รวมไอเดียออกแบบเพิ่มฟังก์ชันให้มุมภายในบ้าน

มาดู 15 ไอเดีย ที่ใช้การ ออกแบบบ้าน เพิ่มฟังก์ชั่น รองรับการใช้งานสำหรับพื้นที่ภายในบ้านให้กับบ้านของคุณ

โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Multi-Function การ ออกแบบพื้นที่ให้ใช้งานได้มากกว่าหนึ่ง ฟังก์ชัน , Hide Design การออกแบบปิดซ่อนของในบ้านให้ดูเป็นระเบียบ, Storage Idea ไอเดียการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บของให้มุมต่างๆ ในบ้าน ออกแบบบ้าน

Multi-Function Space

               Multi-Function Space เป็นการออกแบบพื้นที่ใช้งานในบ้านให้หนึ่งพื้นที่ใช้งานได้หลายอย่างในพื้นที่เดียว หรือเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ตอบโจทย์ความต้องการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นักรวมถึงคอนโดมิเนียม เพราะจะได้ใช้พื้นที่ได้เต็มที่มากที่สุด การออกแบบพื้นที่แบบ Multi-Function Space มีหลายรูปแบบ จะขอแนะนำไอเดียเป็นตัวอย่าง 5 แบบ ที่น่าสนใจดังนี้

ใช้ม่านแบ่งพื้นที่

การใช้ม่านแบ่งพื้นที่เป็นวิธีหนึ่งในการใช้งานห้องโดยแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ โดยไม่ต้องสร้างผนังแบบทึบ หรือใช้สร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน สามารถช่วยบังสายตาได้ เป็นฉากกั้อุณหภูมิจากเครื่องปรับอากาศไม่ให้ออกไปยังอีกส่วนได้ แต่ไม่กันเรื่องเสียงทะลุผ่านห้อง นอกจากนี้ผ้าม่านยังใช้เป็นส่วนตกแต่งห้องได้ เลือกสี เนื้อผ้า และลวดลายให้ตรงตามสไตล์ที่ต้องการได้ เพิ่มมิติให้กับห้องได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์หลักสำหรับติดม่านแบ่งพื้นที่ห้องจะใช้เป็นรางผ้าม่าน และผ้าม่าน รายละเอียดการเลือกอุปกรณ์รางม่านมีหลายรูป สำหรับรางม่านที่แนะนำจะเป็นแบบใช้ระบบลูกล้อ เพราะสามารถตัดเป็นมุมโค้งได้ ทำให้บริเวณมุมห้องไร้รอยต่อ ออกแบบบ้าน

ชุดวางอาหารสัตว์เลี้ยงฝังกับบิ้ลท์อินครัว

            ชุดวางอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงออกแบบฝังไปกับบิลท์อินครัว เป็นการออกแบบพื้นที่เคาน์เตอร์ครัวให้ใช้งานได้มากกว่าหนึ่ง ฟังก์ชัน ออกแบบฝังไว้กับเคาน์เตอร์ชุดริมสุด สามารถต่อท่อก๊อกน้ำมาจากครัวได้ เดินท่อน้ำได้ง่ายภายในบิ้ลท์อิน เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจสำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง ทำให้จัดการมุมอาหารได้สะดวก และทำความสะอาดง่าย

  • ระยะชุดวางอาหารสัตว์เลี้ยงฝังกับบิลท์อินครัว

A =  ความสูงประมาณ 80 ซม. จากระดับพื้น

B = ความสูงประมาณ 35-40 ซม. จากระดับพื้น

C = ความสูงประมาณ 15 ซม. จากระดับพื้น

D = ความกว้าง ประมาณ 60 ซม.

E = ความลึก ประมาณ 15 ซม.   

ที่นั่งใต้บันได

ออกแบบบ้าน

พื้นที่ใต้บันไดเป็นที่ว่างจุดหนึ่งในบ้านที่หลายคนนึกไม่ออกว่าจะทำเป็นอะไรดี ไอเดียหนึ่งสำหรับออกแบบพื้นที่ว่างใต้บันไดให้เกิดประโยชน์ใช้สอย คือเปลี่ยนเป็นที่นั่งเล่น ออกแบบตู้บิ้ลท์อินสูงขึ้นมาระดับที่นั่ง วางเบาะนุ่มๆ ก็กลายเป็นมุมนั่งเล่นสบายๆ ได้ นอกจากนี้หากต้องการที่เก็บของยังสามารถออกแบบตู้เก็บของเล็กๆ ใต้ที่นั่ง และด้านข้างของที่นั่งได้อีกด้วย

  • ระยะที่นั่งใต้บันได

A = ความสูงมากกว่า 150 ซม. จากพื้น

B = ระยะความกว้างประมาณ 150 ซม.

C = ความลึกประมาณ 50 ซม.

D = ความสูงประมาณ 45 – 50 ซม.

Hide Design

          Hide Design เป็นอีกรูปแบบการจัดพื้นที่ในบ้านที่เราขอเลือกมาแนะนำให้ทุกท่าน เป็นการซ่อนพื้นที่ใช้งานในบ้านที่มีของเยอะให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รก ประตูเลื่อนปิด ระแนงไม้ หรือทำการซ่อนอุปกรณ์ในบ้านที่ไม่ต้องการโชว์ เช่น เครื่องปรับอากาศ ปลั๊กไฟ สายไฟ เป็นต้น เนื่องจากเวลาใช้งานบ้านไปสักระยะ ของใช้ในบ้านก็จะเยอะขึ้นทำให้บ้านรก การออกแบบรูปแบบการซ่อน บังสายตามุมที่มีแนวโน้มว่าของจะเยอะไว้ตั้งแต่แรกจะช่วยให้บ้านเป็นระเบียบโดยที่ไม่ต้องจัดของบ่อย เหมาะกับบ้านที่ต้องการความเรียบ เช่น บ้านสไตล์มินิมัล สไตล์โมเดิร์น เมื่อปิดซ่อนแล้ว นอกจากจะช่วยบังสายตาจากข้าวของในบ้าน ยังเปลี่ยนให้ห้องนั้นใช้งานใน ฟังก์ชัน อื่นๆ เป็นเหมือนห้องอเนกประสงค์ไปในตัวได้อีกด้วย วิธีการจัดการสิ่งของด้วยการซ่อนมีไอเดียตัวอย่างที่เราขอแนะนำดังนี้

บานประตูปิดตู้ครัว

ห้องครัว เป็นส่วนหลักของบ้านที่ถูกใช้งานในทุกวัน ปัจจุบันหลายบ้านนิยมทำครัวแบบยุโรป เป็นครัวที่อยู่ภายในบ้านไม่แยกเป็นห้องต่างหาก ซึ่งถ้าใช้งานไปสักระยะ ของในครัวอาจกระจัดกระจาย ทำให้ห้องดูรก หากใครต้องการให้ห้องครัวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตลอด ไอเดียการทำหน้าบานปิดตู้ครัวเป็นไอเดียที่ช่วยให้ครัวเรียบร้อย เหมาะกับบ้านที่ต้องการให้บ้านดูเรียบ อย่างเช่น บ้านสไตล์มินิมัล โดยทำเป็นเป็นบานพับ อาจใช้เป็นไม้ที่กันน้ำโดยเฉพาะ เช่น ไม้ HMR (High Moisture Resistance board) เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติขึ้นในเรื่องของการทนทานต่อความชื้น เพื่อป้องกันการใช้งานที่เปียกน้ำจากส่วนครัว ปิดผิวด้วยลามิเนทซึ่งสามารถเลือกสีสันและลวดลายได้ตามต้องการ ติดตั้งคู่กับอุปกรณ์บานพับที่แข็งแรงเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน

บานระแนงเลื่อนปิดมุมเครื่องซักผ้า

ที่วางเครื่องซักผ้า เป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์สำหรับซักผ้า เครื่องซักผ้า และของอื่นๆ ในบ้านบางหลัง พื้นที่ส่วนนี้อาจอยู่รวมในบริเวณบ้าน ติดกับโซนห้องนั่งเล่น หรือห้องอื่นๆ ซึ่งอุปกรณ์ส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่หลายคนอยากเก็บซ่อนจากสายตาคนในบ้านรวมถึงแขกที่มาบ้าน การออกแบบหน้าบานปิดมุมเครื่องซักผ้าแบบระแนงบานเลื่อนเป็นไอเดียซ่อนอุปกรณ์ซักผ้าที่ช่วยทั้งบังสายตา และยังช่วยระบายอากาศผ่านช่องระแนง ไม่ทึบจนเกินไปจนทำให้พื้นที่เก็บของด้านในเกิดความอับชื้น อุปกรณ์ที่ใช้ทำระแนงบานเลื่อนใช้เป็นไม้ระแนง หรือไม้เนื้อแข็งตีเป็นระแนง รางล้อเลื่อน ติดตั้งเข้ากับตู้เก็บเครื่องซักผ้า โดยใช้วิธีเลื่อนด้วยการดึงตัวระแนงได้เลยโดยไม่ต้องใช้มือจับ ทำให้มุมเครื่องซักผ้าดูสวยงาม เป็นระเบียบ จัดการง่าย และระบายอากาศไม่ให้อับชื้นได้ด้วย

ระแนงไม้ปิดเครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศแบบที่นิยมใช้กันในห้องขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน ห้องอเนกประสงค์ คือ เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง ซึ่งมีขนาด BTU ให้เลือกใช้ได้ตามขนาดพื้นที่ห้อง ประหยัดไฟ อากาศเย็นทั่วทั้งห้อง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องติดตั้งภายหลังจากที่บ้านสร้างขึ้นมาเสร็จแล้ว หรือหลังจากเข้าอยู่ ไม่ได้ถูกออกแบบระบบมาตั้งแต่แรกพร้อมกับบ้านจึงไม่สามารถซ่อนให้เป็นส่วนหนึ่งไปกับบ้านได้ บางคนอาจต้องการให้ห้องดูเครื่องปรับอากาศไม่แย่งความโดดเด่นจากห้อง ซึ่งหลังจากตกแต่งห้องแล้ว อาจทำให้สไตล์ห้องโดยรวมขัดกับลักษณะของตัวเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร ไอเดียการใช้ไม้ระแนงปิดซ่อนเครื่องปรับอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยซ่อนได้อย่างลงตัว ใช้เพียงแค่ไม้เนื้อแข็งตีเป็นระแนง อุปกรณ์บานพับที่แข็งแรงและช่วยชะลอการเปิดหน้าบาน ส่วนด้านล่างของเครื่องปรับอากาศเปิดโล่งให้อากาศออก

ซ่อนปลั๊กไฟในลิ้นชัก

ออกแบบบ้าน

               ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ ไอแพด กลายเป็นของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องชาร์จไฟเก็บเป็นพลังงานสำหรับใช้งาน โดยมุมบ้านที่มักจะใช้เป็นมุมชาร์จไฟโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก จะเป็นมุมโต๊ะทำงาน หรือเคาน์เตอร์ครัว ซึ่งถ้าเสียบสายชาร์จวางไว้บนโต๊ะก็อาจทำให้พื้นที่บนโต๊ะรก การออกแบบปลั๊กซ่อนไว้ในลิ้นชัก ช่วยจัดการปัญหาสายไฟรกได้เป็นอย่างดี ขณะชาร์จแบตเตอรี่สามารถวางเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ในลิ้นชักและใช้พื้นที่บนโต๊ะทำงานอย่างอื่นได้อีกด้วย

  • ระยะลิ้นชักสำหรับซ่อนปลั๊กไฟ

               A = ความสูงประมาณ 15 – 20 ซม.

