แต่งบ้านตามจิตวิทยาสี สร้างสุขภาวะที่ดี

ใครๆก็ทราบว่าสีสันมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนเรา อีกทั้งสีสันยังมีผลกับสุขภาพ และพัฒนาการของเด็กด้วย จิตวิทยาสี

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงได้ศึกษาการใช้สีที่ส่งผลต่อความรู้สึก พฤติกรรม ระบบการทำงานของร่างกาย ตลอดจนการนำมาใช้กับห้องต่างๆ เพื่อช่วยในการเลือกใช้สีที่สร้างสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะกับพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัย เป็นอีกวิธีง่ายๆที่ทำให้เรามีสุขภาพกายดีและมีความสุขขึ้น จิตวิทยาสี

มนุษย์รู้สึกเมื่อเกิดการรับรู้

ความรู้สึกของมนุษย์จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า (แสง เสียง กลิ่น รส อุณหภูมิหรือการสัมผัส) และจากกฎของเฟชเนอร์ (Fechner’s law) พบว่า ระดับความเข้มของสิ่งเร้าภายนอกมีผลต่อระดับของการรับรู้ภายในของมนุษย์ โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ มีความสามารถในการรับรู้แตกต่างกัน ดังนี้

การออกแบบบ้านเพื่อสุขภาพจิตที่ดี จึงสามารถสร้างการกระตุ้นได้ทั้งทางตา หู ผิวหนัง และจมูก ให้มีอิทธิพลต่อผู้อยู่อาศัยได้ตามลำดับ และจะเห็นว่าการรับรู้ทางตา มีสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย (ส่วนลิ้น เป็นประสาทรับรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ)

สีมีผลต่อความรู้สึกได้อย่างไร

สิ่งที่กระตุ้นการมองเห็นทางตาก็คือแสง โดยตาคนสามารถมองเห็นคลื่นแสงเป็นสีต่างๆ 7 สี ซึ่งมีหลายงานวิจัยที่น่าสนใจแสดงให้เห็นว่า สีต่างๆ มีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบประสาท เช่น

  • Faber, B.,1950  พบว่า แสงและสีมีอิทธิพลทางชีววิทยาต่อพืช สัตว์และมนุษย์ โดยสีที่สว่างและอบอุ่นจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เพิ่มความดันโลหิต ชีพจร และอุณหภูมิร่างกาย และยังวิจัยพบว่า สีฟ้าเหมาะเป็นสีห้องนอน โดยเฉพาะห้องคนนอนไม่หลับ เพราะให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น นอกจากนั้นการใช้ยาสีฟ้า (ยาหลอก) เป็นยานอนหลับยังได้ผลดีอีกด้วย
  • Chute, 1979  พบว่า สีเป็นส่วนประกอบในการเรียนรู้ของมนุษย์ การใช้เวลาในการดูภาพให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนและความยากง่ายของภาพ
  • Kow, 2010  พบว่า ห้องสีชมพู ทำให้อารมณ์สงบลง การเต้นของหัวใจช้าลง ความเครียดและความก้าวร้าวลดลง เมื่ออยู่ในห้องนาน 15 นาที และจะสงบอย่างต่อเนื่องไปอีก 30 นาที

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลโดยกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับ “สีบำบัด” ของ นายแพทย์สมเกียรติ ศรไพศาล ที่เขียนไว้ในปี 2552 สรุปผลของสีต่างๆ ต่อระบบการทำงานของร่างกาย ดังนี้

  • สีเหลือง  เยียวยาอาการท้อแท้ ระบบการย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
  • สีส้ม      บรรเทาอาการซึมเศร้า รักษาหอบหืด
  • สีแดง     เพิ่มพลังแห่งชีวิต สร้างเม็ดเลือดแดง
  • สีม่วง     สร้างแรงบันดาลใจ ปรับสมดุลในร่างกาย
  • สีเขียว    คลายเครียด ลดความดันโลหิต
  • สีน้ำเงิน บรรเทาความดันสูง
  • สีฟ้า      บรรเทาโรคปอด

และยังพบว่าสีช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยทางกายและจิตใจได้อีกด้วย เช่น

  • ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ควรใช้สีโทนอ่อนให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • เด็กออทิสติกที่ลุกลี้ลุกลน เลี่ยงการใช้สีโทนร้อนในห้อง
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีอาการตัวเหลือง จะมีการใช้แสงไฟสีฟ้ามาอาบเพื่อช่วยรักษา
  • คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หลีกเลี่ยงการใช้สีแดงในสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและที่ทำงาน  
  • คนที่มักปวดศีรษะเป็นประจำ ให้ใช้สีเหลือง
  • คนที่มีอาการปวดศีรษะ หรือสายตาพร่ามัว ให้สีเขียว
  • ศัลยแพทย์ ที่ต้องการสมาธิไม่วอกแวก จะใส่ชุดและทาห้องผ่าตัดด้วยสีเขียว 

(ที่มา: ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม. ทัศนศิลป์เพื่อการศึกษาพิเศษ (Visual Art for Special Education). 2550.)

จากผลการวิจัยจะเห็นว่า สีสันสามารถไปกระตุ้นระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ และส่วนนี้เองหากเราเข้าใจจะสามารถเลือกสีสันต่างๆ เพื่อช่วยในการกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และกระตุ้นความรู้สึกดีๆ จากการทำงานส่วนลึกของสมองได้อีกด้วย โดยสามารถจับคู่สีให้เหมาะกับกิจกรรมในห้องต่างๆ ดังนี้

ผนังสีชมพูทำให้อารมณ์สงบ
  • สีส้ม – ห้องทานอาหาร มีความสัมพันธ์กับความอยากอาหาร จึงเป็นที่นิยมใช้ในการตกแต่งร้านอาหาร แสดงความสดใสร่าเริง หรือเรียกร้องความสนใจ จึงนิยมใช้ในการตกแต่งห้องต่างๆ ภายในบ้าน
  • สีม่วง – ห้องพระ ห้องศิลปะ ทำให้เกิดสมาธิ ดึงจิตเข้าสู่ภายใน ยกระดับจิตใจ/จิตวิญญาณ ความสงบ ความเชื่อ ผ่อนคลาย เกิดความคิดสร้างสรรค์
  • สีชมพู – ห้องทำงาน อ่านหนังสือ ทำให้อารมณ์สงบลง การเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจช้าลง ลดความเครียด (หากสำหรับที่ทำงาน สีชมพูเหมาะอย่างยิ่งในการเป็นห้องประชุม ทำให้กระตือรือร้น ลดความก้าวร้าวลง)
  • สีฟ้า – ห้องนอน ห้องทำงาน ช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้าและช่วยกล่อมจิตใจให้เบิกบานทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้รู้สึกเย็นสบาย
  • สีเขียว – ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ช่วยให้ระบบประสาท ประสาทตา กล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย การหายใจจะช้าลง อุณหภูมิของผิวหนังและอัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง รู้สึกสงบ ร่มเย็น มีชีวิตชีวา
ห้องทานอาหาร ผนังสีส้มเหลือง กระตุ้นความอยากอาหาร
ห้องนอนสีฟ้า หรือสีฟ้าส่วนต่างๆ จะทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการเครียด นอนไม่หลับ

สีส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม

นอกจากสีจะมีผลต่อการตอบสนองของระบบร่างกายแล้ว การใช้สีต่างๆ จะส่งผลต่อการรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรม ซึ่งอาจพัฒนาเป็นความชอบส่วนตัว และกลายเป็นนิสัยได้ การใช้สีตกแต่งห้องไม่จำเป็นต้องใช้สีนั้นๆทั้งห้อง แต่ใช้เพียง 20% ของสัดส่วนห้องทั้งหมด เช่น สีของเฟอร์นิเจอร์ หมอนอิง ผ้าม่าน ประสาทสัมผัสของเราก็จะรับรู้ได้แล้ว

การเลือกสีผ้าม่านตกแต่งห้อง หรือเก้าอี้ ส่งผลต่อความรู้สึกจากอิทธิพลจากสี
การเลือกหมอนสีต่างๆ จะเกิดการรับรู้และส่งผลต่อความรู้สึก
การเลือกพรมสีต่างๆ ส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึก

ตารางสรุปสีที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ และส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรม

สีอารมณ์ระบบประสาทนิสัย
แดงสีร้อน ดูมั่งคั่ง มีอำนาจ  ตื่นเต้นรุนแรง ตื่นเต้น แข็งแกร่งมีพลัง ร้อนระอุ เห็นชัดเจน เป็นสีที่ทำให้เมื่อยตาได้ง่าย และกระตุ้นประสาทได้มากที่สุดรุนแรง ตื่นเต้น แข็งแกร่งมีพลัง
เหลืองเด่น เจิดจ้า  ทำให้เครียดกระตุ้นสายตา ไวต่อการมองเห็นของมนุษย์ ช่วยทำให้ระบบประสาทเข้มแข็งและปลูกฝังการมองโลกในแง่ดีคนขี้สงสัยที่พูดคุยกับคนอื่นๆ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยง่าย
ส้มเร้าใจ แสดงถึงการสื่อสาร เป็นสีของกิจกรรม เร่งเร้า แสบตา กระวนกระวายโดดเด่นอยู่แนวหน้า 
น้ำเงินสีเย็น ดูสงบ เยือกเย็น ลึกลับสบายตา ช่วยขจัดความเครียดคนสมถะ ถ่อมตัว และมีแนวโน้มที่จะโศกเศร้า ขาดความเชื่อมั่น 
เขียวพักสายตา  สงบ ไม่ค่อยมีอำนาจ ผ่อนคลาย แสดงถึงชีวิตใหม่สงบร่มเย็น มีชีวิตชีวา ช่วยให้ประสาทตา กล้ามเนื้อตาผ่อนคลายจากความตึงเครียดคนที่พยายามแสดงความสามารถ สำหรับคนที่ไม่ชอบอาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นคนกลัวปัญหาในชีวิตประจำวัน
ม่วงสง่างาม  เยือกเย็น ลึกลับชักจูงให้เด็กๆ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ได้เจ้าอารมณ์ และอ่อนไหว 
น้ำตาลแห้งแล้งหนักแน่นมั่นคง ถ้ามากไปทำให้รู้สึกแห้งแล้งหงอยเหงาความกระวนกระวายและความไม่พอใจ 
ดำความกลัว ความตาย ขาดพลังงานมืดลึกลับ เศร้าหมอง น่าเกรงกลัว ความตายคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มองชีวิตอย่างหดหู่ และไม่สู้จะมีความสุข 
ขาวสะอาด สว่าง สงบ บริสุทธิ สุขภาพสะอาดตา บริสุทธิ์ แต่ถ้าใช้ปริมาณมากจะทำให้รู้สึกจืดชืด จำเจ และน่าเบื่อ สีในอุดมคติที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและข้อโต้แย้งใดๆ 
ฟ้าสะอาด สว่าง สดใสช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้าและช่วยกล่อมจิตใจให้เบิกบานทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้รู้สึกเย็นสบาย ความอดทน 
เทาความเศร้าโศกความหนาวสะท้าน ความกลัว ความมืดสลัว ความทรุดโทรมและแก่ชรา ความใกล้ตาย ธรรมดา เรียบร้อย แก่ชรา สีของการประนีประนอม ชอบใช้เหตุผลและไม่ค่อยไว้ใจอะไรง่ายๆ

พัฒนาการทางด้านการมองเห็นของเด็ก

เมื่อสีสันมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และการทำงานของระบบร่างกาย รวมถึงโน้มนำการเกิดพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะกับวัยเด็กที่เริ่มต้นเรียนรู้ด้านพฤติกรรมและความรู้สึก ซึ่งเด็กสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ตั้งแต่เกิด แต่เป็นการมองเห็นในระยะใกล้ประมาณ 10 เซนติเมตร โดยเริ่มจากการมองเห็นเป็นสีขาว-ดำ แล้วค่อยๆพัฒนาตามแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • ทารก อายุ 1 – 2 เดือน สามารถมองเห็นได้ในระยะที่มากขึ้น ประมาณ 45 เซนติเมตรขึ้นไป จ้องสิ่งของต่างๆได้ค้างไว้ประมาณ 4 – 10 วินาที และจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหว
  • ทารก อายุ 3 – 5 เดือน จะสามารถมองเห็นในระยะที่ไกลขึ้น โฟกัสได้ในระยะเกือบ 1 เมตร สายตามีความไวต่อแสง และสามารถเห็นความแตกต่างของสีมากขึ้น มักจะมองที่ดวงตาของพ่อแม่ที่มีสีดำตัดกับสีขาวชัดเจน มองเส้นผม กับใบหน้า เป็นต้น
  • ทารก อายุ 6 – 8 เดือน สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น มองเห็นสีสันได้มากขึ้น มีพัฒนาการทางด้านสายตามากขึ้น
  • ทารก อายุ 9 – 12 เดือน เป็นช่วงที่สามารถเล่นกับสายตาของทารกได้ เช่น การจ๊ะเอ๋ หรือ ให้ทารกมองเห็นสีสันสดใส อย่าง โมบายสีๆ หรือสีสันของห้อง ฯลฯ
  • เด็ก อายุ 2 – 3 ปี จะมีพัฒนาการทางด้านการมองเห็นสมบูรณ์เหมือนกับวัยผู้ใหญ่

(ที่มา: https://th.theasianparent.com/when-can-baby-start-seeing)

หลังจากเด็กๆ มีสายตาที่สามารถมองเห็นได้เท่ากับวัยผู้ใหญ่แล้ว เขาจะอยู่ในช่วงวัยที่กำลังสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง แล้วปรับตัวเองให้มีพฤติกรรมที่เชื่อมโยงเข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ นักจิตวิทยาหลายคนมีความเห็นว่า สี กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกัน โดยมีการให้เด็กๆ อายุ 6 ปีขึ้นไป ที่สามารถแยกแยะอารมณ์ของตัวเองได้ โดยเด็กๆได้อิสระในการเลือกสีให้เข้ากับอารมณ์ของตนเอง ถ้าบอกให้เด็กเลือกสีที่เข้ากับอารมณ์จะพบว่า เด็กมักใช้สีสันสดใสกับอารมณ์ดี ใช้สีแดงกับอารมณ์โกรธ สีส้มกับความสนุกสนาน สีเทากับความเหงา เป็นต้น*

(ที่มา: บทความจิตวิทยาแห่งสี.  ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม. สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.)

บางครั้งมีการนำสีมาใช้กับจิตวิทยาการในแข่งขัน โดยให้นักกีฬาฝ่ายของเราอยู่ในห้องที่มีสีน้ำเงิน สร้างความรู้สึกเข้มแข็ง สงบนิ่ง และให้คู่แข่งอยู่ในห้องโทนสีชมพู ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อ่อนไหวง่ายมากขึ้น การเลือกใช้สีให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญในการส่งเสริม IQ, EQ, EF และพัฒนาการของเด็กๆ เช่นกัน

สีที่มีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก

เมื่อเด็กเติบโต และค่อยๆรับรู้สีสันต่างๆได้ดีขึ้นแล้ว จิตวิทยาสี จะมีผลต่อเด็ก ผ่านการใช้สีจากการเล่น การวาดรูป ระบายสี และเรายังสามารถนำสีที่ดีต่อพัฒนาการมาตกแต่งบ้าน เพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างมีความสุขทั้งกายและใจ พัฒนาการดีทั้งสมอง ร่างกาย และอารมณ์

วาสสิลีแคนดินสกี (Wassily Kandinsky) จิตรกรแนวแอบสแตร็กชาวรัสเซีย ได้กล่าวไว้ว่า สีมีอิทธิพลต่อการรับรู้และความรู้สึก พบว่า แสงทองของพระอาทิตย์ สีฟ้าครามของน้ำทะเล สามารถทำให้คนที่เห็นรู้สึกผ่อนคลาย สบาย เกิดความรู้สึกรู้สึกอบอุ่นและเป็นสุข หากเรานำมาใช้อย่างถูกต้อง จะช่วยในการบำบัดรักษาอาการทางกาย และทางจิตได้ด้วย รวมถึงเด็กในแต่ละช่วงอายุ เช่น

เด็กอายุ 2-5 ปี แม้ยังไม่รู้จักชื่อสี แต่ดูได้จากสีจากตัวการ์ตูน สีจากเครื่องแต่งกายของตัวละคร สภาพแวดล้อมที่่ปรากฏใช้สีอะไรในการเชื่อมโยงกับอารมณ์ในขณะดำเนินเรื่อง สีเขียวของใบไม้ สีเหลืองกับดอกดาวเรือง  หรือกล้วยหอม สีน้ำตาลกับกิ่งไม้ต้นไม้ สีแดงกับมะเขือเทศ

เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป เริ่มรู้จักสีและชื่อของสีแล้ว เหมาะกับการใช้เทคนิคสี ที่เรียกว่า “Color your Life” นักจิตวิทยาจะสอนให้เด็กแยกแยะอารมณ์ โดยให้พูดลักษณะอารมณ์ที่ดีด้วยการใช้สีตามที่เขาพอใจ และสีที่จะสื่อได้ว่าอารมณ์ไม่ดี โดยจะให้กระดาษและกล่องสีที่มีสีให้เลือกหลักๆ คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีส้ม สีดำ สีเขียว สีม่วง พบว่าเด็กๆ เลือกสีสดใสกับอารมณ์ดี โดยเลือก

  • สีแดงกับอารมณ์โกรธ
  • สีส้มกับความสนุกสนาน
  • สีเทากับความเหงา

เด็กโต (วัยรุ่น) สีที่ใช้ในการแต่งกาย แต่งหน้าทาปาก ทาเล็บ ล้วนมีอิทธิพลต่อความคิดและเป็นการวางเงื่อนไขในการดำเนินชีวิต

ดังนั้นสามารถนำสีมาใช้เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก และช่วยให้ลดความเคร่งเครียดหรือลดความรุนแรง อารมณ์สงบ โดยห้องที่ต้องการใช้ความสงบ ควรใช้สีฟ้า สีเหลือง หรือสีเขียว ส่วนห้องที่ต้องการให้เด็กกระปรี้กระเปร่า ควรใช้สีแดง หรือสีส้ม นอกจากความรู้เรื่องสีที่มีผลต่อการรับรู้ แยกแยะอารมณ์ที่ต่างกันแล้ว

การใช้สีในห้องสำหรับห้องเรียนเด็ก เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

นอกจากสีจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังมีการวิจัยบอกว่า ในห้องเรียนที่ออกแบบมาอย่างดี จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ของเด็กได้ถึง 16 %* เพราะสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กได้ดี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนห้องพักอาศัยที่บ้านให้มีสภาพแวดล้อมเป็นห้องเรียนขนาดย่อม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้นั่นเอง โดยแนะนำการเลือกใช้สีและคู่สีดังนี้

(*ที่มา :  LSN Education)

สีเหลือง-กระตุ้นการทำงานของสมอง 

เป็นสีที่ให้ความรู้สึกสดใส เบิกบานใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้มีสมาธิ ส่งเสริมการจดจำ สีเหลืองจะทำให้เด็กมีพลังงานและกระตือรือร้น ในทางกลับกันถ้าใช้สีเหลืองมากเกินไป อาจจะทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย ถ้าเด็กร้องไห้อยู่ สีเหลืองอาจจะส่งผลให้เด็กร้องไห้งอแงมากยิ่งขึ้น

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : ไม่ควรอยู่ในห้องนอน เพราะจะทำให้เด็กนอนหลับยาก เหมาะกับมุมนั่งเล่น และมุมที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้
  • สีที่เหมาะกับสีเหลือง : ควรใช้สีโทนเย็น เช่น สีฟ้า สีเขียว เข้ามาตกแต่งร่วมกับสีเหลือง เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ร่วมกับความรู้สึกกระตือรือร้น

สีส้ม-ส่งเสริม EQ ด้านการเข้าสังคม

เป็นสีที่ให้ความรู้สึกสดใส ร่าเริง ตื่นเต้น ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี มีอิทธิพลในการกระตุ้นความมั่นใจ ส่งเสริม EQ ด้านการเข้าสังคมได้ เด็กที่อยู่ในห้องสีส้มจะมีโอกาสเข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนๆ หรือพูดคุยมากขึ้น แต่การใช้สีส้มมากเกินไปจะทำให้รู้สึกตื่นเต้น ไม่มีสมาธิได้

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีส้มเป็นสีโทนร้อนสดใส จึงไม่เหมาะกับการอยู่ในห้องนอน เพราะจะทำให้หลับยาก เหมาะกับมุมนั่งเล่น เสริมการเรียนรู้เหมือนกับสีเหลือง
  • สีที่เหมาะกับสีส้ม : สีส้มมีความสดใสมาก จึงควรใช้คู่กับสีโทนเย็น สีอ่อน เช่น สีเขียวพาสเทล สีครีม สีม่วงอ่อน เพื่อลดการถูกกระตุ้นความรู้สึกมากเกินไป

สีแดง-สร้างความกระตือรือร้น

ในความเป็นจริงแล้วสีแดงสามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้นได้ แต่ก็เป็นสีที่สามารถกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น ถ้าใช้โทนสีแดงมากเกินไปจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และก้าวร้าวขึ้น

