บ้านไม้อบอุ่น ชวนห้อยขาล้อมคอร์ตสีเขียว

บ้านไม้อบอุ่น อาจเป็นโจทย์ที่กว้าง ผลลัพธ์สุดท้ายอาจต่างจากบ้านทรงจั่วที่หลายคนคิดไว้แต่แรก และบ้านโมเดิร์นทรอปิคัลกลิ่นอายไทยๆ หลังนี้ ก็เช่นกัน ซึ่งสุดท้ายความสุขคือการกลิ้งตัวนั่งเล่นบนชานบ้านแห่งความสบายใจ

คอร์ตยาร์ดเป็นเสมือนศูนย์กลางของบ้าน ด้านซ้ายเป็นโรงจอดรถ ตัวบ้านวางผังเป็นตัวแอล (L) ล้อมสวนเอาไว้พร้อนชานจากทั้งสองด้าน
สวนด้านหลังบ้านใช้เป็นมุมส่วนตัว ด้านนี้อยู่ติดกับคลองหลังหมู่บ้าน แปลนบ้านภายในด้านนี้เป็นทางเดินเพื่อกันความร้อนเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย มีการใช้งานพื้นที่ในห้องเพราะอยู่ค่อนไปทางทิศใต้

เริ่มจากบ้านทรงจั่วสองชั้นที่เรียบง่าย

ทำเลของบ้านหลังนี้อยู่ชานเมืองย่านฝั่งธนบุรี เป็นที่ดินเปล่าของครอบครัว เมื่อทางคุณอั๋นและคุณทิพ บุนนาค ต้องการสร้างบ้านใหม่ จึงมองหาสถาปนิกที่ชอบจากการติดตามผลงานที่ผ่านมา จนได้คุยกับ คุณจูน เซคิโน
ในตอนแรกคุณทิพย์อยากได้บ้านทรงจั่วสองชั้น ดูอบอุ่นเหมือนบ้านเก่าสมัยก่อน ไม่ได้มีความซับซ้อนหรือความต้องการอะไรมากนัก แต่หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก คุณจูนก็เริ่มนำเสนอบ้านชั้นเดียวที่มีสวนคอร์ตยาร์ดตรงกลางให้

เมื่อมองจากด้านนอกเข้าไปจะเห็นระแนงไม้ขนาดใหญ่ที่บังตาซ่อนความเป็นส่วนตัวเอาไว้
ด้วยความที่บ้านนี้เป็นบ้านที่เน้นความส่วนตัวเป็นหลัก ด้านหน้าสุดจึงเป็นส่วนรับประทานอาหารและครัว เนื่องจากเป็นมุมที่รับวิวคอร์ตยาร์ดได้เต็มตา และยังใช้งานเป็นโต๊ะอเนกประสงค์ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วย

อยู่แบบพอดีในบ้านชั้นเดียวแสนอบอุ่น

สถาปนิกมีเหตุผลในการออกแบบครั้งนี้ว่า พื้นที่จริงค่อนข้างใหญ่ และจากโจทย์การใช้งานของเจ้าของบ้านที่มีแค่สองคน จึงคิดว่าการทำบ้านชั้นเดียวน่าจะเพียงพอ ดังนั้นแนวคิดการใช้ชีวิตในบ้านแบบบ้านสมัยก่อน เช่น การนั่งเล่น การพักผ่อนหย่อนใจ จึงถูกตีความใหม่กลายเป็นชานบ้านขนาดใหญ่รับกับพื้นที่สวนสีเขียว ชานบ้านแบบลำลองด้านหลังอยู่ติดกับคลองขนาดเล็กที่กั้นหมู่บ้าน บริเวณนี้ทำชายคายื่นยาว รวมไปถึงการใช้วัสดุอย่างไม้ให้รับกับโครงบ้านสีขาว ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งเล่นอยู่ในคาเฟ่แบบญี่ปุ่นหรือไต้หวันที่แฝงไว้ซึ่งความเรียบง่ายแบบมินิมัล

คอร์คยาร์ดเป็นจุดเด่นของบ้าน ปลูกต้นไม้ใหญ่และพืชคลุมดินไม่กี่ชนิดเพื่อให้ดูแลรักษาง่าย
ส่วนรับประทานอาหารและครัวที่เชื่อมต่อสู่ภายใน ประตูเป็นบานเลื่อนไม้ให้บรรยากาศแบบย้อนยุค
สวนหลังบ้านให้เป็นส่วนสังสรรค์กับเพื่อนสนิท
คุณทิพเจ้าของบ้านในสวนหลังบ้านติดคลอง
อีกมุมหนึ่งของสวนด้านหลังบ้าน ปลูกต้นไม้เหมือนแนวรั้วเพื่อบังสายตาส่วนเซอร์วิส

สวนที่ต้นไม้ไม่ต้องเยอะ แต่ใช้งานได้จริง

คอร์ตยาร์ดกลางบ้านทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน ทุกห้องสามารถรับวิวความสดชื่นได้ โดยการวางผังการใช้งานเป็นรูปตัวแอล (L) ล้อมไว้ ตรงกลางปลูกต้นบุนนาคเป็นไม้ประธาน เนื่องจากเป็นนามสกุลของเจ้าของบ้าน ถือเป็นไม้มงคลน่าปลูกและให้ร่มเงาได้ดี บริเวณนี้ปลูกต้นไม้ไม่ต้องเยอะ เน้นดูแลง่าย พื้นปลูกสะระแหน่ประดับโดยรอบ สวนนี้ออกแบบโดย Kaizentopia และกลายเป็นจุดนั่งเล่นของบ้าน จะนั่งบนชาน หรือนั่งห้อยขาแบบศาลาริมคลองก็ได้
ขณะที่สวนด้านหลังที่ติดคลอง ทำรั้วเป็นตะแกรงช่วยบังตาและกรองแดด มีชานบ้านรับสวนส่วนนี้เช่นกัน คุณทิพย์เล่าว่าจริงๆ ที่บ้านไม่ได้รับแขกมากนัก แต่ถ้าแขกมาก็มักมานั่งพูดคุยกันข้างนอก ส่วนสวนด้านหลังที่เล็กกว่าก็ใช้เป็นที่สังสรรค์ กินบาร์บีคิวในแบบสบายๆ เป็นกันเอง

มุมด้านบนเห็นหลังคาเป็นรูปตัวซี (C) ซึ่งเกิดจากระนาบเอียงสองผืนรับน้ำไหลลงไปสู่คอร์ตยาร์ด ในยามฝนตกจะเกิดเป็นม่านน้ำฝนภายใน
มุมมองจากห้องนอนกลับไปยังประตูทางเข้า
ชานนั่งเล่นตรงคอร์ตยาร์ดใช้นั่งห้อยขาได้อย่างสบายใจ เป็น บ้านไม้อบอุ่น ในแบบ

ม่านน้ำฝนกลางบ้านกับหลังคาผืนใหญ่

ความน่าสนใจของคอร์ตยาร์ดกลางบ้านยังไม่หมดเพียงเท่านี้ การออกแบบหลังคาโดยรอบยังกำหนดให้รับน้ำและไหลเข้ามายังคอร์ตนี้ด้วย จากผืนหลังคาเมทัลชีตขนาดใหญ่จะมีตะเข้รางรับน้ำให้ไหลลงมาปะทะกับแผ่นเหล็กกั้นเป็นแนวลงสู่พื้นกรวด เพื่อช่วยซับแรงกระแทกที่พื้นเมื่อฝนตกหนัก ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศแบบทรอปิคัลมาทำให้เกิดเป็นภาพที่สวยงาม พร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานจริง มีการเจาะช่องสกายไลต์เป็นจุดๆ อาทิ ช่วงด้านหน้าและห้องน้ำ และเฉียงประกอบกันเป็นหลังคาผืนใหญ่ ซึ่ง สถาปนิกให้ข้อมูลว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้จบงานได้สวยพอดีตามองศาที่ต่างกันของหลังคาทั้งสองระนาบ

จากส่วนนั่งเล่นมองย้อนไปยังส่วนรับประทานอาหารและครัว ซึ่งเป็นด้านหน้าสุดของบ้าน
ภายในส่วนนั่งเล่นด้านใน ส่วนนี้หลังคาจะเอียงขึ้นสูงสุดจึงทำชั้นลอยเพื่อประดิษฐานพระบูชา
ชั้นลอยใช้ประโยชน์เป็นที่ประดิษฐานพระบูชา
ทางทิศตะวันตกที่รับแดด ออกแบบให้เป็นทางเดินเพื่อลดความร้อนซึ่งปะทะผนังห้องนอน

บ้านคือที่ที่เป็นตัวเราที่สุด

“ขอให้บ้านเป็นที่ที่เราตีลังกาหรือทำอะไรก็ได้ …รู้สึกว่าตอนกลับบ้านอยากเป็นตัวเรา ทำงานข้างนอกบางสถานการณ์มันไม่ใช่ตัวเรา คือพอก้าวออกไปจากบ้าน ทำงาน 8 – 10 ชั่วโมง มันก็เหนื่อย”
คุณทิพพูดถึงความรู้สึกของการใช้ชีวิตภายในบ้านหลังนี้ ซึ่งเหมือนเป็นที่ที่ตัดขาดจากงานประจำโดยสิ้นเชิง เป็นที่ทิ้งตัวพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมุมนั่งเล่นตามชานบ้านที่จะนั่งตรงไหนก็ได้ บนพื้นชาน หรือแม้แต่การมีสเต็ปต่างระดับให้นั่งพักตามจุดต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมีน้อยชิ้นแต่น่านั่งด้วยบรรยากาศแสงสว่างที่เข้ามาจากคอร์ตยาร์ด พร้อมกับอากาศซึ่งไหลเวียนได้ดีทั่วทั้งบ้าน คุณทิพทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “อยู่บ้านมาเกือบปีแล้ว รู้สึกแฮปปี้ ไม่เบื่อ เพราะมีอะไรให้ทำตลอด อย่างจัดสวนหลังบ้านหรือดูแลเรื่องต่างๆ ในบ้าน”
คำตอบเท่านี้คงเพียงพอแล้วที่จะบอกว่า “บ้าน” คือ “ความสุข” ของเจ้าของบ้านทั้งสองท่าน

ห้องน้ำออกแบบได้น่าสนใจมาก แม้จะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมก็ทำให้สวยได้ด้วยแสงธรรมชาติและกำหนดจุดนำสายตาไปสู่ความสดชื่นอย่างต้นไม้
ครัวแบบแพนทรี่ภายในบ้านยังคงใช้สีขาวและไม้เป็นหลัก ด้านนอกเป็นครัวไทยมีช่องหน้าต่างขนาดเล็กเชื่อมต่อ
บรรยากาศห้องนอนใหญ่ไปยังคอร์คยาร์ดสีเขียว
ห้องน้ำของห้องนอนแขกที่เผื่อวันหน้าอาจจะเป็นห้องของลูก สามารถเข้าถึงได้จากห้องนอนสองห้อง
ชุดที่นั่งด้านหน้าที่สร้างความรู้สึกต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้และเสื่อวัสดุธรรมชาติ
สวนที่ติดกับคลองเล็กๆ ด้านหลัง รั้วทำเป็นตะแกรงช่วยบังสายตาเป็นจังหวะๆ แต่ปล่อยให้อากาศถ่ายเทได้

เจ้าของ: คุณอั๋นและคุณทิพ บุนนาค
สถาปนิก: Jun Sekino A+D โดยคุณจูน เซคิโน
ออกแบบสวน: Kaizentopia
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตลิสต์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


รวม 7 บ้านชั้นเดียวน่าอยู่

50 ไม้มงคลน่าปลูกรอบบ้าน

บ้านเก่า 80 ปี รีโนเวทเป็นบ้านแสนอบอุ่น