แก่นและแกนของความเป็นไทยในความคิดของ จูน เซคิโน

ร่วมพูดคุยหัวข้อ “ความเป็นไทย” ในมุมมองของคุณจูน เซคิโน สื่อด้วยผลงานศิลปะ Ni’ และ Shin

ผลงานศิลปะ Ni’ และ Shin ซึ่งเกิดจากการประกอบกันของไม้ขนาดเล็กเป็นโครงสร้างอย่างประณีต แต่เมื่อมองในองศาที่ต่าง แสงตกกระทบที่เปลี่ยนก็จะได้ภาพที่ต่างออกไป นั่นคือ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดของ “ความเป็นไทย” ในมุมมองของคุณจูน เซคิโน ผู้ก่อตั้ง Junsekino A+D สถาปนิกผู้ดึงคนรอบข้างที่เร่งรีบให้เดินช้าลง และพินิจกับความคิดให้มากขึ้น

จูน เซคิโน
จูน เซคิโน

ช่วงเริ่มต้นการเป็นสถาปนิก บ้านในไทยมีกระแสนิยมอย่างไร

ช่วงนั้นประมาณ 20 ปีก่อน กระแสบ้านสไตล์โอเรียนทัลและทรอปิคัลจะพูดถึงกันบ่อย สมัยนั้นบ้านจัดสรรโครงการต่างๆ จะทำกันมาเป็นรูปแบบซ้ำๆ ตามความคุ้นเคย แต่ยังไม่ได้ปรากฏเป็นรูปแบบที่ชัดเจน จนคนเริ่มอยากมีบ้านเดี่ยวของตัวเอง ความต้องการก็ชัดเจนขึ้น จึงจ้างสถาปนิกเพื่อช่วยนำทาง และจัดการความต้องการบ้านในแบบของเขาให้เป็นจริงขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยแกนหลัก 3 ส่วน คือ การใช้วัสดุ รูปแบบงานสถาปัตยกรรม และความต้องการของลูกค้า

ผลงานออกแบบบ้านคุณปัญจมา – คุณชัชวาล เลิศบุษยานุกูล

ความนิยมในการสร้างบ้านปัจจุบันเป็นอย่างไร

จากลูกค้าที่เข้ามา ปัจจุบันคนต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ชอบความไม่เหมือนใคร ถ้าเปรียบเป็นอาหารก็ไม่ใช่ภัตตาคารหรู แต่คือ Chef Table ที่เสิร์ฟอาหารที่ปรุงให้เฉพาะคนนั้น ยกตัวอย่างคนที่ปกติใช้ชีวิตทำงานข้างนอกต้องพบเจอผู้คนมากมาย หรือต้องแต่งหน้าแต่งตัวจัดเต็มตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน บ้านสำหรับเขาก็จะต้องเป็นบ้านที่สบายมากๆ ตัดขาดจากภายนอก สามารถทิ้งตัวลงได้แบบไร้ความกังวล หรือมีพื้นที่ให้อยู่กับสุนัขสักตัวก็มีความสุขแล้ว มันหมายถึงเราต้องมีความละเอียดมากขึ้นในงานออกแบบที่จำเพาะกับวิถีชีวิตของเขา ซึ่งแทบจะไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้แล้วในการออกแบบในปัจจุบัน เป็นความท้าทายที่สนุกดีครับ ส่วนรูปแบบ วัสดุ มันไม่มีขีดจำกัด เพราะทุกอย่างเข้าถึงกันได้ทั่วโลกแล้ว

ผลงานออกแบบบ้านคุณอั๋น – คุณทิพ บุนนาค
ผลงานออกแบบบ้านคุณอั๋น – คุณทิพ บุนนาค

บ้านไทยในมุมมองของคุณจูนเป็นอย่างไร

ต้องมาคิดกันว่าอะไรที่แสดงถึงความเป็นไทย หากเป็นโบราณจริงๆ บ้านไทยมีฟังก์ชันสำหรับเป็นที่นอน หลบแดดหลบฝน และอยู่กับธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม วัฒนธรรม ภูมิประเทศในแต่ละภาค นอกจากนั้นก็เป็นการแสดงถึงชนชั้นต่างๆในสังคม บ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของเจ้าของบ้าน ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย การออกแบบก็คือการทำตามๆกันมา ไม่ได้มีการเขียนแบบจริงจัง ต่อมาค่อยมีแบบแปลนเป็นเรื่องเป็นราวก็คราวที่มีช่างฝรั่งเข้ามานั่นล่ะครับ

ผลงานออกแบบบ้าน Tree House

บ้านกับงานสถาปัตยกรรมของไทย จำเป็นต้องมีคำว่า “ไทย” กำกับไหม

ผมว่าไม่จำเป็นต้องใส่คำว่าไทยในงานออกแบบนะ  ความเป็นไทยมันละเอียดอ่อนและอยู่ที่ใครเป็นคนตีความ อย่างบ้าน Nature House ที่ผมออกแบบหลังแรกก็ใช้หลักการแบบบ้านไทยที่มีการเดินผ่านสวน ผ่านส่วนกลางของบ้านที่มีชานกว้างๆ เหมือนลานอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นหัวใจของบ้าน ก่อนเดินไปยังห้องต่างๆ อีกหลังคือบ้าน Tree House ที่ออกแบบจากความต้องการของลูกค้า เป็นบ้านรูปทรงกล่อง มีชายคายาว และมีเหล็กดัดครอบบ้านทั้งหลังไว้เพราะเจ้าของบ้านกลัวขโมย แม้ไม่มีหลังคาจั่ว แต่ก็เป็นบ้านที่ดูไท้…ไทย เพราะบ้านคนไทยชอบติดเหล็กดัดกันขโมยจนเห็นกันชินตา ความเป็นไทยจึงไม่ใช่รูปทรง แต่คือวิถีชีวิตและผู้คน

จูน เซคิโน

คิดอย่างไรกับอาคารสาธารณะที่พยายามใส่ความเป็นไทย

ผมว่างานออกแบบไทยๆ บางอย่างก็น่ารักดี เช่น โรงเรียนไม้สองชั้นแบบเก่าที่ห้องเรียนมีประตูสองบาน อีกฝั่งเป็นหน้าต่าง มันมาจากพฤติกรรมและคิดถึงเรื่องธรรมชาติ ที่ให้ความรู้สึกคนละอย่างกับอาคารที่พยายามมีหลังคาจั่ว หรืออาคารที่สร้างจากแบบแปลนส่วนกลาง แล้วนำไปสร้างให้หน้าตาเหมือนๆกัน อยากให้ “ความเป็นไทย” คือพื้นที่ที่คนไทยเข้าไปใช้งานแล้วรู้สึกสบาย คือ ออกแบบตามสภาพภูมิอากาศ ตามบริบทท้องถิ่น คิดถึงสภาพแวดล้อมก่อนที่จะปลูกสร้างตัวอาคาร มันถึงจะน่าเข้าไปใช้งาน เป็นการคิดและทำตรงข้ามวิธีเดิม แต่ผลลัพธ์จะออกมาน่าสนใจและพัฒนาต่อได้อีก

จูน เซคิโน

ในอนาคตการออกแบบของจูน เซคิโน จะเป็นอย่างไร

ผมชอบพูดเสมอว่า งานของผมมันก็เหมือนการเดินอยู่ริมชายหาด คนที่เดินตามมาเขาจะเห็นรอยเท้าที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง ซึ่งตอนนั้นผมก้าวเดินไปข้างหน้าแล้ว รอยเท้าต่อไปอาจเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิมก็ได้ หากมีคนชอบงานออกแบบของผม ก็ต้องถามกลับว่าชอบช่วงไหนในเส้นทางที่เดินผ่านมา แล้วมาปรับให้เข้ากับตัวผมในปัจจุบัน ไม่มีอะไรถูกหรือผิดหรอกครับ แต่แค่พร้อมที่จะเดินไปด้วยกันหรือเปล่าเท่านั้น และคิดว่าในอนาคต การต่อเติมปรับปรุงบ้านจะมีมากขึ้น เพราะเป็นยุคที่ดินมีราคาแพง คนจะอยู่บ้านเดิมตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ ซึ่งเป็นช่วงที่พอดีสำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่เก่าทรุดโทรม อีกทั้งบ้านในสมัยก่อนมักมีที่ดินกว้าง ตัวบ้านขนาดไม่ใหญ่ ทำให้สามารถสร้างและต่อเติมใหม่ได้อีกเยอะ และเทรนด์การทำงานที่บ้านก็จะมากขึ้น คนจะโหยหาธรรมชาติ และดึงธรรมชาติเข้ามาหาตัวเองมากขึ้น การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป บ้านอาจไม่ต้องมีโทรทัศน์แล้วก็ได้ ห้องรับแขกอาจไม่จำเป็นต้องมีเพราะแขกไม่ค่อยมี มีแต่เพื่อน จึงต้องการพื้นที่ส่วนกลางที่กว้างขวางขึ้น ห้องนอนอาจไม่จำเป็น มีแค่ห้องโล่งๆ และเตียงไว้ซุกตัวนอนกับสุนัขก็เป็นไปได้

Ni’
Shin

ความหมายของ Ni’ และ Shin

Ni’ คือ ภายใน หรือ “แกน” ภายในส่งผ่านสู่รูปลักษณ์ภายนอก ก่อรูปด้วยโครงสร้างแต่ละชิ้นที่เรียบง่ายที่สุด คลี่คลายจากรูปทรงเดิมขององค์พระ นำชิ้นส่วนไม้มะค่าและทองคำ 3 ชิ้น ดั่งพระรัตนไตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบกันเป็นรูปทรงที่ดูเลือนลางในบางมุม แสงเงาที่ตกกระทบทำให้การมองแต่ละมุมมีมิติต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้มองว่าจะเห็นเป็นอะไร บางคนเห็นเป็นพระพุทธรูป บ้างเห็นเป็นคนนั่งสมาธิ หรือเห็นเป็นคนนั่งสำรวมอยู่ก็ไม่ผิด

Shin เป็นอีกผลงานที่คิดต่อจากงานชุดแรก ในรูปทรงโครงสร้างที่หากมองผ่านอาจดูว่าเหมือนกัน แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าโครงสร้างของชิ้นไม้นั้นวางรูปแบบแตกต่างกัน โดยได้ตีความวัตถุที่มีความหมาย 9 ชิ้น ผ่านความศรัทธาในเรื่องของ “พุทธ” พระพุทธเป็นตัวแทนของการสื่อสาร ความเชื่อ ความศรัทธา ความเคารพ ผ่านวัสดุและรูปทรง แนวคิดในการออกแบบนั้น ตั้งใจตีความตามที่เข้าใจและศรัทธาของผู้ออกแบบ จากรูปแบบพระพุทธที่เป็นมาตรฐานให้แตกต่างออกไป ซึ่งผลงานทั้งสองชิ้นได้ทำงานร่วมกันระหว่างการออกแบบและการประกอบชิ้นงานกับ คุณพิษณุ นำศิริโยธิน ผู้เชี่ยวชาญงานไม้


เรื่อง : jEedwOndER

ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, Jun Sekino

คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารบ้านและสวน กันยายน 2565


บ้านไม้อบอุ่น ชวนห้อยขาล้อมคอร์ตสีเขียว

รีโนเวตบ้านเก่า 80 ปี มาเป็น “บ้านโนบิตะ” แสนอบอุ่น

ติดตามบ้านและสวน