องุ่นไชน์มัทแคท ปลูกในเมืองไทยก็ได้นะ

อีกหนึ่งผลไม้ยอดฮิตในช่วงปีนี้คือ “ องุ่นไชน์มัสแคท (Shine Muscat)” ที่คนมักเรียก องุ่นไซมัสคัส หลายคนคงรู้จัก ได้ยินชื่อ หรือเคยลองลิ้มชิมรสกันมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ องุ่นไชน์มัทแคท ปลูกในเมืองไทยได้ด้วย

องุ่นไชน์มัสแคท หรือ องุ่นไซมัสคัส เป็นองุ่นที่เกิดจากการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เวลานานถึง 18 ปีคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ในปี พ.ศ. 2549 เกิดจากการผสมระหว่างองุ่นพันธุ์ Akitsu-21 กับ Hakunan (Vitis labruscana กับ V. vinifera) องุ่นไชน์มัสแคทเป็นองุ่นมีเมล็ด ผลขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 10-12 กรัม สีเขียวอมเหลืองคล้ายหยก เนื้อผลแน่นและกรอบ รสชาติหวาน ซึ่งในการผลิตเพื่อการค้าจะมีเทคนิคที่ทำให้ไม่มีเมล็ด

ช่วง 2 – 3 ปีมานี้ ประเทศไทยได้มีการนำเข้าผลผลิตองุ่นไชน์มัสแคทจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จนเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากมีรสชาติอร่อย เนื้อกรอบ เนื้อแน่น ประกอบกับในช่วง 4 – 5 ปีที่มานี้ นักวิจัยไทยมีความพยายามในการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทอย่างจริงจัง จนสามารถทำให้องุ่นพันธุ์นี้ออกดอกติดผลได้และรสชาติเป็นที่น่าพอใจ

บทความนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิธีการผลิตองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทในประเทศไทยให้ได้คุณภาพและคุ้มทุน โดยการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และมูลนิธิโครงการหลวง นำโดย ผอ.วิรัตน์ ปราบทุกข์, คุณจิระนิล แจ่มเกิด, คุณพิมุกต์ พันธรักษ์เดชา และคณะ

องุ่นไซมัสคัส องุ่นไชน์มัทแคท

องุ่นไชน์มัสแคท จัดเป็นองุ่นที่แข็งแรงและเจริญเติบโตเร็วมาก ยิ่งเมื่อปลูกในสภาพอากาศร้อนอย่างประเทศไทย จึงต้องการพื้นที่สำหรับเลี้ยงกิ่งมาก เป็นพันธุ์ที่ออกดอกค่อนข้างง่าย

แต่ในบางสถานการณ์ที่แสงแดดน้อย เช่น พื้นที่สูงที่มีเมฆหมอกจัด พื้นที่ปลูกที่ร่มเงา หรือฝนตกชุกติดต่อระยะเวลานาน ๆ มักจะทำให้การออกดอกยากขึ้น เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานโรคและแมลง โดยเฉพาะราน้ำค้าง และเพลี้ยไฟ การปลูกในโรงเรือนมักพบการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งและไรแดง ซึ่งสร้างความเสียหายได้มาก

สำหรับการปลูกแบบกลางแจ้งจะอ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนสในยอดและใบอ่อน และราสนิมในใบแก่ องุ่นพันธุ์นี้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วในสภาพอากาศร้อน คือ ประมาณ 70-80 วันหลังดอกบาน แต่การแตกตาหลังตัดแต่งกิ่งจะช้ากว่าพันธุ์อื่น ๆ ในสภาพที่อากาศเย็น

องุ่นไซมัสคัส

เทคนิคในการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท องุ่นไซมัสคัส ที่มีคุณภาพ

รูปแบบการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทยที่ทำกันอยู่ในขณะนี้มี 2 แบบ คือ

“แบบภาคกลาง” เป็นการผลิตแบบองุ่นมีเมล็ด และรูปร่างช่อผลแบบองุ่นพันธุ์ทั่ว ๆ ไป

“แบบญี่ปุ่น” คือทำให้ผลไม่มีเมล็ดและตัดแต่งช่อผลตามแบบญี่ปุ่น

สำหรับการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทให้ได้คุณภาพตามรูปแบบญี่ปุ่น ร่วมกับวิธีการจัดการต่าง ๆ ตามระบบการปลูกองุ่นรูปแบบใหม่ของโครงการหลวง น่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้การผลิตองุ่นไชน์มัสแคทได้คุณภาพดีเท่าที่ทำได้ในประเทศไทย

โดยทางสถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ และคาดว่าจะมีเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ เพราะได้มีการศึกษา ทดลอง และสร้างความรู้ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

การผลิต องุ่นไชน์มัสแคท ให้ได้คุณภาพนั้น “จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การจัดการช่อผล การทำให้ไม่มีเมล็ด และการทำให้ผลมีขนาดใหญ่” ซึ่งเป็นเทคนิคที่เฉพาะและประณีต ส่วนวิธีการปลูกสามารถใช้ตามรูปแบบของโครงการหลวง พื้นฐานพัฒนามาจากรูปแบบของประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งจะช่วยเสริมการทำให้ผลผลิตมีคุณภาพทำได้ง่ายขึ้นโดยมีรายละเอียดดังนี้

องุ่นไซมัสคัส

การขยายพันธุ์และการปลูก

สามารถใช้ต้นกล้าที่ติดตาหรือเสียบยอดบนต้นตอป่าเช่นเดียวกับที่ใช้กันอยู่ทั่วไป หรือจะใช้การตอนหรือปักชำต้นพันธุ์โดยตรงได้ เพราะเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว ซึ่งมีการทำอยู่ในไต้หวัน

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะที่สุดคือเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งอากาศเริ่มร้อนขึ้น เป็นผลให้ต้นเจริญเติบโตเร็ว สร้างกิ่งได้ง่าย รวมทั้งมีเวลาสร้างทรงต้นและกิ่งได้นาน 7-8 เดือน ทำให้ทรงต้นพร้อม และกิ่งแก่ถึงระยะตัดแต่งได้ในช่วงปลายฤดูฝนพอดี

องุ่นไซมัสคัส

ระยะปลูก การจัดทรงต้น และการตัดแต่งกิ่ง

การจัดทรงต้นทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ขนาดและรูปแบบของโรงเรือน หรือความชอบของผู้ปลูก แต่ต้องมีพื้นที่ค้างมากพอสำหรับเลี้ยงเถาที่เจริญเติบโตเร็วมาก ระยะปลูกและรูปแบบทรงต้นต่าง ๆ ที่โครงการหลวงได้วิจัยและพัฒนาไว้ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปสามารถใช้ได้ดี เช่น แบบตัว T ระยะปลูก 1.5×8เมตรแบบตัว H ระยะปลูก 3×8 เมตรแบบตัว Y ระยะปลูก 1.5×8 เมตรหรือใช้รูปทรงแบบตัว T ดัดแปลง ที่มีระยะห่างขึ้นอีก จะดีมากเมื่อต้นอายุมากขึ้นหลาย ๆ ปี ซึ่งทรงต้นและการสร้างกิ่งอย่างเป็นระบบและถูกต้อง จะทำให้ต้นแข็งแรง กิ่งมีขนาดและความสมบูรณ์สม่ำเสมอ ง่ายต่อการทำงานและจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพดี

สำหรับการสร้างกิ่งและตัดแต่งกิ่ง สามารถใช้วิธีการสร้างกิ่งและตัดแต่งกิ่งแบบ 1 กิ่ง ตัด 2 โดยครั้ง แรกตัดแต่งกิ่งที่สร้างไว้แบบตัดยาว ในช่วงปลายฤดูฝน ให้เหลือตาบนกิ่ง ประมาณ 5-7 ตา หรือมากกว่านั้น ถ้าตาที่มีลักษณะสมบูรณ์อยู่ที่ตำแหน่งที่ห่างออกไป เพื่อให้ได้ผลผลิตในฤดูหนาว ใช้สารไซยานาไมด์ ความเข้มข้น 3-5% ป้ายหรือพ่นที่ตาของกิ่ง โดยเว้นตาที่โคนกิ่งไว้ 2-3 ตา ช่วยให้การแตกตาเร็วและสม่ำเสมอขึ้น และครั้งที่ 2 ตัดสั้นซ้ำบนกิ่งเดิมให้เหลือ 1-3 ตา ในช่วงปลายฤดูหนาว เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกแล้ว ซึ่งจะได้ผลผลิตอีกครั้งในรอบปีช่วงต้นฤดูฝน

