บอนสี

หลากหลายความงามของ บอนสี ไม้ใบสวย จากยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน

บอนสี
บอนสี

แม้กระแสความนิยมไม้ใบจะลดลงก็ตาม แต่สำหรับ บอนสี ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไม้ใบ ยังคงเป็นที่นิยมในท้องตลาด โดยเฉพาะกลุ่มบอนสีพันธุ์ใหม่ๆ “บอนด่าง” หรือที่เรียกกันว่า “บอนป้าย” ซึ่งยังมีราคาค่อนข้างสูง

ความหลากหลายของลวดลายและสีสันของใบ บอนสี ที่พบเห็นกันในยุคนี้ ล้วนเกิดจากความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์บอนสีชาวไทยมาตั้งแต่อดีต ทำให้ในบ้านเรากลายเป็นแหล่งรวมของบอนหลากสีที่สวยงามไม่แพ้ต่างประเทศเลย แต่รู้ไหมว่า งานประกวดบอนสี โดยสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เขาประกวดกันอย่างไร มีกี่ประเภท และตัดสินกันอย่างไร มาคุยกับนักเลี้ยงบอนสีรุ่นเก๋ากัน

บอนสี

วันนี้มีโอกาสได้มาพูดคุยกับ คุณป้าสลิดา พิเรนทร หนึ่งในทีมคณะกรรมการประกวดบอนสีของสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย และเป็นเหมือนคุณแม่ของทุกคนในสมาคมบอนสีฯ ท่านเล่าว่า

“ก่อนอื่นคงต้องขอบคุณ พลตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา ที่ก่อตั้งสมาคมบอนสีขึ้นมา ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีบอนสีสวยๆ ให้เห็นกันถึงตอนนี้ เมื่อก่อนเราก็แค่รวมกลุ่มกันในแต่ละชุมชนของพื้นที่อย่าง สนามบาร์ไก่ขาว ที่ปัจจุบันคือร้านเมธาวลัย ศรแดง ถนนราชดำเนิน วัดอินทรวิหารแถวเทเวศร์ วัดสระเกศ

พอนัดแนะเจอกันก็จะเอาต้นมาอวดกัน แลกกัน มีการจัดประกวดขึ้น สถานที่ที่สะดวกที่สุดก็คือตามวัดต่างๆ ในแต่ละจังหวัด พูดได้ว่าความสวยงามของบอนสีแพร่หลายไปทั่วก็ว่าได้ พอบอนสีเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ท่านพจน์เลยอยากก่อตั้งสมาคมฯขึ้น และท่านก็เป็นนายกสมาคมฯคนแรก

“ช่วงนั้นมีเริ่มมีการประกวดบอนสีกัน ซึ่งประเภทที่ประกวดก็มีแค่บอนใบไทย กับบอนใบยาว และงานประกวดที่ทำให้บอนสีโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ งานประกวดที่ช่อง 9 อสมท. ในรายการ “คีตวาทิต” เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2525 นับเป็นรายการแรกและรายการเดียวที่จัดประกวดบอนสีทางจอแก้ว มีผู้ส่งบอนสีเข้าประกวดมากมายหลายร้อยต้น ท่านพจน์ ยังนำบอนสีที่ผสมพันธุ์ด้วยตัวเองมาจดทะเบียนชื่อว่า “หมอจินดา”

บอนสี หมอจินดา
ในภาพคือ หมอจินดา ซึ่งพันตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดาเป็นผู้ผสมและตั้งชื่อ

คุณป้าสลิดาเล่าพร้อมกับยิ้มอย่างมีความสุข พร้อมกับเปิดหนังสือบอนสีหลายเล่มให้ดู

“พอหลังจากนั้น สวนหลวง ร.๙ เริ่มเปิดสวน ทางสมาคมบอนสีก็ได้รับเชิญให้จัดประกวดบอนสีที่อาคารถกลพระเกียรติทุกวันอาทิตย์ที่สองของทุกเดือน ผู้คนในย่านสมุทรปราการก็เข้ามาชมงานประกวดกัน งานประกวดแต่ละครั้งนักเลงบอนรุ่นเก่าก็จะยกไม้ประกวด แลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกต้นกันบ้าง ที่สำคัญคือ มีบอนสีต้นใหม่ๆ มาจดทะเบียนกันทุกครั้ง” คุณป้าเล่าพร้อมกับแนะนำบอนสีฝีมือของท่านคือ “สร้อยแสงแดง”

ต้นสร้อยแสงแดงนี้ป้าจดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นไม้ที่อยู่ในตับเพลง สีแดงสวยแผ่นใบหนา เลี้ยงไม่ยาก ตอนนี้หาดูได้ยากแล้ว ตอนนั้นได้ทางสำนักพิมพ์บ้านและสวนได้จัดทำหนังสือบอนสีเล่มแรกขึ้น ก็ยิ่งทำให้บอนสีเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ”

สร้อยแสงแดด บอนใบยาวฝีมือคุณป้าสลิดาในภาพเป็นต้นที่อยู่ในหนังสือบอนสี ของสำนักพิมพ์บ้านและสวนที่จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2538

สำหรับประเภทการประกวดบอนสีในอดีตมีเพียง 3 ประเภท คือ ใบไทย ใบยาว และใบกลม ซึ่งในกลุ่มใบกลม รวมบอนใบกาบไปด้วย ต่อมานักเลี้ยงบอนสีเพิ่มพัฒนาพันธุ์กันมากขึ้น ทำให้บอนสีมีความหลากหลายมากขึ้นและมีการจัดประเภทมากขึ้น คือแยกประเภทใบกาบออกจากใบกลม เพิ่มประเภทใบไผ่ รวมทั้งบอนสูงไม่เกิน 3 นิ้ว, 5 นิ้วและ 8 นิ้ว

“ช่วงหลังนักเลี้ยงผสมพันธุ์บอนสีกันเก่งขึ้น ทำให้มีบอนสีใหม่ๆ สวยๆ เกิดขึ้นมากมาย การประกวดเลยมีประเภทบอนมากขึ้น จุดเด่นของแต่ละประเภทของใบคือ ใบไทย ก็ต้องมี รูปร่างใบคล้ายรูปหัวใจ หูใบฉีกไม่ถึงสะดือ โดยรอยต่อของก้านใบกับแผ่นใบอยู่ถัดจากหว่างหูขึ้นมา และมีแผ่นใบขนาดใหญ่ ทรงพุ่มใหญ่ และส่วนใหญ่จะเลี้ยงง่าย

บอนสี ทุ่งรวงทอง
บอนใบไทยที่ชื่อทุ่งรวงทอง เป็นไม้ใบเหลืองรุ่นใหม่ที่แข็งแรงทนทาน ลูกผสมฝีมือคุณปรีดา รุ่งโรจน์ที่เลี้ยงง่าย
บอนสี ธาตุบางแก้ว
ธาตุบางแก้ว ไม้ใบไทยรุ่นใหม่ที่มีเม็ดสีแดงลอยเด่นบนแผ่นใบ

“สำหรับ บอนใบยาว ต้องมีหูใบฉีกถึงสะดือ บางต้นก็มีใบกว้าง ป้อม บางต้นก็แคบ ถ้าหูใบฉีกยาวไกลไปถึงสะดือ” นั่นคือ “บอนใบยาว”เป็นบอนสีประเภทหนึ่งที่เลี้ยงง่ายที่สุด และมีความหลากหลายมากในบ้านเรา และเลี้ยงให้สูงได้หลายขนาด ทำให้มีผู้ส่งบอนใบยาวในประเภท ความสูงไม่เกิน 8 นิ้ว

บอนสี มณีล้อมเพชร
บอนใบยาวที่ชื่อ มณีล้อมเพชร ของสวนมณีมน เป็นบอนสีรุ่นใหม่ที่มีใบด่างสวยงามมากต้นหนึ่ง
บอนสี ปราสาททอง
ปราสาททอง บอนใบยาวที่แข็งแรงทนทาน สามารถเลี้ยงนอกตู้ได้

บอนใบกลม คล้ายกับบอนใบไทย คือ หูใบฉีกไม่ถึงสะดือ แต่แผ่นใบกลม บางต้นขอบใบห่อขึ้น ในอดีตบอนใบกลมเป็นบอนสีที่เลี้ยงยาก แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ให้เลี้ยงง่ายขึ้น ใบดกขึ้น สีสวยงามขึ้นด้วย

บอนสี ราชาวดี
บอนใบกลมที่ชื่อ ราชาวดี  ผู้ผสมคือ คุณทองอยู่  มั่งเจียมเป็นบอนรุ่นใหม่ที่มีใบด่างแตกต่างจากบอนใบกลมรุ่นเก่า
รัตนาธิเบศร์
บอนใบกลมลูกผสมของคุณนพดล โพธิ์จันทร์ ชื่อ รัตนาธิเบศร์ สามารถเลี้ยงนอกตู้ได้
บอนสี บอนใบกลม
จังหวัดกระบี่ ผู้ผสมพันธุ์คือ คุณสุทธิ กลิ่นอุทัย เป็นบอนใบกลมรุ่นเก่าที่ยังสวยงามเสมอ และปลูกเลี้ยงนอกตู้ได้

“ส่วนบอนใบกาบ จุดเด่นคือ ปกติก้านบอนจะกลม แต่บอนใบกาบ ก้านใบจะแผ่เป็นกาบเหมือนผักกาด บางพันธุ์ก็มีแผ่นแหลมๆ ยื่นจากกาบเขาเรียกว่า แข้ง ซึ่งสวยงามอีกแบบ แต่เป็นกลุ่มที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ทำให้ลูกผสมในบ้านเรายังมีไม่มากนัก

