ต้นกุหลาบ กับโรคและแมลงศัตรูตัวร้าย

ต้นกุหลาบ เป็นไม้ดอกที่มีศัตรูมาก โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนชื้น ทั้งแมลงและโรคจะทำความเสียหายให้กับใบจนร่วงไป หรือทำให้ใบมีพื้นที่สังเคราะห์แสงลดลง กุหลาบจะขาดอาหารและเริ่มอ่อนแอ

ต้นกุหลาบ
ด้วง

แมลงศัตรู ที่สำคัญ ได้แก่ ต้นกุหลาบ

ด้วงหรือแมลงปีกแข็ง เป็นศัตรูกุหลาบที่รู้จักกันมานานคอยกัดกินใบและดอกมีวิธีจัดการง่ายๆคือใช้มือจับ ตอนกลางคืนก็ใช้ไฟฉายส่อง หรือใช้สารไซเปอร์เมทริน (Cypermetrin) ฉีดพ่น

หนอน เกิดจากผีเสื้อหรือมวนมาวางไข่ไว้บนใบหรือดอกตูม เมื่อฟักเป็นตัวหนอนก็เข้ากัดกินใบและดอก ถ้าปลูกจำนวนไม่มากควรใช้วิธีจับตัวหรือเก็บไข่ทิ้งดีกว่า กรณีที่ระบาดมาก ฉีดพ่นด้วยไซเปอร์เมทริน (Cypermetrin) แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนอนจะดื้อยา มีสารป้องกันกำจัดที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้คือ เชื้อจุลินทรีย์บาซิลลัสทูเรงเยนซีส ฉีดพ่นเหมือนสารเคมีทั่วไป แต่ต้องใช้ช่วงเย็นหรือช่วงที่ไม่มีแดด

ต้นกุหลาบ
อาการใบหงิกจากเพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงตัวเรียวเล็กเท่าปลายเข็มที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คอยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนดอกอ่อนและแทรกตัวอยู่ในกลีบดอกตูม ทำให้ยอดที่เพิ่งแตกหงิกงอหรือแห้งเหมือนถูกไฟลน ใบอ่อนของยอดที่แตกใหม่หงิกงอ มีรอยด่างเหลือง กลีบนอกของดอกตูมเป็นรอยสีน้ำตาลหรือเป็นรู เมื่อดอกบาน กลีบดอกจะหงิกและปลายกลีบหดเป็นริ้ว สีขาวหรือสีน้ำตาล เพลี้ยไฟชอบดอกกุหลาบสีเหลืองและขาวมากกว่าสีอื่น ควรฉีดพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดประเภทดูดซึม เช่น อิมิดาคลอปริด (Imidacloprid) แต่มักดื้อยา วิธีอื่นที่ใช้จัดการคือ พ่นน้ำที่ใบกุหลาบจะช่วยลดจำนวนลง เพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบน้ำและฤดูฝน

ไรแดงอาศัยใต้ใบกุหลาบ

ไรแดง เป็นแมลงตัวเล็กมาก นักวิชาการไม่ยอมเรียกว่า “ไร” ด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีแปดขา และมันชักใยได้ จึงต้องเป็นแมงมุมไม่ใช่ไร วิธีสังเกตง่ายๆ ว่ากุหลาบถูกไรแดงเข้ารบกวนแล้วอาจดูจากสีใบ ถ้าเริ่มมีสีหมองไม่สดเหมือนมีฝุ่นจับ ลองพลิกดูใต้ใบ จะเห็นสัตว์ตัวเล็กมากสีแดงส้ม สีน้ำตาล หรือสีเหลืองก็อยู่ บางทีอาจมีใยสีขาวจับใต้ใบด้วย แดงอาศัยอยู่นานแล้ว คอยดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเปลี่ยนจากสดใสเป็นขุ่นมัว ในที่สุดจะเหลืองและร่วง มีผลให้ต้นทรุดโทรม วิธีแก้ไขทำได้ด้วยการฉีดพ่นน้ำแรงแรงเข้าใต้ใบ ไรแดงจะหลุดไปกับน้ำโดยง่าย มีปัญหาแต่เพียงว่ามันอาจจะสามารถเดินกลับขึ้นมาบนใบอีกได้ ถ้ามันฉีดน้ำพ่นเข้าไว้เป็นประจำในระหว่างที่มันเข้าทำลาย ในที่สุดก็จะหมดไป เพราะวงจรชีวิตของไรแดงไม่ยาวนานมากนัก หากจะใช้สารเคมีก็อาจใช้เฟนบูทาทินออไซด์ (Fenbutatinoxide-ทอร์ค) หรือเฟนไพโรซิเมท (Fenpyroximate-ออทุส)

