การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

สุขภาวะในการอยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น หลังทุกคนเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 และสภาวะโลกร้อน บ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แล้วเราจะปรับบ้านเดิมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้อย่างไร

คอลัมน์ Home Expert จึงได้พูดคุยกับ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ มาดูวิธีปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี และการทำบ้านให้อยู่เย็น เป็นสุขกัน

สุขภาวะที่ดี

การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี

บ้านที่มี สุขภาวะที่ดี ควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต หรือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ดี รวมถึงไม่เป็นก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) โดย ดร. สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ ได้ให้ข้อมูลที่รวบรวมจากการศึกษาและวิจัยของ RISC ด้านสุขภาวะในการอยู่อาศัย และนำเกณฑ์ WELL Building Standard ที่สำนักงาน RISC ได้รับรองมาตรฐาน WELL Version 1 แห่งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเภทโครงการ New & Existing Interiors ในระดับ “Gold” เป็นความรู้จากการทำจริง แล้วสร้างเป็นแนวทางในการปรับบ้านเดิมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น

สุขภาวะที่ดี

รู้จัก WELL Building Standard แนวทางการออกแบบอาคารเพื่อสุขภาวะที่ดี

มีมาตรฐานระดับสากลที่เน้นการออกแบบส่งเสริมสุขภาพของคนที่อยู่ในอาคาร คือ มาตรฐาน WELL Building Standard จาก International WELL Building Institute (IWBI) สหรัฐอเมริกา ใน Version 2 มีรายละเอียดแบบย่อทั้ง 10 ด้าน ดังนี้

  1. Air-อากาศ: พัฒนาพื้นที่ให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีจากมลภาวะภายนอกและภายในอาคาร และติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์
  2. Water-น้ำ: ส่งเสริมให้ผู้ใช้อาคารเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค และตรวจวัดคุณภาพน้ำเป็นประจำ
  3. Nourishment-โภชนาการ: ส่งเสริมให้ผู้ใช้อาคารเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ในระยะยาว
  4. Light-แสงสว่าง: คุณภาพแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ภายในอาคารที่เหมาะสมต่อการใช้งาน สัมพันธ์กับระบบการทำงานของร่างกาย
  5. Movement-การเคลื่อนไหว: ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวัน ลดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม
  6. Thermal Comfort-สภาวะสบาย: ระบบภายในอาคารที่ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาวะอยู่สบายของผู้อยู่อาศัย ส่งผลต่อประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้อาคาร
  7. Sound-เสียง: ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาวะทางเสียงที่เหมาะสมกับการใช้งานและกิจกรรมที่แตกต่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะทางเสียงรบกวนผู้ใช้อาคาร
  8. Material-วัสดุอาคาร: คัดเลือกเฟอร์นิเจอร์และวัสดุประกอบอาคารที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีและไม่ปล่อยแก๊สอันตราย
  9. Mind-จิตใจ: ออกแบบลักษณะกายภาพของอาคารที่เอื้อต่อการพักผ่อนและฟื้นฟูจิตใจ การนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
  10. Community-ชุมชน: สร้างการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ทั้งในแง่ผู้ใช้งานภายในโครงการที่หลากหลายประเภท และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างอาคารกับชุมชนโดยรอบ

    8 วิธีปรับบ้านให้มีสุขภาวะดีขึ้น

มาดูว่าเราสามารถประยุกต์ความรู้จากเกณฑ์ WELL Building Standard มาปรับใช้ในบ้านและชีวิตประจำวันให้มี สุขภาวะที่ดี ได้อย่างไรบ้าง

สุขภาวะที่ดี

1.เปิดบ้านระบายอากาศ ลดอันตรายแฝงจากเฟอร์นิเจอร์และวัสดุ

ในแต่ละวันเราใช้เวลาอยู่ในอาคารไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงานกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งช่วง WFH ยิ่งทำให้ต้องอยู่ภายในบ้านหรืออาคารมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านเราอาจกำลังทำร้ายสุขภาพของเราอยู่แบบเงียบๆ เช่น

  • หินธรรมชาติมีสารกัมมันตรังสี หินธรรมชาติที่เราใช้มาปูพื้น กรุผนัง เคาน์เตอร์ครัว หรือส่วนประกอบการตกแต่งบ้าน ที่เรามักเลือกใช้หินอ่อนหรือหินแกรนิตนั้น อาจมีสารกัมมันตรังสีอย่าง “เรดอน” ปนอยู่ในตัววัสดุ (ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดและที่มาของวัสดุนั้นๆ) เรดอนเป็นสารกัมมันตรังสี ที่ปราศจากสีและกลิ่น เป็นแก๊สเฉื่อย โดยทั่วไปแล้วเรดอนที่มีอยู่ในดินปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จะแพร่สู่บรรยากาศตลอดเวลา โดยแหล่งกำเนิดของเรดอนในบรรยากาศหรือในบ้านมีที่มาหลักๆ ได้แก่ พื้นดินรอบบ้าน บ่อน้ำ อากาศภายนอกอาคาร วัสดุก่อสร้าง น้ำประปา เป็นต้น หากอาศัยร่วมกับวัสดุก่อสร้างที่มีแหล่งเรดอนสูงเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลต่อการป่วยเป็นมะเร็งปอด นับเป็นอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่
  • สารระเหยจากสีและเฟอร์นิเจอร์ ภายในบ้านเรามักมีสารระเหยต่างๆ ที่มาจากเฟอร์นิเจอร์ เมื่อสูดดมเข้าไปจะเกิดการสะสมภายในร่างกาย และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท รวมทั้งฮอร์โมนและการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น สีทาบ้าน สามารถปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัดก็มักมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่มาจากกาวยึดชิ้นไม้ให้ติดกัน หากสะสมในร่างกายมากๆ จะกลายเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินหายใจและเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ควรเลือกใช้วัสดุที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายต่ำ (Low-VOCs) โดยค่าของ VOCs มี 2 ระดับที่แนะนำ คือ Low VOCs = 5-50 g/l และ Zero VOCs = น้อยกว่า 5 g/l
  • ฝุ่นและความชื้นที่สะสมในบ้าน ฝุ่นจากพรม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรับอากาศ รวมถึงวอลล์เปเปอร์ที่เห็นลายสวยนั้น อาจจะมีเชื้อราเกิดอยู่ด้านหลังโดยที่เราไม่รู้ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการภูมิแพ้ ระคายเคืองตา หรือส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้

หากภายในบ้านไม่มีการระบายและหมุนเวียนอากาศที่ดี จะเกิดการสะสมฝุ่น สารเคมีและความชื้นภายในบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการแสบตา คัดจมูก ดังนั้นนอกจากควรหมั่นทำความสะอาดบ้านเพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองแล้ว จึงแนะนำให้เปิดบ้านระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเข้มข้นของสารเคมีให้เจือจางลง ลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

2.บ้านสว่าง ลดอาการซึมเศร้า

แสงสว่างมีประโยชน์ทั้งในการทำกิจกรรมต่างๆ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคน จากงานวิจัยพบว่าการได้รับแสงธรรมชาติอย่างเพียงพอจะช่วยลดอาการซึมเศร้า สร้างอารมณ์เชิงบวก ในทางกลับกัน หากได้รับแสงธรรมชาติน้อยจะส่งผลต่ออารมณ์และสมดุลของสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และความสามารถในการรับรู้ลดลง โดยแสงธรรมชาติในตอนเช้าจะช่วยชะลออาการกระวนกระวายในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ และบำบัดอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ การที่เราได้สัมผัสแสงธรรมชาติ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการทำงาน รวมทั้งมีผลดีต่อการผ่อนคลายความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถนอนหลับตอนกลางคืนได้ดีขึ้นอีกด้วย

จากงานวิจัยยังพบว่า หากระหว่างวันไม่ได้รับแสงธรรมชาติ หรือแสง Daylight (ค่าอุณหภูมิสีของแสง 5000-6500K) จะส่งผลให้ระบบนาฬิกาชีวภาพช้าลง 1.1 ชั่วโมงในทุก 24 ชั่วโมง อันเนื่องมาจากการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน (ฮอร์โมนที่ช่วยการนอนหลับ) ผิดเวลา ทำให้นอนหลับยากขึ้น นอกจากนี้ “แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์” จะไปยับยั้งหรือชะลอการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินด้วย จึงควรนำแสงธรรมชาติให้เข้าถึงภายในบ้าน และใช้แสงประดิษฐ์อย่างเหมาะสมตามช่วงเวลาและเป็นแสงที่สอดคล้องกับการรับรู้ของเราด้วย

แสงธรรมชาติ ควรนำแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารให้ได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงทิศทางของหน้าต่าง และสัดส่วนหน้าต่างในผนังแต่ละด้านที่เหมาะสม ร่วมกับการออกแบบส่วนบังแดด อย่างระแนงกันแดด ชายคา เพื่อช่วยป้องกันความจ้าของแดด และลดการนำความร้อนที่มากับแสงธรรมชาติเข้ามาด้วย

แสงประดิษฐ์ ใช้ทดแทนและสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติเข้าถึงน้อย โดยมีข้อควรพิจารณาคือ

  • การเลือกอุณหภูมิสีของดวงไฟพื้นที่ทำงาน ควรเลือกค่าอุณหภูมิสีของแสง (The Color Temperature) Natural to Cool White Light (ค่าอุณหภูมิสีของแสง 4000-5000K  ) จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ตื่นตัว และช่วยสร้างสมาธิให้จดจ่อกับงานได้ดี ​พื้นที่พักผ่อน ห้องนอน ห้องนั่งเล่น แนะนำให้เลือกแสง Warm White Light (ค่าอุณหภูมิสีของแสง 2700-3500K) เป็นแสงสว่างสีส้มนวลๆ สร้างความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย ชวนพักผ่อน และช่วยเน้นสีของอาหารดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้เด็กและผู้สูงอายุได้ดีสุขภาวะที่ดี
  • การวางตำแหน่งดวงโคม ​ไม่ควรวางตำแหน่งดวงโคมให้ส่องลงมาตรงกับศีรษะ เพราะจะทำให้เกิดเงาเมื่ออ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งทำให้ความร้อนจากหลอดไฟส่องลงมาบริเวณศีรษะโดยตรง ​
  • คุณภาพของแสงไฟที่ดี นอกจากระดับค่าอุณหภูมิสีของแสงแล้ว ยังมีค่าดัชนีชี้วัดความถูกต้องของสี (Colour Rendering Index) และค่าการกะพริบของหลอดไฟ (Flicker) ซึ่งคนทั่วไปมักมองข้าม แต่จริงๆแล้วส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสุขภาวะภายในอาคารไม่น้อย การใช้แสงประดิษฐ์ที่ให้ค่าดัชนีความถูกต้องของสีที่สูงช่วยเพิ่มการรับรู้สภาพโดยรอบที่เราอยู่ได้ถูกต้อง ในขณะที่แสงที่มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีที่ต่ำส่งผลต่อความสามารถในการจำแนกความแตกต่างระหว่างวัตถุ หรือการรับรู้บริบทในพื้นที่ได้ผิดเพี้ยนไป โดยดูค่าดัชนีความถูกต้องของสีของหลอดไฟได้จากค่า CRI ยิ่งค่าสูงเท่าไร ยิ่งหมายถึงแสงที่เราเห็นจะไม่ผิดเพี้ยนมากเท่านั้น โดยทั่วไปหลอดไฟจะมีค่า CRI ที่ 70-80 แต่สำหรับการออกแบบแสงที่ต้องการมาตรฐานสูงค่า CRI ของหลอดไฟควรอยู่ที่ CRI 95-100 หรืออย่างน้อยไม่ควรจะต่ำกว่า CRI 90