Storage Idea

               Storage Idea เป็นไอเดียออกแบบพื้นที่เก็บของในบ้าน เพื่อให้บ้านไม่รก โดยใช้พื้นที่ว่างจากมุมต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ที่ว่างใต้บันได ที่ว่างใต้ที่นั่ง และพื้นที่แคบภายในบ้าน ทำให้ได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น และช่วยให้บ้านไม่รก มีพื้นที่เก็บของที่เป็นระเบียบ ซึ่งจะขอแนะนำไอเดียเป็นตัวอย่างสำหรับออกแบบพื้นที่เก็บของดังนี้

ที่เก็บของใต้บันได

ออกแบบบ้าน

               ในบ้านที่มีของเยอะ ต้องการพื้นที่เก็บของโดยไม่ต้องใช้ทั้งห้องสำหรับเก็บ พื้นที่ใต้บันไดเป็นพื้นที่ที่พอดีกับการเก็บของขนาดไม่ใหญ่มาก และเข้าถึงง่ายจากทุกส่วนภายในบ้าน การออกแบบตู้บิ้ลท์อินสำหรับเก็บของใต้บันได ช่วยแก้ปัญหาของรกในบ้าน ใช้งานพื้นที่ใต้บันไดทำให้ไม่เสียที่ว่างไปโดยเปล่าประโยชน์

  • ระยะที่เก็บของใต้บันได

               A = ประมาณ 50 ซม.

ตู้เก็บของหลังผนัง

สำหรับบ้านที่ออกแบบสไตล์คลาสสิก ตกแต่งบ้านด้วยคิ้วบัวแต่งผนัง ทำให้มิติของบ้านดูหรูหราขึ้น และยังต้องการพื้นที่เก็บของไปด้วย อยากแต่งผนังให้มีดีเทลแต่ก็ไม่อยากเสียพื้นที่เก็บของบริเวณผนังไป ไอเดียออกแบบที่เก็บของหลังผนังเป็นวิธีที่น่าสนใจ ทำให้ยังได้ผนังตกแต่งและได้พื้นที่เก็บของไปพร้อมๆ กัน การออกแบบที่เก็บของหลังผนังสามารถทำได้ด้วยการออกแบบผนังเบิ้ลออกมาอีกชั้นจากผนังบ้านเดิมด้วยวัสดุโครงไม้ให้เกิดพื้นที่ว่างสำหรับทำเป็นตู้เก็บของ จากนั้นจึงแบ่งหน้าบานตู้ สร้างเป็นบานเปิดและลิ้นชัก โดยเพื่อให้หน้าบานหน้าตาดูแนบเนียนไปกับผนังควรใช้เป็นบานเปิด และลิ้นชักแบบกดกระเด้ง จากนั้นจึงออกแบบติดตั้งคิ้วบัวทับลงบนหน้าบานตามรูปแบบที่ต้องการ สามารถติดกรอบรูปตกแต่งที่ผนัง เมื่อผนังถูกปิดก็จะเรียบสนิทเนียนเหมือนผนังของบ้าน

  • ระยะตู้เก็บของหลังผนัง

A = ความกว้างประมาณ 50-60 ซม.

B = ความสูงประมาณ 80 – 150 ซม.

C = ความสูงประมาณ 50 – 60 ซม.

D = ความลึกประมาณ 40 ซม.

E = ความกว้างประมาณ 50 ซม.

F = ความกว้างประมาณ 50 – 60 ซม.

ที่เก็บของในพื้นที่แคบ

ออกแบบบ้าน

               สำหรับใครที่ต้องการใช้พื้นที่เล็กๆ ในบ้านให้เป็นที่เก็บของ ไม่เสียพื้นที่ไปโดยไม่ถูกใช้งาน มีอีกหนึ่งไอเดีย คือ การทำที่เก็บของในพื้นที่แคบแบบบานสไลด์ สามารถใช้เก็บของชิ้นเล็กๆ เช่น เก็บหนังสือ เก็บอุปกรณ์ภายในบ้าน อุปกรณ์ครัว อุปกรณ์ทำความสะอาด เป็นต้น โดยทำให้พื้นที่เล็กๆ สามารถเก็บของได้จำนวนมาก และเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งสามารถออกแบบเป็นตู้โครงไม้ ติดตั้งชั้นวางของ รางเลื่อน และมือจับ ใช้งานง่ายในพื้นที่แคบ และใช้ได้เกือบทุกพื้นที่ในบ้าน

  • ระยะที่เก็บของในพื้นที่แคบ

A = ประมาณ 60 – 70 ซม.

B = ประมาณ 30 ซม.

