โรคพืช ที่ชอบระบาดในฤดูฝน

โรคพืช ที่มาพร้อมกับฝนและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีโรคไหนบ้างและมีวิธีการจัดการอย่างไร วันนี้ บ้านและสวน รวมมาให้ศึกษากันจำนวน 10 โรคที่โดดเด่น

โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน

1. โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน (Phytophthora root and foot rot) โรคพืช

โรคพืช สาเหตุ เชื้อรา Phytophthora palmivora อาการ เริ่มจากเชื้อราเข้าทำลายระบบราก ทำให้รากต้นทุเรียนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต่อมาส่งผลให้ใบเหนือบริเวณที่รากเน่ามีอาการซีดเหลือง จากนั้นจะปรากฎอาการเน่า มีแผลฉ่ำน้ำ และมีน้ำไหลออกมาจากแผลที่โคนต้น เมื่อแผลเน่าลุกลามมากจะทำให้ใบร่วงหมด

ต้นและยืนต้นตายในที่สุด

การแพร่ระบาด เชื้อแพร่กระจายโดยทางน้ำ ในสภาพดินที่มีน้ำชัง เชื้อราสร้างสปอร์ว่ายน้ำได้ จึงเข้าทำลายระบบรากสู่โคนต้น แต่ในฤดูฝนที่มีลมพายุและสภาพอากาศมีความชื้นสูง เชื้อจะแพร่ระบาดทางลม ฝน เข้าทำลายใบ กิ่ง และผลบนต้นได้

การจัดการโรค

-ทำทางระบายน้ำในสวนไมให้มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณรอบโคนต้น

-ลดการใช้สารกำจัดวัชพืชใกล้บริเวณโคนต้น ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกไปทำลายนอกแปลงปลูก

-ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ( Trichoderma asperellum) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis)

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม (fosetyl aluminium) บอร์โดมิกซ์เจอร์ (bordeaux mixture) คอปเปอร์ออกชีคลอไรด์ (copper oxychloride) ไดเมโทมอร์ฟ (dimethomorph) ไพราโคลสโตรบิน (pyraclostrobin) ไมโคลบิวทานิล + ครีซอกชิม-เมทิล (myclobutanil + kresoximmethy) เป็นต้น

โรคเน่าดำของกล้วยไม้

2. โรคเน่าดำของกล้วยไม้ (Black rot)

สาเหตุ เชื้อรา Phytophthora palmivora อาการ เชื้อราสามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน ถ้าเข้าทำลายที่รากจะทำให้รากเน่าแห้ง  มีผลให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุด ถ้าเข้าทำลายยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย ถ้าแสดงอาการรุนแรง เชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้น เมื่อผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น

การแพร่ระบาด เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม ฝน หรือน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้

การจัดการโรค

-ปรับสภาพเรือนปลูกให้โปร่ง ไม่ปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป

-ตัดส่วนที่เป็นโรคหรือเก็บต้นที่เป็นโรคทิ้งนอกแปลงปลูก

-ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) หรือเชื้อแบคที่เรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis)

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล (metalaxy) ไดเมโทมอร์ฟ (dimethomorph) ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม (fosetyl-aluminium) เป็นต้น

โรคแอนแทรคโนสมะม่วง

3. โรคแอนแทรคโนสมะม่วง (Anthracnose)

สาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides อาการ ใบอ่อนเกิดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ขนาดแผลไม่แน่นอน เมื่อแผลขยายติดกันจะเกิดอาการไหม้ บิดเบี้ยวเมื่อแทงช่อดอก  เชื้อจะเข้าทำลาย ทำให้ช่อดอกเป็นแผลไหม้ แห้ง ดอกร่วง ช่อที่ติดผลอ่อนรวมทั้งผลแก่จะมีแผลจุดดำ เมื่ออากาศมีความชื้นสูงจะเกิดสปอร์สีชมพูขึ้นตามแผล เชื้อสามารถเข้าทำลายผลอ่อนแบบแฝงโดยยังไม่แสดงอาการของโรค  และจะแสดงอาการโรคเมื่อผลสุก

การแพร่ระบาด อาการโรคบนใบ กิ่ง และผลเป็นแหล่งสะสมเชื้อซึ่งแพร่กระจายไปยังต้นอื่น ๆ ได้ โรคจะระบาดมากในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น โดยอาศัยลม ฝนเมื่อสปอร์ได้รับความชื้นจะสามารถงอกเจริญออกมาทำลายส่วนต่าง ๆ ของพืช

การจัดการโรค

-ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก ป้องกันการติดเชื้อโดยใช้ถุงห่อผลมะม่วง

-ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ( Trichodermaasperellum) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis)

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา  เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) โพรพิเนบ(propineb)โพรคลอราช (prochloraz) อะซอกชีสโตรบิน (azoxystrobin) ไพราโคลสโตรบิน (pyraclostrobin) เป็นต้น

-จุ่มผลมะม่วงในน้ำร้อน 55 องศาเซลเชียส นาน 3-5 นาที

โรคแอนแทรคโนสกล้วยไม้

4. โรคแอนแทรคโนสกล้วยไม้ (Anthracnose)

สาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum sp. อาการ ใบเป็นแผลสีน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ขยายออกเป็นแผลใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันเป็นชั้น ในกล้วยไม้บางชนิดมีขอบแผลเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบแผล มักพบในกล้วยไม้สกุลออนซิเดียม (Oncidium) และสกุลอื่นๆ

การแพร่ระบาด เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม ฝน หรือน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ โดยเฉพาะใบและกิ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดไปตามต้นและกระจายไปยังต้นอื่นๆได้ โดยระบาดมากในช่วงสภาพอากาศร้อนชื้น

การจัดการโรค

-ตัดแต่งใบที่เป็นโรคและเก็บรวบรวมไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายต่อไป

-ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ( Trichoderma asperellum) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis)

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเชบ (mancozeb) โพรพิเนบ (propineb) โพรคลอราช (prochloraz) โพรพิโคนาโชล (propiconazole) ไดพีโนโคนาโซล (difenoconazole) อะซอกชีสโตรบิน (azoxystrobin) ไพราโคลสโตรบิน (pyraclostrobin) เป็นต้น

โรคแอนแทรคโนสลิ้นมังกร

5. โรคแอนแทรคโนสลิ้นมังกร (Anthracnose)

สาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum sp. อาการ เกิดจุดช้ำฉ่ำน้ำบริเวณใบ ต่อมาจุดฉ่ำน้ำจะแห้งยุบ และมีกลุ่มสปอร์ของเชื้อราเจริญบริเวณแผลแห้งลักษณะเป็นวงซ้อนกัน อาการไหม้สามารถขยายลุกลาม ทำให้ใบลิ้นมังกรแห้งตายได้ทั้งใบ จนต้นตายในที่สุด

การแพร่ระบาด ใบที่เป็นโรคเป็นแหล่งสะสมเชื้อที่สามารถแพร่กระจายไปยังต้นอื่นๆได้ โดยระบาดมากในช่วงสภาพอากาศร้อนขึ้น

การจัดการโรค

-ตัดแต่งใบที่เป็นโรคและเก็บรวบรวมไปฝังทำลาย เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายต่อไป

-เมื่อต้นเกิดโรค ระวังอย่าให้น้ำจนใบเปียกโชก

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) โพรพิเนบ (propineb) โพรคลอราช (prochloraz) โพรพิโคนาโซล (propiconazole) ไดฟิโนโคนาโซล (difenoconazole) อะซอกซีสโตรบิน (azoxystrobin) ไพราโคลสโตรบิน (pyraclostrobin) เป็นต้น

โรคราเมล็ดผักกาดในกวักมรกต

6. โรคราเมล็ดผักกาด (Sclerotium rot)

สาเหตุ เชื้อรา Sclerotium rolfsi อาการ เชื้อราเจริญจะเริ่มเข้าทำลายรอบโคนต้น ลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวทำให้โคนต้นเน่า เมื่อต้นพืชใกล้ตายเส้นใยเชื้อราจะสร้างเม็ดกลมเล็กๆ สีขาว จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ

การแพร่ระบาด พบมากในดินที่มีสภาพเป็นกรด เชื้อนี้แพร่กระจายไปกับดิน หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร ตลอดจนติดไปกับคนและสัตว์ที่เข้าไปเหยียบย่ำบนดินที่มีเชื้อโรคนี้ ปกติสเคลอโรเทียมมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่โรคราเมล็ดผักกาดในถั่วลิสงผิดปกติได้ดี ในสภาพที่แห้งอาจอยู่ได้นานหลายปี อาการโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเสียหายรุนแรงในสภาพอากาศที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ หมอกลงจัด ท้องฟ้าครึ้ม มีฝนตกปรอย ๆ เป็นละออง หากปลูกพืชโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นน้อย แสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้น หรือใบพืชคลุมดินอยู่ตลอดเวลา

การจัดการโรค

-หมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบพืชที่แสดงอาการโรคให้ถอนทำลาย  แล้วโรยด้วยปูนขาวบริเวณที่พบโรคและพื้นดินใกล้เคียง

-ไถกลบหน้าดินตากแดดและปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัย

-ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis) รดดินบริเวณอาการโรคก่อนปลูกพืชใหม่

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์บอกซิน (carboxin)  อึไตรไดอะโซล (etridiazole) เป็นต้น

