เบื้องหลังดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิตกับ Antoine Besseyre des Horts แม่ทัพทีมออกแบบแห่ง LIXIL

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือยุคสมัย ที่นักออกแบบต้องพบกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน Antoine Besseyre des Horts ในฐานะแม่ทัพทีมดีไซน์ของ LIXIL Group ภูมิภาคเอเชีย ชวน room พูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานของทีมนักออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับที่อยู่อาศัย ท่ามกลางบริบทสังคม และพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม และการขยายบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ ที่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโลกดีไซน์นับจากนี้เป็นต้นไป

อันทวน เบแซร์ เดส์ออรส์ ( Antoine Besseyre des Horts ) ลีดเดอร์ (VP) ประจำลิกซิล โกลบอล ดีไซน์ (LIXIL Global Design) ภูมิภาคเอเชีย หัวเรือใหญ่ของทีมดีไซน์ 3 แบรนด์หลักในเครือ LIXIL อย่าง American Standard, GROHE และ INAX แบรนด์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ และสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ และห้องครัว หลังจากสั่งสมประสบการณ์ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มายาวนานกว่าสองทศวรรษ เขาร่วมกับทีมนักออกแบบสร้าง ‘ไบเบิ้ล’ หรือคู่มือที่ช่วยวางรากฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ให้สะท้อนตัวตนของแบรนด์ ไปพร้อมกับตอบรับทุกรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย และนี่คือกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

(ภาพ: GROHE SPA)
(ภาพ: American Standard)
(ภาพ: INAX)


LIXIL Group กลุ่มบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับที่อยู่อาศัยหลากหลายประเภท ภายใต้แบรนด์ในพอร์ตฟอลิโออย่าง American Standard, GROHE, INAX และ TOSTEM ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้ปณิธานเดียวกันคือมุ่งเน้นที่จะเนรมิตบ้าน ที่ดีกว่าเดิมให้แก่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก

สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อที่อยู่อาศัย และสุขภัณฑ์นั้น ถือเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความท้าทายในแง่ของการออกแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนหมู่มาก ขณะเดียวกันก็ต้องสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ด้วย ทีมออกแบบของ LIXIL ซึ่งมีศูนย์การออกแบบและวิจัยอยู่สองแห่งในเอเชีย ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ พร้อมทีมนักออกแบบจากหลากหลายวัฒนธรรม จึงยึดมั่นในแนวคิดการออกแบบ ที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-centric Design) ซึ่งนอกจากการเข้าใจผู้บริโภคแล้ว การเข้าใจแบรนด์ก็คือหัวใจของการออกแบบเช่นกัน ดังที่คุณอันทวนได้กล่าวไว้ว่า

“ทุกแบรนด์ของ LIXIL ล้วนมุ่งเพื่อจุดหมายเดียวกันคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าสำหรับทุกคน และทุกที่ในโลก และแม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ว่าแต่ละแบรนด์ก็ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่ต่างกันด้วยอัตลักษณ์ และจุดเด่นทางการตลาดที่แตกต่างกัน อย่าง GROHE คือ แบรนด์ยุโรป  American Standard คือแบรนด์อเมริกัน ส่วน INAX คือแบรนด์จากเอเชีย แต่ละแบรนด์ก็มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของการออกแบบ รวมถึงแนวทางที่แต่ละแบรนด์สื่อสารกับผู้บริโภคก็แตกต่างกันด้วย” 

Q1: ต่างแบรนด์ ต่างดีเอ็นเอ ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ทีมนักออกแบบของแต่ละแบรนด์มีแนวทางในการออกแบบอย่างไร

แบรนด์คือคำสัญญาที่เรามีต่อลูกค้า และการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คือการนำเสนอคำสัญญานั้นในรูปแบบที่จับต้องได้ เราจึงสร้างชุดองค์ประกอบด้านการออกแบบที่เรียกว่า Signature Elements ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพที่สุด ในการสร้างรูปทรงให้กับผลิตภัณฑ์ให้กับแต่ละแบรนด์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สะท้อนถึงผลลัพธ์ ที่เราต้องการทั้งในแง่ของการใช้งาน และด้านความรู้สึก

