บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก ที่เล่าเรื่องไทยอีสานสมัยใหม่ในบริบทเดิม

บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก สไตล์พื้นถิ่นไทยอีสานรูปแบบสมัยใหม่ที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมแบบชนบท ของคุณปิแอร์ เวอร์เมียร์ ที่อยู่เมืองไทยมาได้ 6 ปีแล้ว จึงคุ้นเคยกับวิถีแบบไทยและติดใจในความเป็น “บ้านนอกที่อบอุ่น” ในจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ ที่ตั้งของบ้านนี้คือบริเวณบ้านเดิมของ คุณนิตยา สำแดง คู่รักของคุณปิแอร์ เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงบ้าน จึงถือโอกาสสร้างใหม่ทั้งหลังเสียเลยโดยมี คุณเล็ก – กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล รับหน้าที่ออกแบบ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacetime Architects

บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก thaihouse

“โจทย์ของเราคืออยากได้บ้านไทยอีสาน  ที่ไม่ใช่แค่เลียนแบบอาคารพื้นถิ่น แต่ต้องเป็นบ้านที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมจริงๆ  เชื่อมโยงผู้อยู่อาศัย กับชุมชน  บอกเล่าและแบ่งปันชีวิตซึ่งกันและกันได้  เป็นบ้านที่เหมาะกับช่วงอายุ ของเราซึ่งเริ่มสนใจคุณภาพของการใช้ชีวิตมากกว่าการโหมงานหนัก”  บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก

คุณเล็ก-กรรณิการ์ แห่ง บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด เล่าเสริมให้ฟังต่อว่า “อยากได้บ้านไทยๆ  หลังไม่ต้องใหญ่มาก  และชอบไม้  นี่คือสิ่งที่คุณ ปิแอร์บอกกับเราตอนคุยกันครั้งแรก เอาจริงๆ รู้สึกว่าการได้ทำบ้านไทยแนวชนบทเป็นลักษณะบ้านที่เป็นตัวของเราเองมากกว่าการออกแบบบ้านในรูปแบบอื่น  จึงคุยกันง่ายและให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างจะตรงใจกัน”

ชั้นล่างของบ้านเป็นส่วนรับแขกและครัวมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน ให้บรรยากาศคล้ายใต้ถุนบ้านไทย มีบันไดโปร่งอยู่กลางบ้าน ห้องครัวด้านหน้า และระเบียงรายรอบ ผนังเป็นกรอบโครงคร่าวที่ใช้วัสดุเพียง 3 ชนิด คือ ผนังไม้ซ้อนเกล็ด กระจกบานเกล็ด และแผ่นซีเมนต์บอร์ด การวางผังที่โล่งในแบบฉบับบ้านไทย มีหน้าต่างประตูที่เปิดให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ทำให้พื้นที่นี้ดูร่มเย็น   บ้านไทยอีสาน

บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก thaihouse

บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก thaihouse

““เราใช้วัสดุและวิธีการที่แทบไม่แตกต่างจากบ้านในบริบทโดยรอบ นอกจากความเหมาะสมในแง่งบประมาณ  แหล่งวัสดุ  และขั้นตอนการก่อสร้างแล้ว  ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ  บ้านหลังนี้ดูกลมกลืนกับชุมชนได้ดี”

ความโปร่งคือหัวใจสำคัญของบ้านพื้นถิ่นไทย นอกจากจะสบายตาแล้ว ยังช่วยให้กระแสลมในบ้านพัดผ่านได้ดี  จากภาพจะเห็นว่าทั้งบันไดแบบบาง (แต่ไม่บอบบาง) โถงทางเดินหลังคาสูง ไปจนถึงระเบียงหลังบ้านล้วนไม่กีดขวางทางลม ทำให้ทั้งบ้านอยู่ในสภาวะน่าสบาย ไม่ร้อนอับ

ผลลัพธ์ที่ได้เป็นสิ่งที่ตรงใจคุณปิแอร์  เพราะบ้านหลังนี้ช่างกลมกลืนไปกับสังคมชนบทเสียจริง  ไม่ว่าจะเป็นรั้วบ้านที่มองเห็นกันได้ระหว่างภายในกับภายนอกบ้าน  ชานระเบียงต่างๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก  หรือแม้กระทั่งลานหน้าบ้านที่มักกลายเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ในละแวกบ้าน

บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก thaihouse

โครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้เลือกใช้โครงเหล็ก H-Beam  แล้วนำองค์ประกอบของบ้านไทยในพื้นถิ่นเข้ามาประกอบ  รายละเอียดส่วนต่อเชื่อมต่าง ๆ ของโครงสร้างบ้านจึงไม่เหมือนใคร เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำความเข้าใจรอยต่อระหว่าง  “บ้านพื้นถิ่น”  กับ  “บ้านสมัยใหม่”  เพราะสาระสำคัญของการ มีบ้านคือ  ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายทั้งทางกายและใจ

บ้านไม้.นโครงสร้างเหล็ก เฉลียงข้างบ้าน ประตูบานเปิด thaihouse

ชานระเบียงทางเดินรอบบ้านและชายคาซึ่งความจริงคือโครงสร้างของชั้นสองที่ยื่นคลุมออกมาตามระยะชาน  เป็นการสร้างพื้นที่ร่มเงาให้แดดสาดเข้าไปไม่ถึงบริเวณด้านใน  หนึ่งในเคล็ดลับการออกแบบบ้านไทย สุดปลายทางเดินคือห้องน้ำที่ตั้งไว้นอกบริเวณที่พักอาศัย แต่เดินถึงได้โดยยังอยู่ใต้ชายคาระเบียงชั้นสอง

“มันไม่เหมือนกันเลยนะเมื่อเทียบกับการมีบ้านในกรุงเทพฯแล้วมาเที่ยวอุดรฯ  กับมีบ้านที่อุดรฯแล้วเวียนไปทำงานที่กรุงเทพฯ  อย่างหลังมันให้ความรู้สึกว่ามีบ้านชนบทรอให้กลับไป  เป็นชีวิตอีกด้านที่สงบกว่าความวุ่นวายในเมือง”

คุณปิแอร์เล่าว่าตอนนี้เขาจะขึ้นมาที่อุดรธานีเดือนละ 2 – 3 ครั้ง  แต่ ในอนาคตอาจมาอยู่ประจำที่นี่เลย  เขาสนุกกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาดใกล้ๆ ชอบเข้าครัวทำอาหารและชวนเพื่อนบ้านมากิน  พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บางครั้งก็มีเพื่อนจากต่างประเทศแวะมาเยี่ยมด้วย  ฟังดูอาจคล้ายคำว่า “สโลว์ ไลฟ์” ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้  แต่ผมอยากจะเรียกให้สั้นกว่านั้น  เหลือแค่  “ไลฟ์”  เพราะนี่คือชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ   “ตั้งใจจะมีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย  คำว่าชีวิตมันไม่ใช่ของเราคนเดียวนะ แต่รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและสังคมด้วย  ก็ถือเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่อบอุ่นของบ้านไทยอีสาน  บ้านหลังนี้ทำให้ผม ‘Touch to the countryside’ อย่างที่ควรจะเป็น”  คุณปิแอร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


ระเบียงหน้าบ้าน มุมนั่งเล่น
บ้านไทยอีสาน บ้านไม้โมเดิร์น

เรื่อง :  วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ผู้ช่วยช่างภาพ : ธรรมวิทย์ หวังกิจสุนทร


ติดตามบ้านไทยหลังอื่นๆได้ที่ http://www.baanlaesuan.com/tag/บ้านไทย/

รวม 5 บ้านไม้ไทยใต้ถุนสูง เอาใจคนรักบ้านไม้แบบไทยไทย

บ้านกรอด้าย…บ้านไทยจากความทรงจำในวันวาน