9 Years 9 Material 9 Projects with PHTAA

9 ปีแล้ว กับ PHTAA living design และในโอกาสที่พวกเขาได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง กับ Re-appropriate ขบถ-สร้างสรรค์ นิทรรศการบอกเล่าแนวคิดสุดขบถ แต่ลงตัวอย่างเหลือเชื่อตามสไตล์ PHTAA แต่เบื้องหลังผลงานเหล่านั้นพวกเขาออกแบบขึ้นมาได้อะไร ผ่านวิถีทางการดีไซน์อย่างไรบ้าง นี่คือ ตัวอย่าง 9 แนวคิดการใช้วัสดุจาก 9 โครงการสร้างชื่อของพวกเขา

Lorpoonphol Ricemill office

ด้วยความต้องการรักษาโครงสร้างเดิมของอาคารเอาไว้ การผสานส่วนขยายของอาคารเดิม และอาคารสำนักงานที่ใช้แผ่นเหล็กแบบ Perforated จึงมีการออกแบบกำแพงในแนวโค้งที่เป็นส่วนขยายของพื้นที่มากขึ้น และกำแพงอิฐนี้ยังเป็นเหมือนโครงสร้างที่รับพื้นที่สำนักงานที่ชั้นบนอีกด้วย

การเรียงอิฐให้ลื่นไหล ต่อเนื่องระหว่าง พื้นที่ใช้งานเดิม และพื้นที่ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ รวมทั้งการสร้างช่องเปิดด้วยพิกัดสัดส่วนของตัวก้อนอิฐเอง เป็นแนวคิดที่สร้างภาพจำให้กับโครงการได้เป็นอย่างดี
H dining

วัสดุ “บล็อกตัวหนอนปูพื้นสีน้ำตาลเเดง” ที่นิยมใช้สำหรับการปูพื้น หรือทางเท้า โดยนำมาจัดเรียงแพตเทิร์นใหม่ ให้เกิดความหลากหลายคละกันไปทั้งแนวตั้ง แนวนอน เเละเเนวทเเยง โดยปรากฏในรูปแบบของผืนผนังขนาดใหญ่ล้อมรอบบริเวณพื้นที่รอบร้าน ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผนังกั้นสัดส่วนให้เเก่ร้านฮ็อตดอกเเละบาร์เบียร์คราฟต์ ซึ่งเป็น 2 ร้านพันธมิตรที่ตั้งอยู่บริเวณสนามด้านหน้า เป็นอีกเเนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้วัสดุที่คุ้นเคย มาปรับเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่บริเวณพื้นที่รับประทานอาหารเอ๊าต์ดอร์ก็ร่มรื่นไปด้วยร่มเงาของต้นมะม่วงใหญ่ซึ่งเป็นต้นไม้ดั้งเดิมของบ้าน พร้อมกับออกแบบให้มีศาลากึ่งกลางแจ้ง พร้อมโต๊ะสำหรับคอยต้อนรับลูกค้าที่อยากสัมผัสธรรมชาติเเละลมเย็น ๆ ด้านนอก 
VG Pavilion

พาวิลเลียนแบบบ้านพื้นถิ่นยกใต้ถุน จากวัสดุรางน้ำฝนและหลังคาไวนิล โดยการสร้างตัวตนใหม่ให้กับรางน้ำฝน และหลังคาทำจากวัสดุ iR-uPVC ของซัพพลายเออร์ VG ที่ทำให้บ้านไทยทรานฟอร์มได้ด้วยนวัตกรรมด้านวัสดุ และความคิดสร้างสรรค์ สร้างความเซอร์ไพร์สให้กับผู้ที่มาชมงานได้เป็นอย่างมาก 
Almsgiving Station

จากเหตุการณ์ปัจจุบันของวิกฤตการณ์ของโรคระบาดที่ได้กระทบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน PHTAA จึงออกแบบจำลองพื้นที่สำหรับตักบาตรโดยใช้องค์ประกอบของโครงสร้างไม่ถาวรในเขตพื้นที่พบปะระหว่างผู้คนและพระสงฆ์ คือตลาด ใช้รูปแบบการประกอบสร้างตามองค์ความรู้จากเขตพื้นที่นั้นๆ เช่น การใช้นั่งร้าน การขึงผ้าด้วยของหนักให้อยู่ทรง (อิฐหรือบล็อคคอนกรีต) หรือองค์ประกอบสำหรับยึดจับวัสดุที่เป็นผืนให้อยู่กับโครงสร้างโดยของใช้ใกล้ตัว (คลิปหนีบกระดาษ) การใช้รอกส่งของถวายกับลังผลไม้ และของเหลือใช้จากในวัดต่างๆ ที่เล็งเห็นว่าเป็นองค์ประกอบที่สามารถสร้างสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางศาสนาได้ดี เช่น จีวรเหลือใช้จากพระสงฆ์ที่สึกแล้วมาจัดองค์ประกอบร่วมกันเป็นพื้นที่กิจกรรมทางศาสนาที่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างระยะห่าง และประสบการณ์ที่สร้างความจรรโลงใจสำหรับผู้ที่ต้องการตักบาตรทำบุญในสถานการณ์ดังกล่าว 
Cornice Pavilion

บัวไม้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งที่เราทุกคนต่างคุ้นเคย ถูกนำมาปรับความเข้าใจใหม่ เฉือนฝานออกเป็นแผ่นบาง และนำมาประกอบเข้าด้วยกันใหม่ในบริบทที่เชื่อว่าหลายคนอาจคาดไม่ถึง ในที่มาของวัสดุนี้
.
เปลี่ยนจากการประดับประดา สู่การเป็นโครงสร้างในตัวเอง ผลงานนี้ถูกจัดแสดงในงาน Chiang Mai Design Week 2016 
Found cafe
แนวคิด “Authentic Fake” กับการทดลองใช้วัสดุอย่าง บัวซีเมนต์ ที่เราคุ้นเคย เพื่อบอกเล่าความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางสถาปัตยกรรม

บัวหลากรูปแบบ เป็นเสมือนการทดลองใช้วัสดุในหน้าที่ที่ต่างไปจากเดิมได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่สีขาวของอาคารเกิดจากการมองเห็นว่า “สีขาว” เหมาะเป็นแบ็กกรานด์ที่ดี อีกทั้งบริบทยังรายล้อมไปด้วยต้นไม้และสวนสีเขียว ยามเมื่อเกิดรีเฟล็กซ์ของแสง เงาจะไปตกกระทบที่ผนังอาคาร ช่วยสร้างชีวิตชีวา เหมือนถูกเพ้นต์ติ้งด้วยแสงเงาที่ต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา เป็นการหยิบส่วนประกอบของงานตกแต่งสไตล์คลาสสิก มาจับกับงานรูปทรงเรขาคณิตสไตล์โมเดิร์นได้อย่างเข้ากัน 
Manorah Lamp
Patom Cafe

Patom นั้นเป็นคาเฟ่ที่ยึดถือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการออกแบบนั้น PHTAA จึงได้เลือกเอาวัสดุจากในฟาร์ม ของ Patom มาใช้ ท่อนไม้ ที่เป็นเศษเหลือในขบวนการถูกนำมาใช้โดยยังคงไว้ซึ่งรูปทรงตามธรรมชาติ โดยจัดวางลงในโครงสร้างเหล็กที่แข็งแรง ท่อนไม้กว่า 200 ชิ้นนั้น สลับจัดวางให้เส้นสายต่อเชื่อมกันคล้ายเป็นเรื่องราว ทำหน้าที่กั้นพื้นที่ออกจากกัน แต่แท้จริงแล้วกำลังเชื่อมโยงผู้ใช้งานพื้นที่เข้าสู่ปรัชญาในแบบ Patom ไปด้วยนั่นเอง
Rattan Pavilion

งานหัตถกรรมงานสานของไทยนับเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน การนำเอาภูมิปัญญามาปรับใช้กับงานออกเเบบร่วมสมัยนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย เรานำเทคนิคงานสานที่ส่วนใหญ่จะเห็นในการผลิตเครื่องเรือนมาปรับใช้กับงานสถาปัตยกรรมอย่างการสร้างพื้นที่ศาลา ทั้งยังนำเเพทเทิร์นพื้นฐานงานสานมาตรฐาน เช่นลายขัด ลายพิกุล มาสร้างเเพทเทิร์นใหม่ให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจ สร้างความทึบโปร่งให้กับพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมศาลาหวายชิ้นนี้เป็นการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ถอดประกอบได้ (knock down architecture) ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ สามารถติดตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังผสมผสานหัตถกรรม เเละ นวัตกรรมอย่างงานสาน กับวัสดุหวายเทียมไว้ในงานออกเเบบชิ้นนี้ ในการออกเเบบ ศาลาหวายได้คำนึงถึง BCG Model ทั้งในด้านนวัตกรรม ที่ผลิตจากวัสดุที่มีความคงทน ด้านการใช้เเรงงานชาวบ้านจากในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับอาชีพหัตถกรรมคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) วัสดุหลักที่ใช้ในการออกเเบบ คือหวายเทียม Durawara ที่ผ่านการทดสอบว่ามีความคงทนต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถใช้ภายนอกได้ โดยตัววัสดุได้รับการรับรองจาก Materials Connection ว่าเป็นวัสดุ sustainability ในเรื่องอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการออกเเบบที่ยั่งยืน

ภาพ: PHTAA living design
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut

อ่านเนื้อหาอื่นๆของ PHTAA living design ได้ที่ DESIGNER DIRECTORY: https://www.baanlaesuan.com/directory/phtaa