โรคลมแดดในแมว โรคที่มาพร้อมอากาศร้อน

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนร้อนจัด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงคือ โรคลมแดด หรือ Heatstroke

สาเหตุของ โรคลมแดดในแมว

เกิดจากการที่ร่างกายของแมวได้รับความร้อนมากจนเกินไป อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง การถ่ายเทระบายอากาศไม่ดี จนส่งผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายแมวสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์ อย่างรวดเร็ว อุณภูมิที่สูงเกินไปจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายใน และระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย โดยมีความรุนแรงได้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการของแมวที่เป็นโรคลมแดด

  1. มีอาการหายใจเร็ว หอบ หายใจทางปาก หรือหายใจลำบาก
  2. สีบริเวณเหงือก ลิ้น มีสีแดงสด
  3. อุณหภูมิของร่างกายแมวสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์
  4. มีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย
  5. น้ำลายไหลยืด
  6. รูม่านตาขยายใหญ่
  7. อ่อนแรง การทรงตัวผิดปกติ และเดินเซ
  8. มีสภาวะช็อก หมดสติ หรือชัก เกร็ง
โรคลมแดดในแมว, โรคลมแดด, โรคแมว, โรคลมแดดในสัตว์เลี้ยง,
ภาพถ่าย Caleb Woods

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโรคลมแดดในแมว

  1. รีบนำแมวเข้าสู่พื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  2. เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเปล่า ที่บริเวณฝ่าเท้า รักแร้ ขาหนีบ ใต้ท้อง
  3. รีบนำส่งโรงพยาบาลสัตว์เพื่อพบสัตวแพทย์ทันที

การป้องกันโรคลมแดด

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งช่วงอากาศร้อน
  2. มีน้ำดื่มเพียงพอต่อความต้องการของแมว เพื่อป้องกันภาวะแห้งน้ำ
  3. ให้แมวอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดและระบายอากาศไม่ได้ เช่น ในรถ
  4. คลายความร้อนให้แมวโดยใช้ที่นอนเจลเย็น โอ่งเย็น หรือที่นอนที่สามารถปรับควบคุมอุณหภูมิได้
  5. ถ้าหากแมวต้องเผชิญกับอากาศร้อน สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าเช็ดตามตัว อุ้งเท้า ใต้ท้อง เพื่อช่วยระบายความร้อน

เรื่อง: สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