Health & Well-being Materials วัสดุสร้างบ้านที่ดีและปลอดภัย

การเลือกใช้วัสดุสร้างบ้านที่ดีและปลอดภัย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราอยู่บ้านอย่างมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงได้แนะนำหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกใช้วัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดีใช้งานได้ยาวนาน ไม่เสียหรือต้องซ่อมบ่อย เป็นบ้านที่อยู่แล้วเย็นสบาย ไม่ลื่นล้ม ไม่รั่วซึม ไม่สะสมฝุ่น ปลอดภัยกับทุกคนในบ้าน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านทุกคนมีความสุข มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจด้วยเช่นกัน มาดูหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดี และตัวอย่างคุณสมบัติวัสดุกัน

4 หลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกใช้วัสดุเพื่อสุขภาวะที่ดี ( Well-Being Materials )

  1. วัสดุที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco- Friendly Materials) ได้แก่ วัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนาน หรือ วัสดุทดแทนวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้เทียม หินเทียม เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
  2. วัสดุที่สามารถลดการใช้พลังงาน (Energy Saving Materials) ได้แก่ หลอดไฟประหยัดพลังงาน  กระจกประหยัดพลังงาน เป็นต้น
  3. วัสดุรีไซเคิล และวัสดุ Upcycling (Recycle & Upcycling Materials) ได้แก่ วัสดุที่มีส่วนผสมของขยะ หรือนำขยะมาแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เราลดภาระขยะ และการฝังกลบให้กับโลกของเราได้
  4. วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (Health & Safety Materials)  ได้แก่ วัสดุที่ปลอดภัยต่อสารพิษ สารเคมี สารกัมมันตรังสีที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ วัสดุลดการสะสมฝุ่นอันเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ เป็นต้น Well-being Materials

ตัวอย่างคุณสมบัติวัสดุในแต่ละหมวด

1. วัสดุที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco- Friendly Materials)

มีวัสดุทางเลือก และวัสดุทดแทนที่น่าสนใจ เช่น Health & Well-being Materials

Well-being Materials

แผ่นลามิเนตทดแทนไม้จริง ป้องกันเชื้อไวรัส ต้านทานเชื้อโควิด-19

แผ่นลามิเนตลายไม้ เป็นวัสดุทางเลือกที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง ส่วนใหญ่ใช้ในงานตกแต่งภายใน ผนัง ฝ้าเพดาน และงานเฟอร์นิเจอร์  วัสดุมีความทนทานต่อรอยขีดข่วน ขัดถู สามารถใช้งานได้ยาวนาน ควรเลือกแผ่นลามิเนตที่มีระดับการปลดปล่อยสาร VOCs ต่ำ เช่น ได้รับการรับรองโดย GreenGuard & Green Guard Gold  หากใช้ในบริเวณที่สัมผัสกับอาหาร ควรเลือกเป็นวัสดุ Food Grade (ผ่านการรับรอง NSF Standard) และเป็นวัสดุทดแทนไม้จริงที่ได้รับการรับรองที่มาของแหล่งวัตถุดิบจากป่าปลูก FSC ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว สามารถได้รับคะแนนตามหมวดหมู่ต่างๆ ภายใต้มาตรฐานการการประเมินของ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ได้ด้วย และเดี๋ยวนี้ยังมีแผ่นลามิเนตที่มีคุณสมบัติต้านทานเชื้อโควิด-19 ได้ด้วย ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคซาร์ส – โควี -2 (ไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด -19 ) สามารถฆ่าไวรัสได้ถึง 99.0% ภายใน 30 นาที และกำจัดให้หมดภายใน 45 นาทีขึ้นไป

Well-being Materials

พื้นไม้ที่ไม่มีไม้ วัสดุทางเลือกจากเปลือกข้าว

ปัจจุบันมีวัสดุทดแทนไม้ที่ผลิตจากเปลือกข้าว เกลือ และน้ำมัน ซึ่งต่างจากไม้เทียมทั่วไปที่ใช้ไม้และพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งวัสดุทดแทนไม้นี้ให้ผิวสัมผัสใกล้เคียงพื้นไม้ สามารถทำงานได้เหมือนไม้ เช่น ติดกาว ขัด เจียร เจาะ เลื่อยและทำสีได้ แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไม่ซึมน้ำ จึงทำให้ไม่แตกและไม่บวม ทนต่อรังสี UV สามารถใช้งานภายนอกอาคารได้ มีการทดสอบค่ากันลื่น สามารถใช้งานได้ยาวนาน และที่สำคัญคือ สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% จึงเป็นวัสดุที่สามารถได้รับคะแนนตามหมวดหมู่ต่างๆ ภายใต้มาตรฐานการการประเมินของ LEED ได้ด้วย

Well-being Materials

กระเบื้องยางย่อยสลายได้

ก่อนเลือกใช้กระเบื้องยาง ควรพิจารณากระเบื้องยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างกระเบื้องยางที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ( Biodegradable ) ปราศจาก PVC จึงไม่เป็นภาระกับโลกนี้เหมือนขยะพลาสติกอื่นๆ ที่ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 500 ปี ทำจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ผสมกับวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และวัสดุรีไซเคิล มีวัตถุดิบหลักคือ น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ซึ่งมาจากต้นป่าน ผงไม้จากป่าที่มีการควบคุมการเผา และต้นปอกระเจา วัสดุมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 30 ปี ยังสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้อีกด้วย นอกจากนี้ตลอดกระบวนการผลิตของวัสดุนั้น ไม่ก่อให้เกิด CO2 ซึ่งทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน การใช้วัสดุคุณสมบัติเหล่านี้จะได้รับคะแนนตามหมวดหมู่ต่างๆ ภายใต้มาตรฐานการการประเมินของ LEED เช่นกัน

อีกทั้งเลือกใช้กระเบื้องยางที่มีค่าการระเหย VOCs ต่ำ ปราศจากสารพทาเลท พลาสติไซเซอร์ และน้ำมันแร่ ดูได้จากผ่านการรับรองจากสถาบันระดับนานาชาติ อาทิ SMART Certificate ระดับ Platinum, CDPH กฎหมายควบคุมเรื่องสุขภาพของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และ Allergy UK สถาบันรับรองการเกิดภูมิแพ้ของสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงว่าเป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ เรียกได้ว่าเป็นวัสดุทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่อง การใช้งาน ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังดีต่อโลกอีกด้วย


2. วัสดุที่สามารถลดการใช้พลังงาน (Energy Saving Materials)

คือวัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้คุณได้ แบ่งเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพในการกันความร้อน และวัสดุพลังงานทดแทน

  • วัสดุที่มีประสิทธิภาพในการกันความร้อน
Well-being Materials

ฉนวนกันความร้อน ช่วยประหยัดค่าไฟ และดีต่อสุขภาพ

การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนที่ดี ควรพิจารณาจากประสิทธิภาพฉนวนกันความร้อนในการต้านทานความร้อน (R) สภาพการนำความร้อน (ค่า K) โดยมีค่าความต้านทานความร้อนสูง (R สูง)  สัมประสิทธิ์ของการนำความร้อนต่ำ (K ต่ำ) นอกจากจะต้องกันความร้อนได้ดีแล้ว ต้องปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย  เช่น ฉนวนกันความร้อนที่ผลิตมาจากเส้นใยสังเคราะห์พอลิเอสเตอร์ (Polyester) ซึ่งเส้นใยมีลักษณะเป็นสายโซ่ยาว เรียบ และพื้นที่หน้าตัดไม่มีความแหลมคม ไม่เกิดการระคายเคือง ทนความชื้นได้สูงกว่าเส้นใยธรรมชาติ ป้องกันความร้อนได้มีประสิทธิภาพดี ใช้งานได้ยาวนาน และแนะนำให้พิจารณาวัสดุที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือดูจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว (Green Label)

Well-being Materials

กระเบื้องระบายอากาศได้ ช่วยให้บ้านเย็น

THERMIC TILE คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์กระเบื้อง จากผลงานวิจัยร่วมระหว่าง Kenzai และ RISC  กระเบื้องเซรามิคที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนให้กับผนังบ้านด้วยกลไกทางธรรมชาติ “Thermodynamic”  ด้วยรูปทรงของกระเบื้องที่ออกแบบให้ลมผ่านได้ ( Ventilation design ) ที่จะช่วยพัดพาความร้อนออก ลดความร้อนสะสมจากผิวกระเบื้องที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะทำให้ตัวกระเบื้องสามารถลดความร้อนที่ผิวหน้าลงไปได้ถึง 56% ด้วยการใช้กลไกตามธรรมชาติ และตัวกระเบื้องเองยังเป็น Self Shading ลดพื้นที่รับแสงอาทิตย์ที่มาตกกระทบ สามารถลดอุณหภูมิภายในอาคารลงได้ถึง 10%

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถลดความร้อนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับดีไซน์แปลกใหม่ ทำให้กระเบื้อง Thermic Tiles ได้รับรางวัลการออกแบบทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ทั้งรางวัล G-Mark (Good Design Award) จาก Japan Institute of Design ที่ประเทศญี่ปุ่น, รางวัลการออกแบบดีจาก DEmark (Design Excellence Award) ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศไทย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง จากงานสถาปนิก’61

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.kenzai.co.th/en/collection/wall/thermic-tile/

  • วัสดุพลังงานทดแทน
Well-being Materials

หลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ (Solar Roof) ใช้ไฟฟรีจากพลังงานแสงอาทิตย์

เชื่อว่าหลายคนเริ่มหันมาสนใจการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) กันมากขึ้น เพราะเป็นนวัตกรรมที่เริ่มใช้กันทั่วไป หาได้ง่ายมากขึ้น สามารถช่วยลดค่าไฟได้จริง แต่จะคุ้มทุน-คืนทุนเร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบโซลาร์ (Solar) และพฤติกรรมการใช้ไฟของเจ้าของบ้านแต่ละหลังด้วย

บ้านที่เหมาะจะติดโซลาร์เซลล์ คือ บ้านที่มีการใช้ไฟหรือเปิดแอร์ในช่วงเวลากลางวัน ที่มีค่าไฟรายเดือนตั้งแต่ 3,000 ขึ้นไป จะสามารถประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 30 – 60% เช่น บ้านที่มีพ่อแม่อยู่บ้าน กลุ่มวัยเกษียณอายุที่อยู่บ้านในช่วงกลางวัน กลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน สำนักงาน โฮมออฟฟิศ หรือร้านอาหารนั้น ถือว่าเหมาะสมในการใช้งานมาก เพราะระบบโซลาร์จะทำงานได้เมื่อมีแสงแดด เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ ก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสตรง จากนั้นจะส่งเป็นยังอินเวอร์เตอร์ เพื่อแปลงเป็นกระแสสลับ และนำไปใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทันที โดยทิศที่เหมาะสมกับการติดโซลาร์รูฟมากที่สุด คือ ทิศใต้ซึ่งได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน และระบบออนกริด (On grid) ที่ผลิตไฟฟ้าแล้วใช้เลยจะคุ้มค่าที่สุด คืนทุนเร็วกว่าระบบ Energy Storage เพราะยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

การใช้พลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาระค่าใช้ของเรา และยังช่วยอนุรักษ์พลังงานให้กับโลกใบนี้ไว้ได้ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวทั้งต่อเราและต่อโลก (หากเข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน และมีพลังงานไฟฟ้าเหลือจากการใช้ภายในบ้านแล้ว กระแสไฟฟ้าที่เหลือนี้จะถูกส่งไปที่มิเตอร์ไฟฟ้า และถูกส่งกลับไปยังสายไฟ เพื่อขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อไป)

ไฟสนามจากพลังงานแสงอาทิตย์

โคมไฟสนามที่มาพร้อมกับแผงโซล่าเซลล์ ใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องเดินสายไฟ เพียงติดตั้งในบริเวณที่แดดส่องถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หรือเลือกที่มีระบบ sensor ที่ไฟสว่างเองเมื่อเวลาฟ้ามืด หรือสว่างเมื่อเวลาเดินผ่าน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้รอบบ้านสว่างไสว ปลอดภัย ประหยัดค่าไฟ และลดการใช้พลังงานของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทน