แบบแปลนห้อง และการวางเฟอร์นิเจอร์ ทำเองได้

มาจัดแปลนเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะกับจำนวนคน และขนาดพื้นที่ไซส์ S M L โดยยกตัวอย่าง แบบแปลนห้อง 5 ห้องหลักในบ้าน

ขนาดเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Scale)

ก่อนวาง แบบแปลนห้อง ควรทราบขนาดเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักที่จะวางในห้อง เพื่อออกแบบการจัดวาง การเว้นช่องทางเดิน ก็จะรู้ขนาดห้อง หรือในทางกลับกัน ถ้ามีขนาดห้องแล้วก็จะได้กำหนดขนาดเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับห้องได้พอดี

สัดส่วนคน (Human scale)

การออกแบบบ้านนั้นก็เพื่อให้คนอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ทุกอย่างจึงคิดตั้งต้นจากสัดส่วนและพฤติกรรมของคน เราจึงควรรู้ระยะของท่าทางการเดิน นั่ง ยืน และนอน ซึ่งจะสัมพันธ์กับความกว้างของทางเดิน ระยะโต๊ะเก้าอี้ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบต่อไป

แบบแปลนห้อง

การกำหนดทางเดินในห้อง           

ประตู บันได ช่องทางเดินจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเดินและการใช้งานในห้อง จึงควรกำหนดทางเดินให้สัมพันธ์กับการใช้งาน

ห้องนั่งเล่น           

ห้องศูนย์กลางของบ้านที่รวมหลายกิจกรรมทั้งนั่งดูทีวี อ่านหนังสือ นอนเล่น พูดคุย หรือใช้รับแขกในบางโอกาส มาดูการวางแปลนแบบง่ายๆ กัน

  • ทำทางเดินไว้ด้านข้าง เพื่อไม่ให้มีคนเดินผ่านขณะดูทีวี
  • นิยมวางที่นั่งเป็นรูปตัวแอล (L) หรือรูปตัวยู (U) เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กัน อาจใช้โซฟายาว ตั่ง หรือเก้าอี้ที่นั่งสบาย
  • วางโต๊ะกลางห่างจากโซฟาอย่างน้อย 40 เซนติเมตร ให้เดินผ่านได้สะดวก
  • สำหรับครอบครัว 2- 4 คน ควรมีพื้นที่อย่างน้อย 9 ตารางเมตร หรือแบบสบายๆ 12-16 ตารางเมตร
  • ผนังด้านที่วางทีวีและผนังฝั่งตรงข้ามควรเป็นผนังทึบเพื่อไม่ให้มีแสงแยงตาและแสงสะท้อน
แบบแปลนห้อง

ห้องรับประทานอาหาร                

สิ่งสำคัญของห้องนี้คือระยะการนั่งและการเดินที่สะดวก มีพื้นที่วางอาหารและเชื่อมต่อกับห้องครัวได้

  • หากชอบดูทีวีระหว่างรับประทานอาหาร แนะนำให้ติดทีวีด้านหัวโต๊ะ ก็จะมีจำนวนคนเห็นทีวีมากกว่าติดด้านข้างโต๊ะ
  • ควรมีส่วนเตรียมอาหารอยู่ใกล้ๆ สำหรับเก็บอุปกรณ์หรือเครื่องปรุง อาจทำเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ที่มีหน้าบานปิดทึบเพื่อความเรียบร้อย พร้อมทำช่องส่งอาหารจากห้องครัวก็จะยิ่งสะดวกขึ้น
  • ขนาดห้องขึ้นอยู่กับจำนวนคน ขนาดโต๊ะ และฟังก์ชันเสริมต่างๆ โดยโต๊ะสำหรับ 4 – 6 คน ควรมีพื้นที่ประมาณ 12 – 20  ตารางเมตร
  • ควรวางโต๊ะห่างจากผนังอย่างน้อย 1.10 เมตร เพื่อให้เลื่อนเก้าอี้นั่งได้สะดวก หรือห่างประมาณ 1.50 เมตรถ้าต้องการเดินรอบโต๊ะได้
  • ควรอยู่ใกล้ห้องครัวและทำประตูปิดให้มิดชิดป้องกันกลิ่นอาหารเข้าบ้าน
แบบแปลนห้อง

ห้องครัว  

ไม่ว่าห้องครัวขนาดเล็กหรือใหญ่จะมีหลักการออกแบบเหมือนกันคือ ออกแบบให้มีลำดับการใช้งานและระยะที่เหมาะสม มีหลักเบื้องต้นในการวางแปลน คือ

  • การออกแบบเคาน์เตอร์ครัวมี 4 รูปแบบคือ รูปตัวไอ (I) รูปตัวแอล (L) รูปตัวยู (U) และแบบมีเคาน์เตอร์กลาง (Island counter) เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ตามลำดับ เคาน์เตอร์มีความลึก 60 – 65 เซนติเมตร ความสูงเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับคนไทย คือ 83 – 87 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นคนสูงก็ใช้ความสูงเดียวกับคนยุโรป คือ 90 – 93 เซนติเมตร หากทำเตี้ยไปอาจทำให้ปวดหลังเพราะต้องก้มขณะใช้งาน
  • อุปกรณ์ครัวมี 3 สิ่งหลักๆ คือ ตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาไฟ โดยมีลำดับการใช้งานเป็นสามเหลี่ยมหรือเส้นตรง คือ หยิบของจากตู้เย็นวางข้างอ่างล้างจาน แล้วล้างหรือจัดเตรียม จากนั้นนำไปปรุงที่เตาไฟ
  • บริเวณอ่างล้างจานควรมีหน้าต่างเพื่อระบายความชื้น ส่วนบริเวณเตาไฟควรเป็นผนังทึบเพื่อกันลม
  • ทางเดินระหว่างเคาน์เตอร์ควรกว้างไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร แต่ถ้ามักเข้าครัวตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรกว้างอย่างน้อย 1.50 เมตร ให้เดินสวนกันได้สะดวก
  • ควรมีทางเข้าออกจากหลังบ้านเพื่อทิ้งขยะและขนของเข้าบ้านได้สะดวก
แบบแปลนห้อง

ห้องนอน                

หลักการวางแปลนห้องนอนไม่ยาก โดยเน้นการสร้างความสงบ เป็นส่วนตัว และมีสุขลักษณะที่ดี

  • ห้องนอนทั่วไปที่อยู่สบายควรใช้พื้นที่ประมาณ 18 – 24 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดเตียงและฟังก์ชันในห้อง
  • ทางเดินข้างเตียงควรกว้างอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
  • หัวเตียงควรเป็นผนังทึบเพื่อทำให้รู้สึกปลอดภัย
  • บางคนชอบทำงานหรือดูทีวีในห้องนอน จึงอาจมีโต๊ะทำงาน ทีวี และตู้เย็น ซึ่งขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์แต่ละคน
  • หากมีพื้นที่เพียงพอ อาจทำห้องแต่งตัวแยกให้เป็นสัดส่วนและทำต่อเนื่องไปยังห้องน้ำส่วนตัวก็จะสะดวกยิ่งขึ้น
แบบแปลนห้อง

ห้องน้ำ           

ฟังก์ชันทั่วไปของห้องน้ำจะเหมือนกันทุกบ้าน จะแตกต่างกันเมื่อมีการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษ เช่น อ่างอาบน้ำ อ่างน้ำวน หรือเป็นห้องน้ำผู้สูงอายุ เรามาดูการวางแปลนพื้นฐานกัน

  • ประตูห้องน้ำทั่วไปควรเปิดเข้า เพื่อไม่ให้น้ำหยดออกมานอกห้อง แต่ถ้าเป็นห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ควรใช้ประตูแบบเปิดออกหรือบานเลื่อน เพื่อเมื่อมีคนล้มในห้องน้ำจะยังสามารถเปิดประตูเข้าไปช่วยเหลือได้
  • ควรแยกพื้นที่ส่วนแห้ง คือ อ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ เพื่อให้ทำความสะอาดง่าย และลดอันตรายจากพื้นที่เปียกน้ำ
  • พื้นที่ส่วนเปียกสำหรับยืนอาบน้ำควรกว้างอย่างน้อย 80 เซนติเมตร และลดระดับพื้นลง 10 เซนติเมตร อาจแบ่งสัดส่วนด้วยผนังกระจก ม่าน หรือตู้อาบน้ำ
  • ผนังด้านที่ติดตั้งสุขภัณฑ์แนะนำให้ทำเป็นผนัง 2 ชั้น เพื่อฝังท่อน้ำแล้วลดเสียงรบกวนไปยังห้องข้างเคียง อาจทำเป็นแท่นลึก 10 – 20 เซนติเมตร สูง 0.80 – 1 เมตร ก็ใช้เป็นแท่นวางของได้ด้วย

เรื่อง ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ เอกรินทร์ พันธุนิล


ภูมิปัญญาไทย ในบ้านยุคใหม่

ป้องกันอันตรายในบ้านผู้สูงอายุ

ติดตามบ้านและสวน