RUPU HOUSE บ้านสองชั้นโมเดิร์น เฉียบเรียบ ตอบโจทย์วิถีชีวิตเอาต์ดอร์

บ้านสองชั้นโมเดิร์น โดดเด่นในรูปทรงเรขาคณิตเฉียบเรียบ เปิดรับธรรมชาติ กับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทั้งพื้นที่สังสรรค์ และพื้นที่ส่วนตัว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D

บ้านสองชั้นโมเดิร์น หลังนี้ มีโจทย์เริ่มต้นมาจากการสร้างบ้านหลังใหม่ของลูกชายให้อยู่ใกล้กับบ้านของคุณพ่อ โดยแต่เดิมกำหนดให้บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินเดียวกันกับบ้านหลังเดิมของคุณพ่อ แต่ภายหลังได้ถูกย้ายตำแหน่งมาอยู่ในที่ดินฝั่งตรงกันข้าม จึงมีการหมุนแบบบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับที่ตั้งใหม่ในลักษณะวนเป็นวงกลม จึงเป็นที่มาของชื่อบ้าน “RUPU HOUSE” ที่ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าวนรอบหรือวนเป็นวงกลมนั่นเอง

RUPU House ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดราว 200 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดราว 680 ตารางเมตร โดยบ้านสำหรับครอบครัวใหม่หลังนี้ถูกสร้างให้เป็น บ้านสองชั้นโมเดิร์น โดยตั้งใจให้เหลือพื้นที่รอบๆ บ้านไว้เป็นสวนที่เขียวที่โล่งกว้างพอสมควรเพื่อความปลอดโปร่ง พื้นที่ใช้สอยของบ้านแบ่งออกจากกันอย่างชัดเจน โดยชั้นล่างเป็นส่วนสาธารณะอันประกอบด้วยครัว และห้องโถงรับประทานอาหารใจกลางบ้าน จากนั้นจึงแยกมาเป็นห้องนั่งเล่นที่มุมหนึ่ง ทั้งส่วนรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นนี้ตั้งประกบพื้นที่รับแขกกึ่งกลางแจ้งภายนอก และกั้นด้วยผนังกระจกบานใหญ่ให้ความรู้สึกต่อเนื่องกัน

อาจกล่าวได้ว่าโถงกึ่งกลางแจ้งถือเป็นหัวใจของพื้นที่ชั้นล่างก็ว่าได้ เนื่องจากเจ้าของบ้านชื่นชอบการใช้ชีวิตที่ได้สัมผัสกับบรรยากาศเอ้าต์ดอร์ที่ปลอดโปร่ง พร้อมมีการต้อนรับแขก และจัดงานสังสรรค์กันอยู่เสมอ โจทย์เหล่านี้จึงสะท้อนในการออกแบบโถงกึ่งกลางแจ้งแห่งนี้ ให้กลายเป็นโถงไร้ผนังที่กว้างขวางพอจะรับแขก และตั้งอยู่ใต้ชายคาที่ให้ร่มเงาพร้อมเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมภายนอก ในอีกแง่หนึ่ง โถงนี้ก็คล้ายเป็นการจำลองลักษณะของใต้ถุนเรือนไม้ในอดีตมาไว้ในบ้านสมัยใหม่ โดยในชีวิตประจำวันก็จะถูกใช้งานต้อนรับแขกเหรื่อ และนั่งสังสรรค์ได้โดยไม่รบกวนส่วนใช้งานอื่นๆ ในบ้านอีกด้วย

ในขณะที่ชั้นล่างเป็นส่วนไว้ใช้ต้อนรับแขกอย่างเต็มที่ ชั้นบนก็แยกตัวเป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง แบ่งเป็นห้องใหญ่สำหรับเจ้าของบ้านและสองห้องเผื่อสำหรับลูกๆ ในอนาคต ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือห้องมาสเตอร์เบดรูม ที่ประกอบด้วยเตียงหลังใหญ่ตั้งอยู่กลางห้องทำให้ห้องยิ่งรู้สึกโปร่ง จากนั้นก็ประกบด้วยห้องแต่งตัวแบบ Walk-in Closet แล้วต่อด้วยห้องน้ำ ความโดดเด่นของห้องนี้อยู่ที่การอาศัยระยะความสูงพิเศษของฝ้าเพิ่มชั้นลอยเข้าไปอันถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ทำงานขนาดย่อมๆ ซึ่งแนวคิดการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยเช่นนี้เป็นการออกแบบให้ชั้นบนเหมือนเป็นห้องดูเพล็กซ์ที่แทรกตัวอยู่ในบ้านอีกทีหนึ่ง เอื้อให้เจ้าของบ้านสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวชั้นบนได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องลงมาใช้ชีวิตข้างล่างในเวลา ที่มีแขกของเจ้าของบ้านคนใดคนหนึ่งมาเยี่ยมเยือนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของบ้านหลังนี้คงหนีไม่พ้นรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นบ้านเรขาคณิตสีขาว  แสดงรูปทรงชัดเจนโดยปราศจากองค์ประกอบการตกแต่งใดๆ โดยที่มาของรูปลักษณ์ภายนอกอาคารเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของเจ้าของบ้านเองผู้มีรสนิยมชื่นชอบบ้านที่แสดงเส้นสาย และรูปลักษณ์ของบ้านอย่างตรงไปตรงมา หรือเฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือต้องการให้หน้าตาของบ้านมีลักษณะเป็นมวลเดียวกันโดยตลอดตั้งแต่พื้น ผนัง ไปจนถึงหลังคา

ความต้องการนี้จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบ้านคอนกรีตทาสีขาวเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งหลัง โดยตัวบ้านลักษณะเป็นเหลี่ยมนั้นสูงชะลูดขึ้นไปด้วยหลังคาที่ถูกเฉือนตัดให้เป็นสามเหลี่ยมแบบหลังคาเพิงหมาแหงนที่ชั้นสอง ตลอดทั้งบ้านถูกรัดรอบด้วยชายคาสี่เหลี่ยมแบนยื่นยาวทำหน้าที่กันแดดและฝนให้กับชั้นล่าง และทำหน้าที่ลดทอนความพุ่งแหลมของตัวอาคาร ความโดดเด่นในเชิงภาพลักษณ์ของบ้านหลังนี้ยังเกิดจากการออกแบบช่องเปิดทั้งหลาย โดยชั้นล่างเกือบทั้งหมดเป็นผืนกระจกบานให้เพื่อให้ความโปร่ง ในขณะที่ชั้นบนกำหนดให้มีช่องเปิดเพียงในบางด้านที่จำเป็น ส่งผลให้เกิดบางด้านที่ไม่มีช่องเปิดเลยยิ่งช่วยให้รูปทรงเรขาคณิตสีขาวสำแดงตัวเองได้เด่นชัดมากขึ้นไปอีก โดยในจุดนี้ สถาปนิกก็ได้ออกแบบพื้นที่ภายในด้วยไม้และวัสดุหินในหลายส่วน เพื่อช่วยลดทอนความแบนและกระด้างของบ้านรูปทรงเรขาคณิตลงให้บ้านใช้อาศัยอยู่สบายขึ้นได้

ความท้าทายที่สุดของการก่อสร้างบ้านหลังนี้อยู่ที่การก่อสร้างหลังคา ที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่างเทคอนกรีตให้หลังคาราบเรียบเท่ากันและไม่มีรอยต่อเพื่อลดความเสี่ยงต่อการรั่วซึม นอกจากนั้น ก็เป็นการออกแบบดีเทลตามช่องหน้าต่างไม่ให้มีน้ำฝนย้อนกลับเข้าไปภายในบ้าน ซึ่งท้ายที่สุด บ้านหลังนี้ก็สำเร็จได้สวยถูกใจเจ้าของบ้านในแง่ที่ตัวบ้านได้แสดงมวลและรูปทรงเรขาคณิตชัดเจน รวมถึงความไร้รอยต่อยังเอื้อให้เมื่อตัวบ้านเริ่มเก่าเจ้าของบ้านก็สามารถทาสีใหม่ได้ตลอดทั้งหลังโดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบยิบย่อย แต่ที่สำคัญที่สุด คือการได้มีพื้นที่ส่วนตัวใหม่สำหรับครอบครัว มีพื้นที่รับแขก และยังได้อยู่ใกล้กับผู้เป็นพ่อ อันเป็นจุดประสงค์แรกเริ่มที่สำคัญที่สุดของบ้านหลังนี้นั่นเอง

เจ้าของโครงการ: คุณธนวัต สุตันติวรคุณ
ผู้รับเหมา: M.W.K. Construction
ออกแบบสถาปัตยกรรม: JUNSEKINO Architect and Design
ออกแบบภายใน: JUNSEKINO Interior Design

เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: Nantiya Busabong


PINN’N PAN HOUSE บ้านฟาร์ม ดีไซน์โมเดิร์น