เพลี้ยหอย เป็นแมลงที่มีเกราะหุ้มตัว เป็นเกล็ดกลมสีน้ำตาลเกาะติดแน่นอยู่ตามกิ่ง ถ้าระบาดมากจะเกาะติดเป็นแผ่น มักเกิดกับต้นกุหลาบที่มีอายุมากและขาดการดูแล คอยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นทำให้กิ่งแห้งตาย ถ้าระบาดไม่มากควรใช้นิ้วถูออกหรือใช้แปรงสีฟันเก่าแปรงให้หลุด ถ้าระบาดมากควรพ่นมาลาไธออน (Malathion) หรือ ไซเปอร์เมทริน แต่ต้องผสมกับไวท์ออยล์ ซึ่งเป็นน้ำมันปิโตรเลียม สีขาวที่ละลายน้ำได้ น้ำมันจะซึมผ่านเกราะที่หุ้มตัวเพลี้ยพร้อมกับนำสารป้องกันกำจัดเข้าไปด้วย หากฉีดพ่นหลังตัดแต่งกิ่งไม้จะช่วยป้องกันได้ดี

แมลงและเพลี้ยอื่นๆ อาจพบบ้าง แต่ไม่ทำความเสียหายร้ายแรง และมักถูกกำจัดไปโดยการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงต่างๆดังที่กล่าวไว้แล้ว

โรค

มักเกิดจากเชื้อรา เมื่อมีความชื้นทำให้เชื้อราแพร่ระบาด ซึ่งมักเกิดในฤดูฝนและฤดูหนาว สำหรับโรคที่พบมากมีดังนี้

โรคใบจุดสีดำ

ใบจุดสีดำ (black spot) เป็นโรคยอดนิยมของกุหลาบ โดยเกิดเป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำ ขอบของจุดไม่ชัดเจน แต่พร่าเหมือนรอยน้ำหมึกหยดลงบนกระดาษและซึมที่ขอบ จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองจากจุดและร่วงในที่สุด มักเกิดในฤดูฝนที่ใบเปียกตอนกลางคืน วิธีป้องกันที่ได้ผลคือ ทำอย่างไรไม่ให้ใบปีอ่ะ ด้วยการทำหลังคาพลาสติก สำหรับสารป้องกันกำจัดที่นิยมใช้ ได้แก่ แมนโคเซป (Mancozep) สลับกับ ไตรโฟรีน (Triforine) คลอโรทาโรนิล (Chlorothalonil) หรือ เฮกซาโคนาโซ (Hexaconazole) นอกจากนี้ควรเก็บใบที่เป็นโรคออกจากคนตนให้หมด จะช่วยลดการระบาดลงได้มาก

แอนแทร็กโนส (anthracnose) หรือโรคตากบ คล้ายโรคใบจุดสีดำ แต่ขอบจุดไม่พร่า กึ่งกลางของจุดจะแห้งดูเหมือนตากบ สำหรับสารป้องกันกำจัดที่ใช้เช่นเดียวกับโรคใบจุด

ราแป้ง

ราแป้ง (powdery mildew) หรือโรคใบพอง อาการคือ ใบเหมือนมีฝุ่นแป้งจับและพองเหมือนข้าวเกรียบปิ้ง มักเกิดช่วงกลางวันที่ร้อน และกลางคืนที่เย็นชื้น ควรฉีดพ่นน้ำให้เปียกถ้าอยู่ในร่มให้ย้ายต้นให้รับแดด ส่วนสารป้องกันกำจัดที่ใช้คือ เฮกซาโคนาโซล, ไตรโฟรีน, คาร์เบนดาซิม (Carbendazim)

ราน้ำค้าง (downy mildew) พบในฤดูหนาว แต่ปัจจุบันเริ่มเกิดในฤดูฝนด้วย อาการเริ่มแรกคือ ใบอ่อนมีอาการใบโต ใต้ใบสีม่วงแดงเป็นแห่งๆ ถ้าเป็นมากยอดจะเหี่ยวทั้งๆที่อากาศหนาวเย็น ใบแก่มีแผลหรือริ้วสีน้ำตาลคล้ายรอยสนิมหรือรอยน้ำหมาก วิธีป้องกันคือ เมื่ออากาศเริ่มหนาว ควรฉีดพ่นแมนโคเซปป้องกันไว้ และหมั่นตรวจต้นอยู่เสมอ หากเริ่มแสดงอาการควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัด เช่น เมตาแล็กซิล (Metalaxyl) หรือ ไซม็อกซานิล (Cymoxanil) และตัดกิ่งที่เกิดอาการไปทำลายทิ้ง

โรคบอไทรทิส

บอไทรทิส (botrytis) หรือ โรคราสีเทา อาการที่พบคือ ดอกกุหลาบที่อยู่บนต้นไม่ยอมบ้านจนกลีบดอกเหี่ยวแห้ง มักพบกับกุหลาบมอญ, จุฬาลงกรณ์, จูว็องแซล และมาร์โกคอสเตอร์ ซึ่งอ่อนแอต่อโรคนี้ ป้องกันกำจัดที่ใช้คือ ไอโปรไดโอน (Iprodione) เบนโนมิล (Benomyl) แคปแทน (Captan)

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

สำหรับผู้ปลูกกุหลาบมือสมัครเล่น ที่ไม่ต้องการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอาจใช้วิธีง่ายๆ ที่แนะนำไว้ในแต่ละหัวข้อ หรือทดลองใช้สารสกัดสมุนไพรที่มีจำหน่าย แต่มักได้ผลไม่แน่นอน

ส่วนผู้ปลูกกุหลาบเป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบตัดดอกหรือต้นพันธุ์กุหลาบ จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดต่อไป โดยพิจารณาว่าจะมีทางลดโรคและแมลงได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่เลือกพื้นที่ปลูกที่มีอากาศถ่ายเทไม่อับชื่น ถ้ามีทุนอาจสร้างโรงเรือนหลังคาพลาสติกกันฝน การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ผลและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้น้อยที่สุด จะต้องเรียนรู้แมลงและโรค รวมทั้งสารเคมีที่ใช้ด้วย ที่สำคัญคือ ความสามารถในการวินิจฉัยโรค เมื่อรู้ว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร เพราะแมลงอร้าย หรือโรคอะไร ดินเป็นกรดเกินไป ขาดธาตุอาหารหรือใส่ปุ๋ยมากเกิน หรืออื่นๆ เราก็จะรักษาได้ตรงกับสาเหตุ

เรื่อง/ภาพ : พจนา นาควัชระ


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน หนังสือ กุหลาบ ROSES (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม)


รวม ต้นกุหลาบ ดอกไม้สื่อรัก

เคล็ดลับ ปลูกกุหลาบ ให้ออกดอกสวย

สวนกุหลาบสไตล์ชนบทอังกฤษ ท่ามกลางบรรยากาศริมเชิงเขา

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com