3.มีแหล่งอาหารที่ดีในบ้าน

หลายคนตุนอาหารสำเร็จรูปไว้เพียบ แต่หากรับประทานมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non-Communicable diseases) เช่น เบาหวาน ไขมันอุดตัน โรคไต ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตของเรานั่นเอง อาจเป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้ ซึ่งถ้าปรับเปลี่ยนได้ สุขภาพย่อมดีขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก มาดูว่าอะไรควรลด อะไรควรเพิ่ม เพื่อส่งเสริมการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายกัน

  • เพิ่มอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น เมนูผัก ผลไม้ โดยเริ่มเปลี่ยนสัดส่วนการเก็บอาหารในตู้เย็นให้เป็นอาหารที่มีประโยชน์มากกว่า เพื่อปรับพฤติกรรมของเราเอง
  • ลดอาหารไขมันสูง มีไขมันทรานส์ รสจัด อาหารที่มีไขมันสูง รสเค็ม รสหวานจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง นอกจากจะทำให้อ้วนขึ้นแล้ว อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบได้อีกด้วย
  • เพิ่มการดื่มน้ำ โดยดื่มน้ำสะอาดให้ได้ 8 แก้วต่อวัน หากมักลืมดื่มน้ำระหว่างวัน ลองหาขวดหรือเหยือกน้ำประจำตัวให้หยิบง่าย อีกทั้งจะเห็นเลยว่าเราแต่ละวันเราดื่นน้ำปริมาณเท่าไร
  • เพิ่มวินัยรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ไม่ควรงดมื้อเช้าเป็นอย่างยิ่ง จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มที่อดมื้อเช้ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกลุ่มที่ไม่อดมื้อเช้า และหากเราอดมื้อเช้าและปล่อยให้ตัวเองรู้สึกหิวมากๆ สมองก็จะยิ่งสั่งการให้อยากอาหารมากขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึก “ได้รับรางวัล” จนทำให้กินมื้อกลางวันมากเกินไป
  • เพิ่มการกินผัก หามุมปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้บ่อย ปลูกพืชไมโครกรีน แม้จะปลูกได้ไม่มาก แต่จะช่วยลดปริมาณสารตกค้างจากพืชผักที่ซื้อมาได้บ้าง แล้วยังประหยัด สร้างความภูมิใจ และรู้สึกผ่อนคลายด้วย

4.สุขภาพดีเมื่อขยับร่างกาย

บ้านที่อยู่ดีมีสุข ควรช่วยส่งเสริมให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และออกกำลังกายได้ แต่การออกแบบช่วยได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนตัว ตัวอย่างของผลกระทบจากการไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถที่เห็นได้ชัดเจน คือ ออฟฟิศซินโดรม มักเกิดขึ้นบ่อยในที่ทำงาน การทำงานที่บ้าน หรือทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสรีระร่างกาย ก็ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน มีอาการปวดกล้ามเนื้อและเกิดพังผืดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเกิดจากการนั่งทำงานต่อเนื่องโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ หรือจากท่านั่งที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสม

  • เลือกเก้าอี้ตามสรีระการนั่ง เก้าอี้ต้องไม่ใหญ่ไปหรือเล็กไป สามารถนั่งได้เต็มก้นและหลังพิงพนักไปตามแนวของพนักเก้าอี้ เอนไปด้านหลังเล็กน้อย ไม่ต้องนั่งหลังตรงเป๊ะ 90 องศา ปรับความสูงเก้าอี้ให้เท้าทั้งสองข้างวางถึงพื้นพอดี หากเท้าไม่ถึงพื้นให้หาที่รองเท้าวางไว้ด้านล่าง เพื่อให้สะโพกและขาตั้งฉากกันและเท้าวางราบบนพื้นได้พอดี​
  • ปรับระดับโต๊ะเหมาะกับระดับแขน ควรให้แป้นคีย์บอร์ดอยู่ในระดับเดียวกับข้อมือและข้อศอก​
  • วางจอมอนิเตอร์ให้พอดีระดับสายตา คอต้องไม่ก้มหรือเงยขณะทำงาน ให้จอห่างจากตาประมาณหนึ่งช่วงแขน​
  • การโทรศัพท์อย่างเหมาะสม เมื่อมีการใช้โทรศัพท์นาน ควรใช้หูฟังแทนการถือไว้ตลอด เพื่อลดอาการเมื่อยล้าจากการถือโทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการก้มหน้าหรือจ้องโทรศัพท์มือถือนานๆ ควรใช้อุปกรณ์เสริมตั้งให้อยู่ในระดับสายตา
  • พักเบรกบ่อยๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์และลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวัน อาจมีการลุกขึ้น หรือขยับร่างกายจากการนั่งทำงานหน้าจอทุก 30 นาที
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อลดการปวดกล้ามเนื้อ และสร้างสุขภาพที่ดี ​ทำเป็นประจำ 30 นาทีต่อครั้ง และ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น ลดความเจ็บป่วย ปรับสมดุลอารมณ์ได้ดีขึ้น และช่วยให้สมองเพิ่มการจดจำและทำงานดีขึ้น

5.สร้างสภาวะน่าสบายในบ้าน

สภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) เป็นสภาวะที่คนรู้สึกสบาย โดยมีการใช้ทั้งระบบเครื่องกลร่วมกับวิธีธรรมชาติ เพื่อสร้างความสบายและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานของเครื่องกลให้น้อยลง ซึ่งการสร้างสภาวะน่าสบายนี้ไม่ใช่เพียงการปรับอุณหภูมิของอากาศรอบตัวให้อยู่ในช่วงที่รู้สึกสบายเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลให้เรารู้สึกสบาย

  1. อุณหภูมิอากาศ (Air Temperature) ช่วงอุณหภูมิที่ให้ความรู้สึกสบายคือ 22 – 27 องศาเซลเซียส
  2. ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงแม้อากาศไม่ร้อนก็ทำให้รู้สึกเหนียวตัว เพราะเหงื่อระเหยน้อย โดยความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมคือ 20 – 75 เปอร์เซ็นต์
  3. อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโดยรอบ (Mean Radiant Temperature) เช่น อุณหภูมิของพื้นดิน สนามหญ้า พื้นคอนกรีต ส่งผลอย่างมากที่จะทำให้เรารู้สึกสบาย เช่น ถ้าอุณหภูมิอากาศอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส เมื่อผ่านตัวกรอง เช่น ต้นไม้ ลำธาร อุณหภูมิก็จะลดลงเหลือประมาณ 32 องศาเซลเซียส และเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโดยรอบเย็นกว่า เช่น บริเวณพื้นดินใต้ร่มไม้ ผิวหญ้าเปียก ทำให้ร่างกายเราถ่ายเทความร้อนให้กับสภาพแวดล้อม ทำให้รู้สึกเย็นกว่าอุณหภูมิจริงถึง 4 องศาเซลเซียส เราจึงรู้สึกว่าบริเวณนั้นมีอุณหภูมิเพียง 28 องศาเซลเซียส
  4. ความเร็วลม (Air Velocity) เมื่อมีลมพัดผ่านที่ความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เท่ากับความเร็วปานกลางของพัดลมปกติ) เราจะรู้สึกเสมือนอุณหภูมิอากาศลงลดประมาณ 4 องศาเซลเซียส โดยหลักการนี้ใช้ได้กับอุณหภูมิอากาศที่อยู่ระหว่าง 27-32 องศาเซลเซียสเท่านั้น
  5. เสื้อผ้าที่สวมใส่ (Clothing Insulation) การใส่เสื้อผ้าสบายๆ ระบายอากาศได้ดี จะทำให้รู้สึกเย็นลงได้
  6. อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย (Metabolism Rate) การทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานต่ำจะไม่ก่อให้เกิดความร้อนมากเกินไป ร่ายกายก็จะปรับตัวให้รู้สึกสบายได้ง่าย หรือการเผาผลาญพลังงานที่แตกต่างกันของแต่ละคน เช่น คนอ้วนกับคนผอม

ุ6.การปลูกต้นไม้ดีต่อใจ

เคยสังเกตไหมว่า ทำไมหลายๆ คนถึงชอบออกไปสัมผัสธรรมชาติหรือปลูกต้นไม้ในสวน นั่นเพราะคนเรามีแนวโน้มอยากใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จากแนวคิดด้านการออกแบบ Biophilic Design ใน WELL Standard การนำธรรมชาติเข้ามาผสมผสานในการออกแบบจะช่วยให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น จากงานวิจัยของ Frontiers in Psychology มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2019 พบว่าการใช้เวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติเพียง 20 นาทีต่อวัน สามารถทำให้ความเครียดลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ

การทำสวนช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอลในสมอง ลดความเครียด จากผลการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า การมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับสูงเป็นเวลายาวนาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิต และอาจทำให้อายุสั้น และพบว่า สุขภาพของผู้ที่ชอบทำสวน 30 ราย ให้ทำกิจกรรมที่สร้างความเครียด และลดความเครียด โดยทำสวนนอกอาคาร หรืออ่านหนังสือในร่มเป็นเวลา 30 นาที พบว่ากลุ่มที่ทำสวนมีระดับคอร์ติซอลลดลงกว่ากลุ่มที่อ่านหนังสือ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ที่ทำสวนกลับมาอยู่ในระดับที่ “มีความสุข” ได้เต็มที่อีกครั้ง แต่กลุ่มที่อ่านหนังสือนั้น “เครียดกว่าเดิม”

รวมถึงงานวิจัยของ Dr. Masahiro Toyada มหาวิทยาลัยเฮียวโก ประเทศญี่ปุ่น ทำการทดสอบพนักงานบริษัทจำนวน 63คน มีอายุตั้งแต่ 24-60 ปี ที่ใช้เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยใช้มาตรวัดความวิตกกังวล State-Trait Anxiety Inventory (STAI) และการวัดอัตราการเต้นของชีพจร พบว่าการปลูกต้นไม้หรืออยู่ใกล้ต้นไม้ ทำให้ระดับความเครียดค่อยๆ ลดลง และอัตราการเต้นของชีพจรลดลง ดังนั้นหากรู้สึกเครียด ลองหาต้นไม้ที่ชอบมาปลูก หรือควรพักออกไปเดินเล่นในสวนประมาณ 20 นาที ก็จะช่วยให้รู้สึกเครียดน้อยลงได้แน่นอน

7.ลดเสียงดังรบกวน ลดเครียด อารมณ์เสีย

เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า เวลาที่ได้ยินเสียงดังๆ เราจะสะดุ้ง ตกใจ และถ้าฟังเสียงดังนั้นนานๆ จะรู้สึกหงุดหงิด ทำงานหรืออ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง นั่นเป็นเพราะเสียงมีผลต่อการรับรู้ของสมองและร่างกาย ถ้าเสียงที่ได้ยินนั้นอยู่ในช่วงที่ดีต่อการรับรู้ของสมองจะทำให้มีสมาธิและรู้สึกผ่อนคลาย แต่หากเป็นเสียงดังเกินไป หรือที่เรียกว่า “เสียงรบกวน” จะมีผลต่อความรู้สึก ระบบประสาท และสุขภาพของเราไปด้วย โดยเสียงรบกวนมาจาก  2 แหล่ง คือ “เสียงนอกบ้าน” ทั้งเสียงรบกวนที่มาจากข้างบ้าน ถนน และ “เสียงในบ้าน” จากห้องติดกันที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องดูทีวี ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ โดยเฉพาะห้องที่มีกิจกรรมต่างกัน อยู่ติดกัน จะทำให้เกิดความต่างของเสียงจนรู้สึกเสียงนั้นดังรบกวนกัน ซึ่งมีวิธีป้องกันเสียงดังรบกวน คือ

การกรองเสียง/ป้องกันเสียงจากภายนอก

  • ปลูกต้นไม้เป็นแนวในทิศทางหรือพื้นที่คาดว่าจะมีเสียงดังรบกวนจากภายนอก เพื่อกรองและลดทอนเสียงรบกวนเข้ามาในบ้านได้ระดับหนึ่ง
  • ปิดรูหรือช่องว่างที่จะนำเสียงดังรบกวนจากภายนอกลอดเข้ามาผ่านผนัง หลังคา และประตูหน้าต่างเพื่อกั้นเสียง
  • การกำหนดทิศทางการเปิดประตู หรือหน้าต่างให้อยู่ในทิศทางที่ไม่มีเสียงดังรบกวน

การป้องกันเสียงจากภายในบ้าน

  • เสียงดังผ่านอากาศ ให้ปิดรู อุดช่องต่างๆ ที่ทำให้เสียงลอดเข้ามาได้ เช่น ช่องว่างใต้ประตู
  • เสียงดังผ่านผนัง พื้น เสียงแบบนี้เป็นเสียงที่ผ่านมาทางโครงสร้าง
  • การจัดกลุ่มห้องที่มีกิจกรรมเสียงดังไว้ด้วยกัน โดยการแยกห้องที่คาดว่าจะมีเสียงดังให้อยู่ห่างห้องอื่นๆ และจัดกลุ่มห้องที่ไม่ต้องการเสียงไปอยู่ด้วยกัน เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน
  • ลดเสียงดังรบกวนผ่านโครงสร้าง จากการกระแทกต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียงเดินทางผ่านพื้น ผนัง อาจจะแก้ไขด้วย การปูพรมทางเดิน

8. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ภัยเงียบใกล้ตัว

แม้ว่าเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field: EMF) จะไม่มีระบุในมาตรฐาน WELL Standard แต่จริงๆ แล้ว คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็นับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพ หากเราเคยรู้สึกมึนศีรษะเวลาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโทรศัพท์นานๆ บางครั้งอาจมาจากการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือเราเตอร์อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้้ยังมีรายงานว่าบางรายพบอาการคลื่นไส้ ซึมเศร้า เกิดความผิดปกติด้านการนอน และมีระดับความเครียดสูงขึ้น ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก การเกิดโรคอัลไซเมอร์ และอาจมีการเชื่อมโยงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยเวลาเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปแบบ “รังสีไม่ก่อประจุ” (Non-Ionizing radiation)  ออกมามากน้อยไม่เท่ากัน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีรัศมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนี้

  • รัศมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 30 เซนติเมตร ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องเป่าผม เครื่องทำกาแฟ เครื่องปิ้งขนมปัง แล็ปท็อป
  • รัศมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 60 เซนติเมตร ได้แก่ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น
  • รัศมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 1.20 เมตร ได้แก่ มือถือ แท็บเล็ต (รวมทั้งที่ชาร์จ) เราเตอร์ เตาไมโครเวฟ

แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพและสมองในระยะยาวมากน้อยเพียงใด แต่ก็ควรระมัดระวังไว้ก่อนที่จะส่งผลกับตัวเรา ดังนั้นเพื่อสุขภาวะที่ดี เราควรงดการเล่นโทรศัพท์ระหว่างชาร์จ โดยชาร์จโทรศัพท์ไว้ให้ห่างตัวประมาณ 1.20 เมตรขึ้นไป นอกจากนี้ควรวางตำแหน่งเราเตอร์ให้ห่างจากโต๊ะทำงาน เพื่อสร้างระยะห่างจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน

ติดตาม FB : riscwellbeing


Home Expert นิตยสารบ้านและสวน พ.ย.2564

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล