บ้านพักตากอากาศในบรรยากาศสวนญี่ปุ่น พร้อมแปลงผักริมน้ำ

นอกจากฝันที่อยากมีสวนสวย ๆ ในบ้านแล้ว การมีบ้านตากอากาศหรือบ้านพักต่างจังหวัดน่าจะเป็นอีกหนึ่งฝันที่หลายครอบครัวปรารถนา ครั้งนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านไปชมบ้านตากอากาศหลังสวยในบรรยากาศชนบทที่สงบเรียบง่ายริมแม่น้ำนครนายก ทั้งยังโอบล้อมด้วยสวนสวย ๆ ในแบบสวนลูกครึ่งญี่ปุ่น-ยุโรปอีกด้วยครับ

ซุ้มประตูวงกลมโครงเหล็กตกแต่งด้วยไม้ไผ่ ทางเดินออกแบบเป็นเส้นตรงสู่อาคารด้านในเพราะต้องการให้ตัวบ้านเป็นจุดนำสายตา ดูลึกมีมิติ
ผ่านประตูเข้ามาด้านในเป็นสวนชื้นสไตล์สวนญี่ปุ่นแบบประยุกต์ ก่อเนินปูมอสส์สื่อถึงภูเขา ปลูกพรรณไม้น้อยใหญ่โดยใช้สีเขียวเป็นหลักเพื่อให้ดูสงบสบายตา พื้นทางเดินขรุขระโรยกรวดแม่น้ำก้อนใหญ่ริมแม่น้ำแคว

“ผมได้รับการติดต่อให้เข้ามาออกแบบสวนนี้เมื่อกลางปีที่แล้วครับ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3 ไร่ เป็นป่าหญ้าทั้งหมด มีต้นไม้ใหญ่อยู่หลายต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผล มีทั้งมะม่วง มะปราง และขนุน ในตอนนั้นกำลังสร้างบ้านญี่ปุ่นสไตล์ชนบทที่ดูเรียบง่ายอยู่ เจ้าของบ้านอยากได้สวนที่มีต้นไม้ฟู ๆ เยอะ ๆ ดูเป็นธรรมชาติ เลยสรุปลงตัวกันที่สวนอังกฤษ ซึ่งผมถนัดและสวนญี่ปุ่นที่เข้ากับตัวบ้านและเป็นสไตล์ที่เจ้าของบ้านอยากได้ครับ” คุณศักดิ์ เรืองพร้อม เล่าถึงโจทย์ที่ได้รับและจุดเริ่มต้นของสวนสองสไตล์แห่งนี้ให้เราฟัง

ออกแบบเพิ่มบ่อปลาคาร์ปให้อยู่ใต้ถุนบ้าน วางหินแกรนิตเป็นทางข้ามดูเป็นธรรมชาติ นั่งห้อยขาที่ระเบียงชมบรรยากาศสวนได้เต็มตา
เลือกใช้ต้นไม้ที่แตกกิ่งรูปทรงเด่นสะดุดตาแทนบอนไซ และไม้ตัดแต่งทรงพุ่มที่ใช้ในสวนญี่ปุ่น พื้นที่ที่เหลือปรับให้เรียบด้วยทราย โรยหินสีเข้มหนา 2-3 เซนติเมตร เลียนแบบสวนแห้งแต่ไม่คราดให้เกิดลายเพื่อให้สามารถเดินได้ทั่วสวน

“เนื่องจากบ้านหลังนี้ใช้เป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับเขียนหนังสือ ผมจึงตั้งใจออกแบบสวนญี่ปุ่นที่ดูนิ่งสงบเพื่อช่วยให้เกิดสมาธิ ใช้โทนสีเขียวเป็นหลัก เราไม่ควรใช้สีสันเยอะ ใช้แต่สีเขียวที่มองได้เรื่อย ๆ อยู่ได้นาน ๆ เล่นที่เฉดสีและฟอร์มต้นไม้ ภาพรวมจะเป็นสวนชื้นที่มีมอสส์ เลือกใช้ต้นไม้ที่ใช้ในสวนญี่ปุ่น เช่น ไผ่ สน ส่วนต้นไม้ที่หาได้ยาก ดูแลยาก หรือไม่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา เราก็เลือกต้นอื่นมาใช้แทน เช่น พุด โดยเลือกต้นที่แตกกิ่งฟอร์มสวยสะดุดตาแทนบอนไซ นอกจากนั้นก็มีเฟิน ไฮเดรนเยีย หญ้าถอดปล้อง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เหมาะสำหรับสวนญี่ปุ่นครับ ผมเป็นคนที่ลงลึกเรื่องต้นไม้พอสมควร อะไรที่ไม่มีก็ต้องหาให้ได้ เพื่อให้สวนมีเรื่องราว มีดีเทลให้มากที่สุด

“สวนญี่ปุ่นในแบบของผมคือการศึกษาข้อมูลแล้วนำจุดเด่นหลัก ๆ มาใช้ ประยุกต์ต่อยอดการออกแบบไปบ้าง ไม่ใช่สวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเสียทีเดียว ใส่ความทันสมัย ใส่แนวคิดที่แปลกแยกแตกแถวออกไปบ้าง คนที่เสพงานเราจะได้รู้สึกแตกต่าง เลือกใช้วัสดุที่ต่างออกไป หรือเป็นวัสดุที่หาง่าย นำมาประยุกต์ใช้ ให้คนที่ดูงานเราสามารถนำไปทำตามได้ สร้างแนวคิดนำไปต่อยอดได้ครับ

หลังบ้านเป็นระเบียงไม้กว้าง ออกแบบเป็นสวนเซนโล่งๆ สบายตาและไม่ต้องดูแลรักษามาก มองออกไปเห็นธรรมชาติริมแม่น้ำเป็นมุมกว้าง
ข้างบ้านเป็นทางเดินไปสู่สวนเซนที่อยู่ด้านหลัง ออกแบบทางเดินเป็นเส้นตรงปูพื้นด้วยหินภูเขาเมืองกาญจน์ ตอกลำไผ่ขึงเชือกตามสไตล์สวนญี่ปุ่น แต่ตัดทอนรายละเอียดให้ดูโมเดิร์นมากขึ้น

“บริเวณหลังบ้านก็ยังคงเป็นสวนญี่ปุ่นครับ แต่มีความเป็นสวนเซนที่ดูนิ่ง ๆ ใส่พรรณไม้ลงไปไม่มาก นั่งจิบชากาแฟในตอนเช้ามองเห็นบรรยากาศริมน้ำที่ดูโล่งสบายตา เป็นสวนที่ดูแลง่าย มีรั้วไม้ไผ่ขึงเชือกแบบสวนญี่ปุ่น พื้นทางเดินปูด้วยแผ่นหินแต่ปรับทางเดินเป็นเส้นตรง ใช้เส้นสายที่ดูโมเดิร์นขึ้น เลือกใช้กรวดมาโรยพื้นเกือบทั้งหมด เพราะเป็นวัสดุที่ใช้ได้ทั้งสวนญี่ปุ่นและสวนอังกฤษ ปลูกไม้ดอกเพิ่มเพื่อเชื่อมไปยังสวนอังกฤษที่อยู่ในโซนถัดไป”

เนื้อที่สวนกว่า 2 ไร่ นอกจากสวนญี่ปุ่นที่อยู่รอบบ้านแล้ว พื้นที่สวนที่เหลือเป็นสวนยุโรปที่มีกลิ่นอายผสมผสานทั้งสไตล์ทัสกานีและโปรวองซ์ รวมไปถึงแปลงผักสวนครัวริมน้ำที่เรียกได้ว่าเป็นสวนครัวที่มีดีไซน์ ใส่ลูกเล่น เป็นสวนครัวที่ทั้งสวยทั้งมีประโยชน์ต่างไปจากที่เคยเห็นมา

ด้านหลังชิงช้าที่ลานบาร์บีคิวมองลงไปเห็นบรรยากาศสวนริมน้ำที่อยู่ด้านล่าง เนื่องจากพื้นที่เป็นสโลป ลาดชัน จึงออกแบบเป็นบันไดเพื่อให้เดินสะดวก เลือกใช้หินกาบสีชมพูธรรมชาติของเมืองกาญจน์เพื่อให้อารมณ์สวนทัสกานี ปลูกพรรณไม้หลากหลายเต็มเนินสไตล์สวนโปรวองซ์
เจ้าของบ้านชอบสังสรรค์กับเพื่อนๆ คุณศักดิ์เซอร์ไพร้ส์ด้วยการทำลานบาร์บีคิวเพิ่มให้ วางหินก้อนใหญ่รอบๆ เตาขนาดใหญ่ ถัดไปเป็นชิงช้าไม้ท่ามกลางไม้ดอกไม้ใบเล็กใหญ่

“ในส่วนของสวนอังกฤษตั้งใจให้หลบไปอีกด้านแยกห่างจากบ้านญี่ปุ่นไปเลย ไม่งั้นก็จะดูขัดตาครับ สวนอังกฤษที่นี่ออกแบบผสมผสาน ดึงจุดเด่นของสวนในยุโรปมาใช้เพื่อให้ดูแตกต่างไปจากสวนสไตล์อังกฤษที่เคยทำ ด้วยพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินลาดชันลงไปบริเวณริมน้ำ ผมถมดินเพิ่มและปรับพื้นที่ให้เป็นขั้นบันได ทำเป็นสวนบนเนินสไตล์โปรวองซ์ของฝรั่งเศส เพิ่มดีไซน์ทางเดินและเลือกใช้วัสดุและโทนสีที่เป็นธรรมชาติของสวนสไตล์ทัสกานีของอิตาลี จุดเด่นของสวนนี้คือพรรณไม้ที่หลากหลาย ที่นี่เราลงต้นไม้หลายร้อยต้น หลากหลายชนิดมากนะครับ ปลูกแบบเหมือนไม่ตั้งใจปลูก ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างยาก แต่จะช่วยให้สวนดูมีมิติ ไม้ดอกที่เลือกปลูกจะมีทั้งไม้ดอกล้มลุกและไม้ดอกอายุหลายปี พวกไม้ดอกล้มลุกเราจำเป็นต้องใช้เพราะมีให้เลือกหลายชนิด ออกดอกดก ดอกมีสีสันที่หลากหลาย ช่วยให้สวนดูละมุนและมีเสน่ห์ ต้นโทรมก็เปลี่ยนต้นใหม่ เป็นกิจกรรมในครอบครัวได้ เลือกใช้ไม้ดอกสีโทนเย็นที่ดูสบายตา เช่น ขาว ชมพู ฟ้า ม่วง ไม่ใช้สีเดียวกันทั้งหมดเยอะ ๆ ซึ่งจะทำให้ดูน่าเบื่อ ไม่ใช้สีสด เช่น เหลือง ส้ม แดง เพราะจะดูจัดจ้าเกินไป อาจใช้ได้บ้างนิดหน่อยเพื่อสร้างจุดเด่น เพิ่มความน่าสนใจ แต่ก็ควรเป็นพรรณไม้ที่เข้ากับสไตล์สวน เช่น กุหลาบ พยายามใช้ต้นไม้ที่ใบมีขนาดเล็ก ซึ่งจะดูละมุนกว่า

สวนครัวที่มากด้วยดีไซน์ สวนครัวริมแม่น้ำที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่ง คุณผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์” ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

 “สวนผักริมน้ำเป็นไอเดียของผมเลย ซึ่งเจ้าของบ้านเห็นแล้วชอบมาก ผักที่ปลูกมีทั้งผักพื้นบ้านและผักต่างประเทศ เน้นเรื่องของดีไซน์ทั้งแปลงปลูก วัดุที่ใช้ มีของตกแต่งแบบฝรั่งมาจัดวาง พวกม้านั่ง บ้านนก แต่ก็นำวัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ มาใช้ร่วมด้วย อยากให้รู้สึกว่าเป็นบ้านพักตากอากาศที่มีแปลงผักที่สวย ดูแล้วสบายตาสบายใจ เข้ากับภาพรวมของสวนทั้งหมด แปลงผักริมน้ำเป็นวิถีธรรมชาติในบ้านเราที่ไม่ค่อยเห็น ทำให้พิเศษต่างไปหน่อยก็ตรงที่เป็นแปลงผักที่มีลูกเล่น ปลูกโชว์ก็ได้ ปลูกชิมก็ได้ครับ

10 ปีที่ผมมีโอกาสได้ทำงานรับออกแบบจัดสวน ก็พยายามสร้างสรรค์ผลงานในหลาย ๆ สไตล์ งานจะมีดีเทลที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ผมมองว่าการจัดสวนเราไม่จำเป็นต้องตามตำราเสมอไป ผมจะทำสวนทุกที่ให้ต่างกันแม้ว่าจะเป็นสไตล์เดียวกันครับ และในงานเดียวก็อาจมีหลายสไตล์ปนกัน ฉีกแนวไปจากเดิม ๆ อย่างเช่นสวนนี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ได้คิดสร้างไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา”

สวนญี่ปุ่นที่ตัดทอนรายละเอียดใช้เส้นสายที่ดูโมเดิร์นมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของสวนญี่ปุ่นที่ควรจะเป็น เช่น ไม้ไผ่ ก้อนหิน พื้นกรวด
พื้นสวนเซนโรยด้วยกรวดก้อนเล็กแต่ต่างสีเพื่อแบ่งพื้นที่ มองออกไปไกลๆ เห็นสวนอีกโซนที่อยู่อีกด้าน วางม้านั่งเหล็กสีขาวข้างบ่อน้ำพุ ปรับอารมณ์เข้าสู่สวนสไตล์อังกฤษ

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2565

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : อภิรักษ์  สุขสัย

ที่ตั้ง : จังหวัดนครนายก

ออกแบบ : บริษัทสวนลีลา จำกัด โดยคุณศักดิ์ – คุณลีลาวดี เรืองพร้อม โทรศัพท์ 08-7051-8000