สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

BOT LEARNING CENTER ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ​วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ภายหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าถึงคราวที่ โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม มีอันต้องยุติบทบาทการผลิตธนบัตรป้อนประเทศลง หลังจากทำหน้าที่นั้นมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

เพราะไม่อาจขยับขยายและปรับปรุงพื้นที่ให้สามารถรองรับการผลิตธนบัตรซึ่งเพิ่มสูงขึ้นได้ รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อาคารโพสต์โมเดิร์นริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนเนื้อที่ 11 ไร่ 35 ตารางวา บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 แห่งนี้ไม่ได้ไปต่อ

กาลเวลาผ่านพ้นล่วงเลยมากว่า 10 ปี อดีตโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกที่ครั้งหนึ่ง เคยได้ชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของประเทศ ซึ่งถูกปล่อยให้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานในความทรงจำกำลังจะกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง หากแต่เปลี่ยนหน้าที่จากการผลิตธนบัตรมาเป็นผลิตความรู้ป้อนให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ พร้อมชื่อใหม่ว่า “Bank of Thailand Learning Center” หรือในชื่อเรียกกันสั้นๆ ว่า “BOT Learning Center” ในบทบาทการเป็น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย แห่งแรก ซึ่งนับจากวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561 นี้ไป อาคารหลังใหม่ในคราบเก่าก็จะไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถานที่ศูนย์เปล่าอีกต่อไปแล้ว

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
งานภูมิสถาปัตยกรรมจากฝีมือของ Shma ออกแบบไล่ระดับขั้นบันไดต่อเนื่องจากลานกว้างชั้น 1 ไปสู่พื้นที่อาคารชั้น 2 บริเวณส่วนเชื่อมระหว่างอาคารหอประชุม กับ อาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ (หรืออาคาร ก เดิม) ที่เป็นส่วนพื้นที่เปิดสำหรับสาธารณะ สามารถนั่งพัก พูดคุย และใช้ประโยชน์ได้จริง

Did you know: อาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย ที่บางขุนพรหมนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2512 ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิก หม่อมหลวง สันธยา อิศรเสนา

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
รอยต่อระหว่างโครงสร้างเดิมของอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ งานออกแบบเปลือกอาคารหอประชุมขึ้นใหม่โดยฝีมือทีม Creative Crews และขั้นบันไดที่ไล่ระดับต่อเนื่องมาสุดบนชั้น 2 โดยฝีมือของ Shma

ปรับ เพื่อ เปลี่ยน

เมื่อบทบาทหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป อาคารเดิมที่ถูกสร้างมาเพื่อเป้าหมายในอดีตจึงต้องเปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้นความท้าทายของทีมออกแบบและปรับปรุงอาคารผู้อยู่เบื้องหลัง นำโดย Creative Crews คือจะทำอย่างไรให้ฟอร์ม สเปซ และฟังก์ชันที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเป็นศูนย์การเรียนรู้ตั้งแต่แรกทลายลงอย่างราบคาบ ให้เหมาะสมกับบทบาทใหม่เอี่ยมที่เปลี่ยนจากพื้นที่ซึ่งเคยถูกปิดให้เปิดกว้างสู่โหมดสาธารณะมากขึ้น ได้อย่างไม่เคอะเขิน ดังนั้นแนวคิดตั้งต้นของ ธปท. และทีมเบื้องหลังในการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ 26,500 ตารางเมตร ฝั่งโรงพิมพ์ธนบัตรเดิม ให้กลายมาเป็นตัวแทนของการสื่อสารอัตลักษณ์และหน้าที่ขององค์กรต่อสาธารณชน จึงเริ่มจากการศึกษาข้อมูลของพื้นที่ในบริเวณโรงพิมพ์ธนบัตรเดิมว่าประกอบไปด้วยอาคารอะไรบ้าง และแต่ละอาคารมีหน้าที่หรือประโยชน์ใช้สอยเดิมอย่างไร หรือมีความสัมพันธ์กันในพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะเก็บบางอาคารเอาไว้หรือรื้อถอนบางอาคารออกไปเหมาะสมกว่า

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ฟาซาด หรือ เปลือกอาคาร ส่วนของอาคารหอประชุม ออกแบบให้ครอบทับโครงสร้างอาคารเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยลักษณะของพื้นผิวที่คล้ายตาข่ายหรือตะแกรงเหล็กสลับเฉดสี ซึ่งมีความนูนและเว้าอ้อล้อไปกับรูปทรงของหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่เดิมของอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ
สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
อาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ สถาปัตยกรรมจากยุคโพสต์โมเดิร์นที่ยังคงถูกเก็บรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ โดยเฉพาะส่วนหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ป้องกันและซับเสียงของเครื่องจักรไม่ให้ดังทะลุออกไปรบกวนภายนอก

จุดมุ่งหมายของการปรับปรุงครั้งนี้จึงสะท้อนผ่านข้อกำหนดในการออกแบบเพื่อการใช้ประโยชน์ในสองส่วน หนึ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยขององค์กรเอง และสอง เพื่อประโยชน์ใช้สอยของผู้คนทั่วไป โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ของโครงการและการเข้าถึงจากพื้นที่ภายนอก ตลอดจนความสัมพันธ์กับแม่น้ำและพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง เพื่อให้อาคารมีลักษณะเชื้อเชิญและกลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและบริบทรอบๆ อย่างแนบสนิท ซึ่งภายหลังจากผ่านกระบวนการออกแบบ ก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารนานกว่า 3 ปี ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เดิมและเพิ่มเติมซึ่งเอกลักษณ์ใหม่ประกอบเข้าด้วยกัน ก็แสดงให้เห็นถึงการจัดการพื้นที่การใช้งานส่วนต่างๆ ให้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ห้องประชุม และพื้นที่นันทนาการได้อย่างชาญฉลาด

เริ่มตั้งแต่การจัดการพื้นที่และโครงสร้างภายในที่ยากต่อการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างหนาหนักแข็งแรงอย่าง “ห้องมั่นคง” ห้องเก็บรักษาธนบัตรกำแพงทึบตันและไม่เคยเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เฉียดเข้ามาใกล้ ที่ไม่สามารถปรับพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับส่วนอื่น ๆ ของอาคารได้ ก็ได้รับการกำหนดประโยชน์ใช้สอยใหม่ลงไปในพื้นที่เดิมให้สัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของอาคารในฐานะพิพิธภัณฑ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนบอกเล่าลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของประเทศ ผ่านนิทรรศการและสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ หรือให้ความรู้ไปพร้อมกับการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประตูเหล็กบานใหญ่และทึบตัน ร่องรอยอดีตของห้องมั่นคง บริเวณโถงอาคารชั้น 2 ที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี กลายมาเป็นมุมถ่ายรูปที่ใครมาก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา Snap

ในขณะที่ ห้องสมุด ห้องประชุม หรือพื้นที่นันทนาการ ที่เป็นส่วนใช้สอยเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อรองรับกิจกรรมของกลุ่มผู้ใช้งานอันหลากหลาย ก็อาศัยข้อดีของอาคารเดิมของอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ (อาคาร ก เดิม) ซึ่งมีลักษณะเปิดโปร่ง เพดานสูง และพื้นที่ส่วนใหญ่เชื่อมต่อถึงกันในลักษณะ free plan ที่เอื้อต่อการออกแบบให้พื้นที่ส่วนต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น และสุดท้ายคือการออกแบบเปลือกอาคารใหม่ ให้สามารถทำงานตอบโจทย์การใช้พื้นที่ภายในเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยยังคงเอกลักษณ์เดิมของอาคารอันโดดเด่นไว้เช่นเดิม

สถาปัตยกรรมใหม่ในคราบอดีตของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
เอกลักษณ์เดิมที่ยังหลงเหลือให้เห็นคือประตูนิรภัย 3 ชั้น กำแพงหนาทึบกรุผิวด้วยโมเสกสีขาว สิ่งเหล่านี้คือร่องรอยต่างๆ ของห้องมั่นคง ที่ไม่เคยเปิดให้ใครเข้ามาสัมผัสเมื่อในอดีต ตอนนี้ทุกคนจะได้เห็นและสัมผัสมันอย่างใกล้ชิด

อ่านต่อพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย หน้า 2