โรคพืช
โรคใบจุดบัว

7. โรคใบจุดบัว (Leaf spot)

สาเหตุ เชื้อรา Cercospora sp. อาการ มักพบบนใบแก่ที่เจริญเติบโตเต็มที่ ลักษณะเป็นแผลจุดวงกลมสีเหลือง เมื่อแผลขยายกว้างขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและมีกลุ่มเชื้อราสีดำเป็นจุดอยู่ในแผลทำให้ใบแห้งตายได้

การแพร่ระบาด เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในเศษซากพืช สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจาย ได้ดีโดยลม ฝน และติดไปกับแมลง โดยระบาดมากในฤดูฝนซึ่งมีอากาศขึ้น

การจัดการโรค

-ตัดใบที่เป็นโรคออกไปทิ้งนอกสระหรือภาชนะปลูก

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน (captan) ซีเนบ (zineb) มาเน็บ (maneb) เป็นต้น

โรคพืช
โรคดอกจุดสนิมกล้วยไม้

8. โรคดอกจุดสนิมกล้วยไม้ (Flower rusty spot)

สาเหตุจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis อาการ พบบนกลีบดอก เริ่มจากเป็นจุดขนาดเล็กสีเหลืองอมน้ำตาลคล้ายสีสนิม แผลค่อนข้างกลม ตรงกลางแผลเป็นจุดสีน้ำตาลแดง ลักษณะดังกล่าวเห็นได้ชัดบนดอกกล้วยไม้หวายมาดาม ขณะที่ในดอกกล้วยไม้ หวายขาวเกิดแผลสีน้ำตาล ไม่เป็นแผลสีสนิมชัดเจน

การแพร่ระบาด ระบาดรุนแรงและรวดเร็วในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตก ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือมีน้ำค้างลงมาก

การจัดการโรค

หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ดอกเป็นโรคโรยคาต้น เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคนำไปทิ้งนอกแปลงปลูกเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค

ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ( Trichodermaasperellum) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtis) ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) แคปแทน (captan) โพรพิเนบ (propineb) เป็นต้น

โรคพืช
โรคใบจุดดำกุหลาบ

9. โรคใบจุดดำกุหลาบ (Black spot)

สาเหตุ เชื้อรา Marssonina rosae อาการ พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกุหลาย มักแสดงอาการเริ่มแรกที่ใบด้านล่างก่อน โดยเกิดจุดแผลกลมสีดำ ขอบแผลไม่เรียบ กลางแผลมีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ เมื่อสภาพอากาศมีความชื้นสูง แผลจะขยายใหญ่ขึ้น สามารถพบได้หลายแผลในหนึ่งใบ ทำให้ใบเหลือง แห้ง และหลุดร่วง

การแพร่ระบาด เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในเศษซากพืช สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายได้ดีโดยลม ฝน และการให้น้ำ

การจัดการโรค

-ตัดแต่งใบที่เป็นโรค รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูก  เพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุ

-ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โพรคลอราช (prochloraz) แมนโคเซบ (mancozeb) ไดฟิโนโคนาโซล (difenoconazole) เป็นต้น

โรคพืช
โรคใบจุดสาหร่าย
โรคพืช
โรคใบจุดสาหร่าย

10. โรคใบจุดสาหร่าย (Algal leaf spot)

สาเหตุ สาหร่าย Cephaleuros virescens อาการ เกิดกับพืชหลายชนิด เช่น ฝรั่ง มะกรูด ทุเรียน อะโวคาโด เป็นต้น เริ่มจากใบเป็นแผลจุด ขุยสีเทาอมเขียวฟูเล็กน้อย จากนั้นจุดขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม ลักษณะค่อนข้างกลม ขนาด 3 – 5 มิลลิเมตร ต่อมาจุดจะแห้งและทำให้แผลบริเวณเนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบมีสีน้ำตาลดำ ใบที่เป็นโรคจะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและร่วงไปในที่สุด

การแพร่ระบาด เชื้อเข้าทำลายพืชได้หลายชนิดสปอร์ของสาหร่ายสามารถปลิวไปกับลม ฝน  และการให้น้ำ มักระบาดมากในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในฤดูฝน

การจัดการโรค

ตัดใบที่เป็นโรคออกไปทิ้งนอกแปลงปลูก และแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง

ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ (bordeaux mixture) คอปเปอร์ไฮดรอกไชด์ (copper hydroxide) เป็นต้น


ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้ใน หนังสือ รู้ทันโรคพืช ชุด คู่มือการเกษตร

บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้นกุหลาบ กับโรคและแมลงศัตรูตัวร้าย

รวม เพลี้ย ศัตรูพืชตัวเล็ก ที่ต้องเฝ้าระวัง

ติดตามไอเดียเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com