ปรับปรุงสวนเก่า ให้กลายเป็นสวนญี่ปุ่นในแบบฉบับดั้งเดิม

ด้วยหน้าที่การงานของ คุณต๊อด-พงษ์สิน พฤกษมาศน์ ที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้ง ทั้งยังสนใจในศิลปวัฒนธรรมของชนชาตินี้ ทำให้สวนบนเนื้อที่กว่า 200 ตารางวารอบบ้านเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นในแบบฉบับดั้งเดิม ต่างจากสวนญี่ปุ่นที่เราเคยเห็นทั่วไป

ซุ้มประตูทางเข้าหน้าบ้านตามแบบซุ้มประตูบ้านของญี่ปุ่น ปูพื้นด้วยแกรนิตโบราณแผ่นใหญ่  นำกระเบื้องหลังคาเก่ามาตกแต่ง ทั้งยังช่วยกั้นขอบเขตไม่ให้หินไหลดูเป็นระเบียบ  แฝงความเชื่อที่ว่าหลังคาเก่าอยู่ด้วยกันมานานจะช่วยปกป้องดูแลให้เป็นสุข
ด้วยบุคลิกและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่รักความสงบและสมถะ สวนญี่ปุ่นจึงมีลักษณะค่อยๆเผยทีละนิด เร้าให้อยากรู้ว่าถัดไปจะเป็นอย่างไร ในสวนจึงมักเห็นฉากไม้ไผ่ปิดกั้นบางส่วนเอาไว้
ทางเดินแบบโบราณที่เรียกว่า“โนะเบะดัน” ลักษณะทอดยาวเป็นเส้นตรง เน้นให้เดินง่ายและเดินเร็วได้ ปูแผ่นแกรนิตโบราณวางเป็นรูปตัวแอล (L) สลับไปมา  พื้นที่เหลือโรยกรวดแม่น้ำของบ้านเรา แต่เลือกที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีผิวหน้าเรียบเพื่อให้เดินง่าย สองข้างทางเล่าเรื่องราวของสวนภูเขา

สวนนี้เป็นฝีมือการออกแบบและจัดสวนของ คุณภูริ-ภูริวัจน์  วรากิติยาวิโรจกุล แห่ง Wabisabi Spirit ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดสวนให้ฟังว่า “คุณต๊อดทักมาที่เพจร้านผม เพื่อปรึกษาเรื่องสวนครับ คุยไปคุยมาก็ทราบว่าชอบเลี้ยงปลาคาร์ปเหมือนกัน เลยคุยกันถูกคอ เข้าใจอะไรตรงกันง่ายขึ้น ผมเข้าไปดูสวนที่บ้านคุณต๊อด ซึ่งเดิมเป็นสวนญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องตามแบบฉบับสวนญี่ปุ่นดั้งเดิมเสียทีเดียว อีกทั้งสวนก็เริ่มโทรมแล้วด้วย คุณต๊อดเลยอยากปรับปรุงสวนใหม่ทั้งหมด

สวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมถือกำเนิดมาแล้วกว่าสองพันปีอันเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

“การทำงานออกแบบของผมอาจไม่ได้เริ่มที่ ลูกค้าต้องการอะไร แต่เริ่มจากผมมีอะไรมากกว่าครับ ผมมีของที่ต้องใช้สำหรับสวนญี่ปุ่นที่สั่งเข้ามาค่อนข้างมาก ผมเฟ้นหาและสะสมต้นไม้ในบ้านเราจากทั่วทุกภาคที่มีลักษณะใกล้เคียงกับต้นไม้ที่ต้องใช้ โดยไม่ต้องสั่งนำเข้าจากญี่ปุ่น เวลาไปคุยกับลูกค้าก็จะรู้ว่าเขาชอบอะไร อยากได้อะไร และผมมีอะไรที่จะนำมาใช้ได้ จึงค่อยออกแบบให้ลูกค้าสวนที่ได้ก็จะตรงใจกับที่สิ่งที่เขาต้องการครับ

