กาลักน้ำ

ทำกาลักน้ำอัตโนมัติ ในกระบะปลูกผัก อะควาโปนิกส์ แบบน้ำขึ้นน้ำลง

กาลักน้ำ
กาลักน้ำ

มาเรียนรู้วิธีทำ กาลักน้ำ ระบบอัตโนมัติ ที่เรียกว่า ออโต้ไซฟอน หรือเบลล์ไซฟอน สำหรับการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน อะควาโปนิกส์

เพราะการปลูกผักไม่จำเป็นต้องปลูกในดินเท่านั้น แต่เพียงแค่เปิดใจ เลือกใช้และประยุกต์เทคนิคการปลูกให้เหมาะกับตัวเอง ใคร ๆ ก็สามารถปลูกผักสำเร็จได้ แม้ไม่เคยมีพื้นฐานด้านงานเกษตรกรรมมาก่อนก็ตาม

ดังเช่น คุณหมอเคน – ทันตแพทย์กษิดิศ วชิรปราการสกุล ซึ่งได้ศึกษาเรื่องการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแล้วทดลองทำในหลากหลายรูปแบบจนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการออกแบบและลงมือสร้างระบบอะควาโปนิกส์หรือการปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแบบที่เรียกว่า ระบบลูกผสม โดยเลือกใช้เทคนิคปลูกพืช 2 แบบในระบบเดียว นั่นคือ เทคนิคปลูกพืชด้วยน้ำแบบน้ำลึก และปลูกพืชในวัสดุปลูกแบบน้ำขึ้นน้ำลง

อะควาโปนิกส์
“แม้การปลูกผักรูปแบบนี้ต้องลงทุนติดตั้งระบบน้ำ ระบบกรอง และโรงเรือนปลูกพืช แต่เราสามารถออกแบบระบบ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวัสดุอุปกรณ์ได้ตามความต้องการ ความสะดวก ความเหมาะสมของพื้นที่ และงบประมาณ”

การปลูกพืชในวัสดุปลูกเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างง่าย ไม่มีการใช้ดินในระบบปลูก เนื่องจากดินจะทำให้ระบบหมุนเวียนของน้ำอุดตันได้ วัสดุปลูกที่นิยมใช้ เช่น หินกรวดแม่น้ำ เม็ดพรุนดินเผา หินกรวดก่อสร้าง หินภูเขาไฟ บรรจุลงในกระบะปลูก แล้วตั้งเวลาเปิด – ปิดปั๊มน้ำให้สูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาเข้ามายังส่วนปลูกผักเป็นระยะจนท่วมวัสดุปลูก เมื่อปั๊มหยุดทำงาน น้ำในส่วนปลูกผักจะไหลกลับไปยังบ่อเลี้ยงปลาโดยตรงผ่าน กาลักน้ำ (Auto Siphon หรือ Bell Siphon) หรืออาจออกแบบระบบให้ส่งน้ำไปยังบ่อพักน้ำ ก่อนที่จะไหลกลับไปยังบ่อเลี้ยงปลาก็ได้

กาลักน้ำ

การปลูกพืชในวัสดุปลูกแบบน้ำขึ้นน้ำลง

เป็นเทคนิคปลูกพืชในวัสดุปลูกโดยมีถังพักน้ำซึ่งใช้เลี้ยงปลาอยู่ด้านล่าง อาศัยปั๊มแบบตั้งเวลาทำหน้าที่ดูดน้ำจากถังพักน้ำเติมลงในกระบะปลูก กระทั่งเติมจนถึงระดับที่กาลักน้ำทำงาน น้ำจะไหลลงสู่ถังพัก แล้วถูกปั๊มกลับขึ้นไปในกระบะปลูกใหม่ หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่น้ำถูกดึงลงไปยังก้นของกระบะปลูกก็จะนำอากาศหรือออกซิเจนผ่านไปยังรากพืชด้วย

กาลักน้ำ

กระบะปลูกพืชควรมีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร การปลูกพืชในวัสดุปลูกมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ดังนั้นกระบะหรือภาชนะปลูกพืชต้องมีความแข็งแรงทนทานและอายุใช้งานนาน ซึ่งสามารถเลือกใช้และดัดแปลงวัสดุได้หลากหลาย เช่น กระบะพลาสติกพอลิเอทิลีน กระบะรางพลาสติกสี่เหลี่ยม กระบะที่ทำจากไฟเบอร์กลาส อาจใช้ไม้ประกอบเป็นแปลงปลูกแล้วรองด้วยพลาสติกหนาเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม หรือก่อแปลงปลูกด้วยซีเมนต์ก็ได้

นอกจากนี้ควรทำโต๊ะรองกระบะปลูกพืชโดยให้ขอบบนของแปลงปลูกอยู่สูงจากพื้นประมาณ 80-90 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการทำงาน ผู้ปลูกไม่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ หรือนั่งยองจนอาจสร้างปัญหาสุขภาพในภายหลัง

กาลักน้ำ ในระบบอะควาโปนิกส์

กาลักน้ำที่นำมาใช้ในระบบ เป็นกาลักน้ำอัตโนมัติที่เรียกว่า ออโต้ไซฟอน หรือเบลล์ไซฟอน ทำโดยนำท่อมาฝังลงในแปลงวัสดุปลูกแบบน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อช่วยสร้างแรงดันไม่ให้น้ำขังอยู่จุดใดจุดหนึ่งของกระบะปลูก ช่วยให้น้ำสามารถไหลลงท่อระบายน้ำได้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้รากพืชแช่น้ำจนเน่าตาย และช่วยให้แบคทีเรียสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้อีกด้วย

กาลักน้ำ

กาลักน้ำอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนตัวตั้งเวลาที่คอยควบคุมระดับน้ำในกระบะปลูก หากน้ำเข้าสู่กระบะปลูกจนเต็มถึงระดับแล้วจะถูกระบายออกโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือนาฬิกาจับเวลาแต่อย่างใด

ทำ กาลักน้ำ อัตโนมัติด้วยตัวเอง

สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น ท่อพีวีซีขนาดต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นกาลักน้ำอัตโนมัติ ออโต้ไซฟอนมีส่วนประกอบหลักคือ

1. ท่อแกนตั้ง ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดระดับความสูงของน้ำ ใช้ท่อพีวีซีขนาด ¾ นิ้ว วางต่อกับท่อระบายน้ำบริเวณก้นกระบะปลูก

2. ท่อเบลล์ ทำหน้าที่ช่วยดึงอากาศให้กาลักน้ำทำงาน และหยุดการไหลของน้ำที่ระบายลงสู่ถังพักหรือบ่อเลี้ยงปลาด้านล่าง ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้วสวมฝาปิดปลายท่อด้านบน ส่วนปลายท่อด้านล่างให้เจาะรูหรือตัดเป็นรูปฟันปลา เพื่อเป็นตัวช่วยในการดึงอากาศของท่อ

3. ท่อกันวัสดุปลูก ทำหน้าที่ช่วยกันไม่ให้วัสดุปลูกขวางการทำงานของกาลักน้ำ แต่สามารถให้น้ำผ่านได้ โดยใช้ท่อพีวีซีขนาด 3 นิ้ว สวมฝาครอบที่ปลายท่อด้านบน พร้อมทำร่องหรือเจาะรูด้านข้างท่อเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้

นอกจากนี้ยังมีท่อระบายน้ำ ซึ่งต่อลงมาจากก้นของกระบะปลูก ช่วยระบายน้ำจากการทำงานของกาลักน้ำลงสู่ถังพักหรือบ่อเลี้ยงปลาที่อยู่ด้านล่าง

สำหรับการติดตั้งและทดสอบการทำงานของออโต้ไซฟอนในกระบะปลูกพืชแบบน้ำขึ้นน้ำลง ทำได้ดังนี้

กาลักน้ำ

Step 1 เจาะรูบริเวณก้นกระบะปลูก แล้วต่อด้วยข้อต่อเกลียวในขนาด ¾ นิ้ว สำหรับใช้วางท่อแกนตั้งด้านบนและต่อท่อระบายน้ำด้านล่าง

กาลักน้ำ

Step 2 ต่อท่อแกนตั้งเข้ากับข้อต่อเกลียวใน โดยความสูงของท่อแกนตั้งควรต่ำกว่าขอบกระบะปลูก 10-15 เซนติเมตร

กาลักน้ำ

Step 3 วางท่อเบลล์ครอบท่อแกนตั้ง

Step 4 วางท่อกันวัสดุปลูกครอบท่อเบลล์ จากนั้นเติมวัสดุปลูกที่ไม่ใช่ดินลงในกระบะจนถึงขอบล่างของฝาครอบ เมื่อระบบพร้อมก็สามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกได้

กาลักน้ำ

Step 5 ทดสอบการทำงานของออโต้ไซฟอน โดยเติมน้ำลงในกระบะปลูก กระทั่งระดับน้ำสูงถึงท่อแกนตั้ง กาลักน้ำจะเริ่มทำงาน

กาลักน้ำ

Step 6 เมื่อกาลักน้ำทำงาน ความดันอากาศจากภายนอกจะผลักให้กาลักน้ำปล่อยน้ำออกจากกระบะปลูก ระบายลงสู่ถังพักน้ำที่อยู่ด้านล่างโดยอัตโนมัติ

กาลักน้ำ

เกร็ดน่ารู้

  • สามารถประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ในการทำออโต้ไซฟอนได้ตามความต้องการและสะดวก
  • ขนาดของออโต้ไซฟอนต้องสัมพันธ์กับขนาดของกระบะปลูก เพื่อการหมุนเวียนและระบายน้ำออกจากกระบะปลูกอย่างเหมาะสม
  • ท่อเบลล์ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 2 เท่าของท่อแกนตั้ง กาลักน้ำจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ความยาวของท่อที่ใช้เป็นส่วนประกอบออโต้ไซฟอนขึ้นอยู่กับความลึกของกระบะปลูกพืช

การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินทั้งไฮโดรโปนิกส์และอะควาโปนิกส์ เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยากและลงทุนสูง แต่เมื่อได้เรียนรู้แล้วลงมือทำจนสำเร็จ จะพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและก่อประโยชน์ได้ในระยะยาว ผู้สนใจเกี่ยวกับอะควาโปนิกส์ สามารถเรียนรู้ได้เพิ่มเติมในหนังสือ “คู่มือปลูกพืชไม่ใช้ดินและอะควาโปนิกส์อย่างง่าย : Easy Soilless Culture & Aquaponics”

เรียบเรียง: อังกาบดอย

ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ข้อมูล: หนังสือคู่มือปลูกพืชไม่ใช้ดินและอะควาโปนิกส์อย่างง่าย ผู้เขียน ทันตแพทย์กษิดิศ วชิรปราการสกุล

ไอเดียปลูกผัก หลากหลายในแปลงเดียว

10 ผักนอกปลูกง่ายในภาชนะ