BAAN TAI TUN ตากอากาศในทุกวันหยุดผ่านพื้นที่ใต้ถุนบ้าน

“ บ้านใต้ถุน ” คือชื่อบ้านที่ คุณสุวภัทร ชูดวง ผู้ควบตำแหน่งนักออกแบบและเจ้าของบ้านใช้เรียกบ้านหลังนี้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากจะเป็นพื้นที่แรกในบ้านที่เราเข้ามาเจอแล้วยังเป็นหัวใจของบ้านหลังนี้อีกด้วย

ซึ่งหลังจากเรียนจบมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คุณสุวภัทรก็ได้มาทำการออกแบบ บ้านใต้ถุน หลังนี้เป็นหลังแรก โดยตั้งใจให้เป็นบ้านพักตากอากาศของครอบครัวให้มาใช้เวลาร่วมกันในวันหยุดสุดสัปดาห์

บ้านใต้ถุน บ้านเขาใหญ่ บ้านตากอากาศ

บนผืนที่ดินกว่า 7  ไร่ที่ทางครอบครัวค่อย ๆ ซื้อสะสมจนกลายเป็นผืนใหญ่ ก่อนที่จะเป็นบ้านโมเดิร์นท่ามกลางความร่มรื่นเขียวชอุ่มดังที่เห็นนี้ เดิมทีเป็นเพียงที่ดินเปล่าที่มาพร้อมต้นมะขาม 3 ต้นเท่านั้น จึงเลือกเก็บต้นไม้เดิมทั้งหมดไว้แล้วใช้ยึดเป็นตำแหน่งการวางแนวอาคาร โดยเริ่มจากวางตัวอาคารไว้ส่วนที่ค่อนข้างราบ ไม่ต้องปรับที่ดินเยอะ และร่นตำแหน่งให้สามารถมองเห็นวิวเขาลอยได้อย่างเต็มตา

บ้านใต้ถุน บ้านเขาใหญ่ บ้านตากอากาศ

“ช่วงที่ออกแบบบ้านหลังนี้ผมไปลงพื้นที่กับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสำรวจบ้านพื้นถิ่นค่อนข้างเยอะ ได้ไปเจอพวกบ้านใต้ถุน ทำให้เห็นรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่มักลงมาอยู่ข้างล่าง เนื่องจากหนึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถเข้าถึงได้เลย เพื่อนบ้านก็ไปมาหาสู่กันง่าย สองเป็นสเปซที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง ไม่เกร็งมาก แล้วสังเกตว่าพอเราขึ้นมาอยู่ชั้นสองมันจะให้ความรู้สึกมีความเป็นส่วนตัวขึ้น”

จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านหลังนี้ที่ตั้งใจให้เป็น Weekend House อยู่แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับแขกทั้งเพื่อนคุณแม่ และเพื่อนของลูก ๆ งานนี้ไอเดียเรื่องความเป็นใต้ถุนของบ้านพื้นถิ่นจึงถูกนำมาใช้โดยออกแบบพื้นที่ใต้ถุนขนาด 8×10 เมตร ที่ไม่มีการกั้นผนัง เพื่อให้สเปซลื่นไหลเชื่อมต่อกันได้หมด  นำมาสู่การออกแบบโครงสร้างคานที่มีความลึกของคานเพียง 0.40 เมตร ซอยออกเป็นหลาย ๆ เส้นแทนการใช้คานที่ต้องลึกถึง 0.80 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับระยะช่วงเสาตามหลักออกแบบโครงสร้างอาคาร

บ้านใต้ถุน บ้านเขาใหญ่ บ้านตากอากาศ
บ้านใต้ถุน บ้านเขาใหญ่ บ้านตากอากาศ

ผลลัพธ์ที่ได้คือคานซอยที่เป็นทั้งฟังก์ชันและความสวยงามไปในตัว  เป็นการหยิบภาษาของคานไม้ที่เราเห็นได้ทั่วไปในบ้านพื้นถิ่นที่มักโชว์โครงสร้างของบ้านค่อนข้างชัดเจนมาแปลงเป็นภาษาที่โมเดิร์นขึ้น แบบไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก หากแต่เต็มไปด้วยความงามที่ซ่อนอยู่ ส่งผลให้พื้นที่ใต้ถุนบ้านทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้งสเปซภายในและยังเชื่อมไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบได้แบบไม่มีอะไรมาบดบัง

              ขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านตากอากาศก็ต้องได้ตากอากาศบริสุทธิ์และอยู่กับบริบทโดยรอบให้เต็มที่ โดยวางตัวอาคารขวางตะวัน ให้หน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือทำให้สามารถมองวิวเขาลอยได้ตลอดทั้งวัน แล้วทำการเปิดช่องเปิดกลางบ้านทั้งสองชั้นคือชั้นล่างเป็นใต้ถุนและชั้นสองเป็นส่วนของห้องนั่งเล่น ทำหน้าที่เป็นช่องลมช่วยดักลมเข้ามาในบ้านอย่างทั่วถึง ประกอบกับใช้องค์ความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมในการทำให้บ้านอยู่ในสภาวะน่าสบายด้วยลมที่พัดผ่านความชื้นของสนามหญ้าช่วยลดอุณหภูมิจากภายนอกลงได้  2-3 องศา พร้อมด้วยบ่อน้ำที่มีความลึก 1.20 สำหรับช่วยรักษาความเย็นไว้ในบ่อ สุดท้ายคือประกบทั้งสองฝั่งของอาคารด้วยผนังอิฐที่ช่วยกักเก็บความเย็นเสมือนน้ำในโอ่งดิน

              อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากคิดจะสร้างบ้านที่เขาใหญ่คือลักษณะของดินที่มีสีแดงเข้ม ซึ่งกลายมาเป็นอุปสรรคในระหว่างการก่อสร้างตั้งแต่ขั้นตอนการผสมปูนและการฉาบที่สีของดินมักปนเปื้อนขึ้นมา การเลือกใช้อิฐก่อบริเวณชั้นหนึ่งรอบ ๆ บ้านจึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้อิฐยังเป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ตอบโจทย์กับทักษะของช่างท้องถิ่น โดยเลือกใช้เป็นอิฐ บปก. คือเป็นอิฐที่ไม่ได้ออกมาจากโรงงานที่สมบูรณ์แบบเกินไป ยังคงมีสีที่ไม่เสมอกัน ช่วยพรางความสกปรกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งดูสวยมากขึ้นตามไปด้วย

              ภาพรวมของตัวสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง อันเกิดจากความตั้งใจในการเลือกใช้สัจวัสดุ อย่างอิฐ ไม้ ที่มีความคราฟต์ผสมผสานกับสเปซสุดเรียบง่ายอย่าง “ใต้ถุนบ้าน” ทำให้ทุกครั้งที่มาเยือนเต็มไปด้วยบรรยากาศสบาย ๆ ผ่อนคลายไปกับธรรมชาติโดยรอบอย่างแท้จริง

เจ้าของ คุณสุภาพร ชูดวง
ออกแบบ: Supar Studio www.suparstudio.com โทร 062 264 2642
เรื่อง:        foryeah!
ภาพ:       นันทิยา
สไตล์:      วรวัฒน์


BINARY WOOD HOUSE บ้านไม้ฐานสองที่เจตนารบกวนโลกให้น้อยด้วยการออกแบบ

แบบบ้านไม้