ร่วมรู้จัก World Architecture Festival (WAF) เตรียมความพร้อมก่อนมุ่งหน้าสู่ปี 2024

Road Show เทศกาลงานสถาปัตยกรรมระดับโลก โดยสถาปนิก เพื่อสถาปนิก ครั้งแรกในประเทศไทย

หากจะมีเทศกาลงานใดสักงานที่จะจัดขึ้นเพื่อปลุกพลังความสร้างสรรค์ของสถาปนิกได้จากเบื้องลึก “World Architecture Festival” หรือที่รู้จักกันในนาม “WAF” ย่อมเป็นหนึ่งในงานอันดับแรกสุด เพราะเป็นเทศกาลที่รวมประเด็นและกิจกรรมเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมได้อย่างกว้างขวางที่สุด ครบครันและเข้มข้นที่สุด ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นงานที่เพื่อนร่วมวิชาชีพจากทั่วโลกมาพบปะกันได้มากที่สุด เพื่อยกระดับวิชาชีพและการทำงานให้กว้างไกลไปสู่ระดับสากล

งาน World Architecture Festival (WAF) จัดขึ้นครั้งแรก 15 ปีที่แล้วในปี 2008 โดยออกแบบให้งานในแต่ละปีเป็นเวทีที่เวียนเรื่อยไปในแต่ละประเทศ เพื่อเข้าหาและเชื่อมโยงสถาปนิกจากมุมโลกต่าง ๆ โดยความเปิดกว้างและทรงเกียรติของ WAF เปรียบได้กับรางวัล Academy Awards หรือ Oscar ในโลกของสถาปัตยกรรมที่การแข่งขันและเชิดชูเกียรติบนเวทีของ WAF จะเป็นแรงบันดาลใจและสร้างพลังให้สถาปนิกทุกคนได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพบนเวทีโลก

โดย WAF มี โกรเฮ่ (GROHE) หนึ่งในพาวเวอร์แบรนด์ของลิกซิล ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่นำเสนอโซลูชันสำหรับห้องน้ำและอุปกรณ์ฟิตติ้งสำหรับห้องครัวอย่างครบครันเป็นพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง (Founder Partner) ทั้งคู่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือเชื่อมโยงชุมชนนักออกแบบทั่วทุกภูมิภาคเข้าหากัน และยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบให้กว้างขวางและเป็นสากลมากขึ้น

สำหรับ WAF ปี 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคมนี้ WAF เลือกกลับมาเยือนภูมิภาคเอเชียอีกครั้งหลังจากครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015 โดยเลือกจุดหมายเดิมคือสิงคโปร์ ประเทศอันเป็นจุดศูนย์กลางการพบปะกันของชาติเอเชียและทั่วโลก ในงานนี้ Mr. Paul Finch – Founder & Programme Director ของ WAF ร่วมด้วย คุณออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ ประเทศไทย และกลุ่มประเทศอินโดไชน่า, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำลิกซิล เอเชียแปซิฟิก ได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์งาน WAF โดยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย และ LIXIL Experience Center กรุงเทพมหานคร ได้ต้อนรับตัวแทนผู้จัดงานทั้งสองท่านร่วมด้วย 3 ตัวแทนสมาคมนักออกแบบจากประเทศไทย ได้แก่ คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese  Architects under Royal Patronage (ASA), คุณกรกช คุณาลังการ นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (Thailand Interior Designers’ Association (TIDA) และคุณมังกร ชัยเจริญไมตรี นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (Thai Association of Landscape Architects (TALA)

ภายในงาน Mr. Paul ได้กล่าวถึงความแตกต่างของ WAF และบทบาทของงานที่มีต่อแวดวงสถาปัตยกรรม โดยนอกจากกิจกรรมอันได้แก่ นิทรรศการแสดงผลงาน งานเสวนา ไปจนถึงงานพบปะกันของเพื่อนร่วมวิชาชีพแบบ Gala Dinner แล้ว อีกประเพณีอันนับว่าเป็นหัวใจของ WAF คือการประกวดและให้รางวัลแก่งานออกแบบในสาขาต่าง ๆ

รางวัลแบ่งออกเป็น Completed Buildings, Future Projects, Landscape และรางวัล Inside รางวัลสำหรับงานออกแบบภายในภายใต้ชื่องาน Inside World Festival of Interiors ที่จัดคู่ขนานกับ WAF โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น Shortlists ทั้งหมดจะได้นำเสนอผลงานด้วยตัวเองในห้องตัดสินผลงานที่แบ่งเป็น “Crit Hubs” ย่อย ๆ

โดยมีผู้ฟังและคณะกรรมการถามตอบและวิพากษ์วิจารณ์ผลงานแบบสด ๆ ก่อนจะนำไปสู่การตัดสินและประกาศรางวัลในวันสุดท้ายของงาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวิธีการประกวดรางวัลทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากเวทีอื่น ๆ ที่ผู้ฟังและผู้เข้าร่วมประกวดจะสามารถเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานใดก็ได้ ห้องตัดสินผลงานใดก็ได้ อันทำให้ได้เห็นความแตกต่างหลากหลายของผลงานหลากประเภท รวมถึงได้ประสบการณ์การเข้าร่วมและรับฟังการปะทะกันทางความคิดจากสถาปนิกระดับโลกอย่างเข้มข้นแบบสด ๆ ตลอดทั้งระยะเวลาของการจัดงาน

Mr. Paul ยังกล่าวเสริมว่า การมาเยือนภูมิภาคเอเชียอีกครั้งก็ทำให้เขาเห็นแง่มุมของบรรดางานออกแบบที่เปลี่ยนไปและแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก นอกเหนือจากแง่มุมเรื่องวัสดุที่เขาเห็นการใช้ไม้และไม้ไผ่มากขึ้นในเอเชีย วิธีการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารที่มีลักษณะเบลนด์เข้าหากันก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่เขาสัมผัสได้ นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นเมกะเทรนด์ที่เขาสังเกตได้ทั่วโลก คือการออกแบบอาคารที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนหลากหลายบทบาทอาชีพมากขึ้น

ที่สำคัญ คือ ในภูมิภาคที่ไม่ใช่ยุโรป ได้มีการหันกลับไปค้นคว้าองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นก่อนการเข้ามาของอาณานิคมยุโรปหรือยุค “Pre-Colonial” แล้วนำมาผนวกกับสถาปัตยกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยังมีแนวโน้มการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติขึ้นใหม่ จากเดิมเป็นการเอาทรัพยากรบนพื้นโลกมาใช้แต่ฝ่ายเดียว สถาปัตยกรรมกำลังเปลี่ยนไปสู่การ “ทดแทน” หรือคืนกลับบางอย่างสู่โลก โดยเฉพาะเมื่อโลกเพิ่งผ่านวิกฤตโรคระบาด Covid-19 มาไม่นาน

นอกจากนั้น คุณออดรีย์ โหย่ว ยังได้กล่าวเสริมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของ GROHE ต่อการสนับสนุน WAF และแวดวงสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย โดยกล่าวว่าการที่ WAF ได้มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการนี้ เพราะประเทศไทยมีนักออกแบบและมีผลงานที่มีศักยภาพมากมาย อีกทั้งยังมีสถาปนิกชาวไทยเคยได้รับรางวัลจาก WAF

อาทิเช่น คุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ จากบริษัท Creative Crews จำกัด เคยได้รับรางวัล WAF/INSIDE ปี 2019 ประเภท Health & Education  และ Interior of The Year Highly Commended และยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล WAF/INSIDE และ WAF China ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปี 2023

และในปีนี้ WAF ยังได้เชิญคุณพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ Deputy Managing Director แห่ง Architects 49 และคุณนิวัติ อ่านเปรื่อง Senior Partner แห่ง PIA Interior สถาปนิกผู้มากประสบการณ์ชาวไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลให้กับ WAF อีกด้วย การมาครั้งนี้จึงหวังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ WAF ให้กับสถาปนิกชาวไทย เพื่อยกระดับแวดวงการออกแบบในประเทศให้เทียบเท่าระดับสากลมากขึ้นด้วย

ทางด้านของตัวแทนนักออกแบบ คุณชนะ สัมพลัง ให้ความคิดเห็นว่า งานสถาปัตยกรรมในไทยที่เกิดจากปัจจัยทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม ไปจนถึงปัญหาทางสภาพแวดล้อมและสังคมแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของการปรับตัวและการใช้ชีวิตของผู้คนผ่านงานออกแบบ ซึ่งเขามองว่าเป็นศักยภาพของผลงานที่ควรค่าแก่การนำออกไปแสดงในระดับสากลได้ และพร้อมที่จะสนับสนุนสถาปนิกไทยให้ก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกมากขึ้น

เช่นเดียวกับ คุณกรกช คุณาลังการ ที่กล่าวเสริมว่า ธรรมชาติของงานออกแบบภายในที่มักเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน ทั้งยังมีส่วนยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้ชิดการใช้ชีวิตของผู้คนที่สุด การคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อโลกต้องผ่านวิกฤตต่าง ๆ หรือการอยู่ร่วมกันของเจเนอเรชั่นที่หลากหลาย ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ไปจนถึงความต้องการเฉพาะอย่างผู้ป่วยหรือผู้พิการ การออกแบบภายในอย่างชาญฉลาดจะมีส่วนช่วยเสริมคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้คนให้ดีขึ้นได้ด้วย

ปิดท้ายด้วยคุณมังกร ชัยเจริญไมตรี ที่กล่าวว่า เป็นหน้าที่หลักของภูมิสถาปนิกโดยตรงที่มีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่เพียงแต่งานภูมิสถาปัตยกรรมของบ้านหรือโครงการเชิงพาณิชย์ แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมสาธารณะในเมือง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อนักออกแบบไทยที่ต้องทำงานกับสภาพภูมิอากาศและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมีส่วนร่วมกับ WAF จึงจะเป็นโอกาสอันดียิ่งต่อทั้งนักออกแบบและวงการที่จะได้เห็นความคิดและการทำงานต่อโจทย์ที่หลากหลายยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ในท้ายที่สุด ทั้งหมดก็ได้กล่าวเชิญชวนนักออกแบบเข้าร่วมงาน WAF 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคมนี้ที่สิงคโปร์ โดยจะเป็นครั้งแรกของการเปิดตัว LIXIL Experience Center ที่สิงคโปร์ พร้อมกับการเกิดขึ้นของงาน WAF เช่นกัน

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าระยะเวลาของการส่งผลงานเข้าประกวดสำหรับปี 2023 จะหมดลงแล้ว แต่ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงจะเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับนักออกแบบชาวไทยที่จะได้ส่งผลงานเข้าประกวดกับเวทีสถาปัตยกรรมระดับโลกอันจะช่วยยกระดับความรู้และการทำงานเฉพาะบุคคลไปจนถึงแวดวงงานออกแบบในประเทศโดยรวมได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสารของงาน World Architecture Festival ได้ที่ www.worldarchitecturefestival.com และติดตามนวัตกรรมและเทคโนโลยีการใช้น้ำใหม่ ๆ จาก GROHE ได้ที่ www.facebook.com/GrohePacific และ www.instagram.com/grohe_thai

#WorldArchitectureFestival #WAF23 #Architecture #Design #Awards #GROHE #GROHEThailand 


เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร