ขวดซอส Kikkoman's Soy Sauce Dispenser

ขวดซอส Kikkoman’s Soy Sauce Dispenser ดีไซน์ที่ดี จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ขวดซอส Kikkoman's Soy Sauce Dispenser
ขวดซอส Kikkoman's Soy Sauce Dispenser

ขวดซอส Kikkoman อาจไม่เคยอยู่ในสายตา เหมือนเราไม่รู้ตัวว่ากำลังหายใจ ขวดโชยุใส ๆ ใส่น้ำดำฝาสีแดงเป็นภาพที่เคยชินจนไม่ทันสังเกตแต่ Kikkoman’s Soy Sauce Dispenser คือหนึ่งในตัวอย่างของ “ดีไซน์ที่ดี ดีจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา”

เพราะเจ้าขวดฝาแดงเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ใช้งานได้ดี แต่มีความย่อมเยาในราคา ซื้อหามาได้ง่าย อีกทั้งมีฟังก์ชั่นมากมายได้ถูกซ่อนเอาไว้ในงานออกแบบนี้ ที่สำคัญผู้ออกแบบกลับมีดีกรีไม่ธรรมดา เขาคนนั้นคือ Kenji Ekuan นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ฝากผลงานไว้มากมาย

“ภาพที่เห็นแม่ต้องยกแกลลอนโชยุมารินใส่ขวดบนโต๊ะอาหารทำให้ผมอยากออกแบบขวดที่ดีกว่านั้น และช่วยให้คนไม่ต้องลำบากลำบนกับการใช้ชีวิตจนเกินไป”

Kenji Ekuan เริ่มต้นวัยเด็กที่ฮาวาย ก่อนย้อนกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นหลังจนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองแรกที่เขาย้ายกลับมาคือ ฮิโรชิม่า เมืองที่แทบจะไม่เหลือเค้าเดิมจากการถูกทิ้งระเบิดปรมาณูหลังปลายสงคราม ภาพของซากปรักหักพัง และการใช้ชีวิตที่ไม่สู้สบายนักของผู้คน ทำให้ Kenji Ekuan ตั้งใจว่าจะต้อง “สร้างสิ่งอันสร้างสรรค์” เพื่อทำให้ทุกคนสบายกว่านี้ และมีความสุขมากกว่านี้

เพราะงานออกแบบที่ดีจะช่วยสรรค์สร้างสังคม จากวัยเด็ก Kenji Ekuan ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Tokyo National University of Fine Arts and Music หรือ Tokyo Geidai อันโด่งดัง และเริ่มต้นอาชีพนักออกแบบหลังเรียนจบ ด้วยความเชื่อที่ว่า “ทุก ๆ คน ไม่ใช่เพียงคนที่ร่ำรวย สมควรที่จะได้รับความสุขจากความงามในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเฉกเช่นกัน” งานของ Kenji Ekuan จึงมักเกี่ยวเนื่องกับของใช้ในชีวิตประจำวัน และวัตถุสาธารณะอยู่เสมอ เพราะอย่างไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่ออกแบบขวดโชยุอันน่าจดจำนี้ ยังได้เคยออกแบบ รถไฟชิงกันเซ็น Komachi bullet train หรือ รถมอเตอร์ไซค์อย่าง YAMAHA VMAX ด้วยเช่นกัน

ขวด Kikkoman's Soy Sauce Dispenser

เรียบง่ายแต่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียด

กลับมาที่ขวดโชยุนี้กันบ้าง อย่างที่บอกว่า Kenji Ekuan ได้เริ่มออกแบบขวดนี้ในปี ค.ศ.1961 จากภาพจำของคุณแม่ที่ต้องยกแกลลอน เขาจึงคิดว่าขวดเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ควรจะหยิบฉวยกลับบ้านจากการจ่ายตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ตได้โดยง่าย เป็นขวดที่พร้อมใช้ อัดแน่นมาด้วยโชยุคุณภาพจาก Kikkoman และต้องยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของโต๊ะอาหารแบบที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นชิน

เส้นสายโค้งสวยอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ถูกใช้ในการออกแบบขวดนี้ เป็นการสร้างให้เกิดการระลึกถึงเครื่องปั้นดินเผาที่มักถูกใช้ใส่โชยุบนโต๊ะอาหาร แต่ก็สื่อถึงความทันสมัยไปพร้อม ๆ กัน เพราะก้นขวดที่ใหญ่ทำให้สามารถวางได้อย่างมั่นคง และส่วนเว้าที่คอก็ช่วยให้สามารถจับถือได้อย่างแน่นหนาไม่หกง่าย

ทีเด็ดอยู่ตรงที่ฝาขวด ฝานี้มีส่วนของพวยกาที่ออกแบบมาเป็นสองด้าน เรียกว่า No-Drip Spout ที่สามารถเอานิ้วปิดรูด้านหนึ่งเพื่อกันโชยุหยดโดยไม่ตั้งใจได้ สามารถควบคุมปริมาณได้โดยง่าย ถูกใจชาวญี่ปุ่นโดยแท้

และส่วนที่เรียกว่ามาก่อนกาลเป็นอันมากคือการออกแบบที่เรียบง่ายจนเหลือเพียงแค่ 2 วัสดุที่ใช้ในการผลิต นั่นคือแก้วสำหรับตัวขวด และฝาที่ทำมาจาก HDPE ส่วนแก้วนี้สามารถนำกลับไปล้างทำความสะอาดและเติมใหม่ได้โดยง่าย เป็นการเวียนใช้วัสดุได้อย่างดีคล้ายขวดน้ำอัดลม ฝา HDPE ก็นำไปรีไซเคิลได้ และด้วยดีไซน์ที่ดีก็ช่วยให้หลาย ๆ ร้านเลือกที่จะซื้อโชยุแบบแกลลอนมาเติม และใช้ขวดนี้เปรียบได้กับเครื่องครัวชิ้นหนึ่งมากกว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งไปเสียเลย

นี่คืออีกหนึ่งงานออกแบบที่ตั้งใจเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนอย่างแท้จริง เพราะงานออกแบบที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่สวย หรือใช้งานได้ดี แต่ยังต้องคิดไปถึงบริบท และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกด้วย เช่นขวดโชยุโดย Kenji Ekuan นี้ ที่เป็นงานออกแบบอันงดงาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนสามารถเป็นเจ้าของได้โดยง่ายเช่นกัน

เรื่อง: Wuthikorn Sut


ALESSI JUICY SALIF ที่คั้นน้ำส้ม ทรงปลาหมึก โดย PHILLIPPE STARCK