Full House บ้านทรงจั่วที่บรรจุความสุขจนเต็มพิกัด

บ้านทรงจั่ว โมเดิร์น สีขาวน่ารักดีไซน์มินิมัล 700 ตารางเมตร แต่ด้วยที่ดิน 106 ตารางวา จึงเป็นความ “แน่น” ในการออกแบบที่สถาปนิกต้องแก้ปัญหา

บ้านทรงจั่ว
บ้านทรงจั่ว
บ้านทรงจั่ว

เมื่อสถาปนิก คุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ แห่ง WARchitect ได้คลี่คลายฟังก์ชันให้สื่อสารถึงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น  บ้านทรงจั่ว โมเดิร์น สีขาวน่ารักหลังนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งมองดูภายนอกเสมือนเป็นบ้านหลังเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นบ้าน 2 หลังของ 2 พี่น้องที่สร้างบ้านของครอบครัวตัวเองให้มีส่วนเชื่อมต่อและแชร์พื้นที่กันได้ จนกลายเป็นบ้านที่รวมครอบครัวใหญ่ให้อยู่พร้อมหน้ากัน

บ้านทรงจั่ว

บ้านพี่ บ้านน้อง บ้านเราติดกัน

ใน บ้านทรงจั่ว โมเดิร์น ที่ออกแบบให้ดูเป็นหลังเดียวกันนั้น แบ่งเป็น 2 หลังที่มีฟังก์ชันแยกออกจากกันอย่างชัดเจน บ้านหลังใหญ่ (บ้านฝั่งขวา) เป็นของพี่ชาย ส่วนบ้านหลังเล็ก (บ้านสูง 3 ชั้นฝั่งซ้าย) เป็นของน้องชาย ซึ่งต่างคนต่างมีครอบครัวและลูกวัยน่ารัก แต่ด้วยความผูกพันที่อยากให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้กัน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ (ปู่ย่าของหลานๆ) เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว ให้ท่านได้มีความสุขกับการได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าและได้เห็นการเติบโตของหลานๆ แล้วยังเป็นการได้กลับมารวมตัวกันของครอบครัวใหญ่ ที่ครอบครัวของน้องสาวได้มาอยู่พร้อมหน้ากันในวันหยุด ซึ่งนับรวมกันแล้วมีสมาชิกถึง 10 คน

ดีไซน์แบบ “เต็ม” พิกัด

“Full House” เป็นชื่อที่สถาปนิก-คุณวิน ตั้งเป็นชื่อเล่นให้กับบ้าน ด้วยมีหลายข้อจำกัดทำให้เป็นบ้านที่ทั้ง “เต็ม” และ “แน่น” ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ด้วยที่ดิน 106 ตารางวา ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 700 ตารางเมตร เมื่อคำนวณพื้นที่ใช้สอยจากฟังก์ชันที่ต้องการ ประกอบกับที่ดินมีถนนล้อมรอบถึง 3 ด้าน จึงมีกฎหมายเกี่ยวกับระยะร่นจากกึ่งกลางถนนทำให้เหลือพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างได้ลดลง เบื้องต้นเริ่มจากร่างแบบแปลนเป็นบ้าน 3 ชั้นที่ค่อนข้างแน่นกับระยะร่นของที่ดิน จึงจะบรรจุฟังก์ชันทั้งหมดลงไปได้ โดยทั้งสองหลังจะมีฟังก์ชันหลักที่เหมือนกัน คือ มีห้องนั่งเล่นที่มีประตูบานเลื่อนเปิดกว้างเชื่อมกับสวนในคอร์ตส่วนตัว มีห้องนอนครบตามจำนวนของสมาชิกของแต่ละฝั่ง มีเพียงห้องครัวไทยเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของบ้าน ประตูของทั้งสองหลังสามารถเปิดเข้ามาเพื่อเชื่อมกันได้

บ้านทรงจั่ว
บ้านทรงจั่ว
บ้านทรงจั่ว
บ้านทรงจั่ว

สภาพแวดล้อมกับการออกแบบ

โดยกายภาพของที่ตั้งด้านหน้าบ้านจะหันไปทางทิศเหนือซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบให้มีช่องเปิดได้เยอะ และเป็นด้านที่ถนนกว้างกว่าด้านอื่นๆ อีกทั้งยังไม่มีเสาไฟฟ้าพาดผ่านทำให้แสดงความงามของตัวบ้านได้มากกว่าด้านอื่น ด้านทิศใต้เป็นหลังบ้านซึ่งมีเสาไฟฟ้าพาดผ่านจึงมีช่องเปิดพอประมาณ ส่วนด้านข้างของบ้านเป็นทิศตะวันออกและตะวันตกซึ่งมีแดดร้อน จึงทำเป็นผนังทึบก่อ 2 ชั้นทั้งหมดไม่มีช่องเปิดแม้แต่ช่องเดียว โดยใช้วิธีการเปิดคอร์ตเพื่อสร้างสเปซที่เป็นส่วนตัว ทำให้มีการระบายอากาศและนำแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้าน และเพื่อให้รูปทรงภายนอกดูเรียบง่ายสวยงามโดยไม่มีช่องเปิดต่างๆมารบกวนบ้านทรงจั่วบ้านทรงจั่ว

บ้านทรงจั่ว ตัวแทนความน่ารักและความอบอุ่น

เมื่อสถาปนิกทดลองสร้างเป็นภาพสามมิติพบว่ารูปทรงของบ้านมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่นั้นมีสัดส่วนไม่สวยงามและดูไม่อบอุ่นเลย จึงพัฒนาต่อโดยใช้วิธีการออกแบบภาษาทางสถาปัตยกรรมให้เกิดเอกลักษณ์และแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้นึกถึงทรงจั่วแบบไม่มีชายคาซึ่งเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนนึกถึงบ้านที่อบอุ่นได้อย่างเรียบง่ายที่สุด ในรูปทรงจั่วได้ออกแบบให้แบ่งครึ่ง โดยฝั่งหนึ่งเป็นผนังทึบและอีกฝั่งเป็นช่องเปิดทั้งหมด และออกแบบขอบของทรงจั่วด้วยแผ่นเหล็กให้มีความบาง เพื่อให้ฝั่งที่เป็นช่องเปิดมีความโล่งที่สุด บ้านทรงจั่ว

ความสมดุลและอิสระของทรงจั่ว

สถาปนิกออกแบบรูปทรงจั่วให้มีสัดส่วนและองศาเท่ากัน สำหรับบ้านหลังนี้การทำรูปทรงจั่ว 4 ชิ้นจะเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อจัดวางกับตัวอาคาร ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกอิสระ เนื่องจากการออกแบบให้หน้าจั่วทั้ง 4 ชิ้นมีความลอยตัวเป็นอิสระต่อกัน มีการสัมผัสกันแบบมุมชนมุมบ้างหรือไม่สัมผัสกันเลย และมีมิติจากระนาบที่ลึกไม่เท่ากันและมีระดับความสูงต่างกันแต่ยังมีความสมดุล บ้านทรงจั่ว

ครอบครัวคือความสุข

เนื่องจากเป็นครอบครัวซึ่งมีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ จึงเลือกใช้วัสดุเรียบง่ายอบอุ่นสบายตาด้วยผนังสีขาวเรียบและพื้นไม้สีอ่อน เน้นให้ทำความสะอาดง่ายไม่เก็บฝุ่น เน้นผนังส่วนที่สำคัญด้วยหินอ่อนสีขาว และออกแบบราวกันตกแบบมินิมัลด้วยแผ่นเหล็กบางๆ ทั้งเพื่อประหยัดพื้นที่ และเป็นราวทึบที่ป้องกันเด็กเล็กตกได้ดี

แม้บ้านทั้งสองหลังจะแยกฟังก์ชันกันอย่างชัดเจน แต่การได้แชร์พื้นที่ครัวไทยกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแก่นของครอบครัวที่จะนำพาทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกัน ทั้งมานั่งรับประทานร่วมกัน แชร์ความรู้สึกกัน หรือแบ่งไปนั่งชิลในมุมส่วนตัว ก็ต่างได้รับความอบอุ่นที่มาจากครัวเดียวกัน เมื่อครอบครัวคือ “บ้าน” ก็จะเกิดความสุขแบบเรียบง่าย แต่เป็นสุขที่บรรจุไว้จนเต็มพิกัด

บ้านทรงจั่ว
  • ออกแบบ  : WARchitect โดย คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ, คุณพศวัต อปริมาณ www.facebook.com/ WARchitect
  • เจ้าของ : ครอบครัวตรรกพงศ์

  • เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพ: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

บ้านริมทะเลสาบของคุณหนึ่ง ณรงค์วิทย์ 

V60 House บ้านโมเดิร์นของนักบิน

ติดตามบ้านและสวน