“คุณต๊อดให้อิสระในการออกแบบเต็มที่ส่งแบบที่ชอบให้ดู เริ่มจากซุ้มประตูหน้าบ้าน ผมดึงซุ้มประตูบ้านที่ญี่ปุ่นมาใช้  อยากสื่อถึงการต้อนรับเข้าบ้าน พื้นวางแผ่นหินแกรนิตเรียบ ๆ ที่เดินง่าย เป็นแผ่นแกรนิตโบราณอายุนับร้อยปี นำเข้าจากญี่ปุ่น  ผ่านรอยเกวียน รอยวัวเดินมาแล้ว จึงทำให้มีผิวเรียบลื่นและมันวาว ซึ่งในบ้านเราไม่มีครับ ส่วนที่เหลือโรยด้วยหินแม่น้ำของบ้านเรา สนใบพายต้นใหญ่ทรงบอนไซอายุกว่า 60 ปีเป็นต้นเดิมที่มีอยู่แล้ว ตกแต่งเพิ่มด้วยตะเกียงหิน หินประดับ และตุ๊กตาจิโซซัง (เทพผู้คุ้มครองเด็ก)

ระเบียงไม้สีขาวริมบ่อปลา ด่านล่างคุณภูริใช้แท่งหินทรายของเก่ามาวางเรียงในแนวตั้งต่างระนาบ สูงต่ำไม่เท่ากัน เพื่อบังปูนที่เทกั้นขอบบ่อกันดินทรุดที่ดูไม่สวยงาม

“ทางเดินในสวนเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ตั้งใจนำมาใช้เล่าเรื่องในสวน ถัดจากซุ้มประตูเข้ามาจะเป็นทางเดินที่เรียกว่า ‘โนะเบะดัน’ จะเห็นได้ตามวังหรือวัดในญี่ปุ่น วางแผ่นแกรนิตโบราณและกรวดแม่น้ำในรูปแบบการวางหินตามตำราโบราณ มีลักษณะเป็นทางเดินที่ทอดยาวเป็นเส้นตรง เน้นให้เดินง่ายและเดินเร็วได้ สองข้างทางก็จะเล่าเรื่องของสวนภูเขา มีเนินมอสส์วางประดับด้วยหินที่สมมติว่าเป็นภูเขา แต่ด้วยความที่ทางเดินทอดยาวมากอาจทำให้รู้สึกน่าเบื่อ จึงต้องทำฉากไม้ไผ่ตกแต่งด้วยต้นไม้ขึ้นมากั้น เพื่อเรียกความสนใจระหว่างทาง ก่อนที่อารมณ์ของผู้เดินจะหลุดไปที่ท้ายสวนเร็วเกินไปครับ

“ผ่านจากทางเดินโนะเบะดันแล้ว จะเปลี่ยนรูปแบบทางเดินใหม่ที่เรียกว่า ‘อะระเระโคะโปะชิ’จะใช้ก้อนหินทรายที่ขัดลบเหลี่ยมมาวางเรียงต่อกันแบบฟรีฟอร์ม ผมเรียงหินในรูปแบบที่ชื่อ‘มุชิกุย’ (หมายถึง แมลงกินใบไม้) หินจะมีลักษณะแหว่งๆ โค้ง ๆ ที่ขอบคล้ายใบไม้ที่ถูกแมลงแทะ ซึ่งเป็นทางเดินรูปแบบดั้งเดิมอีกเช่นกัน ด้านในสุดของสวนเป็นทางเดินแบบ‘โทบิอิชิ’ ซึ่งส่วนมากนิยมใช้ในสวนชา นำหินทรายแผ่นกลมมาวางเรียงต่อกันเป็นทางเดินที่บังคับให้ต้องเดินช้าลง เพราะ ต้องค่อย ๆ ก้าวทีละก้าวด้วยความระมัดระวัง ทำให้ผู้เดินได้เสพความงามของสองข้างทางในระหว่างเดินไปด้วย

“หลังจากผ่านทางเดินโทบิอิชิแล้วจะพบสวนหินหรือสวนแห้งที่เรียกว่า ‘คาเรซันซุย’ เป็นสวนในจินตนาการที่เราพบเห็นได้บ่อย ๆ ตามวัดหรือวังที่ญี่ปุ่นครับ เป็นการจำลองทะเลและภูเขาในธรรมชาติแต่ย่อส่วนให้เล็กลงมา ซึ่งการวางหินและรูปแบบการคราดให้เป็นลายบนพื้นกรวดพื้นทรายมีความหมายเฉพาะต่างกันไปตามตำราโบราณ ผมเลือกใช้หินแกรนิตเก่า รวมทั้งสะพานหินของโบราณที่นำเข้ามา ตกแต่งด้วยพรรณไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อไม่ให้ดูแห้งแล้งจนเกินไป ด้านในสุดเป็นบ่อปลาคาร์ปขนาดใหญ่และเรือนชมปลาที่ซ่อนระบบกรองไว้ใต้พื้นระเบียง ซึ่งเป็นของเดิมที่มี
อยู่แล้ว มีสวนธรรมชาติอยู่มุมด้านในสุด ผมแค่เติมต้นไม้บริเวณน้ำตกให้ดูร่มรื่นขึ้น และตกแต่งบริเวณขอบบ่อปลาให้สวยงามน่ามองมากขึ้นครับ

“บ้านคุณต๊อดมีต้นไม้ใหญ่อยู่บ้างแล้ว เราลงแค่ไม้ระดับสายตา ไม้ประดับ ไม้ลีลา และพวกวัสดุคลุมดินเพิ่มเข้าไปใหม่ ปกติต้นไม้ที่ใช้ในสวนญี่ปุ่นจะเป็นต้นไม้ที่มีลีลา มีฟอร์ม ผมเลือกใช้ต้นไม้ในบ้านเราแทน เช่น เสม็ดแดงใช้แทนสนแดง แก้วเจ้าจอมสี่ใบแทนเมเปิ้ล ชุมแสงแทนต้นสนที่มีก้านหงิกงอ ซึ่งนิยมใช้ในญี่ปุ่น ต้นไม้ที่เลือกใช้ในสวนญี่ปุ่นควรมีใบขนาดเล็ก ผิวใบเป็นมัน รูปทรงกิ่งก้านหงิกๆ งอๆ บ้าง ต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่อย่างลั่นทมจึงไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ ยกเว้นว่าเป็นต้นเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วครับ ไม้ต้นที่ควรเลือกใช้ต้องมีเปลือกเรียบไม่แตก ผิวเป็นมัน เช่น เสลา  อินทนิล พอออกดอกก็มีสีชมพูให้อารมณ์เหมือนซากุระได้ครับ”

เรือนชมปลาคาร์ปเป็นของเดิมที่ยังใช้งานได้ดีอยู่  ด้านล่างซ่อนระบบกรองของบ่อปลาที่คุณต๊อดให้ความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าการจัดสวน
มุมมองจากลานอเนกประสงค์หลังบ้านเห็นสวนธรรมชาติติดรั้วริมบ่อปลาคาร์ปขนาดใหญ่ น้ำตกของสวนญี่ปุ่นจะต่างจากน้ำตกของสวนทรอปิคัลตรงที่ไม่ค่อยอลังการนัก  แต่จะเล่นกับความเป็นธรรมชาติ ดูร่มครึ้มแต่ไม่รกเป็นป่า มีต้นไม้เพื่อเพิ่มมิติบ้าง และมักปลูกมอสส

นอกจากสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่งดงามและซ่อนความหมายไว้มากมายแล้ว ยังมีบ่อปลาคาร์ปขนาดใหญ่ที่คุณต๊อดรักและให้ความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน รวมทั้งมีเรื่องราวของบ่อปลาและระบบกรองสำหรับบ่อปลาที่น่าสนใจ คุณผู้อ่านสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือบ่อปลาในสวนสวยของสำนักพิมพ์บ้านและสวนได้ครับ

นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2564 ฉบับที่ 544 

เจ้าของ : คุณพงษ์สิน พฤกษมาศน์

ออกแบบ : Wabisabi Spirit โดยคุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล โทรศัพท์ 08-1133-9596

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล