thai-wood-house

บ้านพื้นถิ่นไทย ที่อบอุ่นด้วยงานไม้เก่า

thai-wood-house
thai-wood-house

บ้านพื้นถิ่นไทย ที่ออกแบบมาให้มีช่องเปิดรับแสงในทิศทางที่เหมาะสม มีช่องทางไหลเวียนของลมเพื่อระบายความร้อน ชายคายื่นยาวกันแดดกันฝน และเพิ่มมุมมองที่อบอุ่นนุ่มนวลด้วยงานไม้เก่า

บ้านพื้นถิ่นไทย
บ้านพื้นถิ่นไทย
หลังคาไม้ซีดาร์เป็นวัสดุไม้สนช่วยเพิ่มมุมมองที่อบอุ่นให้บ้านไม้
บ้านพื้นถิ่นไทย
บ้านคุณแม่และน้องสาวอยู่ด้านหน้าเป็นบ้านชั้นเดียวที่ยกใต้ถุนเพื่อให้มีมุมมองที่โปร่งสบายตาและร่มรื่นไปด้วยมุมมองจากต้นไม้รอบตัว

ครั้งแรกที่ได้เข้ามาในบ้านหลังนี้เป็นวันที่ฝนเพิ่งหมาดจากฟ้า กลุ่มมวลเมฆสีเทายังไม่จางหายไปสักเท่าไร บรรยากาศภายใน บ้านพื้นถิ่นไทย ที่มีไม้เข้ามาเป็นองค์ประกอบอยู่แทบทุกส่วนหลังนี้จึงดูสงบเงียบและนิ่งราวกับคนไม่ยอมตื่น จนชวนให้รู้สึกอยากจะเอนหลังนอนตามไปด้วย ผิดกับอีกครั้งที่ได้กลับมาเยือนในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าที่หลบพ้นจากแนวกิ่งไม้และลอดผ่านระแนงไม้เข้ามาลูบไล้ตามพื้นทางเดิน ฉาบทับไปกับผนังบางส่วน เกิดเป็นเงาวิบไหวราวกับกำลังร่ายระบำไปตามเสียงนกร้องเจื้อยแจ้วได้อย่างมีชีวิตชีวา

นี่อาจเป็นเสน่ห์ของบ้านแบบไทยที่ตั้งใจออกแบบมาให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ จึงรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างชัดเจน ผ่านแนวคิดของการออกแบบช่องเปิดรับแสงแดดในทิศทางที่เหมาะสมเพื่อนำความสว่างเข้ามาสู่ภายใน มีช่องทางไหลเวียนของลมที่ช่วยระบายความร้อนและความอับชื้นให้บ้านหายใจได้ และชายคาที่ยื่นยาวเพื่อป้องกันแนวแดดและพายุฝน ผสมด้วยวัสดุธรรมชาติที่พยายามปรุงแต่งให้น้อยเพื่อแสดงถึงสัมผัสที่เป็นมิตรและอบอุ่นปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย

บ้านพื้นถิ่นไทย
บันไดทางเข้าบ้านยกสเต็ปไปตามระดับความสูงของบ้าน โดยฝั่งนี้เป็นทิศตะวันตกจึงออกแบบให้มีแผงระแนงไม้ช่วยกรองแดดไม่ให้ปะทะกับตัวบ้านโดยตรงแต่ไม่ปิดกั้นลมที่หมุนเวียน
นอกจากบันไดแล้ว ยังออกแบบให้มีทางลาดที่เอื้อสำหรับคุณแม่ผู้สูงวัยได้เดินเข้าบ้านง่ายขึ้น

บ้านสองหลังในพื้นที่เดียวกัน

เรื่องราวของบ้านหลังนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ คุณหนึ่ง-ดิษฐวัฒน์ และคุณจิ-ศุภาวีร์ เตียพิบูลย์ แต่งงานกัน พื้นที่ในทาวน์เฮ้าส์หลังเดิมจึงเริ่มไม่สามารถรองรับการอยู่แบบครอบครัวขยายในอนาคตได้

“เราอยากได้บ้านที่อยู่กับแม่และน้องสาวอีก 2 คนได้ด้วย ลองไปดูบ้านจัดสรรหลายที่ก็ไม่มีสเปซที่เพียงพอ จนมาเจอที่ดินเปล่าตรงนี้ขนาดราว 237 ตารางวา อยู่ในหมู่บ้านซึ่งออกแบบให้มีร่องน้ำไหลผ่าน พอเห็นแล้วก็ชอบเลย ตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงรูปแบบบ้านเลยว่าจะเป็นอย่างไร ก็ลองเริ่มคุยกับสถาปนิกหลายคนจนมาเจอกับ คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ จาก Studio Miti และก็รวบรวมข้อมูลของตัวเองไปให้ว่ามีอะไรบ้างที่ชอบและอะไรบ้างที่ไม่ชอบ อย่างตอนนั้นบอกเลยว่าไม่เอาบ้านอิฐนะ เพราะไม่ชอบแนวลอฟต์เท่าไร”

บ้านพื้นถิ่นไทย
โถงเล็กๆ หน้าบ้านกับตู้เก็บรองเท้าในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งเพราะเปิดโล่งรับแสงและลมจากแผงระแนงด้านหน้าและช่องเปิดด้านใน
บ้านพื้นถิ่นไทย
กลางโถงหน้าบ้านยังมีคอร์ตเล็กๆ สำหรับปลูกต้นไม้ ซึ่งมุมนี้เลือกต้นหมากเม่าที่ให้ฟอร์มใบเท่ และยังเป็นที่พักของนกอยู่บ่อยๆ

แม้จะยังระบุรูปแบบบ้านที่ชอบไม่ได้ แต่ข้อมูลที่เป็นไฟล์ขนาดใหญ่ร่วม 200 หน้าก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณเติ้ลมองภาพบ้านหลังนี้ได้อย่างชัดเจน โดยเขาเล่าว่า

“ราวกับคนสองคนกำลังค้นหาอะไรบางอย่างเหมือนๆ กัน คุณหนึ่งกำลังหาบ้านในน้ำหนักของตัวเอง ผมก็กำลังค้นหาแนวทางทำงานของตัวเอง และผมเข้าใจความรู้สึกของพี่คนโตที่ต้องการดูแลครอบครัวอย่างมากเพราะผมเองก็เป็นพี่คนโต พอมาเห็นที่ดินแล้วผมจึงเริ่มวางผังบ้านจากวิวที่อยากได้คือพื้นที่ริมน้ำ โดยให้บ้านส่วนของคุณหนึ่งและคุณจิเป็นบ้าน 2 ชั้นที่อยู่ริมน้ำด้านล่าง ส่วนบ้านคุณแม่เป็นบ้านชั้นเดียวยกใต้ถุนตั้งอยู่บนเนินมองเห็นวิวสวนกลางบ้าน มีฟังก์ชันของครัว ห้องพระ และพื้นที่พักผ่อนของตัวเอง แล้วเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและฟังก์ชันของห้องรับประทานอาหารส่วนกลาง

บ้านพื้นถิ่นไทย ระเบียง
ทางเดินทอดยาวจากโถงหน้าบ้านลงไปสู่บ้านริมน้ำด้านล่าง มีทางเชื่อมที่แยกไปสู่บ้านพักผ่อนของคุณแม่และน้องสาวที่อยู่ฝั่งซ้าย โดยฝั่งขวาเป็นห้องรับประทานอาหารส่วนกลาง
บ้านพื้นถิ่นไทย
มุมมองจากคอร์ตต้นไม้กลางบ้านเข้าไปสู่ทางเดินเชื่อมระหว่างบ้านทั้งสองหลังที่ดูคล้ายเป็นเรือนแยกเล็กๆ อีกหลัง

“บ้านจึงออกมาเหมือนตัวยู (U) ภายใต้พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 550 ตารางเมตร ล้อมคอร์ตต้นไม้กลางบ้านซึ่งเปิดรับแสงจากทิศเหนือ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวทั้งความเย็นจากน้ำที่อยู่ใกล้บ้าน ช่องเปิดรับลมในรูปแบบของระแนงไม้ ฉากไม้โปร่ง รวมถึงการยกใต้ถุนบ้านชั้นบนของคุณแม่ให้สูงจากพื้นเพื่อไม่ปิดกั้นลมที่จะหมุนเวียนมาถึงบ้านด้านล่าง พร้อมกับเรียงฟังก์ชันของห้องต่างๆ ให้เหลื่อมมุมมองเพื่อไม่มาบดบังกันเอง มีระยะห่างที่พอดีสำหรับความเป็นส่วนตัวของครอบครัวคุณแม่กับครอบครัวคุณหนึ่ง มีช่องเปิด-ปิดที่ทำให้เห็นกันในเวลาที่เหมาะสม ช่วยให้ความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้น ด้วยระยะการใช้ชีวิตที่พอดีนี้ทำให้บ้านดูละเมียดละไมขึ้นมา”

ผนังไม้ ระแนงไม้ บ้านพื้นถิ่นไทย
ผนังบริเวณทางเดินเป็นแผงระแนงไม้โปร่งเว้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ที่เกิดจากการนำแผ่นไม้มาประกบสอดเข้ากันเพื่อพรางตาและป้องกันแนวแดดแต่ยังเปิดให้ลมหมุนเวียนได้ดี
ผนังระแนงไม้
บางครั้งบันไดทางเดินก็กลายเป็นที่นั่งเอกเขนกสำหรับแสงเงาจากธรรมชาติได้ดี

อุ่นอวลด้วยงานไม้ต่างชนิด

ไม้ เป็นวัสดุหลักที่คุณเติ้ลแนะนำเจ้าของบ้าน โดยใช้เป็นองค์ประกอบทั้งในส่วนของฟังก์ชัน ดีไซน์ตกแต่ง รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด

“ผมเห็นความสบายๆ แบบธรรมชาติในตัวเจ้าของบ้านและเชื่อว่าวัสดุธรรมชาติมีความสวยอยู่ในตัวเอง เราแค่หามุมมองให้เจอแล้วปล่อยให้วัสดุทำหน้าที่ของตัวเอง ปล่อยให้สร้างความงามไปตามธรรมชาติของเนื้อไม้ ไม่ต้องเนี้ยบมาก บางมุมปล่อยให้ตากแดดตากฝนหรือมีร่องรอยของกาลเวลา ผมว่ามีเสน่ห์ดี ที่จริงผมแค่ออกแบบสัดส่วนของการใช้ไม้ แต่คุณหนึ่งเป็นคนที่ตระเวนไปคัดสรรไม้ทุกชิ้นของบ้านจนทำให้ทุกอย่างบนงานออกแบบเกิดขึ้นได้จริง”

เพื่อให้การหาไม้เก่ามาใช้ให้ตรงกับที่คุณเติ้ลออกแบบได้อย่างราบรื่นที่สุด คุณหนึ่งจึงอาสาไปหาไม้เองทั้งหมดโดยตระเวนดูจากแหล่งไม้หลักๆ ทั้งบางแพ บางบาล สระบุรี แพร่ และน่าน จากคนที่ไม่รู้เรื่องไม้กลายมาเป็นคนที่คัดไม้มาเรียงวางตำแหน่งเขียนรหัสให้ช่างนำไปใช้เองได้ทุกชิ้น

ห้องรับประทานอาหาร บ้านพื้นถิ่นไทย
ห้องรับประทานอาหารส่วนกลางตกแต่งด้วยโต๊ะไม้มะค่าขนาดยาว ภายในดูโปร่งด้วยฝ้าที่ยกสูงแบบเปลือยให้เห็นแนวหลังคาซึ่งเอียงเล็กน้อยรับกับชายคายาวในฝั่งที่ป้องกันแนวแดดเป็นหลัก
ห้องนั่งเล่น
การผสมผสานวัสดุธรรมชาติที่ดูเรียบง่ายภายในส่วนนั่งเล่นของบ้านริมน้ำด้านใน ทั้งพื้นคอนกรีตขัดมัน ผนังกั้นด้วยไม้เก่า รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เจ้าของบ้านกับช่างช่วยกันออกแบบและทำขึ้นมาเองทั้งหมด
เคาน์เตอร์ไม้
ต่อเนื่องกับส่วนนั่งเล่นเป็นมุมรับประทานอาหารเล็กๆ กับครัวแพนทรี่ซึ่งตกแต่งด้วยไม้เก่าทั้งหมด โดยผนังด้านข้างเน้นความโปร่งโล่งที่เชื่อมมุมมองออกไปสู่วิวน้ำได้เต็มตาผ่านประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่
เคาน์เตอร์และตู้เก็บของบริเวณแพนทรี่ก็ตกแต่งด้วยไม้ประดู่ที่ให้โทนสีและลวดลายสวยงาม โดยใช้ไม้แผ่นยาวมาตัดเป็นช่องหน้าบานตู้เพื่อให้ลวดลายดูต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียว
ห้องหนังสือ โต๊ะไม้
ห้องทำงานของคุณหนึ่งตกแต่งด้วยงานไม้บิลท์อินซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้มะค่าที่ให้ลวดลายสวยงาม
ห้องครัว
ภายในห้องครัวปูพื้นหินธรรมชาติสีดำแล้วตัดด้วยชุดครัวสีขาวทั้งหมดเพื่อให้พื้นที่ดูสะอาด โปร่งสบาย และน่าใช้งาน รวมถึงมีช่องหน้าต่างที่เปิดรับแสงธรรมชาติและยังมองเห็นวิวน้ำด้านนอกได้ด้วย
ห้องเด็ก หลังคาไม้
ห้อง Playroom สำหรับเด็กๆ ปูด้วยแผ่นยางเพื่อให้สัมผัสที่นุ่มนวลและปลอดภัยมากขึ้น
น้องสายน้ำกำลังเล่นอย่างสนุกสนาน

“ทั้งหมดเป็นไม้เก่า ส่วนใหญ่ผมเลือกใช้ประดู่เป็นหลัก เพราะชอบลวดลายแต่ต้องคัดสีเพราะมีหลายเฉด  ผสมกับสัก ตะแบก เต็ง แดง มะค่า สาทร พะยูง ชิงชัน บางร้านก็เปิดหน้าไม้ให้เราเลือกเลย เวลาซื้อก็เหมารถมาส่งแบบคละไม้กันไป แล้วค่อยเลือกใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ ถ้าเป็นไม้สักหรือตะแบกให้โทนสีอ่อนผมจะเลือกไว้ปูพื้นห้องนอน เลือกประดู่เป็นส่วนตกแต่งตู้ ผนัง ประตู แผงระแนง แทรกด้วยกระพี้เขาควายที่มีลายจัดๆ ในบางจุด การหาไม้ที่พอดีเป๊ะกับทุกมุมมันยาก บางทีก็ต้องตัดหรือต่อเติม ส่วนใหญ่ผมชอบใช้ไม้บางๆ บางครั้งก็เลยต้องผ่ากลางเอามาต่อเพื่อใช้เป็นท็อปโต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับช่าง ต้องเรียกว่าเป็นช่างคู่บุญกันเลย เพราะเขาก็สนุกในการแก้ปัญหาและคิดแนวทางใหม่ๆ ด้วยกันตลอด พอทำบ้านเสร็จแล้วถึงรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องคัดไม้ทุกชิ้นก็ได้ ส่วนที่ต้องใช้งานหนักๆ ตากแดดตากฝนสุดท้ายก็ซีดจางไปตามเวลา บางคนเห็นก็อาจหงุดหงิดแต่ผมว่ามันก็สวยตามธรรมชาติที่เราใช้ ค่อยมาเน้นลวดลายไม้ภายในหรือในมุมที่เราเห็นบ่อยๆ ก็ทำให้เห็นไม้สวยๆ ได้ตลอด”

ผนังระแนงไม้ บ้านพื้นถิ่นไทย
แผงระแนงที่ต่อเนื่องจากชั้นล่างแต่เพิ่มฟังก์ชันด้วยการเติมแผ่นอะคริลิกเพื่อกันแมลงไว้เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปถึงห้องนอนได้
บ้านพื้นถิ่นไทย ห้องนอน
บรรยากาศอบอุ่นภายในห้องนอนหลักที่ปูพื้นด้วยไม้สักผสมตะแบกในโทนสีอ่อน ส่วนฐานเตียงเป็นไม้ประดู่ลายเสือที่ให้โทนสีเข้มขึ้น
ห้องน้ำ หลังคาไม้
ห้องน้ำใหญ่ภายในห้องนอนมีช่องเพดานที่เป็นส่วนสกายไลต์สำหรับเปิดรับแสงและเพิ่มมุมมองที่สวยงามในยามค่ำคืน
ห้องน้ำ
เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในบ้านเป็นงานไม้แฮนด์เมด รวมถึงช่องและชั้นต่างๆ บริเวณเคาน์เตอร์อ่างล้างมือนี้ด้วย ส่วนอ่างกับก๊อกน้ำทองเหลืองนั้นเจ้าของบ้านสั่งซื้อมาจากต่างประเทศเพื่อให้เข้ากับงานไม้เก่าอย่างกลมกลืน

ต้นไม้และแสงเงาในบ้าน Seen House

เพราะคุณหนึ่งทำงานอยู่ที่บ้านเป็นหลัก เช่นเดียวกับคุณจิที่ดูแลลูกทั้งสองคนอยู่ที่บ้านเกือบทั้งวัน นอกจากบ้านที่ตอบฟังก์ชันการใช้งานได้ดีแล้ว บ้านหลังนี้ยังต้องให้ความสบาย มองเห็นธรรมชาติได้ และสร้างความรู้สึกผ่อนคลายเหมือนๆ กับรีสอร์ตด้วยเช่นกัน

นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่สถาปนิกออกแบบให้มีการแทรกต้นไม้เข้ามาอยู่ในบ้านด้วยรูปแบบของคอร์ตต้นไม้ตรงกลางที่เปิดรับแสงธรรมชาติ กับอีก 2 คอร์ตเล็กตรงหน้าบ้านและหน้าห้องครัวที่เป็นช่องปลูกต้นไม้เพื่อให้เรือนยอดขึ้นเป็นพุ่มสีเขียวรับกับวิวหน้าต่างของห้องนอนชั้นบน รวมไปถึงแผงระแนงตรงคอร์ตกลางที่ทำให้เกิดช่องทางของแสงและเงาเข้ามาในบ้านได้อย่างมีมิติ ดูสวยเพลินตลอดเวลาและแตกต่างกันไปตามฤดูกาล

เฉลียงไม้ ริมน้ำ
เฉลียงไม้ขนาดกว้างต่อเนื่องจากส่วนนั่งเล่นด้านใน เพิ่มความร่มรื่นด้วยชายคาระแนงไม้ที่ปลูกต้นพวงครามเสริมความสดชื่น
คุณจินั่งอ่านหนังสือและรับลมเย็นจากริมน้ำ

“ตั้งแต่มาอยู่บ้านนี้ เรามองเห็นทั้งต้นไม้ที่ผลัดใบเปลี่ยนและออกดอกตามฤดู เห็นความเคลื่อนไหวของแสงเงาธรรมชาติที่ทำให้รู้สึกสดชื่นเวลาตื่นนอนในตอนเช้า โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว แสงแดดที่เข้าบ้านจะยิ่งดูสวยมาก ได้ยินเสียงนกร้องใกล้ๆ และบางทีก็บินเข้ามาอยู่ในบ้าน เปียกไปกับสายฝนในบางเวลา ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเป็นความสวยงามที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละวัน”

เดิมที่เจ้าของตั้งชื่อบ้านนี้ไว้ว่า Scene House ที่หมายถึงบ้านที่มีมุมสวยๆ ให้มอง แต่คุณเติ้ลเข้าใจว่า Seen House เพราะเห็นภาพความงามของบ้านที่เคลื่อนไหวอยู่ในแต่ละมิติของแสงเงาที่แตกต่างกัน และนั่นทำให้ Seen House กลายเป็นชื่อบ้านที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในความหมายจริงแท้ในที่สุด

ผนังระแนงไม้
ระแนงกั้นแมลง เพราะเป็นส่วนระแนงที่ต่อเนื่องกับทางเดินไปสู่ห้องนอนจึงมีการออกแบบเสริมแผ่นอะคริลิกเพื่อกันแมลงเข้า โดยมีแผ่นตรงกลางที่เจาะรูเล็กๆ ไว้ให้ลมสามารถผ่านได้
หลังคาไม้
โครงเหล็กกับหลังคาไม้ โครงหลังคาผสมด้วยเหล็กขนาดยาวพ่นสีสนิมเพื่อเสริมความแข็งแรงและการรับน้ำหนักได้ดี ส่วนหลังคาเป็นไม้สนวางเรียงเหมือนหลังคาแป้นไม้โบราณแต่เน้นการจัดวางในองศาที่สูงชันจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำรั่ว
รั้วไม้ รั้วเหล็ก
รั้วไม้โปร่ง เศษไม้ที่เหลือจากการตกแต่งบ้านยังนำมาประกอบต่อเป็นแนวรั้วไม้โปร่งๆ ที่ผสมด้วยแกนเหล็กพ่นสีสนิมเพื่อใช้เป็นตัวโครงและรางเลื่อนรั้วที่ดูกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี

เจ้าของ : คุณดิษฐวัฒน์ – คุณศุภาวีร์ เตียพิบูลย์

สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์ : Suntreeya


รวมแบบบ้านพื้นถิ่น เรียบง่าย อยู่สบาย

บ้านไม้ สไตล์ปักษ์ใต้ ร่วมสมัย