก SOONTAREE+ studio คุณแม่ลูกหนึ่งและหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยการดูแลฟาร์มเล็กๆ ในบ้าน

เล้าไก่เคลื่อนที่ แจกแบบฟรี ทำเองได้ไม่ยาก

เล้าไก่และแปลงผัก อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพา

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm