วิธีแต่งบ้านสไตล์มินิมัล และการปรับใช้ในบ้าน

บ้านสไตล์มินิมัล คือบ้านที่เน้นความเรียบง่าย ตกแต่งเท่าที่จำเป็น มาดู 10 วิธีออกแบบและ แต่งบ้านมินิมัล ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจสไตล์นี้มากขึ้น หรือเลือกบางอย่างมาปรับใช้ให้เข้ากับบ้านก็ได้

แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณไกรพล – คุณอุรัสสา ชัยเนตร  
บ้านครอบครัวตั้งฐานะตระกูล
แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณแหวนและคุณแป็ง  

1.องค์ประกอบเรียบง่าย ไร้การตกแต่งที่ไม่จำเป็น

หากมองบ้านเป็นภาพกราฟิก องค์ประกอบของบ้านจะมีลักษณะเป็นจุด เส้น ระนาบ และรูปทรง ประกอบกันเป็นพื้น ผนัง เพดาน หลังคา เป็นงานสถาปัตยกรรมที่คนเข้าไปใช้สอยได้ องค์ประกอบอาคารที่เรียบง่าย จึงหมายถึงองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการใช้งาน หรือมีเหตุผลต่อการออกแบบ และใช้องค์ประกอบที่เป็นการตกแต่งให้น้อยเท่าที่จำเป็น แต่งบ้านมินิมัล

  • Form follow Function รูปทรงและโครงสร้างภายนอกบ้าน มักจะสะท้อนถึงฟังก์ชันและสเปซภายในบ้านตามลักษณะ Form follow Function อย่างตรงไปตรงมา อย่างภายในบ้านมีการใช้พื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม เป็นเส้นตรง ก็สะท้อนเป็นรูปทรงอาคารทรงเหลี่ยม และการใช้ระนาบตรง โดยเป็นการคิดและออกแบบอย่างละเอียด เพื่อให้องค์ประกอบลงตัวโดยไม่ต้องแต่งเติมอีก
  • ระนาบเรียบ ออกแบบผนังและฝ้าเพดานเป็นระนาบเรียบ มีซอกมุมน้อย และมีความต่อเนื่องกัน จะทำให้เกิดองค์ประกอบที่เรียบง่าย เช่น การก่อผนังให้เต็มหน้าเสาและคานเพื่อไม่ให้เกิดซอกมุม การใช้วัสดุกรุหรือปิดพื้นผิวที่มีรอยต่อและลวดลายน้อย ทำประตูหน้าต่างแบบซ่อนวงกบและสูงถึงฝ้าเพดานเพื่อลดเส้นรอยต่อกับผนังให้น้อยลง
  • ช่องเปิดเคลียร์ ประตูหน้าต่างที่เหมาะกับสไตล์นี้ ควรออกแบบให้มีเส้นสายน้อย ดูโปร่งโล่ง เช่น การทำช่องเปิดสูงถึงฝ้าเพดาน การใช้กระจกผืนใหญ่ที่รอยต่อน้อย การออกแบบซ่อนวงกบเพื่อให้เห็นรอยต่อวัสดุน้อยลง
แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณแหวนและคุณแป็ง 

2.นิยมใช้รูปทรงเรขาคณิต เรียบง่ายด้วยเส้นตรง เส้นโค้งที่ชัดเจน

ความสวยของสไตล์มินิมัลเกิดจากแนวคิดที่เรียบง่าย และถ่ายทอดเป็นการจัดแต่งและเรียบเรียงองค์ประกอบให้เหลือน้อย แต่มากประโยชน์ เมื่อลดทอนองค์ประกอบลงแล้ว จึงมักเหลือเพียงเส้นตรง เส้นโค้ง และระนาบที่ชัดเจนแบบรูปทรงเรขาคณิต หรือเป็นรูปทรงธรรมชาติที่ลดทอนและจัดระเบียบแล้ว โดยดีเทลการออกแบบที่ชวยให้รูปทรงและเส้นสายมีความชัดเจน คือ การจบขอบมุมของพื้น ผนัง หลังคา และฝ้าเพดาน ให้เรียบตรงหมดจรด รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติติดตั้งให้โค้งหรือเรียบตรงได้อย่างสวยงาม มีรอยต่อน้อย มีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน หรือการเรียงวัสดุทำให้เกิดแพทเทิร์นซ้ำๆกันอย่างเรียบง่าย

แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณไกรพล – คุณอุรัสสา ชัยเนตร  
บ้านคุณณัฐ ปราชญากูล 
  • บ้านทรงเรขาคณิตที่ไม่มีชายคา ผนังภายนอกสวยๆมักเกิดคราบสกปรกจากน้ำฝนและมลภาวะได้ง่าย บ้านที่สร้างในเขตร้อนชื้นสามารถออกแบบป้องกันคราบเปื้อนได้หลายวิธี เช่น การทำบัวหยดน้ำ การทำท็อปยอดผนังให้ลาดเอียงเข้าด้านใน เพื่อป้องกันน้ำฝนที่ผสมกับฝุ่นไหลลงมาเป็นคราบ
  • ความเรียบง่ายของหลังคาทรงจั่ว เป็นทรงหลังคาที่เหมาะกับภูมิอากาศของไทย ซึ่งสามารถลดทอนหลังคาให้ดูเรียบง่ายขึ้นได้ ด้วยการซ่อนวัสดุหลังคาให้อยู่ภายในกรอบของผนังเรียบๆ เช่น ทำผนังด้านหน้าจั่วให้ปิดบังวัสดุมุงหลังคา การปิดปลายชายคาด้วยการทำรางน้ำและทำขอบผนังให้บังรางน้ำ
  • วัสดุที่เหมาะกับผนังเรียบๆ ซึ่งช่วยให้อาคารดูเรียบง่าย สวยงาม มีพื้นผิวต่อเนื่องกันเป็นรูปทรงที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดรอยต่อ และลดความไม่เรียบของพื้นผิวงานฉาบที่ไม่เรียบร้อย เช่น การทำผิวปูนฉาบบาง (สกิมโค้ต) สีพ่นเท็กซ์เจอร์ หินพ่นเท็กเจอร์
แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณไกรพล – คุณอุรัสสา ชัยเนตร  
แต่งบ้านมินิมัล
บ้านคุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และคุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์

3.เน้นฟังก์ชันมากกว่าการตกแต่ง

ฟังก์ชันเกิดจากความต้องการของผู้ใช้สอย แล้วออกแบบให้เป็นแปลนและการใช้งานส่วนต่างๆของบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความมินิมัลเลยก็ว่าได้ ใครที่คิดจะสร้างและตกแต่งบ้านสไตล์นี้ จึงควรรู้ความต้องการของตัวเองที่ชัดเจนในทุกด้าน เพื่อให้ออกแบบฟังก์ชันได้อย่างตรงไปตรงมา เรียบง่าย และมีความสวยงามในตัวเองโดยไม่ต้องตกแต่ง อีกทั้งผู้ใช้สอยต้องยอมรับหรือปรับวิธีการใช้งานซึ่งอาจสะดวกน้อยกว่า เพื่อคงความเรียบง่ายสวยงามไว้ หรือในทางกลับกัน คือความต้องการของผู้ใช้สอยจึงต้องเรียบง่ายเช่นกัน จึงจะสะท้อนความมินิมัลได้อย่างเห็นผล แต่งบ้านมินิมัล

  • ฟังก์ชันที่รวมไปกับโครงสร้าง การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของห้อง เป็นวิธีการลดการใช้ของตกแต่งและการใช้เฟอร์นิเจอร์ได้ดี ทำให้ห้องดูเรียบง่าย และยังใช้งานได้สะดวก เช่น การทำที่นั่งและตู้บิลท์อินให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผนังห้อง
  • ซ่อนดีเทล การออกแบบดีเทลการก่อสร้างและตกแต่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเน้นให้ใช้งานได้ดีแต่มีความเรียบง่าย เช่น การทำหน้าบานตู้ให้สูงถึงฝ้าเพดาน แล้วใช้มือจับตู้แบบซ่อน ซึ่งอาจจับไม่สะดวกเท่ามือจับแบบยื่น แต่มีความเรียบง่ายมากกว่า หรือใช้หน้าบานตู้แบบกดกระเด้งก็ไม่จำเป็นต้องติดมือจับ
บ้านคุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และคุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์

4.เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งน้อยชิ้น

หลายคนมีคำถามว่า หากแต่งบ้านสไตล์มินิมัลแล้ว เฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องมินิมัลด้วยไหม ซึ่งในการออกแบบสามารถใช้เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์มินิมัลให้เข้ากันทั้งหมดก็ได้ หรือจะผสมผสานเฟอร์นิเจอร์สไตล์อื่นด้วยก็ได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์สไตล์ Bauhaus, De Stijl (The Style) และโมเดิร์น ซึ่งล้วนมีแนวการออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ที่มีลวดลายหรือคิ้วบัวมากเกินไป

