ยกให้ แหนแดง เป็นพืชยอดฮิตของชาวเกษตรในทศวรรษนี้ ด้วยประโยชน์ที่ถูกเปรียบให้เป็นโรงงานผลิตไนโตรเจน ในต้นทุนสุดต่ำ เลี้ยงง่าย โตไว ให้ผลผลิตเยอะ และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อพืชผักและสัตว์ด้วย
Azolla หรือที่หลายๆ คนรู้จักในชื่อ แหนแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Azolla spp. จัดอยู่ในวงศ์ Azollaceae ในประเทศไทยมีพันธุ์พื้นเมืองชื่อ อะซอลล่า พินาต้า (A. pinnata) ซึ่งมีขนาดเล็กและให้ผลผลิตต่ำ ทางกรมวิชาการเกษตรจึงได้มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศมาปรับปรุง จนได้สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (A. microphylla) ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า

หลายคนให้คำนิยามว่า แหนแดง เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ โดยผ่านกระบวนการตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกรมน้ำเงินสูงถึงวันละ 300-600 กิโลกรัม/ไร่ แหนแดงจึงมีไนโตเจนเป็นองค์ประกอบ 3- 5% ของน้ำหนักแห้ง หากปลูกแหนแดง 1 ไร่ จะได้ปุ๋ยพืชสดเทียบเท่ากับปุ๋ยยูเรียมากถึง 7-10 กิโลกรัม
นอกจากนี้ แหนแดงยังมีโปรตีนสูงถึง 21.4 – 28.5% รวมถึงมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสัตว์ จึงถูกใช้เป็นอาหารไก่ ลดต้นทุนอาหารสัตว์กันอย่างแพร่หลาย สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรืออาจจะนำมาตากแห้ง ประมาณ 1-2 วัน เท่านี้ก็สามารถเก็บแหนแดงไว้ใช้ได้นานเป็นปีเลย แต่ก็ไม่ควรเก็บไว้เกิน 1 ปีเพราะอาจเกิดเชื้อราและทำให้สารอาหารลดลงได้
ถึงแม้แหนแดงจะเป็นพืชกลุ่มเฟิร์นน้ำที่ขนาดเล็ก แต่คุณประโยชน์ของแหนแดงเยอะจนเรียกได้ว่ามีมากเกินขนาดจริงๆ ในทางกลับกันขั้นตอนการเพาะเลี้ยง การดูแล และการขยายพันธุ์กลับไม่ยุ่งยากสักเท่าไหร่ ซึ่งแหนแดงส่วนใหญ่จะลอยอยู่บนผิวน้ำและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ไม่ลึกมากการทำบ่อเลี้ยงจึงไม่จำเป็นต้องมีความลึกเกินไป หรือสามารถเลือกใช้ภาชนะที่เหมาะสมต่อการใช้งานในพื้นที่จำกัด เช่น กะละมัง หรือกระถางเลี้ยงบัว ทั้งนี้ควรพิจาณาตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ
เทคนิคและขั้นตอนในการเพาะเลี้ยง

1.เตรียมสถานที่ และภาชนะสำหรับเพาะเลี้ยง โดยเลือกสถานที่ที่มีร่มรำไร ได้รับแสงแดดประมาณ 40-50% หรือหากเป็นพื้นที่กลางแจ้งหรือแดดจัด ควรมีการพรางแสงด้วยซาแรน 40-60%

2.เตรียมดิน 4 ส่วน +มูลสัตว์ 1 ส่วน (4:1) เป็นดินกระสอบที่หาได้ตามร้านการเกษตรก็ได้ และมูลสัตว์เป็นมูลไส้เดือน มูลหมู มูลไก่ หรือมูลวัวอัดเม็ด ที่สามารถหาได้และสะดวกต่อการใช้งาน

3.จากนั้นผสมส่วนผสมให้เข้ากัน เทลงในภาชนะหรือบ่อดินรองด้วยพลาสติก ให้มีความสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร

4.เติมน้ำให้ท่วมดินประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นทิ้งไว้ 1-2 คืน (ขั้นตอนนี้หากมีจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสามารถเติมได้ เพื่อเร่งในการย่อยสลายของมูลสัตว์)

5.ตักเศษต่างๆที่ลอยน้ำออก

6.ใส่แหนแดงสดลงไปในปริมาณที่พึงพอใจ หากใส่ปริมาณมาก จะทำให้การขยายของแหนแดงเต็มบ่อเลี้ยงเร็วขึ้น ในที่นี้แนะนำให้ใส่ประมาณ 50-60% ของพื้นที่เพาะเลี้ยงก็เพียงพอ

7.จากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ แหนแดงที่ปลูกจะเติบโตสามารถนำแหนแดงมาใช้ประโยชน์ หรือทำการเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้ ทั้งนี้ไม่ควรปล่อยให้แหนแดงหนาแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้แหนแดงที่อยู่ด้านล่างไม่ได้รับแสง ทำให้เกิดการเน่า และเป็นที่หลบซ่อนของหนอนและแมลงได้
โรคศัตรูพืช และการจัดการ

หนอนผีเสื้อ แมลงปากกัด แมลงปากดูด เหล่านี้เป็นศัตรูตัวสำคัญของแหนแดง ซึ่งจะเข้าทำลายโดยการกัดกินและดูดน้ำเลี้ยงจากใบ สังเกตง่ายๆจากการที่แหนแดงจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยวิธีการจัดการสามารถทำมุ้งครอบเพื่อป้องกันหนอนและแมลงเข้าไปวางไข่ หรือให้ตักแหนแดงออกและนำไปตากแดดทันที วิธีนี้ยังช่วยให้เก็บแหนแดงไว้ใช้ได้นานอีกด้วย ไม่แนะนำให้ใช้สารฉีดกำจัดแมลง เนื่องจากใบของแหนแดงมีคุณสมบัติเหมือนใบบัวหรือใบบอน ทำให้ยากที่สารหรือน้ำจะจับบริเวณใบ ดังนั้นแนะนำให้มีบ่อพ่อแม่พันธุ์ไว้ 1-2 บ่อ เพื่อหากมีการเข้าทำลายของหนอนและแมลงในบ่ออื่นๆ จะยังสามารถใช้แหนแดงจากบ่อแม่พันธุ์มาขยายต่อได้
การดูแล

แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักเหมือนพืชสีเขียวชนิดอื่นๆ ยกเว้นไนโตรเจน รวมทั้งต้องการธาตุอาหารรองเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตฟอสฟอรัสจึงมีความจำเป็นต่อแหนแดงมาก ถ้าปริมาณฟอสฟอรัสในดินต่ำเกินไป จะส่งผลให้การเจริญเติบโตและปริมาณการตรึงไนโตรเจนลดลง ดังนั้นควรมีการใส่มูลสัตว์ประมาณ 100 กรัม เป็นประจำทุกๆ 2-3 สัปดาห์ หากใส่แล้วสังเกตเห็นว่าแหนแดงเหี่ยว ให้เติมน้ำเพิ่มเพราะอาจจะมาจากการใส่มูลสัตว์ที่มากเกินไป ทำให้น้ำเค็มได้ และหากแหนแดงแสดงอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ให้เติมมูลสัตว์ลงไปอีก เพราะปริมาณธาตุอาหารอาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ข้อเสียของแหนแดง
แหนแดงเมื่อแพร่กระจายมากจะมีลำต้นปกคลุมผิวน้ำทั้งผืน ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงท้องน้ำหรือแสงแดดส่องไม่ถึงน้ำ ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง และการเติบโตของพืชใต้ท้องน้ำ รวมถึงทำให้ออกซิเจนละลายน้ำลดลง ผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีสาเหตุสำคัญทำให้สัตว์น้ำจำพวกปลาตายได้ง่าย และไม่ควรนำปล่อยขยายในลำน้ำ ลำธารธรรมชาติ หรือสาธารณะ เพราะเนื่องจากแหนแดงมีปริมาณไนโตรเจนที่สูง และขยายพันธุ์เร็ว เมื่อมีหนาแน่นเกินไปอาจส่งผลให้แหล่งน้ำเกิดการเน่าเสียและเป็นพิษได้

นอกจาก แหนแดง จะใช้เป็นปุ๋ยและเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว ยังอีกคุณประโยชน์ที่หลายๆ คนยังไม่รู้ คือแหนแดงสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ โดยใช้แหนแดงที่ยังไม่โตเต็มที่หรือยังมีสีเขียวอยู่ เมนูสำหรับแหนแดง ได้แก่ ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่หมู/เนื้อ แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น ทั้งนี้การรับประทานแหนแดงควรทำให้สุกทุกครั้ง เพราะอาจมีพยาธิหรือไข่พยาธิเกาะติดมาด้วย
เรื่อง/ภาพ : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
บทความที่เกี่ยวข้อง
อยากให้รู้ก่อนเริ่มเลี้ยงด้วย 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “แหนแดง”
แก้ดินเค็ม ดินไม่ดี ให้ปลูกผักงาม