จับเห็ดป่ามาลงขวด เพาะเนื้อเยื่อเห็ดป่าให้ปลูกได้

ในป่าบ้านเรามีเห็ดอยู่มากมายหลายชนิด ทั้ง เห็ดป่า เห็ดปลูก ที่กินได้และกินไม่ได้ มีทั้งที่เจริญเติบโตอยู่บนดินทั่วๆ ไป อย่างเช่น เห็ดตีนแรด และเห็ดที่เจริญเติบโตอยู่ตามรากต้นไม้ใหญ่และจะผุดเป็นดอกขึ้นเหนือดินในช่วงหน้าฝน เช่น เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดขมิ้น เห็ดแดง

เราเรียก เห็ดป่า กลุ่มนี้ว่า “เห็ดไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal fungi)” โดยเชื้อเห็ดพวกนี้จะเกาะอาศัยอยู่ตามรากต้นไม้ใหญ่ในป่า โดยไม่ทำอันตรายแต่จะช่วยให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตแข็งแรง เป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกันตามสภาพธรรมชาติ

เราต่างทราบกันดีว่าเห็ดป่าเหล่านี้ค่อนข้างหายาก หนึ่งปีจะออกดอกให้เก็บกินแค่เพียงครั้งเดียวในช่วงหน้าฝน จึงทำให้มีราคาแพง แต่โชคดีที่ปัจจุบันนี้เราสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ด้วยการ “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue Culture)” วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปชมห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดในบ้านหลังหนึ่ง ห้องเล็กๆ ที่ทำงานไม่เล็ก และน่าสนใจมากทีเดียวครับ

รู้จักกับ เห็ดป่า

เห็ดตับเต่า

ทางเหนือเรียก เห็ดห้า เนื่องจากมักพบอยู่ใต้ต้นหว้า ส่วนทางอีสานเรียกว่า เห็ดผึ้ง หรือเห็ดเผิ่ง เพราะเมื่อนำไปทำอาหาร น้ำแกงมีสีคล้ายน้ำผึ้ง

เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดที่เกิดตามธรรมชาติในป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าสะแก และพบได้ตามสวนไม้ผล เช่น มะม่วง มะไฟ ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ และในบริเวณที่มีต้นทองหลาง กระถินเทพา แค และโสน

เห็ดระโงก

เห็ดระโงก หรือเห็ดไข่ห่าน มีหลายสี เช่น ขาว เหลือง ส้ม เป็นเห็ดป่าราคาแพง พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง

เห็ดระโงกมักขึ้นเป็นดอกเดี่ยว แต่อยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม 4-5 ดอก นิยมกินกันแพร่หลายในภาคเหนือและอีสาน นำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดน้ำมันหอย นึ่งจิ้มแจ่ว หรือแกงใส่ใบมะขามอ่อน

เห็ดเผาะ

“เห็ดเผาะ” (อีสาน) หรือ “เห็ดถอบ” (เหนือ) เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าชื้น ส่วนมากจะพบตามป่าเต็งรังทั่วทุกภาค แต่ไม่ค่อยพบที่ภาคใต้

เห็ดเผาะเป็นเห็ดที่ไม่มีก้านดอก มีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ผิวด้านนอกจะกรอบ ส่วนด้านในจะกลวง จึงทำให้รู้สึกว่ามีความกรอบเวลาเคี้ยว

เห็ดขมิ้น

เห็ดดอกสีเหลืองบานคล้ายดอกไม้ พบตามป่าเต็งรังทางภาคเหนือและอีสาน หายากและราคาแพง

บ้างก็เรียกว่าเห็ดมันปูใหญ่ ไม่มีรสหรือกลิ่นเฉพาะ เมื่อโดนความร้อนจะไม่เละ มีเบต้าแคโรทีนที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ

เห็ดแดง

เห็ดแดง หรือเห็ดก่อแดงพบมากทางภาคเหนือ ตามป่าบนดอยสุเทพ สามารถกินสดได้ เติบโตเป็นดอกเดี่ยวๆ แต่อยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม 3-5 ดอก มักจะพบบริเวณที่มีต้นก่อ

เห็ดแดงนำมาทำเมนูได้หลากหลาย มีรสออกหวาน ถ้านำไปผัดน้ำมันหอยจะกรอบอร่อย และถ้านำไปแกงก็จะนุ่มหอม

เห็ดทรัฟเฟิลไทย

พบตามป่ายูคาลิปตัส กระถินณรงค์ นางพญาเสือโคร่ง และสาปเสือ เป็นคนละชนิดกับเห็ดทรัฟเฟิลของฝรั่ง จึงไม่มีกลิ่นหอม

ชาวบ้านนิยมนำไปต้มกินรักษาโรคมะเร็ง ฝานเป็นแผ่นบางๆ เอามาแปะหรือพอกหน้าช่วยรักษาฝ้า เพราะมีเอนไซม์ไทโรซิเนสสูง จะช่วยยับยั้งการเกิดเม็ดสีเมลานิน (Melanin)

เห็ดโคน

เห็ดโคนมักเกิดอยู่ตามจอมปลวก จึงเรียกกันอีกชื่อว่าเห็ดปลวก เห็ดโคนมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะเจริญเติบโตได้ดีกับปลวกต่างชนิดกัน

ปลวกงานจะขนสปอร์เห็ดไปปลูกในรัง ใช้เป็นอาหารของปลวกอ่อนและนางพญาปลวก ส่วนสปอร์ที่เหลือเมื่อได้รับความชื้นในฤดูฝนก็จะเติบโตโผล่พ้นผิวดินเป็นดอกเห็ด

เราสามารถเก็บจาวปลวกที่มีลักษณะคล้ายกับรังผึ้งมาเพาะเชื้อเห็ดโคนได้

เห็ดป่า

รู้จักกับคนเพาะ เห็ดป่า

รศ.ดร.อรดี สหวัชรินทร์ ศึกษาทางด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่มหาวิทยาลัยฮาวายมาโดยตรง เคยเป็นอาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนี้ใช้ชีวิตหลังเกษียณศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดป่าของไทยอย่างจริงจัง หวังให้เห็ดป่าของบ้านเราถูกนำไปปลูกขยายเป็นวงกว้าง ชาวบ้านสามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้แทนที่จะไปเก็บจากในป่า ในอนาคตเราจะมีเห็ดป่าในปริมาณที่มากขึ้น และอาจมีให้กินนอกฤดู อนุรักษ์เห็ดป่าของบ้านเราไว้ไม่ให้สูญหายไปจากป่าของไทย

ปัจจุบันบ้านเราสนับสนุนเรื่องการปลูกป่า แต่กว่าต้นไม้จะโตต้องใช้เวลานานหลายปี ถ้าเราเอาเชื้อเห็ดไปปล่อยไปเพาะไว้ ภายในปีแรกก็อาจจะได้กินเห็ด หรือเก็บไปขายสร้างรายได้ และการที่ชาวบ้านต้องตื่นแต่เช้าไปแย่งกันเก็บเห็ดป่าที่มีไม่มากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าเราสามารถเพาะเห็ดเองได้ ไม่ว่าจะปลูกในป่า หรือปลูกในบริเวณบ้านมันก็ง่ายขึ้นค่ะ”

“เจอเห็ดอะไรก็จับมาใส่ขวด” จุดเริ่มต้นของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด

“บ้านเรามีการขายต้นไม้ที่มีเชื้อเห็ดมานานแล้ว เช่นที่บ้านสามเรือน จังหวัดอยุธยา ที่ผลิตเห็ดตับเต่ากับต้นโสน ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดก็ทำกันมานานแล้วเช่นกันค่ะ ทั้งเห็ดป่าและเห็ดถุง (เห็ดถุงก็คือเห็ดที่เพาะในขี้เลื่อยที่อยู่ในถุงพลาสติกที่เราเห็นกันทั่วไป เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหลินจือ)”

“จุดเริ่มต้นที่อาจารย์สนใจมาทำเห็ดป่าเกิดจากความชอบส่วนตัวที่ชอบกินเห็ดค่ะ และเคยซื้อเชื้อเห็ดมาเพาะแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยอยากลองทำดูค่ะ อาจารย์เน้นทำเห็ดป่าที่กินได้ ซึ่งก็คือเห็ดที่ชาวบ้านเก็บมาขายตามข้างทาง เจอเห็ดอะไรก็นำมาทดลองทำหมดเลย บางส่วนก็มีชาวบ้านช่วยเก็บส่งมาให้ เพาะได้แล้วก็ลองเอาไปปลูกที่สวนของตัวเอง ทั้งที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ สวนผลไม้ที่จันทบุรี และสวนที่รังสิต”

“เริ่มทำมาได้สัก 5 ปีแล้วค่ะ เริ่มจากปลูกไว้กินเองก่อน พอเพื่อนบ้าน คนรู้จักทราบก็มาขอซื้อบ้าง บอกต่อกันปากต่อปากจนเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น เพิ่งมาเริ่มเพาะเชื้อขายและทำการตลาดจริงจังช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง มีงานที่ไหนก็ไปออกบูธออกงาน แรกเลยขายขวดละ 100 บาท ตอนนี้ลดราคา ขายแค่ขวดละ 50 บาท เพราะอยากให้เผยแพร่ในวงกว้างเร็วๆ ค่ะ”

“การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จริงๆ แล้วสามารถทำได้กับพืชทุกชนิด รวมทั้งเห็ดที่เป็นพืชชั้นต่ำ เราใช้เทคนิคปลอดเชื้อ (Clean Culture) เลี้ยงในอาหารวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีการและขั้นตอนเดียวกัน ข้อดีคือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ดใช้เวลาน้อยกว่าพวกพืชชั้นสูง เชื้อโตเร็วกว่า เห็นผลได้ภายในเวลาแค่ 1-2 เดือน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถทำได้กับเห็ดทุกชนิด ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การนำเชื้อไปปลูกเลี้ยงต่อเพื่อให้ได้ผลมากกว่าค่ะ”

อาจารย์เริ่มจากเห็ดตับเต่าที่ไปเจอที่ลำพูน และปัจจุบันทำเห็ดชนิดต่างๆ มากกว่า 20 ชนิด มีทั้งที่เป็นเห็ดป่าของไทย เห็ดต่างประเทศ ทั้งที่อยากทดลองทำเอง นอกจากนี้ก็ยังรับจ้างเพาะเชื้อเห็ดตามแต่ชนิดที่ผู้ว่าจ้างต้องการ โดยคิดราคาค่าจ้างชนิดละ 1,000 บาทเท่านั้น

ขั้นตอนการเพาะเชื้อ เห็ดป่า

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือต้องทำทุกอย่างทุกขั้นตอนในสภาพที่ปลอดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ อาหารที่ใช้เลี้ยง ชิ้นส่วนเห็ดที่นำมาเพาะเชื้อ ทุกขั้นตอนการเพาะเชื้อต้องทำในตู้ที่ปลอดเชื้อ โดยฆ่าเชื้อด้วยการสเปรย์แอลกอฮอล์ 95% หรือใช้แสงอุลตร้าไวโอเล็ต ภายในตู้ติดตั้งพัดลมกรองอากาศเพื่อดักจับเชื้อที่ไม่ต้องการ

เห็ดป่า

อาหารวุ้นที่ใช้เลี้ยงเชื้อจะใช้น้ำต้มมันฝรั่ง น้ำตาลเด็กซ์โทรส และวุ้นทำขนม หรือที่เรียกกันว่า PDA (Potato dextrose agar) แต่น้ำตาลเด็กซ์โทรสมีราคาแพง อาจารย์เปลี่ยนมาใช้น้ำตาลซูโครสหรือน้ำตาลทรายที่หาซื้อได้ทั่วไปแทน ใส่อาหารในขวดใสเพื่อให้สังเกตการเจริญเติบโตและการปนเปื้อนได้ง่าย ล้างขวดให้สะอาดและนึ่งขวดเพื่อฆ่าเชื้อในหม้อแรงดัน ปิดฝาขวดให้สนิทและนำไปนึ่งฆ่าเชื้อนาน 1 ชั่วโมงก่อนนำมาเพาะเชื้อ

เห็ดที่จะนำมาใช้ต้องมีชีวิตและไม่มีโรค นำเห็ดไปล้างน้ำให้สะอาด และฆ่าเชื้อด้วยการแช่ในไฮเตอร์ หรือคลอร็อกซ์ (Clorox) 10% แต่เห็ดบางชนิดมีเนื้อค่อนข้างอ่อน หากแช่ในคลอร็อกซ์อาจจะเปื่อยจนใช้ไม่ได้ อาจารย์ใช้วิธีจุ่มเห็ดในแอลกอฮอล์ 95% แล้วจ่อที่เปลวไฟให้ไฟลุกที่ผิวเห็ด เป็นการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน

ส่วนที่จะนำมาใช้คือก้าน หรือเนื้อเห็ด จะไม่ใช้ใต้ดอกที่เป็นสปอร์ เพราะอาจเกิดกลายพันธุ์ได้ ตัดชิ้นส่วนเห็ดไม่ให้มีขนาดใหญ่มากนัก เพราะชิ้นส่วนที่ใหญ่จะมีโอกาสติดเชื้อปนเปื้อนได้มาก และต้องหั่นเปลือกด้านนอกทิ้งเพราะอาจมีส่วนที่ติดเชื้อ ใน 1 ขวดจะใส่ชิ้นส่วนแค่ 1 ชิ้น วางตรงกลางอาหารวุ้น ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็เกิดเส้นใยโคโลนี (Colony) ให้เห็น

