วัสดุ กระดาษ จากเศษเหลือ อุตสาหกรรมเกษตร

วัสดุ กระดาษ BCG ! เปลี่ยนวงจรมลพิษจากการ “เผา” สู่งานออกแบบใหม่จากเศษเหลือทิ้งทางอุตสาหกรรมเกษตร การเวียนใช้เศษเหลือทางอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่การเป็นกระดาษนั้น นอกจากจะเป็นทางออกของเศษเหลือเหล่านั้นแล้วกระดาษยังคงก็เป็นหนึ่งในวัสดุต้นทางที่สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างหลากหลายด้านงานออกแบบ ธุรกิจสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะใช้งานเป็นกระดาษเอง วัสดุหีบห่อ วัสดุตกแต่ง หรือแม้แต่เป็นโครงสร้างในเฟอร์นิเจอร์ องค์ประกอบอาคารบ้างในบางส่วน

การเวียนใช้เศษเหลือสู่การเป็นกระดาษ จึงเหมือนเป็นการต่อยอดสู่การปรับใช้ ประโยชน์และยังเป็นทางออกที่น่าสนใจของปัญหานี้เมื่อไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด หรือปาล์มน้ำมัน ปีหนึ่ง ๆ พืชเหล่านี้ทิ้ง “ส่วนเกิน” ไว้มหาศาลเกินจินตนาการ บางชนิดหลังจากโตจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็ต้องโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่ บางต้นเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งนานหลายปี แต่ท้ายที่สุดผลออกมาก็เหมือนกันคือ เหลือทิ้งและจบชีวิตที่การเผาทำลาย

ปัจจุบันฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนตระหนักเพราะส่งผลต่อสุขภาพ บ้างก็แก้ด้วยปลายเหตุโดยการใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพบ้าง แต่สาเหตุหลักนั่นคือ “การเผา” ของการกำจัดเศษเหลือทางเกษตรเกิดเป็นปัญหาเพราะวิธีกำจัดที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากที่สุด แต่หากลองพิจารณาถึงคุณสมบัติของวัสดุเหลือทางการเกษตรเหล่านี้ ก็ดูจะเป็นไปได้สำหรับการสร้าง หมุนเวียน และนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกจากจะเป็นการหาทางไปให้กับบรรดาส่วนเกินทางการเกษตรแล้ว ยังช่วยลดภาระจากการเผาทำลายที่เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของมลพิษทางอากาศ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ “คาร์บอน” ที่มาพร้อมกับควันลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม

อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรถือเป็น BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในนั้นที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสียฃ


กระดาษจากดอกไม้
โดย LUKYANG
รหัสวัสดุ MI : 01020-01
สืบค้นเพิ่มเติม : https://www.tcdcmaterial.com/th/search-material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI01020-01
#วัสดุ
วัสดุแปรรูปกระดาษจากดอกไม้ตามธรรมชาติและเศษเหลือทิ้ง
#รายละเอียด
ผลิตจากดอกไม้ที่สามารถหาได้ตามธรรมชาติ และจากเศษดอกไม้เหลือทิ้งจากธุรกิจดอกไม้ ทั้งดอกคำฝอย ดอกอัญชัญ ดอกดาวเรือง และดอกไม้ชนิดอื่น ๆ โดยการนำดอกไม้ไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นกระดาษด้วยวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
#จุดเด่น
ใช้เทคนิคเดียวกันกับการทำกระดาษสา ผสมผสานกับเทคนิคเฉพาะของแบรนด์ LUKYANG สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100%
#ลักษณะการใช้งาน

สามารถขึ้นรูปด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อัด พับให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อย่างโคมไฟ หรือแจกัน


แผ่นอัดเยื่อข้าวโพด
โดย ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ (บจก.ซิมพลิ เด็คคอร์)
รหัสวัสดุ MI : 00981-04
สืบค้นเพิ่มเติม https:/ http://www.tcdcmaterial.com/…/paper-and…/info/MI00981-04
#วัสดุ
เยื่อกระดาษจากวัสดุเหลือใช้จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ต้น ใบ เปลือก เพื่อลดการเผา ประกอบไปด้วย เยื่อข้าวโพด 99% สารเติมแต่ง 1%
#รายละเอียด
ผลิตต้นแบบได้ขนาด 70 x 100 เซนติเมตร มีสีธรรมชาติ และความหนา 300 แกรม มีเนื้อละเอียดกว่ากระดาษ สามารถพัฒนาคุณสมบัติให้กันน้ำและไม่ลามไฟได้ตามลูกค้าต้องการ
#จุดเด่น
วัสดุกระดาษที่มีคาร์บอนต่ำ ผ่านกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศกว่า 20% เทียบกับกระดาษอุตสาหกรรม สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะนำไปใช้ทำงานหัตถกรรม งานพิมพ์ งานเขียนและงานตกแต่งภายในได้