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : เหมาะกับมุมนั่งเล่น หรือสนามเด็กเล่น ทำให้มีความกระฉับกระเฉง ไม่ควรใช้ในห้องนอนเพราะจะทำให้นอนหลับยาก และรู้สึกไม่ผ่อนคลาย

สีชมพู-กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

มีผลในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เป็นสีแห่งความรัก ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ห่วงใย ไม่ทำให้ก้าวร้าว จึงมักนิยมใช้ตกแต่งห้องของเด็กผู้หญิง แต่จริงๆแล้วเราสามารถนำไปใช้ในห้องของเด็กผู้ชายก็ได้เช่นกัน จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ ช่วยเพิ่มความมั่นใจของเขาได้ อย่างไรก็ตามสีชมพูก็ไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กมีความรู้สึกอ่อนแอ หวาดกลัวง่าย

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : สามารถใช้ในห้องนอนได้ เพราะเป็นสีที่ทำให้รู้สึกสงบ อ่อนโยน อารมณ์เย็น
  • สีที่เหมาะกับสีชมพู :  สีชมพูควรใช้ร่วมกับสีอื่นได้หลากหลาย เช่น สีขาว สีฟ้า สีครีม สีม่วง สีเทา เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอ และหวาดกลัว

 สีฟ้า, สีน้ำเงิน-ลดความก้าวร้าว

เป็นสีที่ให้ความรู้สึกตรงข้ามกับสีแดง ให้ความรู้สึก สงบ ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลได้ ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงได้ เหมาะกับการนำมาใช้ลดความก้าวร้าวในเด็กที่โมโหง่าย สำหรับเด็กเล็กควรเลือกใช้สีฟ้าอ่อนที่ดูสดใส ส่วนสีน้ำเงินทำให้รู้สึกเข้มแข็ง สงบนิ่ง แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้าได้

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ ถ้าอยู่ในห้องนอนก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบ
  • สีที่เหมาะกับสีฟ้า : สีฟ้าควรใช้กับสีที่สดใส อย่างสีเหลือง สีส้ม หรือสี Earth tone เพื่อลดความรู้สึกซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้

สีเขียว-เพิ่มการเรียนรู้ในด้านการอ่านและการเขียน

เป็นสีที่มองแล้วสบายตา ดูแล้วสดชื่น ช่วยลดความเครียด ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ไม่ควรใช้สีเขียวที่เข้มเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกหม่นหมอง น่ากลัว สีเขียวสามารถช่วยเพิ่มการเรียนรู้ในด้านการอ่านและการเขียนได้ ทำให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : สามารถใช้ในห้องนอนได้ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย หรือใช้ในพื้นที่การเรียนรู้เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนได้
  • สีที่เหมาะกับสีเขียว : สีเขียวสามารถใช้เดี่ยวๆได้ แต่ก็ควรมีสีขาว หรือสีโทนสดใส อย่างสีเหลือง สีส้ม สีฟ้า เข้ามาเสริมเพื่อให้ดูสดใส และกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสายตาได้

สีครีม, สีเบจ, สีน้ำตาล-กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย 

เป็นสี Earth tone ที่ใช้กันทั่วไป ดูเรียบง่าย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่น ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย แต่ไม่ควรใช้สีโทนเข้ม เนื่องจากจะทำให้รู้สึกอึดอัด การใช้สีโทนนี้อย่างเดียวอาจจะทำให้รู้สึกไม่ร่าเริง จึงควรใช้ร่วมกับสีอื่นๆ

  • ตำแหน่งที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ เช่น ห้องนอน ควรใช้สีครีม หรือสีเบจอ่อนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย หรือใช้กับมุมนั่งเล่นที่ให้ความรู้สึกกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
  • สีที่เหมาะกับสีครีม, สีเบจ, สีน้ำตาล : ควรใช้กับสีโทนอ่อน สดใสอย่างสีส้ม สีฟ้า สีชมพู สีเหลือง ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และทำให้ดูสดใสมากขึ้น

จากความรู้เรื่องจิตวิทยาสีที่มีผลต่อการรับรู้ ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ลองนำมาประยุกต์ใช้ตามอาการของกลุ่มคนที่อยู่ในบ้าน  ซึ่งการใช้สีให้เหมาะสมก็อาจจะทำให้เรามีสุขภาพกายดีขึ้น และรู้สึกมีความสุขมากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน

ติดตาม FB : riscwellbeing


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์


การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย

ติดตามบ้านและสวน