องุ่นไซมัสคัส

การจัดการช่อดอกและช่อผล

การจัดการช่อดอกและช่อผลแบบญี่ปุ่นจะแตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศมากเพราะส่วนใหญ่จะปลูกองุ่นพันธุ์ที่ผลขนาดใหญ่และมีเมล็ดแล้วใช้ฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะทำให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้นและไม่มีเมล็ดเลือกให้ติดผลจากดอกที่บริเวณปลายช่อดอกเนื่องจากดอกบริเวณนี้อยู่ติดกับก้านช่อดอก ทำให้การบานและตอบสนองต่อฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะที่ใช้ได้สม่ำเสมอกัน รวมทั้งแต่ละผลจะได้รับอาหารอย่างทั่วถึง จะตัดแต่งในช่วงช่อดอกยังไม่บานและยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร จนถึงเมื่อดอกแรกเริ่มบาน ให้เหลือความยาวที่ปลายช่อดอกประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร จากนั้นหลังดอกบานเต็มที่ 10-15 วันหรือผลขนาด 0.3-0.5 เซนติเมตร จะตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 30-40 ผล หากไม่ตัดแต่งช่อผลจะทำให้ผลเบียดกันและผลมีขนาดเล็ก

องุ่นไชน์มัทแคท

การทำให้ผลไม่มีเมล็ดและเพิ่มคุณภาพผลผลิต

การทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูง คือ ผลขนาดใหญ่ เนื้อผลกรอบ รสชาติดี และไม่มีเมล็ด เป็นสิ่งสำคัญของการผลิตองุ่นแบบญี่ปุ่น ที่ต้องใช้ความเข้าใจและการจัดการอย่างประณีต ด้วยการใช้ฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะ ควบคู่กับการจัดการช่อดอกและช่อผล สำหรับการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทของไทยในแต่ละแห่ง ขณะนี้ยังขาดความชำนาญในเรื่องนี้ จึงอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อปรับให้เหมาะกับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง

สำหรับการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ใน พ.ศ. 2562-2563 ในเขตพื้นที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ พบว่า วิธีการทำให้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทมีคุณภาพคือการใช้ฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 หลังจากตัดแต่งช่อดอกแล้วในระยะหลังดอกบาน 1-3 วัน จะจุ่มช่อดอกลงในสารละลายที่มีสเตรปโตมัยซิน(สารปฏิชีวนะ)ความเข้มข้น 200 ppm จิบเบอเรลลิค แอซิด (ฮอร์โมนในกลุ่มจิบเบอเรลลิน) ความเข้มข้น 25 ppm และ CPPU (ฮอร์โมนสังเคราะห์ในกลุ่มไซโตไคนิน) ความเข้มข้น 5 ppm ในช่วงเวลาเย็นเพื่อทำให้ไม่มีเมล็ด
ครั้งที่ 2 หลังตัดแต่งช่อผล (หลังดอกบานเต็มที่ 10-15 วัน) จะจุ่มช่อผลลงในสารละลายจิบเบอเรลลิค แอซิด ความเข้มข้น 25 ppm เพื่อขยายขนาดของผล
ครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) หลังดอกบานเต็มที่ 45 วัน ในระยะนี้อาจจะมีการตัดแต่งช่อผลเพียงเล็กน้อย หากผลองุ่นเบียดกัน ก่อนจะจุ่มช่อผลลงในสารละลายจิบเบอเรลลิค แอซิด ความเข้มข้น 25 ppm และ CPPU ความเข้มข้น 5 ppm เพื่อทำให้ผิวผลองุ่นมีสีเขียวหรือเหลืองช้าลง

คุณภาพขององุ่นที่ได้คือ ผลองุ่นมีขนาด 7.5-9.5 กรัม ช่อผลมีขนาด 300-380 กรัม มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 19-23องศาบริกซ์ ปริมาณกรด 0.5-0.6 กรัม/100มิลลิลิตร ไม่มีเมล็ด 95 เปอร์เซ็นต์ ผิวผลมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อผลแน่น กรอบ และมีกลิ่นมัสแคท

การศึกษาวิจัยและถ่ายทอดความรู้การผลิตองุ่น Shine Muscat ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)

อนึ่ง สิ่งสำคัญของการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย คือ การศึกษาและพัฒนาวิธีการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ถึงระดับมาตรฐาน เทียบเท่ากับผลผลิตนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เมื่อผนวกกับจุดแข็งที่มีอยู่ของไทย คือฤดูการผลิตที่ต่างเวลากับต่างประเทศ จะทำให้เราสามารถปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทเป็นการค้าได้ ภายใต้การแข่งขันของผลผลิตนำเข้า ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้

เรื่อง : แดนไทย
ข้อมูล/รูปภาพ : ผอ.วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)และคณะนักวิจัย
การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย