สายมูพลาดไม่ได้กับ “ 50 ต้นไม้มงคล ” ตามความเชื่อของไทย

50 ต้นไม้มงคล เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาไทย ที่ถ่ายทอดโดยวิธีเล่าขานกันมาจากคนไทยโบราณตั้งแต่ในอดีตจนกลายมาเป็นความเชื่อในปัจจุบัน ซึ่งความมงคลของคนไทยโบราณส่วนใหญ่หมายถึงการให้คุณประโยชน์ทั้งต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สังคม และตนเอง ไม้มงคลจึงมีความหมายและความเป็นมงคลที่แตกต่างออกไป

โดยจำแนกจากพื้นฐานการดำรงชีวิตดังนี้

  • ไม้มงคลด้านการบริโภค สามารถนำมาทำอาหารคาว หวาน เพื่อดำรงชีวิตได้
  • ไม้มงคลด้านอุปโภค สามารถนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเครื่องดนตรี
  • ไม้มงคลในเรื่องความหอม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่น
  • ไม้มงคลในเรื่องยารักษาโรค สามารถนำใช้ทำสบู่ ยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือใช้ทำยารักษาแผลหรืออาการป่วย

ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ทางด้านปัจจัยสี่แล้ว ไม้มงคลยังใช้ในการประดับตกแต่งให้ความสวยงามได้อีกด้วย ทั้งนี้ไม้มงคลไม่ใช่ความงมงายแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ต้นไม้นั้นๆ ให้ประโยชน์สูงสุดและให้ความเป็นมงคลแก่ชีวิตมนุษย์ในด้านปัจจัยสี่อย่างแท้จริงนั่นเอง และในครั้งนี้เราได้แบ่งต้นไม้มงคลไว้ 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกันคือ

ไม้มงคลที่มีขนาดลำต้นสูงมากกว่า 10 เมตรขึ้นไป

กระดังงา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5 – 12 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจึงนิยมปลูกกลางแจ้ง ดอกนำมาทำน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ขนม หรือทำเป็นเครื่องหอมได้

กันเกรา เป็นไม้ยืนต้น สูง 8 – 25 เมตร ชอบแสงแดดตลอดวัน นิยมปลูกไว้กลางแจ้ง เพื่อให้ร่มเงา เป็นไม้มงคลหนึ่งในเก้าชนิดที่ใช้รองก้นหลุมก่อนลงเสาเอกของบ้าน นิยมปลูกทางทิศตะวันออก เชื่อว่าช่วยปกป้องคุ้มภัย

กัลปพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5 – 15 เมตร ชอบแสงแดด เหมาะปลูกกลางแจ้ง มีดอกสวยงาม นิยมปลูกตามสวนสาธารณะหรือริมถนน เนื้อไม้และเปลือกมีสารแทนนิน ใช้ฟอกหนังได้

ขนุน ไม้ต้น สูง 8 – 15 เมตร สามารถปลูกได้ในดินทุกประเภท แต่เติบโตช้า คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้หลังบ้าน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีคนช่วยเหลือสนับสนุนตลอดเวลา

จำปา ไม้ต้นสูง 10 – 15 เมตร ชอบแสงแดด ควรปลูกกลางแจ้งแต่ให้ห่างจากต้นไม้อื่นอย่างน้อย 5 เมตร

ชุมแสง ไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 8 – 15 เมตร ในยุคสมัยก่อนนิยมนำเนื้อไม้มาสร้างหลังคาโบสถ์ของวัดต่างๆ ทั้งในส่วนคาน ขื่อ และแปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงถือเป็นของสูงและเป็นต้นไม้ที่ให้ความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อโบราณ แตกกิ่งออกจำนวนมากเป็นกอคล้ายต้นไม้พุ่ม ลำต้นมีลีลาที่บิดโค้งไปมาสวยงามไม่เหมือนกันทำให้นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นจุดเด่นในสวนและมักมีเฟินและกล้วยไม้ขึ้นเกาะอยู่รอบๆดูเป็นธรรมชาติ บ้างนำมาปลูกเป็นบอนไซ

นางกวัก ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ ชอบแสงแดดจัดและบริเวณที่ชุ่มชื้น แต่ก็ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ผลแก่สามารถรับประทานได้ ไม่ผลัดใบและใบร่วงน้อยจึงเก็บกวาดใบได้ง่าย นิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้านหรือริมน้ำเพื่อให้ร่มเงา เป็นต้นไม้มงคลชนิดหนึ่ง นิยมปลูกในทิศตะวันตกของบ้านจะช่วยให้ร่ำรวยขึ้นตามความเชื่อโบราณ เนื้อไม้สามารถนำมาแกะสลักเป็นเครื่องเรือนได้

บุนนาค ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร ทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ ใบเขียวเข้มตลอดปี ให้ร่มเงาได้ดี พบมากในป่าดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำ ดอกมีกลิ่นหอมเย็น มักออกดอกในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ทานสดหรือทำอาหารได้ เนื้อไม้แข็งแรง กิ่งสามารถนำมาทำฐานรองพานดอกไม้ไหว้พระตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ โบราณนิยมปลูกต้นบุนนาคไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน เชื่อว่าจะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เหมือนมีพญานาคคุ้มครอง

ปีบ ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบ สูง 10 – 25 เมตร นิยมปลูกประดับสวน ริมถนน พุ่มใบสวย มีดอกหอม

พะยอม ต้นไม้ยืนต้น ผลัดใบ โตช้า ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 10 – 15 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่หรือกรวยคว่ำ เติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้งจึงสามารถนำไปปลูกได้ทุกที่ แต่หากอยู่ในที่มีดินเหนียวจะออกดอกน้อยกว่า ออกดอกเป็นช่อสีขาว บานพร้อมกันหรือทยอยบานทั้งช่อ ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงเย็น ออกดอกเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ หากอากาศเย็นจะบานสะพรั่งทั้งต้น ดอกอ่อนใช้รับประทานสดหรือทำอาหาร เช่น ยำหรือแกงส้มได้ เนื้อไม้สามารถใช้ก่อสร้างได้ เพราะมีความแข็งแรงใกล้เคียงกับไม้ตะเคียนทอง นิยมปลูกบริเวณบ้านในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปดั่งชื่อ และไม่ขัดสนเรื่องเงินทอง

มะตูม เป็นไม้ขนาดกลางที่สูงตั้งแต่ 4 – 20 เมตร สามารถปลูกได้ทุกที่ ในดินแทบจะทุกชนิด คนไทยมีความเชื่อว่ามะตูมเป็นไม้มงคล ถ้าปลูกไว้ในบ้านจะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้าย ในศาสนาฮินดูก็เรียกว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ จึงมักจะเห็นต้นมะตูมในพิธีกรรมทางศาสนาอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้มะตูมยังจัดว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ไม่ค่อยนิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์มากนัก เพราะตามกิ่งก้านและลำต้นของมะตูมมีหนามแหลม รวมไปถึงส่วนอื่น ๆของมะตูมที่สามารถนำใช้ประโยชน์ได้มากมาย จึงไม่คุ้มค่าที่จะโค่นเพื่อเอาไม้เพียงอย่างเดียว มะตูมสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ทานได้ตั้งแต่ราก ใบไปจนถึงผล ทุกส่วนเต็มไปด้วยสารอาหารที่สำคัญที่มีสรรพคุณเป็นยา ใบนิยมนำมาทานกับน้ำพริก ลาบ หรือยำ ผล สามารถทานได้ทั้งดิบและสุก แต่ถ้าสุกเนื้อจะมีสีเหลืองอมส้ม มีรสชาติหวานและส่งกลิ่นหอม

มะขาม ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 เมตร  ชอบแสงแสดด และเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกทางทิศตะวันตก เชื่อว่าช่วยป้องกันผีร้ายและเป็นที่เกรงขามดังชื่อ ยอดและใบอ่อนใช้ปรุงอาหารและมีสรรพคุณทางยา นิยมนำใบต้มน้ำร่วมกับหัวหอมแดง และสูดดมเพื่อแก้หวัด เนื้อมะขามใช้เป็นยาระบาย

มั่งมี มีชื่อเดิมว่า “เฉียงพร้านางแอ” เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ลำต้นสามารถสูงได้ถึง 25-35 เมตร โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นที่สูงตรงไม่มีกิ่งก้านที่แผ่ออกไปมากทำให้สามารถปลูกใกล้อาคารได้ อีกทั้งยังยังไม่ผลัดใบและใบร่วงไม่มากนักจึงให้ร่มเงากับอาคารได้ตลอดทั้งปี เนื้อไม้แข็งแรงและมีลายไม้สวยจึงสามารถนำไปใช้ทำเครื่องไม้เครื่องมือได้ นอกจากนั้นดอกยังมีกลิ่นหอม ผลสุกยังเป็นอาหารสำหรับสัตว์ขนาดเล็กอย่างนกและกระรอกในสวนได้

หว้า เป็นไม้ต้น ไม้ผลเขตร้อน สูง 15-35 เมตร มีพุ่มใบค่อนข้างแน่นให้ร่มเงาได้ดี ทรงพุ่มแผ่กว้างตามอายุที่มากขึ้น จึงต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมากกว่า 30 ตารางเมตร ถึงจะได้ต้นที่สมบูรณ์และสวยงามจริงๆ แต่ถ้าหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มบ้างก็จะได้ไม้ต้นในสวนที่สวยงาม ผลและยอดมีรสหวานอมเปรี้ยวปนฝาด จึงถูกใจใครหลายคน ด้านสมุนไพร เปลือกต้นต้มน้ำดื่มแก้บิด อมแก้ปากเปื่อย ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุกใช้ทำน้ำผลไม้และไวน์ แก้ท้องร่วงและบิดได้ เมล็ดมีสารช่วยลดน้ำตาลในเลือด

อินจัน เป็นต้นไม้ยืนต้นโตช้า สูง 10 – 20 เมตร ทรงพุ่มเป็นได้ทั้งทรงกลมและกระบอก โตช้า จุดเด่นคือผลของต้นไม้ชนิดนี้มีอยู่ 2 แบบในต้นเดียว คือผลที่มีลักษณะทรงกลมออกแบนและแป้นเรียกว่า “ลูกจัน” ส่วนผลที่มีลักษณะทรงกลมหนาและใหญ่กว่าจะเรียกว่า “ลูกอิน” เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองสวยและมีกลิ่นหอมมาก ผลสามารถรับประทานได้แต่ต้องนำมาคลึงให้ช้ำรสฝาดก็จะหายไปเหลือเพียงรสหวาน สามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบผลสดหรือนำไปแปรรูปเป็นของหวาน เนื้อไม้อินจันยังเป็นไม้ที่นิยมในทำเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเพราะมีลวดลายสวยงามและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เดิมนิยมปลูกในวัด พระราชวังหรือสถานที่สำคัญทางราชการ

สุพรรณิการ์ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8 – 15 เมตร ออกดอกสีเหลือง ชอบอากาศเย็นและแสงแดดจัด ใบอ่อน คั้นน้ำสกัดเป็นแชมพูได้ ดอกและใบแห้งเป็นยาบำรุงกำลัง คนไทยโบราณเชื่อกันว่า บ้านใดปลูกไว้ทางทิศใต้จะได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เพราะถือเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา

มะม่วง  ไม้ต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ระยะปลูกที่เหมาะสม 4 – 8 เมตร เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกทั่วไป มีหลายพันธุ์ให้เลือก ผลรับประทานได้ทั้งดิบและสุก เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ให้ร่มเงาได้ดี แต่ควรระวังน้ำยางอาจทำให้ผิวหนังเป็นแผลและสีรถเสียหาย ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มหลังเก็บผลเสมอ จะช่วยควบคุมความสูงได้ คนโบราณเชื่อว่าหากปลูกมะม่วงไว้ทางทิศใต้จะช่วยให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยร่ำรวยยิ่งขึ้น

แก้ว เป็นไม้ต้นชอบแดด สูง 3 – 10 เมตร เป็นไม้ทนแล้ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ไม้กระถาง หรือไม้ประดับรั้ว แต่ต้องหมั่นตัดแต่งจะได้ทรงพุ่มสวยงามและออกดอกทั่วต้น ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ปรุงน้ำหอมแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ใบใช้ปรุงเป็นยาขับโลหิตสำหรับสตรี แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง