บ้านสไตล์ลอฟต์ หนึ่ง ณรงค์วิทย์

Sleepless Residence บ้านริมทะเลสาบของคุณหนึ่ง ณรงค์วิทย์ ที่ได้ฟีลเหมือนอยู่รีสอร์ต

บ้านสไตล์ลอฟต์ หนึ่ง ณรงค์วิทย์
บ้านสไตล์ลอฟต์ หนึ่ง ณรงค์วิทย์

บ้านของคุณหนึ่ง ณรงค์วิทย์ “เจ้าพ่อเพลงเหงา” ที่ออกแบบบ้านให้เหมือนรีสอร์ต การใช้ชีวิตปกติในบ้านจึงกลายเป็นการออกไปเที่ยวดื่มด่ำบรรยากาศดวงอาทิตย์ตกทุกวัน ยกสวนขั้นบันไดมาไว้ในคอร์ตกลางบ้านที่สร้างสเปซแบบอัฒจันทร์ไม่ให้บังวิวกัน เป็นสเปซที่ได้เปลี่ยนความเหงาให้เป็นทำนองรัก หนึ่ง ณรงค์วิทย์

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: WARchitect
ออกแบบสวน : บริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด โดยคุณธวัชชัย ศักดิกุล และคุณพลอยทับทิม สุขแสง
เจ้าของ :  คุณณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์  หนึ่ง ณรงค์วิทย์

ยามที่ความเ(ห)งาเป็นเงาเข้ามาเคลือบคลุมใจ เชื่อว่าต้องมีสักเพลงของ คุณหนึ่ง-ณรงค์วิทย์  เตชะธนะวัฒน์ นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ชื่อดังที่ถนัดแต่งเพลงเหงาโดนใจ จนฮัมเพลงตามแบบทั้งย้ำทั้งปลอบใจตัวเอง “อยู่คนเดียวก็ดีเหมือนกัน ไม่เปลืองหัวใจ อาจจะมีแค่เหงา เหงาบ่อยๆ ก็คุ้นกันไป…ไม่มีใครรัก ก็รักตัวเองให้เป็น” (Sleepless Society by Narongvit) แต่เงาของความเหงากลับค่อยๆ จางไป เมื่อสเปซของบ้านบรรเลงทำนองชีวิตบทใหม่ร่วมกับแมว ต้นไม้ ผืนน้ำ และขอบฟ้ายามโพล้เพล้ด้วยตัวโน้ตที่เปลี่ยนไป

“เคยคิดว่าอยากมีบ้านในฝันที่เป็นตัวเราจริงๆ แล้วบังเอิญมาพบที่ดินกว่า 130 ตารางวา ริมทะเลสาบนี้ที่เห็นครั้งแรกก็ประทับใจกับวิวสวยเหมือนอยู่ต่างจังหวัด” คุณหนึ่งเล่าย้อนไปเมื่อกว่า 3 ปีก่อน หลังจากนั้นได้มอบหมายให้ WARchitect โดย คุณธาวิน หาญบุญเศรษฐ เป็นผู้ออกแบบบ้าน และ บริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด โดย คุณธวัชชัย ศักดิกุล และคุณพลอยทับทิม สุขแสง เป็นผู้ออกแบบสวน ด้วยความคิดว่า “อยากให้ผลงานออกแบบเป็นลายเซ็นของนักออกแบบเอง เราเป็นนักแต่งเพลงจึงเข้าใจดีว่าถ้าอยากได้เพลงดีๆ ก็ต้องเป็นเพลงที่เป็นตัวของเรา เป็นการทำงานของนักคิด การออกแบบของสถาปนิกและภูมิสถาปนิกก็เช่นกัน จึงให้อิสระในการคิด เพียงบอกความต้องการและไลฟ์สไตล์ คือ อยากมีสวนเป็นคอร์ตกลางบ้าน มีสระว่ายน้ำ ชอบความดิบสไตล์ลอฟ์ต แต่ก็ชอบความเนี้ยบ และส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ที่บ้านจึงอยากให้บ้านน่าอยู่จนไม่อยากออกไปไหน การทำบ้านให้เหมือนรีสอร์ตจึงเป็นคีย์คอนเซ็ปต์ที่ทำให้การอยู่บ้านเหมือนได้ไปเที่ยวทุกวัน”

ฟาซาด ฟาซาดอิฐ บ้านสไตล์ลอฟต์ ที่จอดรถ
ออกแบบอาคารฝั่งติดถนนให้บล็อกความวุ่นวายจากภายนอก จึงก่อฟาซาดบังห้องนอนใหญ่ที่อยู่ชั้นบนแบบกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ด้วยอิฐที่มีขนาดกว้างและยาวในสัดส่วน 1 : 6 (ทั่วไปนิยมใช้อิฐสัดส่วน 1:2) โดยสถาปนิกคิดว่าจะออกแบบอย่างไรที่อิฐแบบเดิมทำไม่ได้ จึงก่อเอียง 45 องศาเหมือนฟันปลา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างก้อน การก่อเข้ามุมจะมีลักษณะสวยงามเฉพาะตัว
ห้องนอน
ห้องนอนใหญ่อยู่ในระดับความสูงครึ่งชั้นของอาคารฝั่งติดทะเลสาบ เพื่อเปิดมุมมองไม่ให้บังกันแบบที่นั่งอัฒจันทร์ (Amphitheater) จึงมองผ่านคอร์ตไปเห็นทะเลสาบได้เช่นกัน

แสงยามเช้าส่องผ่านผนังอิฐหน้าบ้านที่ก่อสลับเกิดเป็นช่องว่าง เอียงมุมแบบฟันปลาภายใต้กรอบเหล็กที่แสดงขอบเขตรูปทรงสี่เหลี่ยมอย่างทรงพลัง แต่แอบซ่อนเนื้อในที่โปร่งเบาจนถึงเปิดโล่งให้ความว่างและ “ที่ว่าง” สร้างจังหวะและท่วงทำนองร่วมกันอย่างอิสระ ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่สบาย แต่มีสเปซให้ถ้อยความคิดได้เดินทางมาบรรจบกับตัวโน้ต คุณธาวิน สถาปนิก เล่าถึงการออกแบบว่า “การจะมีทั้งคอร์ต กลางบ้าน มีฟังก์ชันครบ และเห็นวิวทะเลสาบทั้งหมดกลายเป็นเรื่องยากสำหรับที่ดินขนาดนี้ เมื่อวิเคราะห์แล้วจึงนึกถึงสเปซแบบอัฒจันทร์ (Amphitheater) ของโรงละครซึ่งเป็นที่นั่งลาดเอียงแบบขั้นบันได ทำให้คนแถวหน้าไม่บังคนแถวหลัง และถ้าเราเป็นศิลปินมองย้อนกลับขึ้นไปก็จะเห็นหน้าผู้ชมได้เต็มตา บ้านมีพื้นที่ใช้สอย 570 ตารางเมตร โดยออกแบบอาคารเป็นสองส่วนหลักแทรกด้วยคอร์ตตรงกลาง ประกอบด้วยอาคารริมทะเลสาบเป็นฟังก์ชันหลักคือโถงพักผ่อนและห้องทำงาน ส่วนอาคารริมถนนเป็นส่วนบริการ ที่จอดรถ และได้ยกห้องนอนใหญ่มาคร่อมบนที่จอดรถเพื่อให้ระดับพื้นสูงเหลื่อมกับอีกอาคาร เมื่ออยู่ในห้องนอนจะมองเห็นทะเลสาบผ่านห้องนั่งเล่นได้ และเมื่ออยู่ห้องนั่งเล่นหันกลับมาจะมองเห็นสวนขั้นบันได ซึ่งให้มิติมากกว่าการมองสวนในแนวราบ การทำพื้นต่างระดับยังช่วยบังไม่ให้เห็นที่จอดรถซึ่งอยู่ด้านหลังสวน และสร้างขอบเขตให้พื้นที่ภายในเป็นส่วนตัว”

ห้องน้ำ
กั้นผนังห้องน้ำด้วยกระจกเปลือยไร้กรอบให้เสมือนเป็นห้องน้ำกึ่งกลางแจ้ง โดยผนังด้านนอกก่ออิฐสองชั้นให้เหลื่อมกันช่วยบังให้เป็นส่วนตัว แล้วเปิดช่องสกายไลต์ให้แสงธรรมชาติเข้ามาจากด้านบน

คุณธวัชชัย ภูมิสถาปนิก อธิบายการออกแบบสวนว่า “พื้นที่สวนมีสองส่วน คือ คอร์ตกลางบ้านและริมน้ำ ซึ่งคุณหนึ่งชอบบรรยากาศสวนป่าริมทะเลสาบสไตล์ตะวันตก ไม่ชอบไม้ดอก และเน้นการดูแลรักษาง่าย สวนบริเวณคอร์ตกลางบ้านจึงออกแบบให้มีบรรยากาศแบบป่าลึก โดยใช้ต้นไม้ใบทึบ มีรูปทรงชัดเจน ปลูกให้สูงขนานไปกับทางเดินตามระดับ เช่น ต้นมะเม่า เฟิน หญ้าถอดปล้อง สนใบพาย ไทรปัตตาเวียซึ่งอยู่ใต้ร่มไม้ได้ เพราะบริเวณนี้จะได้รับแสงเฉพาะช่วงเที่ยงเท่านั้น ส่วนริมทะเลสาบจะเปลี่ยนบรรยากาศเป็นป่าโปร่ง มีน้ำตกไหลจากด้านในลดหลั่นลงมา โดยสูบน้ำจากทะเลสาบขึ้นมาแล้วปล่อยกลับลงทะเลสาบ เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับบริบท และใช้จุดเด่นของพื้นที่ไล่ระดับซึ่งสถาปนิกออกแบบไว้”

คอร์ตกลางบ้าน สวนคอร์ต
สวนในคอร์ตกลางบ้านออกแบบให้มีบรรยากาศแบบป่าลึก โดยใช้ต้นไม้ใบทึบ มีรูปทรงชัดเจน เช่น มะเม่า เฟิน หญ้าถอดปล้อง สนใบพาย ไทรปัตตาเวีย
บ้านสไตล์โมเดิร์นลอฟต์
บ้านสไตล์โมเดิร์นลอฟต์ทรงกล่องที่แผ่คลุมฟังก์ชันทั้งหมด โชว์สัจจะวัสดุของเหล็ก อิฐ หิน กระจก แต่ลงรายละเอียดการติดตั้งให้เนี้ยบ วัสดุหลังคาใช้พีวีซีเมมเบรน รองด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์และฉนวนโฟมกันความร้อน ทรงอาคารจึงดูเรียบแบนคล้ายดาดฟ้า ไม่ร้อน ฝนตกก็เงียบ
โถงนั่งเล่น
บริเวณโถงนั่งเล่นทำโครงสร้างเหล็กช่วงกว้าง 10.50 เมตร เพื่อเปิดสเปซโล่ง พร้อมทำตงรับน้ำหนักพื้นชั้นบนให้เป็นเส้นตามยาวทิศทางเดียว ไม่มีเส้นขวาง กรุฝ้าเพดานไม้เผาผิวที่มีเท็กซ์เจอร์และโชว์โครงสร้างตงพื้นให้สวยงามแบบไม่ปกปิด
ผนังอิฐ ส่วนรับประทานอาหาร
สถาปนิกคิดว่า “ในเมื่อจะกรุผนังด้วยกระเบื้องดินเผา ถ้าเรียงลายอิฐจะธรรมดาไป จึงจัดเรียงในแนวตั้งแบบที่อิฐจริงทำไม่ได้ เพิ่มลูกเล่นโดยกลับด้านหลังอิฐที่เป็นร่องให้เป็นลวดลาย และกลายเป็นวัสดุที่ช่วยดูดซับเสียงไปในตัว”
โถงนั่งเล่น สระว่ายน้ำ
สเปซโถงนั่งเล่นเปิดโล่งเชื่อมต่อกับฝั่งสวนและฝั่งสระว่ายน้ำเสมือนเป็นส่วนเดียวกัน ทำชายคาชั้นบนยื่นยาวที่ช่วยกันแดดกันฝนและเป็น Frame View ที่ช่วยกำหนดมุมมอง

“น้องฝุ่น” แมวสีหม่นขนปุยออกมารับแขกและคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง “สมัยอยู่คอนโดมิเนียมแม้จะมีคนอยู่มากมายแต่ก็รู้สึกเหงา เป็นช่วงที่แต่งเพลงชุด Sleepless Society อยู่ในห้องมองวิวโดดเดี่ยวและเกิดความเหงา แต่เมื่อบรรยากาศเปลี่ยน มีธรรมชาติ เลี้ยงแมว มีบริเวณให้เราได้ใช้ชีวิต เราสร้างความสุขให้ตัวเองได้ ปกติไม่เคยเข้าครัวแต่ถ้าใครติดตามในอินสตาแกรม จะเห็นณรงค์วิทย์เข้าครัวและหัดชงกาแฟเสมือนบาริสต้าที่มีคาเฟ่เป็นของตัวเอง” คุณหนึ่งเล่าเคล้าบรรยากาศสบายๆ

ห้องแต่งเพลง ห้องทำงาน
ห้องแต่งเพลงอยู่ชั้นบนเป็นจุดชมวิวที่เห็นทะเลสาบกว้างไกล สำหรับเวลาที่คุณหนึ่งต้องใช้ความคิด พร้อมทำราวกันตกกระจกเปลือยไม่บดบังทัศนียภาพ
ชั้นวาง ของสะสม
ของสะสมสไตล์วินเทจเพียงบางส่วนที่คุณหนึ่งคัดเลือกมาจัดวาง สร้างบรรยากาศให้มีทั้งเรื่องราวและความทรงจำดีๆ
มุมเล่นดนตรี
เปียโนหลังโปรดที่ใช้แต่งเพลงย้ายมาจากบ้านเดิม ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการย้ายขึ้นมาชั้นบน จึงต้องขนมาตั้งแต่บ้านยังไม่เสร็จ
สวนป่า
พื้นที่ริมทะเลสาบเป็นที่ดินงอกเองตามธรรมชาติกว้าง 5 เมตร ซึ่งทางโครงการไม่ให้ทำสิ่งปลูกสร้าง จึงจัดเป็นสวนในสไตล์ป่าโปร่งแบบตะวันตกที่มีน้ำตกไหลเล่นระดับลงมา ใช้พรรณไม้ทนแดดอย่างซิลเวอร์โอ๊ก ถั่วบราซิล ไทรปัตตาเวีย
สวนน้ำตก
สวนน้ำตกขั้นบันได ทำบ่อน้ำตื้นๆ และขอบกระบะต้นไม้ด้วยแผ่นเหล็กหนา 10 มิลลิเมตร ทำให้ขอบกระบะดูบางเบา พร้อมเว้นช่องน้ำตกให้ไหลสลับช่องลดหลั่นลงมา
มุมนั่งเล่น มุมนั่งเล่นริมน้ำ ศาลาริมน้ำ
ภูมิสถาปนิกสังเกตสภาพน้ำในทะเลสาบซึ่งใสตลอดปี จึงใช้เทคนิคสูบน้ำดิบขึ้นแล้วปล่อยผ่านน้ำตกให้ไหลกลับสู่ทะเลสาบ สร้างความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม
มุมนั่งเล่น มุมนั่งเล่นริมน้ำ
บรรยากาศฟ้าเปลี่ยนสียามดวงอาทิตย์ตกที่มีความงามไม่ซ้ำกันสักวัน การอยู่บ้านจึงเหมือนได้ออกไปเที่ยวทุกวันจนไม่อยากออกไปไหน

“บ้านนี้เสร็จทันช่วงไวรัสโควิด -19 พอดี จึงกักตัวอยู่กับบ้าน เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าและมีค่ามาก ค่อยๆ แต่งบ้าน ตัดแต่งต้นไม้ ใช้สระว่ายน้ำ ลองใช้ทุกพื้นที่ ดูเหมือนเป็นการพักผ่อน แต่จริงๆ ไม่ได้หยุดทำงานเลย ช่วงนั้นแต่งเพลงได้เยอะมาก บางวันแต่งเพลงตรงห้องนั่งเล่น บางวันก็ที่ห้องทำงาน คิดไม่ออกก็ไปเดินที่ระเบียงริมน้ำ เดินในสวน สัมผัสทุกอารมณ์ของการอยู่บ้าน และรู้สึกว่านี่แหละ บ้านที่เป็น ‘บ้าน’ สถาปนิกออกแบบภายในมาส่วนหนึ่ง เราเองก็มีพร็อปส์แนววินเทจสะสมไว้เยอะ จึงค่อยๆ จัดวางให้ไม่มากไม่น้อยไป บ้านไม่จำเป็นต้องเสร็จสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีสเปซให้เจ้าของบ้านมาต่อยอดให้เป็นตัวเอง ได้รู้สึกภูมิใจกับผลงานซึ่งมันสนุกตรงนี้แหละ”

หากเปรียบวันเวลาเป็นเพลง ยามอาทิตย์อัสดงคงเป็นท่อนกินใจที่แปรเป็นได้ทั้งความงามและสีหม่น บ้านและสวน จึงอยากรู้ว่าถ้าคุณหนึ่งแต่งเพลงสำหรับที่นี่จะเป็นแนวอะไร “เพลงสำหรับบ้านนี้เป็นแนวรักโรแมนติกเท่านั้น แม้ลายเซ็นของหนึ่ง ณรงค์วิทย์คือเพลงเหงา แต่บ้านนี้มีหลายองค์ประกอบที่ทำให้ไม่เหงา ชอบช่วงโพล้เพล้ที่ดวงอาทิตย์ใกล้ตกจะโรแมนติกมาก บางวันเป็นฟ้าสีชมพู บางวันมีเงาสะท้อนของดวงอาทิตย์ตกในน้ำและไม่เคยเหมือนกันสักวัน ไม่ต้องขับรถไปรีสอร์ตหรือทะเลที่ไหน เพราะดวงอาทิตย์ตกที่บ้านของฉันก็สวยไม่แพ้กัน” ท่วงทำนองเพลงรักยังคงบรรเลงต่อไปเคล้าความมืดที่เข้ามาห่มคลุมเพื่อพบกับแสงเช้าอบอุ่นของวันใหม่

ราวเหล็ก
ราวเหล็กข้ออ้อย ออกแบบชั้นและราวแขวนเสื้อสไตล์ลอฟต์ด้วยเหล็กข้ออ้อยที่ใช้ในงานก่อสร้างร่วมกับชั้นไม้จริงที่โชว์ผิวแบบดิบๆ
ไม้เผาผิว ตกแต่งฝ้าเพดานด้วยไม้เผาผิว เป็นวิธีการรักษาเนื้อไม้แบบญี่ปุ่น เพื่อป้องกันปลวก แมลง การยืดหด ความชื้น และการติดไฟ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Yakisugi” หรือ “Shou Sugi Ban”
ผนังอิฐ
โชว์ลายหลังอิฐ กรุกระเบื้องดินเผาแนวตั้งสลับกับการพลิกด้านหลังอิฐที่หนา 2 เซนติเมตร ทำให้นูนมีมิติขึ้นมา และโชว์ร่องสำหรับยึดติดกับปูน สร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์จากเนื้อวัสดุเอง

บันได บันไดสีสนิม
เหล็กทำสีสนิม ทำราวกันตกบันไดด้วยแผ่นเหล็กหนา 10 มิลลิเมตร โดยขัดโป๊รอยต่อระหว่างแผ่น พ่นสีน้ำมันดำด้าน แล้วปัดสีให้เหมือนสนิม

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, บริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด, WARchitect โดยคุณรุ่งกิจ เจริญวัฒน์

สไตล์: Jeedwonder Jeed

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับกรกฎาคม 2563

บ้านดาดฟ้า เหนือหลังคาอพาร์ตเมนต์ใจกลางลาดพร้าว

บ้านบรรยากาศรีสอร์ต ของคุณบอย – พิษณุ นิ่มสกุล

Y/A/O RESIDENCE บ้านโมเดิร์นสีดำกับเส้นเฉียงเป็นเอกลักษณ์