Pillow เส้นสายโค้งมนที่ดูเชื้อเชิญให้สัมผัส (Inviting) ส่วน Taper สร้างความรู้สึกที่มั่นคง เชื่อถือได้ (Dependable) และ Frame สื่อถึงการริเริ่ม บุกเบิก (Pioneering)” ภาพ: LIXIL
องค์ประกอบ 7 Degrees พบได้ในผลิตภัณฑ์เช่นก๊อกน้ำ เราศึกษา และค้นคว้าเยอะมาก เกี่ยวกับรูปทรงของก๊อกน้ำที่เหมาะสมกับการใช้งาน และสัดส่วน 7 Degrees ก็เป็นองศา ที่ทำให้มีพื้นที่ใช้งานใต้ก๊อกอย่างเหมาะสม ทั้งยังสร้างสัดส่วนรูปลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจ และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด” (ภาพ: LIXIL)
แบรนด์ INAX เราให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นพิเศษ อย่างองค์ประกอบ Squoval เกิดจากการผสานวงรี (Oval) ซึ่งเป็นรูปทรงของมนุษย์ และสี่เหลี่ยม (Square) ซึ่งเป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน และนำไปสู่ Volcano ซึ่งคือรูปทรง 1 ใน 4 ของ Squoval” (ภาพ: LIXIL)

เมื่อทีมออกแบบของเราใช้องค์ประกอบ ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับคุณค่าของแบรนด์ จะช่วยสร้างรูปลักษณ์ และความรู้สึกเฉพาะตัวให้กับผลิตภัณฑ์ ชุดองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ต่างจาก ‘กล่องเครื่องมือ’ สำหรับนักออกแบบของแต่ละแบรนด์ แม้ทั้งหมดนี้ดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ทรงพลังมากในกระบวนการออกแบบ ทุกวันทีมออกแบบของเราจะกลับมาดูชุดองค์ประกอบเหล่านี้ก่อนเริ่มออกแบบ เพราะมันคืออัตลักษณ์ของแต่ละแบรนด์

Q2: ในฐานะแบรนด์ระดับโลกออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแต่ละภูมิภาค

เรามีกลยุทธ์ที่เรียกว่า Glocal Strategy หมายถึง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีรูปลักษณ์ในแบบสากลนิยม (Global) ขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อมโยงกับผู้ใช้งานในแต่พื้นที่ด้วย (Local) ดังนั้นในการออกแบบ แม้ว่าเราจะเปิดรับเทรนด์โลก แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และความต้องการของผู้บริโภคที่ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ภูมิภาค เราพยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์  ทั้งผู้ใช้งาน ลูกค้าโครงการ และพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจของเรา เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานความต้องการของทุกคน นี่คือ ‘Never ending quest’ หรือภารกิจที่ไม่เคยจบสิ้นของนักออกแบบ และทุกฝ่าย ในการเชื่อมโยงกับผู้ใช้งานให้มากขึ้น และระบุความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้ตรงจุด

ชุดองค์ประกอบ Signature Elements เหล่านี้ก็ยืดหยุ่นพอในกรณีที่เราต้องตอบรับกับเทรนด์ในเชิงความงาม เราอาจจะเล่นกับรูปทรง Pillow ที่อ่อนโยนมากขึ้น หรือแข็งแรงยิ่งขึ้นก็ได้เช่นกัน เราสามารถเล่นกับดีไซน์ได้ โดยยังคงยึดถือหัวใจสำคัญของแบรนด์ไว้

Q3: หลายครั้งที่เทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ของ LIXIL ด้วยไหม

ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีไม่ใช่เหตุผล และไม่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ผมว่า ‘เทคโนโลยี’ คือ ‘วิธีการ’ ที่เราจะได้มาในบางสิ่ง หรือเพื่อระบุความต้องการ หรือปัญหาบางอย่าง และเมื่อเราระบุความต้องการหรือปัญหาได้ เราจึงมองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการนั้นๆ

ดังนั้น จุดเริ่มต้นกระบวนการออกแบบของ LIXIL จึงคือการระบุปัญหา และความต้องการของผู้ใช้งาน แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากแรงบันดาลใจ เทรนด์ใหม่ หรือไอเดียของทีมดีไซน์ ที่มองเห็นโอกาสบางอย่าง

แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี หลายครั้งเทคโนโลยีขั้นสูงก็ช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ที่น่าสนใจ อย่างโปรเจ็คต์ ที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ ก๊อกน้ำโลหะผลิตจากระบบการพิมพ์สามมิติ ภายใต้แบรนด์ GROHE SPA เราพยายามค้นหาว่าเราจะผลิตชิ้นงานโดยใช้วัตถุดิบน้อยที่สุดได้อย่างไร และเราจะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถ Personalized หรือปรับเปลี่ยนได้แบบเฉพาะตัวได้ไหม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือรูปทรงผลิตภัณฑ์ ที่น่าตื่นตาตื่นใจจนเราดูแทบจะดูไม่ออกว่าตัวก๊อกน้ำทำงานอย่างไร ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดด้านความยั่งยืน เพราะเป็นการออกแบบที่ช่วยลดปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ ลดพื้นที่คงคลังสินค้า ลดพื้นที่ในการขนส่งด้วย

GROHE ALLURE BRILLIANT ICON 3D ก๊อกน้ำจากระบบการพิมพ์โลหะสามมิติ (ภาพ: GROHE SPA)

Q4: เทรนด์โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามีเทรนด์อะไรบ้างที่น่าจับตาหรือส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและการออกแบบผลิตภัณฑ์

สถานการณ์โรคระบาด ที่ผ่านมาได้พลิกทุกบริบทสังคม ทั้งยังส่งผลให้ผู้คนให้ความสำคัญกับ “สุขอนามัย” มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้คนมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ มีอุปสงค์เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีเพื่อสุขอนามัยได้รับความสนใจอย่างมาก อย่าง Manual Bidet, Shower toilets หรือ e-bidet ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ก็ทำให้ห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวของทุกคน อาจเป็นพื้นที่เดียวของบ้าน ที่เราสามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างแท้จริง คนยุคนี้ยอมลงทุนในห้องน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์อย่างฝักบัว และอ่างอาบน้ำ อันเป็นองค์ประกอบที่ปรนเปรอจิตวิญญาณ และร่างกายมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในตลาดเอเชีย

อีกเรื่องคือเทรนด์ด้านความยั่งยืน มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ที่ตื่นตัวด้านจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ผมเชื่อว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้ว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน  แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะเปิดตัวในตลาด เพราะแม้ผู้คนจะต้องการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อม ที่จะยอมรับประสบการณ์ที่อาจไม่เหมือนเดิม เราจึงต้องพยายาม “สร้างสมดุล” ระหว่างการออกแบบเพื่อความยั่งยืน โดยไม่ลดทอนประสบการณ์ที่ดีหรือความสะดวกสบาย

Q5: คุณคิดว่า “บ้าน” ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

ผมคิดว่ามี 3 เทรนด์หลักที่จะส่งผลต่อหน้าตาบ้านในอนาคตของเรา คือ Urbanisation,  Health and wellbeing และ Sustainability

Urbanisation – การขยายตัวอย่างหนาแน่นของเมืองใหญ่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัย เมื่อพื้นที่ในเมืองหายากขึ้นเรื่อยๆ บ้านมีพื้นที่จำกัดจนทุกสเปซในบ้านเชื่อมต่อหลอมรวมกันหมด มีความยืดหยุ่นที่คาบเกี่ยวระหว่างต่างฟังก์ชั่นใช้สอย มีการตกแต่งพื้นผิว ที่เชื่อมต่อเนื่องไปกับการตกแต่งพื้นที่นอกห้องน้ำ อย่างห้องนั่งเล่นมากขึ้น เราจะเห็นการใช้สีสันมากขึ้น เพราะนั่นคือการสร้างสรรค์พื้นที่สะท้อนตัวตน

รวมถึงระบบ Hybrid Working ในยุคนี้ ที่พนักงานสามารถเลือกทำงานได้จากทั้งที่ทำงาน หรือที่บ้าน หรือที่ไหนก็ได้ ก็ยิ่งทำให้บ้านเป็นทุกอย่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ  ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือบ้านในอนาคตอยู่แล้ว เพียงแต่สถานการณ์โรคระบาดคือตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปรากฎการณ์นี้เกิดเร็วขึ้น  โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่อยู่อาศัยมักมีพื้นที่จำกัด ก็จะเห็นบ้านในรูปแบบนี้มากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็น New Genre ของที่อยู่อาศัย

(ภาพ: American Standard)

Health and Wellbeing – ผู้คนยุคนี้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น และต้องรับข้อมูลข่าวสารมหาศาลในแต่ละวัน บ้านจึงเป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่พักกายพักใจ คนมองบ้านเป็นที่ปลีกวิเวกจากความวุ่นวายภายนอก ผู้คนจึงลงทุนกับบ้านมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องของความหรูหรา แต่เป็นการลงทุนเพื่อการปรนเปรอร่างกายและจิตใจในพื้นที่ส่วนตัว

Sustainability – โลกที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ร่อยหรอลงเรื่อยๆ เราต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัว เพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ บ้านในอนาคตย่อมให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Q6: แล้วการออกแบบจะช่วยสอดแทรกแนวคิดด้านความยั่งยืนสู่ผู้คนในวงกว้างได้อย่างไร

ความยั่งยืนมีนิยามที่ค่อนข้างซับซ้อน และเปิดกว้างมาก ถ้ายึดตาม UNSDGs คือการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเสมอภาค ซึ่ง LIXIL เรามีแนวคิดด้านความยั่งยืนมาตลอด อย่างเป้าหมาย Zero Carbon ภายในปี 2050 หรือการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ในแง่ของผลิตภัณฑ์ เราก็สามารถสอดแทรกแนวคิดด้านความยั่งยืนในผลิตภัณฑ์ของเราได้ในหลายมิติ อาทิ การลดรอยเท้าคาร์บอน ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์  รวมถึงการลดการใช้พลังงานในโรงงานของเรา ยกตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น คอลเล็กชั่นที่ได้ Cradle to Cradle Certified ที่ให้คำรับรองผลิตภัณฑ์ของ GROHE ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ เพื่อนำมาหมุนเวียนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง

การออกแบบก็สามารถชี้นำให้ผู้ใช้งานเกิดการใช้น้ำ ใช้พลังงานลดลงได้ อย่างก๊อกน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้งานตลอดทุกวัน วันละหลายครั้ง ถ้าออกแบบให้ลดการใช้น้ำในแต่ละครั้งได้ เราก็ช่วยลดการใช้น้ำ และพลังงานได้มากขึ้น และถ้ามองในสเกลใหญ่อย่างโรงแรมที่มีห้องน้ำจำนวนมาก ก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้นอีก นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของเรามีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก 5-10 ปี หรือมากกว่า ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในฐานะองค์กร เราจัดการกับประเด็นความยั่งยืนได้ในหลากหลายมิติมากๆ

Q7: จากประสบการณ์ในฐานะนักออกแบบคุณคิดว่านักออกแบบรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญความท้าทายมากน้อยขนาดไหน

แน่นอนว่านักออกแบบยุคนี้ประสบความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของโลก  ที่ทรัพยากรที่ไม่สมบูรณ์เหมือนก่อน ประชากรที่มากขึ้น ขณะที่พื้นที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่ได้กลับน้อยลงเรื่อยๆ พวกเขาต้องมาพร้อมไอเดียสดใหม่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอด”

สถานการณ์วุ่นวายของโลก ทำให้เราประสบหลากหลายปัญหาทั้งปรากฏการณ์การเงินที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลก เครือข่ายโลจิสติกส์ที่ล่มสลายในช่วงโรคระบาด หรือราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงมหาศาล และสถานการณ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้เราต้องการนวัตกรรมมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะปรากฎการณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มผู้บริโภค แปลว่าพวกเขามีเงินลงทุน หรือจับจ่ายน้อยลง แบรนด์และองค์กรต่างๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเอง และสร้างนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง และตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง เพราะลูกค้าจะเลือกสิ่งที่คุ้มค่า และเกี่ยวข้องกับพวกเขาจริงๆ เท่านั้น

จริงๆ แล้วดีไซเนอร์คือเสียงสะท้อนของผู้บริโภค และองค์กร ดังนั้นเราจึงมีโอกาส ที่จะแสดงศักยภาพให้องค์กรรับรู้ว่า ‘อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ ไม่ใช่แค่เราทำอะไรได้บ้าง’ และเป็นโอกาสที่จะแสดงความสามารถเชิงการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ

อีกประการหนึ่งคือ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของดีไซเนอร์ในยุคนี้ถูกท้าทายด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวผมไม่คิดว่า AI จะมาแทนที่นักออกแบบได้ อาจจะเร็วเกินไปสักหน่อยที่จะสรุปแบบนั้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่นักออกแบบจะอ้าแขนรับ AI ในฐานะ “เครื่องมือ” ที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหลายๆ อุตสาหกรรม มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้ AI ในการยกระดับกระบวนการออกแบบได้อย่างไร  หรือเราจะใช้ AI ในการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนได้อย่างไร

Q8: แสดงว่าคุณยังเชื่อว่าการออกแบบจำเป็นต้องอาศัย ‘ความเป็นมนุษย์’ ในการสร้างสรรค์

การออกแบบในฐานะแบรนด์ เรายังมีเรื่องของอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ต้องคำนึงถึง จึงจำเป็นต้องใช้แนวความคิดของมนุษย์ ที่เข้าใจความซับซ้อนของความเป็นแบรนด์นั้นๆ และใช้ AI เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่สะท้อนความเป็นแบรนด์นั้นๆ ดังนั้น แม้ไม่อยากฟันธง ผมจึงเชื่อว่า AI ยังไม่สามารถแทนนักออกแบบได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ แต่อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่แน่นอนว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้…

—-
เรื่อง: MNSD
ภาพ: นันทิยา, เอกสารประชาสัมพันธ์

____________________________________________________________________________________________________________

เปิดแล้ว! LIXIL Experience Center  สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของห้องครัวและห้องน้ำจากหลากแบรนด์ดัง