โรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด อาการที่มาพร้อมอากาศร้อน

เมื่ออากาศรอบตัวมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกที ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เลี้ยงต่างก็เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยด้วยกันทั้งนั้น และ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก อย่าง น้องหมาที่มักจะอดใจไม่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านไม่ไหว ก็มักจะต้องเจอกับอากาศร้อนอยู่เสมอ ทำให้เสี่ยงต่ออาการ โรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดที่อาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันนี้ บ้านและสวน Pets จึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการที่มักจะมาพร้อมอากาศร้อน อย่าง โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือ โรคลมแดด ของน้องหมากันค่ะ

ที่มาและสาเหตุของโรคฮีทสโตรกในสุนัข

โรคฮีทสโตรก
www.vetinbrooklyn.com

โดยปกติสุนัขจะระบายความร้อนผ่านการหายใจ แต่เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจนไม่สามารถถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายได้รวดเร็วพอ ทำให้สุนัขสูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย จึงเกิดอาการโรคฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือ โรคลมแดดตามมาและอาจเริ่มเป็นอันตรายกับตับ ไต หัวใจ รวมไปถึงสมอง ซึ่งส่วนใหญ่มักพบได้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ขนยาวและสุนัขพันธุ์หน้าสั้น อย่าง บูลด็อก หรือ ปั๊ก รวมไปถึงสุนัขที่มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือ เคยมีประวัติโรคลมแดดมาก่อน

อาการร้อนๆ แบบนี้จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมากเกินไปและมีความชื้นสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก อย่าง ในรถ หรือ ในห้องปิดทึบ และ หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่หนักเกินไปด้วย

อาการโรคฮีทสโตรกในสุนัข

โรคฮีทสโตรก
www.petguide.com

1.ตัวร้อนหรือมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ (สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส)

2.อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นสูงและหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

3.มีอาการหายใจลำบาก กระหายน้ำรุนแรง น้ำลายเหนียวหรือน้ำลายไหลมาก

4.ร่างกายดูเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย มีอาการเซ สับสนมึนงง และ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก

5.ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่ปัสสาวะเลย

6.จมูกแห้ง เหงือกมีสีแดงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง

7.บางตัวอาจมีเลือดออกเป็นจุดตามลำตัว

8.บางตัวอาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว หรือ ถ่ายเป็นเลือด

9.มีภาวะช็อก อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ

ทั้งนี้อาการความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาด รูปร่างของสุนัข และ ระยะเวลาที่ร่างกายได้รับความร้อน

วิธีดูแลและรักษาเมื่อมีอาการฮีทสโตรก

โรคฮีทสโตรก
amcdocs.com

1.นำสุนัขออกจากบริเวณที่มีความร้อนสูง มาอยู่ในที่ร่มและมีลมโกรก

2.ให้สุนัขดื่มน้ำเปล่าในอุณหภูมิห้องทีละน้อย แต่ไม่ควรบังคับ หากสุนัขไม่ยอมดื่มด้วยตัวเอง

3.ค่อยๆ ปรับอุณหภูมิร่างกายของสุนัขด้วยการเช็ดตัวหรือเอาน้ำลูบใต้ฝ่าเท้า แต่อย่าเปลี่ยนอุณหภูมิในร่างกายแบบกระทันหัน เพราะ อาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน

4.พาไปพบสัตวแพทย์

*** อย่าให้แอสไพริน เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายของน้องหมา เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

Story : Sarida


เมื่อต้องพาน้องหมา น้องแมว ไป บริจาคเลือด

สุนัขเซเลบของไทย ที่ทาสหมาไม่ควรพลาด