  • Bauhaus (บาวเฮาส์) เป็นชื่อโรงเรียนศิลปะหัวก้าวหน้าในเยอรมนี เปิดในช่วงปี 1919 – 1933 มีปรัชญาการออกแบบ “เพื่อคนหมู่มาก” จึงส่งผลต่อการออกแบบให้เรียบง่าย เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ เกิดเป็นความงามที่เรียกกันว่า Bauhaus Design และอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของ Modernist Design ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมถึงปัจจุบัน
  • De Stijl (The Style) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะชาวดัชต์ที่เกิดขึ้นในปี 1917 ประกอบด้วยกลุ่มศิลปินและสถาปนิก เพื่อเป็นการสร้างงานศิลปะแบบใหม่ที่เป็นนามธรรม ลดความซับซ้อน และลดการใช้สี โดยใช้แม่สี คือ สีเหลือง แดง และน้ำเงิน และใช้เส้นตั้งเส้นนอนสีดำพาดไปมา อย่างที่เราคุ้นตากับผลงานศิลปะของ Piet Mondrian
  • Modern เป็นการออกแบบที่ต่อยอดมาจากเฟอร์นิเจอร์ยุคก่อนอย่าง Bauhaus โดยใช้วัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่แทน เช่น ไม้อัดเคลือบ พลาสติก ใยแก้ว เหล็กกล้า และมีรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย
บ้านคุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และคุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์     

5.แสงธรรมชาติเผยความงามของสเปซที่เรียบง่าย

สเปซที่เรียบง่าย โล่งๆ มักขาดมิติที่มีชีวิตชีวา การทำช่องเปิดให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาภายในห้อง ช่วยเผยความงดงามของสเปซให้สัมพันธ์กับกาลเวลาของแสงแต่ละช่วงวัน การออกแบบรูปทรงและตำแหน่งช่องแสงจึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บ้านมินิมัลสวยงามยิ่งขึ้น โดยสามารถเปิดช่องแสงได้ทั้งจากการทำหลังคาสกายไลต์ และช่องเปิดด้านข้าง

  • หลังคาสกายไลต์ เป็นการเปิดรับแสงทางตรง (Direct Light) แสงที่เข้ามาจึงมีความสว่างมาก และมีความร้อนเข้ามาด้วย จึงควรใช้ในตำแหน่งที่ไม่ได้ใช้งานประจำ เช่น โถงบันได ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว และใช้วัสดุมุงที่ป้องกันความร้อนผ่านเข้ามา เช่น กระจกฉนวน แผ่นอะคริลิกชนิดกันความร้อน
บ้านคุณธนัทเกียรติ จงเกรียงไกร และคุณกนกกาญจน์ เฮงอุดมทรัพย์      
บ้านคุณศัลยเวทย์ – คุณปิยะสุดา ประเสริฐวิทยาการ
  • ช่องเปิดด้านข้าง ได้แก่ ช่องหน้าต่าง ช่องแสง ผนังบล็อกแก้ว โดยแสงที่ผ่านเข้ามามีทั้งแสงทางตรง (Direct Light) และแสงตกกระทบ (Indirect Light) ตำแหน่งของช่องเปิดมีผลทั้งการกำหนดมุมมองและลักษณะแสง เช่น
    • ช่องเปิดด้านล่างของผนัง จะสร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว และยังเห็นความเคลื่อนไหวภายในและภายนอกบ้านได้บ้าง
    • ช่องเปิดกลางผนัง คือหน้าต่างทั่วไปที่เชื่อมต่อมุมมองทั้งภายนอกและภายใน
    • ช่องเปิดด้านบนของผนัง ใช้สำหรับเปิดรับแสงธรรชาติ มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษา การเช็ดกระจก การติดม่าน
บ้านคุณแหวนและคุณแป็ง  

6.แปลนเปิดโล่ง ไม่ซับซ้อน 

บ้านมินิมัลไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแปลนแบบเปิดโล่งเสมอไป อาจวางแปลนเป็นห้องๆตามปกติก็ได้ แต่ที่มักจะวางแปลนเปิดโล่ง เพราะช่วยให้พื้นที่ใช้งานเชื่อมต่อกัน ทำให้รับรู้ถึงสเปสที่โล่งกว้าง และเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆได้อย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา เมื่อลดการทำผนังกั้นห้อง จึงใช้การออกแบบวิธีอื่นในการสร้างขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น การใช้เฟอร์นิเจอร์ลอตัววางกำหนดของเขต การเปลี่ยนระดับพื้นหรือฝ้าเพดานให้สูงหรือต่ำลง การใช้วัสดุปูพื้นผนังให้ต่างกัน และการทำประตูหรือผนังกั้นห้องแบบซ่อน ให้เลื่อนเปิดปิดได้ตามการใช้งาน

บ้านครอบครัวอนันต์รัตนสุข

7.ดีไซน์ที่เก็บของ เก็บซ่อนความรก

บ้านจะเรียบง่ายสะอาดตาได้ ต้องมีที่เก็บของใช้จิปาถะที่สอดคล้องกับการใช้งาน ถ้ารักจะมินิมัลก็ควรออกแบบซ่อนที่เก็บของไว้ตั้งแต่เริ่มต้น หรือหากเลยขั้นตอนนั้นไปแล้ว สามารถใช้วิธีแบ่งโซนเก็บของให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ก็ช่วยซ่อนความรกให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ มาดูไอเดียการซ่อนที่เก็บของกัน

ออกแบบที่เก็บของใช้สำหรับไหว้พระให้กลายเป็นแท่นวางไปในตัว พร้อมเว้นร่องให้เป็นเส้นรอยต่ออย่างจงใจ
บ้านคุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต
แต่งบ้านมินิมัล
ทำหน้าบานตู้บิลท์อินปิดส่วนเตาไฟและเครื่งดูดควัน เมื่อไม่ใช้งานก็สามารถปิดให้ดูเรียบร้อย
บ้านคุณกฤษณ์ สินธวานนท์ – คุณภัทร์วลัย ชาญเชี่ยว

8.มีวินัยในการจัดเก็บ

นอกจากจะออกแบบบ้านให้เรียบง่ายสะอาดตาแล้ว บ้านจะยังคงความมินิมัลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน ซึ่งสไตล์นี้เหมาะกับคนที่มีนิสัยรักความเป็นระเบียบ ชอบจัดเก็บสิ่งของให้เข้าที่ และรู้จักทิ้งของใช้ที่ไม่จำเป็น ลองมาตอบแบบสอบถามเบื้องต้นกัน หากตอบว่า “ไม่ใช่” ทุกข้อ แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณจะเหมาะกับสไตล์นี้

9.กำหนด Mood & Tone ด้วยสีน้อยสี

เราคุ้นเคยกับบ้านมินิมัลสีขาว แต่จริงๆแล้วสามารถเติมสีสันเพื่อสร้าง Mood & Tone บ้านให้ดูอบอุ่น เป็นธรรมชาติ หรือมีชีวิตชีวาได้ โดยอาศัยการคุมโทนสีให้เข้ากัน และเลือกใช้สีน้อยสีเพียง 2-3 สี ด้วยสัดส่วนสี 60 : 30 : 10 คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้สีหลัก 60 เปอร์เซ็นต์ สร้างน้ำหนักให้จุดสนใจด้วยสีรอง 30 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มไฮไลต์ด้วยสีของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถใช้เป็นสีเดียวกัน แต่มีน้ำหนักสีต่างกัน ก็จะทำให้ดูสบายตา หรือใช้คนละสีในโทนใกล้เคียงกันก็ได้ นอกจากสีขาวล้วนแล้ว เรามี 3 ชุดสีแนะนำที่มีเบสสีขาว ครีม เทา ให้เลือกไปแต่งห้องกันได้เลย

แต่งบ้านมินิมัล
  • อบอุ่นละมุน สร้างความรู้สึกเรียบง่าย แฝงความอบอุ่นด้วยโทนสีครีมอ่อนเป็นสีหลัก(1) สร้างน้ำหนักให้บางมุมด้วยสีรอง (2หรือ3) ที่เป็นโทนสีเดียวกัน หรือหากต้องการความเรียบนิ่งก็สามารถใช้สีหลักและสีรองเป็นสีเดียวกันได้ แล้วเติมสีไฮไลต์ (4หรือ5) เป็นสีของเฟอร์นิเจอร์ หมอน ของตกแต่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
  • สงบผ่อนคลาย ใช้สีหลักเป็นสีเทาอ่อน (1) ที่ให้ความรู้สึกสงบเป็นกลางและสามารถเข้าได้กับทุกสี เติมด้วยสีรองอย่างสีวัสดุปูพื้นห้องเป็นโทนสีเทาที่เข้มขึ้น (2หรือ3) แล้วตกแต่งด้วยรูปภาพ ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ด้วยสีไฮไลต์เป็นสีโทนอ่อน อย่างสีครีมอ่อนหรือสีเขียวอ่อน (4หรือ5)
  • เข้มเท่เรียบนิ่ง การใช้สีเทาเข้มหรือสีดำเป็นสีหลัก (1) ให้ความรู้สึกทั้งนิ่งเงียบ เรียบง่ายแบบลุ่มลึก ซึ่งทำได้ทั้งการทาสี การใช้วัสดุสีเข้ม แผ่นเหล็ก ไม้เผาไฟ (YAKISUGI) เบรกด้วยสีรองโทยน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง (2หรือ3) ซึ่งอาจเป็นสีของวัสดุอย่าง เฟอร์นิเจอร์หนัง ท็อปหิน และเพิ่มไฮไลต์ด้วยโทนสีอิฐ(4หรือ5)
แต่งบ้านมินิมัล
บ้านครอบครัวอนันต์รัตนสุข

10.ใช้วัสดุเรียบง่าย

สไตล์มินิมัลเป็นสไตล์การตกแต่งบ้านที่เน้นความเรียบง่าย ใช้เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น ใช้วัสดุไม่กี่ชนิดมาตกแต่ง แต่ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์มากกับตัวบ้าน วัสดุที่นำมาใช้จะเป็นวัสดุที่มีรูปทรงเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมาก เช่น เหล็ก ไม้ธรรมชาติ หินอ่อน หรือกระจก ใช้สีพื้นฐาน เช่น สีขาว สีเทา สีดำ หรือแทรกสีสันเข้ามาเล็กน้อยเพื่อความโดดเด่น เนื่องจากการออกแบบบ้านสไตล์มินิมัลที่ใช้วัสดุเพียงไม่กี่ประเภทมาตกแต่ง จึงทำให้วัสดุแต่ละชิ้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้าน และยังทำหน้าที่สื่อสารอารมณ์ภาพรวมของบ้านหลังนั้นๆอีกด้วย การเลือกวัสดุมาแต่งบ้านในสไตล์มินิมัลจึงเป็นจุดที่สำคัญมากจุดหนึ่งในขั้นตอนการออกแบบบ้านมาอัปเดตวัสดุแต่งบ้านสไตล์มินิมัลที่น่าสนใจ โดยมี 3 ตัวอย่างที่นำมาปรับให้เข้ากับบ้านของคุณ

แต่งบ้านมินิมัล
  • วัสดุมินิมัลโทนสีขาว สำหรับการเลือกใช้วัสดุออกแบบบ้านสไตล์มินิมัลโทนสีขาวมักเน้นความเรียบง่าย สะอาด และมีความสงบ สีขาวช่วยเพิ่มความโปร่งสว่างให้ห้องเพราะสะท้อนแสงได้ดี นิยมใช้แต่งบ้านที่ต้องการให้ออกมาดูเรียบ เป็นระเบียบ เน้นโทนสว่าง ได้ลุคของบ้านที่ดูดีโดยใช้วัสดุไม่เยอะ
แต่งบ้านมินิมัล
  • วัสดุมินิมัลโทนสีธรรมชาติ เป็นวัสดุแต่งบ้านที่ยังคงเน้นความเรียบง่ายตามสไตล์มินิมัล แต่เพิ่มความเป็นธรรมชาติของสีและลักษณะของตัววัสดุเข้ามาเพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นให้บ้าน วัสดุที่นิยมใช้มักเป็นไม้ธรรมชาติ หินธรรมชาติ หินอ่อน หินทราย หรือกระเบื้องที่มีลวดลายเหมือนหิน วัสดุเหล่านี้ช่วยสร้างความสมดุลให้บ้านมีความสงบ น่าอยู่ และน่าพักผ่อนมากยิ่งขึ้น
  • วัสดุมินิมัลที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เป็นการใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสขรุขระในโทนสีธรรมชาติเข้ามาตกแต่ง ให้ได้บรรยากาศความเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยสามารถจับคู่ใช้วัสดุพื้นผิวหยาบกับผิวเรียบ จะทำให้เกิดความแตกต่างกันของพื้นที่ใช้งาน ทำให้บ้านมีมิติน่าสนใจมากขึ้น ใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน ตัวอย่างวัสดุพื้นผิวหยาบที่นิยมใช้ เช่น สีทาผนังแบบมีเท็กซ์เจอร์ กระเบื้องลายหิน ไปจนถึงผ้าม่านลินินผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ การเลือกใช้วัสดุประเภทนี้จะช่วยเพิ่มอารมณ์ผ่อนคลายให้บ้านและเป็นกันเองมากขึ้น

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์, Natthawat Klaysuban
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน, room, ภาพประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


รวม แบบบ้านมินิมัล สวย เรียบ สะอาดตา

การจัดสวนมินิมัล สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชอบความเรียบง่าย เนี้ยบ และดูดี

ติดตามบ้านและสวน