อาการนั่งหมอบ ตัวสั่น ส่งเสียงขู่ฟู่ อาจหมายถึงแมวกำลังเครียด

เมื่อเผชิญภาวะคับขัน หรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แมวมักจะแสดงถึงความเครียดออกมา โดยแสดง อาการนั่งหมอบ ตัวสั่น ส่งเสียงขู่ฟู่ หายใจเร็ว และเก็บขา

ตามธรรมชาติ แมวเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสัญชาตญาณเรื่องการปกป้องอาณาเขต พื้นที่ภายในบ้านจึงเป็นพื้นที่ที่แมวคิดว่าเป็นอาณาเขตของพวกเขา ทำให้แมวตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เช่น คุณซื้อของชิ้นใหม่เข้าบ้าน มีสมาชิกตัวเล็กเพิ่มขึ้น หรือการย้ายแมวเข้ามาอยู่บ้านใหม่ โดยอาการเบื้องต้น แมวจะแสดง อาการนั่งหมอบ ตัวสั่น ส่งเสียงขู่ฟู่ หายใจเร็ว และเก็บขางอขา

โรคเครียดในแมว, อาการเครียดในแมว, เป็นอย่างไร, แมวเครียด, ได้อย่างไร, อาการแมวเครียด, ความเครียดในแมว, อาการนั่งหมอบ
ภาพถ่าย Anna Ogiienko

เราจะสังเกตอย่างไรว่า เจ้าเหมียวของเรากำลังเครียด

ความเครียดในแมวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือกระตุ้นให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ แมวมักจะเป็นสัตว์ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว และมักจะเก็บซ่อนการแสดงอารมณ์ของตัวเองเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ

การเรียนรู้เรื่องความเครียดที่เกิดขึ้นในแมว จะสามารถนำไปสู่การปรับแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมและสุขภาพของแมวได้ ดังนั้น วันนี้เราจะมาร่วมสังเกตอาการ หรือพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเครียดในแมว

ความเครียดในแมวแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ความเครียดแบบเฉียบพลันและความเครียดแบบเรื้อรัง โดยแต่ละกลุ่มมีอาการแสดงออก ดังนี้

ความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute stress)

ความเครียดแบบเฉียบพลันในแมวมักเกิดจากการเหตุการณ์ที่แมวไม่คาดคิด หรือเหตุการณ์ที่ทำให้แมวเกิดความหวาดกลัวในช่วงเวลานั้น อาการและการแสดงออกที่บ่งบอกว่าแมวเกิดความเครียดแบบเฉียบพลัน คือ

  • แมวจะไม่ยอมออกมาเคลื่อนตัว หลบอยู่นิ่งๆ
  • นั่งหมอบ ตัวสั่น นั่งเก็บขา นั่งงอขา
  • หายใจเร็ว สังเกตเห็นได้จากบริเวณช่องท้องหรืออกยุบเข้าออกเร็ว
  • หางม้วนลงด้านล่าง
  • ศีรษะก้มกดลงต่ำกว่าลำตัว ไม่เคลื่อนไหว
  • ดวงตาเปิดเต็มที่ และรูม่านตาขยายใหญ่เต็มที่
  • หูลู่แบนราบไปด้านหลังศีรษะ
  • หนวดลู่ไปทางด้านหลัง
  • มีการเปล่งเสียงเหมียว ร้องโหยหวน คำราม
  • มีเสียงขู่ฟู่ คำราม ตัวสั่น น้ำลายไหล
  • ปัสสาวะและอุจจาระโดยไม่ตั้งใจ
  • แสดงพฤติกรรมความก้าวร้าวหากสิ่งกระตุ้นเข้าไปใกล้
โรคเครียดในแมว, อาการเครียดในแมว, เป็นอย่างไร, แมวเครียด, ได้อย่างไร, อาการแมวเครียด, ความเครียดในแมว, อาการนั่งหมอบ
ภาพถ่าย Chris Yang

ความเครียดแบบเรื้อรัง (Chronic stress)

ความเครียดแบบเรื้อรังจะสังเกตได้ยากมากกว่า เพราะมักเกิดจากการค่อยๆสะสมความเครียดอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่นานจนแสดงอาการทางร่างกายต่างๆออกมา โดยมักจะส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันและพฤติกรรมของแมว แมวที่มีความเครียดสะสมมักจะแสดงอาการดังนี้

  • กินอาหารลดลง ไม่กินอาหารหรือบางตัวอาจจะตรงกันข้ามคือ กินอาหารมากกว่าปกติ
  • เลียแต่งตัวลดลง ไม่เลียแต่งตัวเลย และในบางตัวมีพฤติกรรมตรงข้ามคือเลียแต่งขนอย่างมากผิดปกติ
  • นอนมากขึ้นหรือเก็บตัว ซ่อนตัวมากขึ้น
  • ลดการเข้าสังคมหรือเข้าฝูง
  • มีความระแวงและก้าวร้าวต่อคนและแมวในฝูงด้วยกันเอง
  • ตื่นตกใจง่าย บางครั้งตกใจกระโดดแม้เสียงกระตุ้นจะเบามาก
  • ปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติ เช่นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่เป็นที่
  • การพ่นปัสสาวะทำเครื่องหมายในบ้านบ่อยขึ้น
  • เลียกินอุจจาระตัวเอง
  • มีการก้าวร้าวต่อสิ่งรอบๆตัวที่ไม่ใช่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด

เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