กระดาษจากฟางข้าวสำหรับงานพิมพ์
โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟางไทย แฟคทอรี่
รหัสวัสดุ MI : 00601-04
สืบค้นเพิ่มเติม https://www.tcdcmaterial.com/th/search-material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00601-04
#วัสดุ
กระดาษจากฟางข้าวพื้นผิวเรียบสำหรับงานพิมพ์ผลิตจากฟางข้าว 100% และไม่มีส่วนผสมของกาวหรือสารเคมีอันตราย
#รายละเอียด
เริ่มจากการนำฟางข้าวไปเป่าลมเพื่อทำความสะอาดและกำจัดสิ่งเจือปนปล่อยให้แห้งนำไปบดแล้วจึงแช่น้ำก่อนจะแผ่บนตะแกรงกระดาษจะถูกทำผิวให้เรียบด้วยกระบวนการที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะแล้วนำไปผึ่งให้แห้งกลางแดดจัด ขนาดมาตรฐานได้แก่ขนาด A3 ขนาด A4 สามารถสั่งผลิตพิเศษให้มีความหนาผิวสัมผัสและขนาดที่ต้องการได้ถึง 70 x 100 เซนติเมตร
#จุดเด่น
กระดาษนี้นำไปหมักเป็นปุ๋ยได้ ปราศจากกรด คงทน เหนียวและต้านทานการเจาะทะลุได้ดี วัสดุนี้ได้รับมาตรฐาน G-Upcycle ได้รับรางวัล G-Gold Level และประกาศนียบัตร Upcycle Carbon Footprint
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะใช้ทำบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนต่าง ๆ ทั้งถุงกระดาษ ฉลากแขวน สินค้ากล่องและงานตกแต่งภายใน


กระดาษสาใยมะพร้าว
โดย กระดาษมะพร้าวบ้านแพ้ว
รหัสวัสดุ MI : 00952-01
สืบค้นเพิ่มเติม : https:/ www.tcdcmaterial.com/th/material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00952-01
#วัสดุ
กระดาษสาใยมะพร้าว ผลิตจากเปลือกมะพร้าว 90% และเส้นใยสา 10%
#รายละเอียด
มีลักษณะเป็นแผ่นสีน้ำตาลอ่อนตามสีของกะลามะพร้าวในธรรมชาติ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าขยะทางการเกษตรภายในชุมชน
#จุดเด่น
สามารถเลือกความหนาและสีของกระดาษได้ตามความต้องการ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะสำหรับใช้เป็นอุปกรณ์ของตกแต่ง บรรจุภัณฑ์ และสามารถต่อยอดได้ในระดับอุตสาหกรรม


กระดาษจากเส้นใยทางปาล์มน้ำมัน
โดย บริษัท ปาล์มแพคเกจจิ้ง จำกัด
รหัสวัสดุ MI : 01024-01
สืบค้นเพิ่มเติม: https://www.tcdcmaterial.com/…/%E0%B8…/info/MI01024-01
#วัสดุ
กระดาษจากเยื่อทางปาล์มน้ำมัน (แกนใบ)
#รายละเอียด
เป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรจำนวนมหาศาล จากกระบวนการคล้ายกับกระดาษสา เมื่อขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์สามารถรับน้ำหนักได้ตั้งแต่ 0.5 – 3 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาด) มีข้อควรระวังคือไม่สามารถโดนน้ำในปริมาณมากได้ และสามารถติดไฟได้
#จุดเด่น
สามารถย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน สามารถสั่งตัดตามขนาดที่ต้องการโดยขนาดใหญ่สุดอยู่ที่ 100 x 80 เซนติเมตร รวมถึงสั่งพิมพ์ภาพ หรือข้อความลงบนกระดาษได้ตามต้องการ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะสำหรับผลิตถุงกระดาษ กล่องกระดาษ แผ่นกระดาษ กระดาษห่อผักผลไม้ เพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติก


กระดาษจากเศษต้นชา
โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด จี-ครีเอท (ประเทศไทย)
รหัสวัสดุ MI : 00442-08
สืบค้นเพิ่มเติม https:// www.tcdcmaterial.com/th/material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00442-08
#วัสดุ
กระดาษทำมือที่ประกอบด้วยใบชาและก้านชาที่คัดทิ้ง 30% เส้นใยสา 40% และเส้นใยเซลลูโลสรีไซเคิล 30%
#รายละเอียด
ก้านชาเหล่านี้เป็นก้านชาที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิตชา จึงเหลือจากกระบวนการผลิตชา นำมาตากแดดให้แห้งและทำความสะอาดจนได้เส้นใยเซลลูโลสก่อนจะนำไปเข้ากระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้วผสมรวมกับเส้นใยจากเปลือกต้นสาและกระดาษรีไซเคิลจนได้เป็นเยื่อกระดาษ จากนั้นนำไปแช่น้ำแล้วปูลงในตะแกรง นำไปตากแดดให้แห้ง น้ำทิ้งจากกระบวนการจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน
#จุดเด่น
กระดาษนี้สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หมักเป็นปุ๋ยได้ ไม่เป็นพิษและไม่มีกรด ขนาด 55×80 เซนติเมตร หนา 0.1-0.3 มิลลิเมตร และมีหลายสีให้เลือก ทั้งผิวเรียบและผิวหยาบ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะสำหรับใช้ทำแผ่นรองจาน บรรจุภัณฑ์ (กล่องหรือซองจดหมาย) สมุดบันทึก ถุงของขวัญ เครื่องเขียนและกระดาษ


กระดาษสาหร่าย
โดย Re-No-Waste
รหัสวัสดุ MI : 00986-01
สืบค้นเพิ่มเติม https://www.tcdcmaterial.com/th/search-material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00986-01
#วัสดุ
กระดาษจากสาหร่าย 100% ที่รวบรวมเก็บสาหร่ายจากฟาร์มกุ้งในประเทศไทย
#รายละเอียด
สาหร่ายในนากุ้ง มีลักษณะเป็นเส้นใยจำนวนมากคล้ายเส้นผม มีความเหนียว เงางาม มีสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม เส้นใยสามารถยึดเกาะกันได้ด้วยตัวเอง โดยนำสาหร่ายมาทำความสะอาดและเข้ากระบวนการผลิตกระดาษตามมาตรฐานเพื่อสร้างวัสดุกระดาษชนิดใหม่นี้ขึ้น
#จุดเด่น
กระดาษมีความต้านทานแรงดึงและการฉีกขาด สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีพื้นผิวและมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบซึ่งจะเป็นสีตามธรรมชาติ เช่น สีเขียวและน้ำตาล ผลิตได้ขนาดใหญ่ที่สุดคือ 80 x 55 เซนติเมตร
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะทำบรรจุภัณฑ์ กระดาษวาดเขียน แผ่นตกแต่งผนัง และสินค้าทางการเกษตร


กระดาษจากใบไม้สักแห้ง Teak Leaf Paper
โดย บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด
รหัสวัสดุ MI : 00603-01
สืบค้นเพิ่มเติม: https://www.tcdcmaterial.com/th/search-material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00603-01
#วัสดุ
กระดาษจากใบไม้แห้งของต้นสัก 70% เยื่อกระดาษ 20% และแว็กซ์ธรรมชาติ 10%
#รายละเอียด
ผลิตโดยใช้ใบไม้แห้งที่ร่วงจากต้นมาตากแห้งและอบป้องกันเชื้อรา นำไปผ่านไอน้ำและแช่น้ำเพื่อให้เนื้อนุ่มก่อนจะประกบกับเยื่อกระดาษ แผ่นวัสดุมาตรฐานมีขนาด 65 x 175 เซนติเมตร ย้อมสีและลามิเนตบนแผ่นหนังได้ตามต้องการ
#จุดเด่น
ใบสักมีความทนทาน แข็งแรง เหนียว ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและนำไปหมักเป็นปุ๋ยได้ มีผิวสัมผัสนุ่มเหมือนผ้า สามารถนำไปเย็บและตัดได้เหมือนผ้าปกติ ผิวไม่ซึมน้ำ รับแรงดึงได้ดี และมีกลิ่นหอมของใบไม้ธรรมชาติ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะทำเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบภายใน อุปกรณ์ประดับตกแต่ง บรรจุภัณฑ์ และจัดแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย 


กระดาษฟางข้าว
โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอารักษ์
รหัสวัสดุ MI : 00947-01
สืบค้นเพิ่มเติม : https:// www.tcdcmaterial.com/th/material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI00947-01
#วัสดุ
กระดาษฟางข้าว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นไอดิน
#รายละเอียด
ผลิตจากเศษเหลือทิ้งทางอุตสาหกรรมการเกษตร ภายในชุมชนตำบลลาดบัวขาว สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหลากหลายสีสัน
#จุดเด่น
สามารถต้านทานน้ำ รอยขีดข่วน และแรงฉีกขาดได้ดี
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะสำหรับนำไปแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ และงานตกแต่งภายใน


กระดาษผักตบชวา
โดย Silo@ssru
รหัสวัสดุ MI : 01025-04
สืบค้นเพิ่มเติม: https:// www.tcdcmaterial.com/th/material/1/กระดาษและสิ่งพิมพ์/info/MI01025-04
#วัสดุ
กระดาษผลิตจากเส้นใยผักตบชวา 100%
#รายละเอียด
ใช้ผักตบชวาจากจังหวัดชัยนาท ซึ่งกระดาษที่ได้มีคุณสมบัติทดแทนกระดาษในงานหัตถกรรม สามารถนำไปใช้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ดี
#จุดเด่น
สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
#ลักษณะการใช้งาน
เหมาะสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ประดับตกแต่ง



room Books ร่วมกับ CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency) และ ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center) ขอนำเสนอวัสดุไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database โดยวัสดุส่วนใหญ่ได้รับการคัดเลือกเข้าฐานข้อมูลวัสดุระดับนานาชาติจาก Material ConneXion เพื่อร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับนักออกแบบ และผู้ประกอบการสู่แนวทางวัสดุที่ตอบสนองต่อทั้งธุรกิจและงานออกแบบ โดยเฉพาะในแง่ของความยั่งยืนที่เปิดกว้าง

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.tcdcmaterial.com
อีเมล: [email protected] โทร. 0-2105-7400 ต่อ 254, 241
ตั้งแต่เวลา 10.30-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)

เนื้อหา: ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center)
เรียบเรียง: Lily J.