เห็ดป่า

จากนั้นจะเขี่ยเส้นใยโคโลนีไปใส่ในขวดที่มีข้าวสารหรือเม็ดข้าวโพดดิบ (ข้าวโพดเลี้ยงไก่) ที่อบฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อเลี้ยงให้เชื้อเพิ่มจำนวนต่อไป ในข้าวสารและเม็ดข้าวโพดจะมีแป้งเป็นอาหารให้เชื้อใช้ในการเติบโต ขวดเชื้อนี้สามารถเก็บไว้ในที่อุณหภูมิห้อง ได้นาน 2-3 เดือน

เห็ดป่า

เราสามารถเพิ่มปริมาณเชื้อด้วยการย้ายข้าวสารหรือเม็ดข้าวโพดที่มีเชื้อไปใส่ในขวดใหม่ หรืออาจนำไปเลี้ยงต่อในอาหารเหลว ซึ่งทำได้โดยนำข้าวสารหรือเม็ดข้าวโพดที่มีเชื้อไปละลายในน้ำที่ใส่น้ำตาลซูโครสเพิ่มลงไป วิธีนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการเชื้อปริมาณมากๆ เราสามารถนำน้ำที่มีเชื้อนี้ไปรดโคนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการให้เชื้อเห็ดไปเกาะที่รากได้โดยตรง

นำเชื้อไปใช้ ปลูก เห็ดป่า ให้เกิดดอก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเห็ดไมคอร์ไรซาต้องอาศัยรากของต้นไม้ใหญ่เพื่อการเติบโต ขุดรอบๆ ต้นไม้ให้เจอรากอ่อน (รากสีขาว) โรยข้าวสารหรือเม็ดข้าวโพดที่มีเชื้อไว้ ปริมาณขึ้นกับความพอใจ อาจารย์แนะนำว่ายิ่งโรยเยอะ โอกาสจะเกิดเห็ดก็ยิ่งมาก จากนั้นกลบดินป้องกันหนูมากินเม็ดข้าว เมื่อถึงหน้าฝนเห็ดก็จะงอก หรือลองดูแลรดน้ำ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เห็ดก็อาจงอกได้ ที่สำคัญคือเราจะไม่เก็บเห็ดจนหมด ต้องเหลือดอกแก่ไว้เพื่อใช้ขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณหรือต้องหมั่นคอยเติมเชื้อเพิ่ม

เห็ดป่า

ณ วันนี้วิธีการนำเชื้อเห็ดไปปลูกต่อยังคงได้ผลเฉพาะไม้ใหญ่ในป่า และไม้ผลเป็นหลัก แต่ยังไม่มีผลทดสอบยืนยันว่าสามารถนำไปใช้กับไม้ประดับทั่วๆ ไปได้ อาจารย์ยังคงไม่ละความพยายาม ที่บ้านอาจารย์ยังคงทำการทดลองปลูกเชื้อเห็ดกับต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางนา ตะเคียนทอง เต็ง รัง และน่ายินดีที่การทดลองกับโสน แค หางนกยูงฝรั่ง มะม่วง มะนาว ส้มโอ ส้มโอด่าง และส้มจี๊ดด่างได้ผล คนเมืองที่สนใจยังพอมีโอกาสเพาะเห็ดป่าที่บ้านได้

เห็ดป่า

ทุกวันนี้อาจารย์ก็ยังทำการทดลองเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ทั้งชนิดของเห็ดที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ การแพร่เชื้อเห็ดด้วยวิธีต่างๆ การทดลองเพาะเชื้อเห็ดกับต้นไม้หลายๆ ชนิด เพื่อหาต้นที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดแต่ละชนิด

ในอนาคตอาจารย์ตั้งใจจะทำแปลงเห็ดหลากสีในงานพืชสวนโลกที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นแปลงเห็ดที่มีความสวยงามไม่ด้อยกว่าแปลงดอกไม้ในต่างประเทศ

เห็ดป่า

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากลองซื้อเชื้อเห็ดไปปลูก สามารถติดต่อได้ที่ คุณอรทัย คงคำฟู เบอร์โทรศัพท์ 09-1851-8950 ต้องการซื้อในปริมาณมาก หรืออยากนำไปจำหน่ายต่อก็สามารถติดต่อคุณอรทัยได้เช่นกัน ช่วยกันเผยแพร่เห็ดป่าของไทยให้กระจายไปในวงกว้าง นำไปทดลองปลูก ได้ผลอย่างไรสามารถส่งข้อมูลกลับมาที่อาจารย์ ร่วมกันเป็นหนึ่งในทีมผู้ทดลองเพื่อเก็บข้อมูลไว้ใช้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตกันครับ

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข, สรนันทร์ แซ่ตั้ง

แหนแดง ปลูกง่าย สารพัดประโยชน์

ผักสลัดอินทรีย์ สวนเกษตรสุขกลางกรุง