เทพพิทักษ์
เทพพิทักษ์ ผู้ผสมพันธุ์คือ คุณเสรี ผุดผ่อง เป็นบอนใบกาบที่สวยงามมากต้นหนึ่ง ก้านใบแผ่เป็นกาบ สีเดียวกับแผ่นใบ
บอนสี รัชมงคล
บอนใบกาบสีขาวที่ชื่อ รัชมงคล ผู้ผสมพันธุ์ คือคุณประสิทธิ์ สลัดทุกข์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในงานประกวดที่สวนหลวง ร. ๙ จึงตั้งชื่อตาม หอรัชมงคลในสถานที่แห่งนี้
บอนสี พระยามุจลินท์
พระยามุจลินท์ บอนใบกาบที่มีสีแดงอมชมพูตัดกับแผ่นใบสีเขียวเข้ม แผ่นใบหนาแข็ง ผู้ผสมพันธุ์คือ คุณทวี ประสิทธิ์ สามารถเลี้ยงนอกตู้ได้

“ประเภทสุดท้ายคือบอนใบไผ่ เป็นบอนสีที่ได้จากการนำบอนใบยาวผสมเกสรกับบอนใบยาวด้วยกัน เกิดบอนที่มีใบแบบใหม่ คือ ใบเรียวเหมือนใบหอก หูใบลู่ และส่วนใหญ่เป็นบอนต้นเล็ก ในงานประกวดเราจะมีคนส่งบอนใบไผ่ในประเภท บอนสูงไม่ได้เกิน 3 นิ้วและ 5 นิ้ว

ไผ่ธารทิพย์
บอนใบไผ่ ชื่อ ไผ่ธารทิพย์ ที่มีความสูงไม่ถึง 5 นิ้ว ลูกผสมของคุณปรีดา รุ่งโรจน์
ไผ่ธารทอง
ไผ่ธารทอง ที่มีใบกว้างเพียง 1.5 เซนติเมตร ลูกผสมของคุณปรีดา รุ่งโรจน์อีกต้นหนึ่ง

คุณป้าสลิดาเล่าอย่างภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาช่วยงานในสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย และฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเลี้ยงบอนสีบ้าง

“เมื่อก่อนคนเลี้ยงบอนสีต้องมีตู้บอน ถึงจะได้บอนสวยๆ แต่เดี๋ยวนี้ นักเลี้ยงบอนสีรุ่นใหม่เขาพยายามพัฒนาให้บอนสีมีศักยภาพในการเลี้ยงที่ดีขึ้น ก็คือ บอนสีรุ่นใหม่ต้องเลี้ยงนอกตู้ได้ ปลูกเป็นไม้ประดับใบได้ ซึ่งหลายพันธุ์ มีก้านใบแข็งแรง แผ่นใบหนาขึ้น อย่างปราสาททองที่เป็นบอนใบยาว เลี้ยงเป็นกอได้สวยงามมาก ซึ่งเมื่องานประกวดบอนสีเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาก็ได้รางวัลยอดเยี่ยมไปครอง

.

คุณป้ากล่าวว่า “ตอนนี้มือใหม่คนไหนอยากเลี้ยงบอนสี มาเลี้ยงกันเลยค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้มีบอนสีใหม่ๆ ให้เลือกเลี้ยงมากมาย หรือลองมาชมงานประกวดบอนสีของสมาคมฯ ในงานบ้านและสวนแฟร์ปลายปี ที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งเราได้รับเกียรติให้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานประกวดพรรณไม้ของงานนี้เนื่องในโอกาสครบ 40 ปีของสมาคมฯด้วย ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความยินดีอย่างมากและต้องขอบคุณทางบ้านและสวนในโอกาสนี้

“อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวกันนะคะ งานนี้มีประกวดพรรณไม้หลายอย่าง บริเวณ Garden Zone อาคารชาเลนเจอร์ 1 เมืองทองธานี สำหรับบอนสีประกวดในวันที่ 31 ตุลาคม และโชว์ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน ใครว่างแวะมาเจอลุงๆ ป้าๆ และนักเลงบอนรุ่นใหม่ได้ในงานนะคะ สมาคมฯยินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ”

กิจกรรมประกวดพรรณไม้ในงานบ้านและสวนแฟร์ปลายปี 2022 ที่เมืองทองธานี

คุณป้าสลิดากล่าวพร้อมกับหยิบหนังสือ บอนสี ฉบับสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เล่มล่าสุดที่จัดทำขึ้นเมื่อปีก่อน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ และ หนังสือ ไม้ใบ –ไม้ด่าง ที่รวบรวมบอนสีรุ่นใหม่ไว้จำนวนหนึ่งและยังให้กล่าวว่า “บอนสีเลี้ยงไม่อยาก ขอเพียงเข้าใจ และเลือกไม้ที่เราชอบและเหมาะกับเรา บอนสีก็จะสวยงามอย่างแน่นอนค่ะ”

อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ บอนสี : Caladium โดย สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยและ ไม้ใบ-ไม้ด่าง : Foliage & Variegated Plants ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

บอนสี ไม้ใบไม้ด่าง

เรื่อง อุรไร จิรมงคลรัช

ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย

เสน่ห์หอมชวนมองของไม้ดอกหอม

สวนผักข้างบ้านของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