ที่เก็บของใต้ที่นั่ง

ออกแบบบ้าน

ภายในบ้านจะมีมุมนั่งเล่นในห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือมุมนั่งเล่นริมหน้าต่าง ส่วนมากจะนิยมทำเป็นลักษณะตู้บิลท์อิน เพราะทำง่าย ติดตั้งสะดวก และอีกข้อดี คือ สามารถทำเป็นลิ้นชักเก็บของใต้ที่นั่งได้ เพิ่มพื้นที่เก็บของให้กับห้อง วางเบาะและหมอนด้านบนที่นั่งเป็นที่นั่งเล่นเอนหลังแบบเดย์เบดได้

  • ระยะที่เก็บของใต้ที่นั่ง

               A = ความสูงประมาณ 45 – 50 ซม.

               B = ความลึกประมาณ 60 – 70 ซม.

               C = ความสูงประมาณ 20 ซม.

               D = ความกว้างประมาณ 40 – 50 ซม.

ที่เก็บของใต้ที่นั่งแบบเปิดด้านบน

ออกแบบบ้าน

          สำหรับคนที่ต้องการช่องเก็บของที่ใส่ของได้ชิ้นใหญ่ขึ้น เช่น ใส่หมอน เบาะรองนั่ง ไอเดียที่เก็บของแบบเปิดด้านบน ช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บของได้เป็นอย่างดี โดยใช้เป็นท็อปที่นั่งแบบไม้เพื่อให้เปิดได้สะดวก ติดตั้งบานพับที่แข็งแรงช่วยชะลอการเปิด

  • ระยะที่เก็บของ

               A = ความสูงประมาณ 45 – 50 ซม.

               B = ความลึกประมาณ 50 – 60 ซม.

               C = ความกว้างประมาณ 60 – 90 ซม.

ที่เก็บของใต้เคาน์เตอร์ครัว

ออกแบบบ้าน

               ในเคาน์เตอร์ครัว มีพื้นที่ว่างเล็กๆ อยู่ตรงใต้ตู้ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน หากรวมพื้นที่ส่วนนี้ทั้งหมดของตัวเคาน์เตอร์ก็จะได้พื้นที่ว่างใหญ่พอสมควร สามารถนำมาใช้งานเป็นที่เก็บของชิ้นเล็กๆ ได้ เช่น ขวดแก้ว อุปกรณ์ครัวชิ้นเล็กๆ โดยทำเป็นลิ้นชัก อาจติดล้อขนาดเล็กไว้ด้านใต้เพื่อให้เลื่อนออกสะดวก และติดตั้งมือจับสำหรับดึงและปิดลิ้นชักได้ง่าย

  • ระยะที่เก็บของใต้เคาน์เตอร์ครัว

               A = ความกว้างประมาณ 60 – 90 ซม.

               B = ความลึกประมาณ 40 – 50 ซม.

               C = ความสูงประมาณ 10 ซม.

ตู้เก็บของใช้ในบ้าน

            สำหรับบ้านที่มีพื้นที่เหลือขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น บริเวณผนังข้างประตูที่มีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ 20-30 ซม. และต้องการใช้พื้นที่ให้เต็มที่ที่สุด สามารถทำเป็นตู้เก็บของใช้ภายในบ้าน เช่น ขวดน้ำยาซักผ้า ไม้ถูพื้น ของที่ขนาดไม่ใหญ่และพับเก็บได้ เป็นการใช้พื้นที่แคบสร้าง ฟังก์ชัน เป็นที่เก็บของ ช่วยให้บ้านไม่รกและทำให้บ้านใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น


เรื่อง : ณัฐวัฒน์ คล้ายสุบรรณ์

ภาพประกอบ : เอกรินทรื พันธุนิล


วิธีแต่งบ้านสไตล์มินิมัล และการปรับใช้ในบ้าน

13 วิธีออกแบบพื้นที่รอบบ้านให้ดูแลง่าย

การ ต่อเติมบ้าน ให้ถูกวิธี บ้านไม่พัง

เครื่องปรับอากาศแบบฝังฝ้า Mitsubishi Electric MR.Slim รุ่น PLY- SM/M Series

ติดตามบ้านและสวน