สวนเกษตรสุขกลางกรุง แปลงผักอินทรีย์ใจกลางกรุงที่เริ่มต้นจากคำว่า “ความสุข”

ฟาร์มผักที่อุดมไปด้วยผักสลัดในแปลงดิน กระท่อมไม้หลังเล็ก บรรยากาศที่เงียบสงบ เหมือนอยู่ในต่างจังหวัด แต่แท้จริงแล้วที่นี่คือ “สวน เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน” ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมืองเศรษฐกิจที่อุดมไปด้วยป่าปูน

คุณแอน พรมศักดิ์ และคุณตี๋ – ไชยรัตน์ นิยมรัตน์ แห่งสวน เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน สองแรงผู้ปลูกและปั้นพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง

เกษตรสุขกลางกรุง

ด้วยแรงบันดาลใจจากคำง่ายๆ คือ “ทำเกษตรอย่างมีความสุข” การปลูกผักทำเกษตรของทั้งคู่มีจุดเริ่มต้นคือ ‘การรักตัวเอง’ ใส่ใจสุขภาพและหันกลับมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น เรียกว่าใช้ธรรมชาติช่วยบำบัดก็คงไม่เกินจริงนัก ได้บำบัดจิตใจด้วยการอยู่กับสิ่งที่รัก และบำบัดร่างกายด้วยการรับประทานผักอินทรีย์ที่ลงมือปลูกเองเรื่องราวของ สวนเกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน เป็นมาอย่างไร เราไปทำความรู้จักพร้อมๆ กัน

คอนเซ็ปต์คือ ‘ความสุข’ พื้นที่นี้แบ่งออกเป็น 2 โซนคือ โซนเติมสุขและโซนเติมฝัน “โซนเติมสุขมีกระท่อมหลังเล็ก ด้านหน้ามีแปลงปลูกผักกลางแจ้ง ทั้งผักสวนครัวและผักนอกนานาชนิด เน้นปลูกตามธรรมชาติ มีความสุขกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย”

เกษตรสุขกลางกรุง

“โซนเติมฝันเราขยายออกมาเพื่อปลูกผักสลัดสำหรับจำหน่ายโดยเฉพาะ เพื่อเป็นรายได้ในการยังชีพ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเราปลูกผักในโรงเรือนหลังคากันฝนเพื่อควบคุมคุณภาพผักให้ดียิ่งขึ้นและสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล”

มือใหม่หลายคนเริ่มต้นปลูกผักจากความไม่รู้ จึงรู้สึกว่าการปลูกผักนั้นยาก เมื่อเกิดปัญหาและอุปสรรคตามมาก็อาจล้มเลิกไปในที่สุด

“เมื่อการปลูกผักมีคอนเซปต์คือความสุข เราจะพร้อมเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนา แม้พบปัญหาเกิดขึ้นก็จะพยายามหาวิธีรับมือ สำหรับมือใหม่เริ่มปลูกผัก แนะนำว่าควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญได้แก่ ดิน สภาพอากาศ และศัตรูพืชต่าง ๆ”

เคลหรือคะน้าใบหยิก ปลูกลงแปลงในโซนเติมฝัน ไม่เพียงมีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย แต่ยังสวยงาม ดีต่อใจ

สวิสชาร์ด อีกหนึ่งผักนอกปลูกง่ายที่มีใบสีสันสดใส ทำให้แปลงปลูกสวยงามน่ามอง

ดินถือเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้การปลูกผักประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อดินดีก็ย่อมทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย

“เริ่มต้นต้องรู้ก่อนว่าพื้นที่ของเราเป็นแบบไหน ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างดินที่เหมาะสมกับการปลูกผักที่ต้องการ ยกตัวอย่างพื้นที่ของพี่แอนเป็นที่ลุ่มน้ำขังและดินเป็นดินเหนียว แต่เมื่ออยากปลูกผักสลัด สิ่งที่ทำได้คือการอดทนรอในการหมักดินและปรุงดิน ระหว่างรอก็เรียนรู้เทคนิคการปลูกที่เหมาะสมกับชนิดของผักที่เราสนใจ”

“หากคุณคิดว่าจะซื้อดินถุงมาใช้ปลูกผักสลัดได้นั้น คุณคิดผิด เพราะดินถุงตามท้องตลาดมีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของผักสลัดดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างดิน วิธีที่ดีที่สุดคือเรียนรู้จากการลงมือปรุงดินหมักดิน และดูแลดินด้วยตัวเอง” 

การปรุงดินและหมักดินอย่างง่าย สามารถใช้ดินผสมสำเร็จ หมักร่วมกับมูลวัวหรือมูลไส้เดือน และรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ ให้มีความชื้นเหมาะสมประมาณ 70% แล้วบ่มดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงตีดินที่หมักไว้ ก็สามารถใช้ปลูกผักสลัดได้

เกษตรสุขกลางกรุง

“ปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนสูง ทำให้นักปลูกต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อประเมินสภาพอากาศในแต่ละวัน การปลูกผักสลัดของพี่แอนเป็นการปลูกขายตลอดทั้งปี สิ่งที่ทำให้เราสามารถปลูกผักได้ทุกฤดูกาลเป็นผลมาจากการทำความเข้าใจ ผักสลัดไม่ชอบน้ำชื้นแฉะ เราจึงต้องทำหลังคาและติดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปลูกเพื่อป้องกันน้ำฝน รวมทั้งควบคุมความชื้นในดินและอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตผักมีคุณภาพสำหรับการจำหน่ายในทุก ๆ ครั้ง”

แนวทางป้องกันปัญหาศัตรูพืชที่พบบ่อย เช่น
– ปัญหาเชื้อราและเพลี้ยไฟ มักพบในวันที่มีอากาศร้อน แดดจัด สลับกับฟ้าครึ้มและฝนตก ควรฉีดพ่นเชื้อราเมธาไรเซียมเพื่อป้องกันศัตรูดังกล่าว
– ปัญหาเพลี้ยต่าง ๆ มักพบในวันที่มีสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ควรฉีดพ่นชีวภัณฑ์หรือน้ำหมักป้องกันเพลี้ยและแมลง
– ปัญหาเชื้อรา มักพบในวันที่ฟ้าปิดติดต่อกัน 2-3 วัน หรือวันที่มีสภาพอากาศชื้นเป็นพิเศษ ควรฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบีเอส หรือน้ำส้มควันไม้

การปลูกผักสลัดในกระบะยกสูง แล้วหมักดินให้เหมาะสมกับการปลูกผักสลัด ช่วยแก้ปัญหาดินเหนียวและที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ถึงแม้ใช้เวลานานในการหมักดิน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือพืชผักเจริญเติบโตแข็งแรงให้ผลผลิตดี

จากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมาคือ ศัตรูพืช เมื่อลงมือปลูกจะทำให้มีประสบการณ์และรู้ว่า สภาพอากาศเช่นนี้เราจะพบกับปัญหาศัตรูพืชแบบไหนบ้าง ผู้ปลูกต้องประเมินสภาพอากาศให้เป็น และรู้วิธีตั้งรับ สำหรับพี่แอนเน้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายมากกว่าการตามแก้ปัญหาภายหลัง ซึ่งทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์และระยะเวลาในการเรียนรู้”

การลงมือทำให้เรามองเห็นปัญหาและอุปสรรค ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์และเกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกทั้งยังนำไปสู่การหาวิธีรับมือป้องกันผักในแปลงให้ปลอดภัยจากโรคและศัตรูพืชต่าง ๆ แต่กว่าจะเข้าใจและหาวิธีป้องกันได้นั้นก็ต้องลองผิดลองถูก ใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ จึงทำให้หลายคนอาจจะล้มเลิกความตั้งใจและยอมแพ้ไปก่อนที่จะปลูกได้สำเร็จ”

เกษตรสุขกลางกรุง

สำหรับมือใหม่และคนที่อยากลองลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง คุณแอน เกษตรสุขกลางกรุง แนะนำ 3 หลักคิดดังนี้

1. ตั้งเป้าหมาย กำหนดจุดประสงค์ของการปลูกผักให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดทิศทางการวางแผนปลูกให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ‘เราปลูกผักเพื่ออะไร’ เมื่อมีคำตอบชัดเจนก็จะสามารถปลูกผักได้อย่างเป็นระบบ และพร้อมที่จะแก้ไขทุกปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น

2. ไม่ล้มเลิกความตั้งใจและสะสมประสบการณ์ ทุกการลงมือทำอาจพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย รวมถึงการเริ่มปลูกผักด้วย ปัญหาที่มักพบคือผักไม่โต เป็นโรค ปัญหาสภาพดิน สภาพอากาศ ฯลฯ อาจทำให้หลายคนหมดกำลังใจ แต่การพบเจอปัญหาเป็นเรื่องปกติมากสำหรับมือใหม่ เปรียบเสมือนตัวพิสูจน์และตัวช่วยในการเรียนรู้ การได้สัมผัสกับปัญหาจริงจะทำให้ได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด อีกทั้งยังทำให้ได้ประสบการณ์และสะสมเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำฟาร์มต่อไปได้อย่างแน่นอน

3. ไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา เมื่อผ่านปัญหาช่วงแรกมาได้ ฟาร์มเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก็ต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ให้ต้องรับมืออยู่เสมอ ยิ่งผู้ที่สนใจต่อยอดเป็นธุรกิจยิ่งต้องเรียนรู้และพัฒนาฟาร์มให้มีมาตรฐานและผักต้องมีคุณภาพ อีกทั้งต้องรู้จักวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดและเศรษฐกิจของกลุ่มผู้บริโภคว่ามีมากน้อยเพียงใด นอกจากเรียนรู้เรื่องการปลูก แผนธุรกิจก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำกิจการ การวางแผนพัฒนาที่รัดกุมจะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงได้

การปลูกผักสามารถทำได้ทุกพื้นที่ ทุกฤดูกาล การไม่หยุดเรียนรู้ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แม้ว่าการทำฟาร์มของแต่ละคนจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากทุกคนลงมือทำอย่างน้อยสิ่งที่ได้รับเหมือนกันคือ การได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้รับประทานผักอินทรีย์ที่ปลูกด้วยฝีมือของตัวเอง นี่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่รักสุขภาพและคนที่ต้องการสร้างรายได้เสริม

คุณสามารถเริ่มทำในพื้นที่ทดลองเล็ก ๆ ก่อน ค่อย ๆ เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพียงมีเป้าหมายที่ชัดเจนเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้อย่างแน่นอน

Tips แนะนำผักสลัดปลูกง่ายสำหรับมือใหม่ คือ ผักตระกูลคอส เบบี้คอส ผักกาดหอมอิตาลี และกรีนโอ๊ค ซึ่งโตเร็วและดูแลง่าย

เรื่อง: นิชานาถ ชมญาติ และเพ็ญนิภา วงษ์สุวรรณ

ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

Prom Garden Family สวนผักข้างบ้านของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ

ไปสำรวจ แปลงดอกไม้ทดลองปลูก ก่อนจะเป็นสวนในสไตล์ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm